- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 14 December 2018 16:40
- Hits: 3770
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แรงขายจากนักลงทุนสถาบันในหุ้นกลุ่มพลังงาน กดดันให้ SET Index ปรับลงแรง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น ขณะที่สัญญาณบวกจากกรณีสงครามการค้าจีน-สหรัฐ เริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงเชื่อว่า SET Index มีโอกาสกลับตัวขึ้นมาได้ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี Fund Flow ไหลกลับในช่วง 1H62 ในภาวะที่เป็นอยู่ จึงถือเป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี โดยวันนี้ยังเลือกหุ้นในกลุ่มค้าปลีกซึ่งได้ประโยชน์จากการเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายในเทศกาลปีใหม่ และการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก.พ. 2562 ทำให้คาดว่ามีเม็ดเงินสะพัดมากขึ้น ดีต่อหุ้นค้าปลีก เลือก CPALL(FV@B80) และ BJC(FV@B61) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้….SET Index ร่วงแรง จากแรงขาย PTTEP และ PTT
วานนี้ SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางลดลงตลอดวัน โดยเปิดตลาดบวกขึ้นเกือบ 10 จุด ก่อนที่จะอ่อนตัวลงและลดลงแรงในช่วงบ่าย ส่งผลให้ดัชนีฯ ปิดที่ 1614.99 จุด ลดลงถึง 19.89 จุด (-1.22%) มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 5.25 หมื่นล้านบาท แรงขายหลักมาจากหุ้นในเครือ ปตท. โดยเฉพาะ PTTEP ปรับตัวลดลงแรง 6.72% ซึ่งทำจุดต่ำสุดในรอบ 8 เดือน แม้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช แต่ราคาขายเสนอขายก๊าซฯ ทั้ง 2 แหล่ง ต่ำกว่าราคาขายปัจจุบัน หักล้างกับปริมาณการผลิตที่จะได้เพิ่มมากขึ้น ฉุดให้หุ้นแม่อย่าง PTT ลดลงตามไปด้วยถึง 3.06%, PTTGC ลดลง 2.24%, TOP ลดลง 5.19%, IRPC ลดลง 1.69% ตามด้วยแรงขายหุ้นขนาดใหญ่อย่าง SCC และ AOT ปรับตัวลดลง 3.6% และ 2% ตามลำดับ
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาดดัชนีมีโอกาสแกว่งพักตัวได้อีกวัน แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเรื่องการเจรจาการค้ารอบใหม่ หลังจากจีนเตรียมกลับมานำเข้าถั่วเหลืองสหรัฐอีกครั้งในรอบ 6 เดือน รวมทั้งผ่อนปรนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนได้ แต่ตลาดฯ ค่อนข้างสะท้อนปัจจัยบวกอย่างรวดเร็ว จึงต้องระมัดระวังแรงขายที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามบริเวณ 1600 จุด ยังเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง Expected P/E เพียง 14.4 เท่า จึงมองว่าเป็นจุดที่เข้าทยอยสะสมได้ ส่;นแนวต้านที่ 1633 จุด
ECB ยุติ QE สิ้นปีนี้ และคงดอกเบี้ยถึงกลางปีหน้า ส่วนจีนนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอีกครั้ง
ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือ คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% และยุติมาตรการ QE วงเงิน 1.5 หมื่นล้านยูโร/เดือน สิ้นสุด ธ.ค. 2561 เป็นไปตามแผนที่เคยประกาศไว้ และต่อจากนี้คาดว่า ECB น่าจะเริ่มปรับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพิ่มขึ้น โดย ECB ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วช่วง 2Q62 แต่ระยะสั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เนื่องจากเศรษฐกิจในบางประเทศสมาชิกยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง เช่น อังกฤษ ที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษเผชิญปัญหาข้อตกลง Brexit ยังไม่ผ่านรัฐสภา แม้บรรลุข้อตกลงกับทางยุโรปในช่วงก่อนหน้าและฝรั่งเศสมีการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี เป็นต้น สอดคล้องกับ ECB ได้ปรับลด GDP Growth ของยุโรปเหลือ 1.9% ในปี 2561 (เดิมคาด 2.0%) และปี 2562 คาด 1.7% (เดิมคาด 1.8%) และยังคงปี 2563 ที่ 1.7%
ขณะที่ประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีนค่อยๆ ผ่อนคลาย หลังจากการเจรจาทั้ง 2 ประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ล่าสุด บริษัทของรัฐบาลจีนได้กลับมาสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐราว 1.5 - 2 ล้านตัน (สั่งซื้อครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากก่อนหน้าที่จีนหยุดนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐ และหันไปนำเข้าจากบราซิลผู้ผลิตถั่วเหลืองอันดับ 1 ของโลกราว 118 ล้านตัน สหรัฐอันดับ 2 ราว 116 ล้านตัน) และต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนกำลังพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากสหรัฐ เหลือ 15% จาก 40% แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะมีผลเมื่อใด ขณะที่สหรัฐได้เลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าในรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญ เป็น 25% (จากปัจจุบันเก็บ 10%) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยยืดออกไปอีก 90 วัน โดยภาพรวมถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งบอกว่าสงครามการค้าคาดว่าน่าจะผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลกในช่วงสั้น
ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
