- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 13 December 2018 16:13
- Hits: 5460
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561
สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ดูผ่อนคลายลง หลังจีนยอมปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐลง 25% เป็นสัญญาณที่ดีที่จะนำไปสู่การเจรจาการค้ารอบใหม่ เม.ย. 2562 ขณะที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายในเทศกาลปีใหม่ และการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก.พ. 2562 ทำให้คาดว่ามีเม็ดเงินสะพัดมากขึ้น ดีต่อหุ้นค้าปลีก เลือก CPALL(FV@B80) และ BJC(FV@B61) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….ค้าปลีกหนุนตลาดฯ ปิดบวกเล็กน้อย
วานนี้ SET Index ฟื้นตัวโดยเปิดตลาดบวก 10 จุด แต่ค่อยๆ ลดช่วงบวกลง และปิดตลาดที่ 1634.88 จุด เพิ่มขึ้นเพียง 1.26 จุด (+0.08%) มูลค่าการซื้อขาย 3.64 หมื่นล้านบาท โดยถือว่าตลาดหุ้นไทยปิดบวกน้อยกว่าตลาดหุ้นภูมิภาค ซึ่งผ่อนคลายลง โดยกลุ่มที่ปรับขึ้นคือ กลุ่มค้าปลีก นำโดย BJC +2.4%, ROBINS +2.2% และ CPALL +0.7% เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ และ เข้าสู่ฤดูกาลใช้จ่ายเทศกาลปีใหม่ ตรงข้ามกับกลุ่มที่ปรับลดลง กลุ่ม ธ.พ. (ยกเว้น KTB) กลุ่ม ICT (ลดลงทั้งกลุ่ม) และกลุ่มพลังงาน (ยกเว้น PTTEP)
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ น่าจะเห็นการฟื้นตัวตามตลาดเพื่อนบ้าน หลังจีนส่งสัญญาณผ่อนปรนให้ลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐลงเหลือ 15% จากที่จัดเก็บ 40% เพื่อตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐ ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดีต่อการเจรจาการค้ารอบใหม่ และในประเทศ ความคืบหน้าการเลือกตั้ง และการประมูลงานภาครัฐ ยังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้คาดดัชนีมีกรอบขาลงจำกัด แต่น่าจะแกว่งตัวในกรอบ Index แนวรับ 1633 - 1655 จุด
เงินเฟ้อสหรัฐลด ตอกย้ำดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จบ หนุน Flow กลับ
วานนี้สหรัฐรายงานเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 2.2%yoy ชะลอตัวจาก 2.5% ในเดือน ต.ค. และจากจุดสูงสุด 2.9% เดือน ก.ค. ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงแรง และการใช้นโยบายการเงินตึงตัวนับจากปี 2557 โดยการถอนเงิน QE พร้อมขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้ง จนดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สอดคล้องกับความเห็นของ Fed ล่าสุด ระบุว่า ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐปัจจุบันเข้าใกล้ระดับที่เป็นกลาง (Neutral rate) ต่อเศรษฐกิจ และส่งสัญญาณว่า Fed อาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า (จากแผนเดิมที่คาดว่าจะขึ้นราว 3 ครั้งในปี 2562 และอีก 2 ครั้งในปี 2563) ซึ่งสอดคล้องกับ ASPS ที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยกลางปี 2562 แต่การประชุมรอบสุดท้ายของปี วันที่ 18-19 ธ.ค. ตลาดคาดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% อยู่ที่ 2.5% ด้วยโอกาส 72.3%
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ Bond yield 10 ปี สหรัฐมีแนวโน้มลดลงเหลือ 2.91% หลังทำสถิติสูงสุด 3.2% ใน ต.ค. ซึ่งสอดคล้องกับในอดีต คือ ทุกครั้งที่เงินเฟ้อปรับลดลง Bond yield 10 ปี จะปรับลดลงในทิศทางเดียวกัน (ดังรูป) ทำให้การไหลของเงินทุนไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยน่าจะลดลง ตรงกันข้ามอาจเห็นการปรับพอร์ต เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หรือไหลออกไปยังประเทศเกิดใหม่มากขึ้นในปี 2562
และในวันนี้ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลาดคาดยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อ คือจะยังคงดอกเบี้ยที่ 0% และจะประกาศยุติ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านยูโร/เดือนสิ้นปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยุโรปขยายตัวล่าช้า ล่าสุดอยู่ที่ 2.0% ในเดือน พ.ย. ชะลอจาก 2.2% ในเดือน ต.ค. ประกอบกับปัญหาการเมืองของประเทศสมาชิกบางประเทศ อาทิ อังกฤษ ล่าสุด นายกรัฐมนตรีอังกฤษเผชิญปัญหาเสนอข้อตกลง Brexit ยังไม่ผ่านรัฐสภา แม้จะบรรลุข้อตกลงกับทางยุโรปในช่วงก่อนหน้า และฝรั่งเศสที่มีการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี เป็นต้น
ราคาน้ำมันดูไบยังแกว่งตัว 55-65 เหรียญฯ Demand ลดมากกว่า Supply
สำนักงานด้านสารสนเทศการพลังงานสหรัฐ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสัปดาห์ล่าสุด ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 (ลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าตลาดคาด 2.99 แสนบาร์เรล) เพราะโรงกลั่นกลับมาดำเนินการตามปกติ ขณะที่ด้าน Supply น้ำมันมีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากที่ประชุมผู้ผลิตน้ำมัน OPEC และ Non OPEC สัปดาห์ล่าสุด ยอมตัดลดกำลังการผลิตในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน (จากฐานการผลิต OPEC+Non OPEC ในเดือน ต.ค. ที่อยู่ราว 51.1 ล้านบาร์เรล/วัน) และ ยืดเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ออกไปอีก 6 เดือน หรือราว มิ.ย. 2562
อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงแรงกว่า Supply ที่ลดลง จากผลกระทบของสงครามการค้าโลก ซึ่งน่าจะทำให้น้ำมันยังอยู่ในภาวะ oversupply ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันต่ำกว่า 60 เหรียญฯ ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่ประเมินไว้ 65 เหรียญฯ ในปี 2562 และ 70 เหรียญฯ ในปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งพบว่าพบว่าราคาน้ำมันที่ปรับลงทุกๆ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะทำให้กำไรปี 2562 และ 2563 ของ PTTEP ลดลง 13.3% และ 15.6% จากเดิม ส่วน PTT ลดลง 9.7% และ 7.0% จากเดิม จึงยังแนะนำ “switch” PTTEP (FV@B148) และ PTT (FV@B56) อย่างไรก็ตาม PTTEP อาจจะมีข่าวดีการเข้าประมูลบงกช และเอราวัณ คาดว่าจะทราบผล 18 ธ.ค. นี้
พัฒนาการเชิงบวกการเมืองไทย น่าจะช่วยอุดรูรั่ว Fund Flow
แม้วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 6 แต่ด้วยมูลค่าเพียง 61 ล้านเหรียญ และมีตลาดหุ้นบางแห่งที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ คือ ตลาดหุ้นในแถบเอเชียเหนือ อย่าง เกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 41 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และไต้หวัน 29 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 6 วัน) ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ยังขายสุทธิ คือ อินโดนีเซีย 58 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6), ฟิลิปปินส์ 19 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยขายสุทธิอีก 54 ล้านเหรียญ หรือ 1.77 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4 มีมูลค่ารวม 5.1 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 344 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
หากพิจารณา Fund Flow ตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี พบว่ามียอดขายสุทธิสะสมหุ้น กว่า 2.84 แสนล้านบาท (ytd) และเป็นปีที่ต่างชาติขายสุทธิสูงสุดนับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2535 เป็นต้นมา จนทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติ ลดลงมาเหลือเพียง 29.42% (ต่ำสุดนับตั้งแต่ มิ.ย. 2547) แบ่งเป็นการถือครองที่ปิดโอนเป็นชื่อต่างชาติ 22.67% (ต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงที่เก็บข้อมูลในปี 2547 เป็นต้นมา) และถือครองผ่าน NVDR 6.75% ขณะการเมืองไทยจะนำไปสู่การเลือกตั้ง และสงครามการค้าที่ผ่อนคลายลง ทำให้มีโอกาสสูงที่ Fund Flow จะกลับตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
การเลือกตั้งและผลักดันโครงการภาครัฐยังเป็นปัจจัยหนุนตลาด
พัฒนาการทางการเมืองถือว่าเป็นบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ หลังจากที่ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ตามด้วย คสช. ประกาศยกเลิกคำสั่งฯ 9 ฉบับ เพื่อให้ พรรคการเมืองต่างๆ สามารถกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ รวมทั้งการหาเสียงก็สามารถทำได้โดยอิสระ และยังเป็นผลดีในเรื่องที่ยังไม่นับเม็ดเงินที่จ่ายก่อน 2 ม.ค.2562 เป็นงบที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง (พ.ร.ฎ. ให้จัดการเลือกตั้ง กำหนดให้นับเม็ดเงินที่ใช้ในกิจกรรมการหาเสียงตั้งแต่ 2 ม.ค.2562 เป็นต้นไป) ซึ่งถือว่าดีต่อเศรษฐกิจใน 3 เรื่องคือ
1. ยิ่งเข้าใกล้ช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง เม็ดเงินสะพัดจากการหาเสียงจะช่วยหนุนธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน อาทิ สื่อนอกบ้าน การบริโภคจับจ่ายใช้สอย (ค้าปลีก-ค้าส่ง) เป็นต้น
2. หลังการเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์ SET Index มักปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น จากสถิติในอดีตของการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด พบว่า ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 4.38% และโอกาสที่ปรับขึ้นหลังเลือกตั้ง 1 สัปดาห์เป็น 100% อีกทั้งเงินทุนต่างชาติมักไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังเลือกตั้ง มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยสูงถึง 8.29 พันล้านบาท
3. ที่สำคัญหลังจากเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลจะมีหน้าตาอย่างไร เชื่อว่าจะหนุนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งน่าจะดึงเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) หลังจากที่รัฐบาลปัจจุบันได้วางกรอบกฏหมาย (พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง) และแนวทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ อุตสาหกรรม S-curve ไว้แล้ว รัฐบาลใหม่สามารถเข้ามาสานงานต่อได้ทันที
โดยรวมจึงเชื่อว่า Fund Flow น่าจะไหลกลับเข้ามาในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2562 และน่าจะทำให้ SET Index กลับไปซื้อขายบนฐาน Expected PER ปี 2562 ที่ 16 เท่าได้ (จากปัจจุบันซื้อขายกันบน Expected PER ไม่ถึง 15 เท่า) ซึ่งจะให้เป้าหมายปี 2562 ที่ 1795 จุด ส่วนปี 2561 ซึ่งเหลือช่วงเวลาซื้อขายอีก 2 สัปดาห์เศษ น่าจะยังเห็นการผันผวนอยู่บริเวณไม่เกิน 1680 จุด กลยุทธ์การลงทุน จึงเลือกลงทุนหุ้นที่มีการเติบโตตามเศรษฐกิจในประเทศ มีการเติบโตต่อเนื่อง และเป็นหุ้น Domestic Play อาทิ BJC, ROBINS เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์