- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 11 December 2018 15:55
- Hits: 5231
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันดิบโลกยังลงต่อ เพราะความกังวลต่อ Demand แม้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันยอมตัดลดการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล และคงการผลิตออกไปอีก 6 เดือน และปัญหาการเมืองต่างประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย มีน้ำหนักกดดันตลาดหุ้นโลก ซึ่งตลาดหุ้นไทยหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เชื่อว่า Downside จำกัด คาดกรอบดัชนี 1633-1655 จุด Top picks เลือก DCC([email protected]) และ IRPC([email protected]) ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบต่ำกว่า 60 เหรียญฯ
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ….SET Index ผันผวนตามภูมิภาค
ตลาดหุ้นไทยวันศุกร์ที่ผ่านมาแกว่งตัวผันผวน โดยช่วงเช้าเคลื่อนไหวในแดนบวก ก่อนจะมีการขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องในวันหยุดยาว ทำให้ปิดตลาดที่ระดับ 1649.99 จุด ลดลง 3.74 จุด (-0.23%) มูลค่าการซื้อขาย 3.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มฯ ที่ยังสามารถปิดบวกได้ อาทิ กลุ่มค้าปลีก CPALL+1.06% HMPRO+1.32 ขณะที่หุ้นโรงไฟฟ้าลุ้นแผน PDP ฉบับใหม่ ฝ่ายวิจัยคาดจะได้ข้อสรุปในเดือน ธ.ค. 2561 (GULF+1.33% RATCH+2.03% และ EGCO +2.53%) จึงส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวสวนทางกลุ่มพลังงาน ซึ่งถูกกดดันหลักจาก PTT และ PTTEP
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาดดัชนียังแกว่งตัวในกรอบจำกัด 1633-1655 จุด โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมืองในต่างประเทศ ทั้งในยุโรป และเอเชีย นอกเหนือจากผลกระทบสงครามการค้า ต่อเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันยังลดลงแรง แม้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้ง OPEC และ Non-OPEC ยอม ตัดลดกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านบาร์เล แต่น่าจะกังวลต่อความต้องการที่อาจจะลดลงมากกว่าในสถานการณ์ราคาน้ำมันขาลง ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัทจดทะเบียนที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิต คือ SCC, IRPC หรือลดต้นทุนขนส่งคือ DCC เป็นต้น
OPEC+Non-OPEC สรุป ตัดการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล+คุมการผลิตต่อ
ที่ประชุมประเทศผู้ผลิตน้ำมัน OPEC และ Non OPEC มีข้อสรุปที่ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับตลาดคือ
• ตัดลดกำลังการผลิตในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน (OPEC ปรับลด 8 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่ Non OPEC ปรับลด 4 แสนบาร์เรล/วัน) จากฐานการผลิต OPEC+Non OPEC ในเดือน ต.ค. ที่อยู่ราว 51.1 ล้านบาร์เรล/วัน (อ้างอิงจาก Group Internal Data)
• และขยายระยะเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ออกไปอีก 6 เดือน หรือราว มิ.ย. 2562
การตัดลด Supply อาจจะมีน้ำหนักน้อยกว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงแรงจากผลกระทบของสงครามการค้าโลกที่ยังมีอยู่ สะท้อนจาก IEA คาดความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปี 2562 อยู่ที่ 99.8 ล้านบาร์เรล ทรงตัวจากปี 2561 แต่ยังต่ำกว่า Supply ที่ 100.3 ล้านบาร์เรล/วัน แต่หากเทียบกับช่วงวิกฤตซับไพรม์ ปี 2551 พบว่า Demand น้ำมันอยู่ที่ 85.2 ล้านบาร์เรล/วัน ต่ำกว่า Supply ที่ 86.3 ล้านบาร์เรล/วัน โอกาสที่ Demand น้ำมันโลกจะลดลงต่ำกว่าปัจจุบันยังมีความเป็นไปได้ ซึ่งน่าจะกดดันราคาน้ำมันต่ำกว่า 60 เหรียญฯ ต่อไป ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่ประเมินไว้ 65 เหรียญฯ ในปี 2562 และ 70 เหรียญฯ ในปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งพบว่าพบว่าราคาน้ำมันที่ปรับลงทุกๆ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะทำให้กำไรปี 2562 และ 2563 ของ PTTEP ลดลง 13.3% และ 15.6% จากเดิม ส่วน PTT ลดลง 9.7% และ 7.0% จากเดิม จึงยังแนะนำ “switch” PTTEP (FV@B148) และ PTT (FV@B56) อย่างไรก็ตาม PTTEP อาจจะมีข่าวดีการเข้าประมูลบงกช และเอราวัณ คาดว่าจะทราบผล 18 ธ.ค. นี้
การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำยังมีความจำเป็นในยุโรป
ต่างประเทศในสัปดาห์นี้ให้น้ำหนัก 12 ธ.ค. ซึ่งจะมีรายงานเงินเฟ้อของสหรัฐ เดือน พ.ย. ตลาดคาด 2.2%yoy ชะลอจาก 2.5% เดือน ต.ค. ผลจากราคาน้ำมันที่ชะลอลงกดดันเงินเฟ้ออ่อนตัว อย่างไรก็ตามการประชุม Fed วันที่ 18-19 ธ.ค. ตลาดยังคาดขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง 0.25% เป็น 2.5% (ผลสำรวจโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ Bloomberg พบว่ามีโอกาสขึ้นราว 70%) แต่การขึ้นอาจสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยกลางปี 2562 หากเงินเฟ้อปี 2562 ไม่เกิน 2.5%
