- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 17 December 2018 16:49
- Hits: 2229
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยแวดล้อมยังสร้างแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจจีนและยุโรป การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยสัปดาห์นี้จะมีการประชุม Fed และ กนง. อย่างไรก็ตามยังมีความคาดหวังเชิงบวกจากเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาซื้อ LTF น่าจะทำให้นักลงทุนสถาบันพลิกกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิอีกครั้งในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี อีกทั้ง SET Index ปัจจุบันมี PER เพียง 14.8 เท่า และจะลดลงเหลือ 14.3 เท่า ในปี 2562 และการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม น่าจะทำให้ Downside ของตลาดหุ้นไทยจำกัด แนะนำทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีเข้าพอร์ต Theme หลักยังเป็น Domestic Play โดยยังคงชอบกลุ่มค้าปลีก เลือก CPALL (FV@B80) และ BJC (FV@B61) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย…แรงขายเบาลง แต่หุ้นพลังงานยังถูกกดดัน
ศุกร์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวในแดนลบและลงไปทดสอบแนวรับจิตวิทยา 1600 จุด ก่อนจะขึ้นมาปิด 1609.45 จุด ลดลง 5.54 จุด (-0.34%) มูลค่าการซื้อขาย 4.49 หมื่นล้านบาท แรงขายหุ้นไทยเริ่มเบาบางลง หลังมีแรงไล่ซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานกลับขึ้นมา โดยเฉพาะ PTT ส่วน PTTEP ยังเผชิญกับแรงขายต่อเนื่อง ปรับตัวลดลงอีก 3% ขณะที่ไกลุ่ม ธ.พ. เริ่มมีแรงขายทำกำไรจาก SCB หลังปรับตัวขึ้น outperform กลุ่มฯ ส่วนหุ้นขนาดใหญ่อื่นๆ ในกลุ่มฯ ยังปรับตัวลดลงต่อ (KBANK BBL) ส่วน MTC และ GULF ปรับขึ้นโดดเด่นตามหุ้นในดัชนี MSCI Emerging Market
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาด SET Index น่าจะสร้างฐานได้ที่บริเวณ 1585 – 1600 จุด หลังดัชนีปรับลดลงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สัปดาห์นี้ประเด็นสำคัญที่ตลาดฯ ให้น้ำหนัก คือ การประชุม Fed ซึ่งคาดว่าน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย และการประชุม กนง. น่าจะทำให้ดัชนีแกว่งอยู่ในกรอบแคบๆ จึงแนะนำทยอยสะสมบริเวณ 1600 จุด ซึ่งมีระดับ Expected P/E เพียง 14.4 เท่า แนวต้านที่ 1620 จุด
จีนประกาศอย่างเป็นทางการลดภาษีนำเข้ารถยนต์เหลือ 15% จาก 40%
ประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีนมีแนวโน้มผ่อนคลาย ล่าสุดปลายสัปดาห์ที่แล้ว ฝั่งจีนยังมีท่าทีอ่อนข้อให้สหรัฐ สะท้อนจากการประกาศอย่างเป็นทางการในการลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐเหลือ 15% จากปัจจุบัน 40% (ระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562) เช่นเดียวกับช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลจีนได้กลับมาสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐครั้งแรกในรอบ 6 เดือนราว 1.5 - 2 ล้านตัน ทั้งนี้เป็นการทำตามข้อตกลงกับสหรัฐ หลังจากการประชุม G20 นอกรอบ ต้นเดือน ธ.ค. สหรัฐได้พักรบชั่วคราว ด้วยการเลื่อนปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนในรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญเป็น 25% (จากปัจจุบันเก็บ 10%) โดยยืดออกไปเป็นวันที่ 2 มี.ค.2562
โดยภาพรวมถือว่าสงครามการค้าคาดว่าน่าจะผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลกในช่วงสั้น อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะ จีน เห็นได้จากการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในช่วงปลายสัปดาห์ส่งสัญญาณชะลอ คือ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. ขยายตัวต่ำกว่าตลาดคาด อยู่ที่ 5.4% (ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 11 เดือน) และยอดค้าปลีก ในเดือนเดียวกันอยู่ที่ 8.1% (ต่ำสุดในรอบ 15 ปี 6 เดือน) ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาน้ำมันดิบ ปรับลง จากความกังวลผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ มีความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงแรงกว่า Supply ที่ลดลง ซึ่งน่าจะทำให้น้ำมันยังอยู่ในภาวะ oversupply ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันต่ำกว่า 60 เหรียญฯ
สัปดาห์นี้ให้น้ำหนักการประชุม Fed, BOJ, BOE และ กนง.