ความกังวลต่อความขัดแย้งทางการค้าเริ่มผ่อนคลายลง หลังจากจีนสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หนุนตลาดหุ้นภูมิภาคในวานนี้เริ่มฟื้นตัว อีกทั้งต่างชาติยังสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคทุกประเทศ ด้วยมูลค่าสูงถึง 568 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 6 วัน) นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 494 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 47 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6), ไต้หวัน 17 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), ฟิลิปปินส์ 6 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 6 วัน) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 4 ล้านเหรียญ หรือ 117 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 4 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิกว่า 5.49 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 2.07 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (T>1) 3.06 พันล้านบาท แต่ขายตราสารหนี้ระยะสั้น (T<1) 992 ล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
PTTEP ชนะประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช เป็นบวกมากกว่าลบ...ทยอยสะสมเมื่ออ่อนตัว
วานนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ PTTEP เป็นผู้ชนะการประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่ง คือ แหล่งเอราวัณและบงกช เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาและให้ผลประโยชน์ต่อภาครัฐดีที่สุด โดยได้เสนอราคาก๊าซธรรมชาติคงที่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน (แหล่งเอราวัณอยู่ที่ 165 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนแหล่งบงกช อยู่ที่ 214 บาทต่อล้านบีทียู) รวมถึงเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐมากกว่า 50% ทั้งนี้คาดจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ก.พ. 2562
ถือเป็นประเด็นบวกต่อ PTTEP ในระยะยาว ที่จะสามารถรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองให้กับบริษัทได้ตามเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณสำรองเป็น 7 ปี จาก 5 ปี ในปัจจุบัน ขณะที่ส่วนของประมาณการแม้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เสนอให้ภาครัฐต่ำกว่าราคาในปัจจุบันค่อนข้างมีนัยฯ แต่ผู้บริหาร PTTEP เปิดเผยว่าราคาก๊าซฯที่ลดลงดังกล่าวจะถูกชดเชยด้วยต้นทุนการลงทุนที่จะปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วในปัจจุบัน การลงทุนในส่วนของเครื่องจักรอุปกรณ์ใหม่ๆจึงไม่มากนัก
โดยภาพรวมที่เป็นบวก ทำให้ฝ่ายวิจัยปรับคำแนะนำเป็น ซื้อ มูลค่าพื้นฐาน 168 บาท แต่คาดราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านได้ตอบรับประเด็นบวกเรื่องการประมูลแหล่งก๊าซไปพอสมควรแล้ว และมีการปรับตัวลงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ความเสี่ยงจากความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกที่ชะลอตัวมากกว่าอุปทานที่จะลดลงจากมาตรการกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ซึ่งน่าจะกดดันราคาน้ำมัน จึงแนะซื้อทยอยเข้าลงทุนหุ้น PTTEP เมื่อราคาอ่อนตัว
SET Index ปรับฐานเพราะปัจจัยเฉพาะตัว แต่ภาพรวมยังแข็งแกร่ง ทยอยสะสมบริเวณ 1600 จุด
แม้ SET Index วานนี้จะปรับลดลงสวนทิศทางตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น แต่ก็เป็นเพียงแรงขายที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นนั้นๆ ขณะที่ภาพรวมของปัจจัยในประเทศยังไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนของการเมืองที่กำลังมุ่งสู่การเลือกตั้ง โดยล่าสุด กกต. ได้มีการเสนอ พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งไปให้ ครม. พิจารณาและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งคาดว่าน่าจะโปรดเกล้าฯ ลงมาภายในวันที่ 2 ม.ค. 62 และจะกำหนดวันเลือกตั้งได้เป็นวันที่ 24 ก.พ. 62 ซึ่งพัฒนาการเชิงบวกในเรื่องการเมือง ถือว่าดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งเม็ดเงินสะพัดจากการหาเสียงจะช่วยหนุนธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน อาทิ สื่อนอกบ้าน การบริโภคจับจ่ายใช้สอย (ค้าปลีก-ค้าส่ง) และดีต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น ที่ SET Index มักปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงหลังเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ ช่วยดึงเม็ดเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย เช่นเดียวกับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ก็น่าจะไหลเข้ามาด้วยเช่นกัน
ขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้า ก็น่าจะผ่านจุดที่สร้างความกังวลไปมากที่สุดแล้วเช่นกัน ขณะที่ความคืบหน้าของการเจรจาน่าจะช่วยลดความตึงเครียดไปได้มาก แม้เศรษฐกิจและการค้าโลกปีหน้าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง กระทบต่อภาคการส่งออกของไทย แต่ก็เชื่อว่าการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ จะเข้ามาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน อีกทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่ง จึงเชื่อว่า Fund Flow น่าจะไหลกลับเข้ามาในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2562 และน่าจะทำให้ SET Index กลับไปซื้อขายบนฐาน Expected PER ปี 2562 ที่ 16 เท่าได้ (จากปัจจุบันซื้อขายกันบน Expected PER ไม่ถึง 15 เท่า) ซึ่งจะให้เป้าหมายปี 2562 ที่ 1795 จุด ส่วนปี 2561 ซึ่งเหลือช่วงเวลาซื้อขายอีก 2 สัปดาห์ น่าจะยังเห็นการผันผวนอยู่ในกรอบ 1600 - 1680 จุด กลยุทธ์การลงทุน จึงเลือกลงทุนหุ้นที่มีการเติบโตตามเศรษฐกิจในประเทศ มีการเติบโตต่อเนื่อง และเป็นหุ้น Domestic Play อาทิ BJC, ROBINS, CPALL เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์