และ 13 ธ.ค. ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลาดคาดยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อ คือจะยังคงดอกเบี้ยที่ 0% และคงมาตรการ QE จะประกาศยุติ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านยูโร/เดือนปลายปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยุโรปขยายตัวล่าช้า ล่าสุดอยู่ที่ 2.0% ในเดือน พ.ย. ชะลอจาก 2.2% ในเดือน ต.ค. ประกอบกับปัญหาการเมืองของประเทศสมาชิกบางประเทศ อาทิ อังกฤษ ล่าสุด นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เลื่อนการเสนอข้อตกลง Brexit ต่อสภาผู้แทนราษฎรออกไปอย่างไม่มีกำหนด แม้จะบรรลุข้อตกลงกับทางยุโรปในช่วงก่อนหน้า และฝรั่งเศสที่มีการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี กรณีรัฐบาลพิจารณาเก็บภาษีน้ำมัน เป็นต้น
ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องรวมถึงไทย
ความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในต่างประเทศ และราคาน้ำมันที่ลดลง ล้วนกดดันต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาควานนี้มูลค่ากว่า 646 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 4) และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 75 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดที่เหลืออีก 3 แห่งขายสุทธิ คือ ไต้หวัน 381 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) ตามด้วยเกาหลีใต้ 268 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และอินโดนีเซีย 72 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) ส่วนตลาดหุ้นไทยหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันรัฐธรรมนูญ
ส่วนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 244 ล้านเหรียญ เป็นการขายสุทธิเกือบทุกแห่งยกเว้น เกาหลีใต้ที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 89 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลือ 4 แห่ง ถูกขายสุทธิ คือ ไต้หวัน 256 ล้านเหรียญ, อินโดนีเซีย 38 ล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ และไทยต่างชาติขายสุทธิ 35 ล้านเหรียญ หรือ 1.16 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 501 ล้านบาท (หลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่อง 10 วัน มูลค่ารวม 2.4 หมื่นล้านบาท)
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ปัจจัยภายนอกมีน้ำหนักมากขึ้ แต่ Downside หุ้นไทยน่าจะจำกัด
แม้สงครามการค้าจีน-สหรัฐยังมีอยู่ แต่เชื่อว่าไม่มีอะไรใหม่ ทุกอย่างได้ผ่านจุดสูงสุด ทั้งเรื่องของการเลื่อนขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% วงเงิน 2.0 แสนล้านเหรียญ ออกไปอีก 90 วัน รวมทั้งการขึ้นภาษีรอบใหม่อีก 2.67 แสนล้านเหรียญ ที่แม้จะยังไม่ได้มีการพูดถึง แต่เชื่อว่าเป็นเพียงการยืดเวลาออกไปเท่านั้น เพราะสหรัฐต้องการดูท่าทีจีนว่าจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มเติม เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐหรือไม่ ขณะที่สหรัฐเองนั่นเชื่อว่า ต้องการรอดูทิศทางเศรษฐกิจอีกระยะ แม้ว่าอานิสงส์จากการปรับลดภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะยังทำให้เศรษฐกิจยังเติบโตในช่วงสั้น แต่จากนี้จะค่อยๆ ชะลอตัว สะท้อนดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่กลางปี 2561 และผลกระทบจากสงครามการค้าที่สหรัฐเป็นผู้เริ่มนั้น ได้กระทบต่อมายังภาคการผลิตของสหรัฐแล้ว โดยเฉพาะภาคเกษตร ต่อเนื่องมายังผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น ซึ่งภาพเหล่านี้น่าจะชัดเจนนับจากนี้ และในปี 2562 ส่งผลให้ Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด
ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่กดดันและมีน้ำหนักมากขึ้น คือ ราคาน้ำมันที่ยังปรับลดลงต่อ แม้กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC จะตกลงปรับลดกำลังการผลิตลงก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้กับความต้องการใช้ที่ลดลงมากกว่า รวมทั้งปัญหาการเมืองในประเทศ ทั้งการประท้วงในฝรั่งเศสที่รุนแรงขึ้น และ Brexit ที่เลื่อนการลงมติออกไปอย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในอินเดีย หลังผู้ว่าการธนาคารกลางฯ ลาออก จากความขัดแย้งทางด้านนโยบายกับรัฐบาล รวมทั้งค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงอย่างมีนัยฯ จากความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และปัญหาความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ จากการที่แคนาดาจับกุมผู้บริหารบริษัท Huawei และเตรียมส่งให้สหรัฐพิจารณาคดี ดังที่กล่าวข้างต้น ล้วนแต่เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อ sentiment การลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น เชื่อว่าพัฒนาการทางการเมือง บวกกับการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ น่าจะช่วยจำกัด downside ของ SET Index นอกจากนี้ Valuation ตลาดหุ้นไทยและประเทศเกิดใหม่ อยู่ในระดับที่ไม่แพงมากนัก โดยในส่วนของ Expected P/E ปี 2562 ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ต่ำกว่า 15 เท่า ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่ 14.4 เท่า และต่ำกว่าฟิลิปปินส์ที่ 15.4 เท่า แต่ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของการเกินดุลทางการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นไทยในปีนี้ไปแล้วสูงถึงกว่า 2.87 แสนล้านบาท จากนี้เชื่อว่าแรงขายน่าจะเบาลง และน่าจะทำให้ Fund Flow ไหลกลับเข้ามาในช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์