สัปดาห์นี้มีการประชุมธนาคารกลางทั่วโลก เริ่มจาก 18-19 ธ.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตลาดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยฯ 0.25% เป็น 2.5% ในรอบนี้ (ผลสำรวจของ Bloomberg คาดโอกาสขึ้นราว 72.4%) แต่อย่างไรก็ตามในปีหน้า คาด Fed น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และมีโอกาสหยุดขึ้น (จากแผนเดิมที่คาดว่าจะขึ้นราว 3 ครั้งในปี 2562 และอีก 2 ครั้งในปี 2563) เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว, 20 ธ.ค. ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตลาดคาดยังคงดอกเบี้ยที่ -0.1% และคงวงเงิน QQE ที่ 80 ล้านล้านเยน/ปี เนื่องจากเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังต่ำ ล่าสุด เดือน ต.ค. อยู่ที่ 1.4%yoy และในวันเดียวกัน ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดยังคงดอกเบี้ยที่1.75% และน่าจะไปขึ้นในปี 2562 เพราะอังกฤษยังเผชิญความไม่แน่นอนของ Brexit เนื่องจากข้อตกลง Brexit ยังไม่ผ่านรัฐสภาอังกฤษ แม้จะบรรลุข้อตกลงกับทางยุโรปในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ไทย กนง. ประชุมวันที่ 19 ธ.ค. แม้ตลาดคาดว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ในรอบนี้ แต่ ASPS คาดว่า กนง. น่าจะไปขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 ราว 1-2 ครั้ง หรือประมาณ 0.25-0.5% เนื่องจากเงินเฟ้อไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ล่าสุด พ.ย. อยู่ที่ 0.94% (ต่ำกว่าเป้าที่ กนง.วางไว้ 1-4%) และความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
นักลงทุนกังวลกับการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก รวมถึงรอผลการประชุม Fed ที่มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ กดดันให้วันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค ด้วยมูลค่า 362 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 193 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) ตามมาด้วยไต้หวัน 105 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน), ฟิลิปปินส์ 13 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนีเซีย 6 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 45 ล้านเหรียญ หรือ 1.48 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิกว่า 2.02 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 2.80 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) โดยเป็นการขายสุทธิทั้งในตราสารหนี้ระยะสั้น (T<1) 1.49 พันล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว (T>1) 1.31 พันล้านบาท หนุน Bond Yield 10 ปี ของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.68%
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
CK, SEAFCO โดดเด่นสุด theme รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
การเปิดซองราคางานประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าโครงการ 2.24 แสนล้านบาท เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งจำกัด และพันธมิตร (CP 70%, CRCC 10%, BEM 10%, CK 5%, ITD 5%) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ได้สิทธิบริหาร 50 ปี โดยหลังจากนี้ รฟท. ได้นัดให้ตัวแทนจากกลุ่มซีพีเข้าชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ หากได้ข้อยุติ ในสัปดาห์ถัดไปก็จะเชิญผู้เสนอราคาต่ำสุดมาเปิดข้อเสนอซองที่ 4 คือ ข้อเสนอเพิ่มเติมได้ทันที โดยคาดว่าจะสรุปผลการประกวดราคาได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้ สำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เข้าร่วมถือหุ้นด้วยคือ CK และ ITD น่าจะเข้าไปรับงานก่อสร้างโยธาและงานวางราง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ดินเชิงพาณิชย์รอบสถานีมักกะสัน มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีพื้นที่อาคารรวมกันไม่ต่ำกว่า 850,000 ตรม. คาดว่าจะเป็นการแบ่งงานคนละครึ่งหรือประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท/ราย ขณะที่ CRCC (China Railway Construction) จากจีน น่าจะเข้าไปรับงานระบบรถไฟฟ้า (M&E Works) มูลค่า 2.47 หมื่นล้านบาท
ฝ่ายวิจัยมองเป็นประเด็นบวกต่อ CK มากที่สุด เพราะจะเป็นการเติม Backlog ให้กับ CK จากปัจจุบันที่มี Backlog เหลือเพียง 5.5 หมื่นล้านบาท รองรับการสร้างรายได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดย CK แทบไม่ได้รับงานใหญ่เข้ามาเลย นับตั้งแต่ปี 2560 ที่รับงาน M&E รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อจาก BEM ขณะที่ ITD ซึ่งปัจจุบันมี Backlog อีก 1.9 แสนล้านบาท รองรับการสร้างรายได้ในช่วง 4 ปีข้างหน้า
สำหรับ STEC แม้จะพลาดหวังจากโครงการนี้ แต่ไม่ได้กระทบต่อทิศทางการดำเนินงานในอนาคต เนื่องจากปัจจุบัน STEC ยังมี Backlog สูงถึง 1.13 แสนล้านบาท รองรับการสร้างรายได้ในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยเชื่อว่าโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ EEC และโครงการภายใต้ Action Plan ของกระทรวงคมนาคมปี 2561 ที่ตกค้างอีกกว่า 85% คิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 2 ล้านล้านบาท จะเป็นแหล่งงานป้อนให้กับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างไปอีกหลายปี ภายใต้ภาวะการแข่งขันด้านราคาที่มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ทุกแห่งมีงานเต็มมือ
ผลบวกยังมีต่อเนื่องถึงบริษัทเสาเข็ม (SEAFCO,PYLON) ที่จะเข้าไปรับงานเสาเข็มในโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งประเมินว่าจะมีมูลค่างานเสาเข็มสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท นับเป็นโครงการที่ใช้เครื่องทำเสาเข็มมากที่ชุดนับตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา
โดยรวม เลือก CK (BUY : FV@B 34.50) และ SEAFCO (BUY : FV@B 12.4) เป็นหุ้นเด่นจาก Theme รถไฟความเร็วสูง
สำหรับความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทรับเหมาที่จะต้องเข้าไปร่วมถือหุ้นในกิจการร่วมค้านี้ ฝ่ายวิจัยมองว่าเป็นประเด็นที่ไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากทั้ง CK และ ITD จะเข้าไปร่วมถือหุ้นเพียงรายละ 5% โดยเงื่อนไขในการประกวดราคาที่กำหนดให้กิจการร่วมค้าต้องมีทุนเรียกชำระไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญา และต้องเพิ่มทุนเรียกชำระเป็นไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ก่อนเริ่มให้บริการเดินรถ ซึ่งจะใช้เวลาอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้ CK และ ITD มีภาระต้องใส่เงินทุนในกิจการร่วมค้าเพียงรายละ 200 ล้านบาท ในปีแรก และเพิ่มเงินในกิจการร่วมค้าเป็น 1250 ล้านบาท ในปีที่ 5 ขณะที่ปัจจุบัน CK มี Net Gearing 1.2 เท่า และมีเงินสด+เงินลงทุนชั่วคราว รวม 9,727 ล้านบาท ส่วน ITD มี Net Gearing 3 เท่า และมีเงินสด+เงินลงทุนชั่วคราว 3,664 ล้านบาท
ปัจจัยแวดล้อมแม้จะกดดัน แต่ SET Index น่าจะมีแรงหนุนจากการเมืองและ LTF ช่วยประคอง
เชื่อว่าปัจจัยแวดล้อมหลายประการยังสร้างแรงกดดันต่อ SET Index ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจของ จีนที่ยังส่งสัญญาณการชะลอตัวออกมา เช่นเดียวกับหลายประเทศยุโรปก็ยังมีปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ขณะที่สัปดาห์นี้จะมีการประชุม Fed และ กนง. ทำให้ตลาดฯ ยังอยู่ในภาวะที่รอความชัดเจนในเรื่องนโยบายดอกเบี้ยฯ หลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความคาดหวังเชิงบวกจากเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาซื้อกองทุน LTF เพราะเป็นแรงซื้อหลักของนักลงทุนสถาบันฯ ที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นมูลค่ากว่า 3.78 แสนล้านบาท (ณ ก.ค. 2561) จากกองทุนรวมหุ้นทั้งประเทศมีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 1.49 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนสูงถึง 25.4% แม้จะมีกระแสการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 แต่ก็เชื่อว่ายังคงต้องใช้เวลาพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียอีกระยะหนึ่ง จึงเชื่อว่านักลงทุนสถาบันฯ น่าจะพลิกกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิอีกครั้งในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี
อีกทั้งการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม และระดับ Expected PER ปัจจุบันที่เพียง 14.8 เท่า และจะลดลงเหลือ 14.3 เท่า ในปี 2562 น่าจะเป็นแรงหนุนทำให้ Downside ของตลาดหุ้นไทยจำกัด
กลยุทธ์การลงทุน จึงเลือกลงทุนหุ้นที่มีการเติบโตตามเศรษฐกิจในประเทศ มีการเติบโตต่อเนื่อง และเป็นหุ้น Domestic Play อาทิ BJC, ROBINS, CPALL เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์