- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 04 December 2018 15:10
- Hits: 860
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561
การยุติสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ชั่วคราว สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว มอง SET ปี 2562 ที่ 1795 จุด อิง P/E 16 เท่า โดยคาด Fund Flow จะไหลกลับเอเซียรวมถึงไทยหลัง bond yield เริ่มลดลง ตามเงินเฟ้อโลกที่ชะลอตัว แต่วันนี้ดัชนีอาจติดแนวต้าน 1680-1690 จุด ยังชอบหุ้น Domestic ที่มีการกระตุ้นการใช้จ่าย Top picks KBANK(FV@B251) และ IRPC([email protected]) เป็นหุ้น Laggard
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้….ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นแรง จากสงครามการค้าฯ ที่ผ่อนคลาย
หลังจากได้ข้อสรุปผลประชุมนอกรอบ G-20 ระหว่างสหรัฐ-จีน ว่าจะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้า ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผ่อนคลายความกังวล และปรับตัวขึ้นโดดเด่น โดย SET Index ปรับตัวขึ้น 30.81 จุด (+1.88%) ปิดที่ 1672.61 มูลค่าการซื้อขายกลับมาหนาแน่นกว่า 6.06 หมื่นล้านบาท ภาพรวมแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน PTT +5.08% PTTEP +6.44% คาดว่า OPEC พร้อมลดกำลังการผลิต หนุนราคาน้ำมันฟื้นตัว อีกกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมาโดดเด่นคือ ค้าปลีก โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่อย่าง CPALL และ BJC ปรับตัวขึ้น 4.8% และ 2.8% ตามลำดับ รับช่วง high season ของการจับจ่ายใช้สอย หนุนกำไรไตรมาส 4 เติบโต
แนวโน้มวันนี้ คาดดัชนีน่าจะมีโอกาสแกว่งพักตัวหลังจากวานนี้ปรับขึ้นมาแรง แนวต้าน 1680 - 1690 จุด โดยหุ้นน้ำมันยังฟื้นตัว หลังสงครามการค้าผ่อนคลาย และ มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศยังหนุนหุ้นค้าปลีก โดยวันนี้ติดตามผลการประชุม ครม ซึ่งจะ พิจารณามาตรการช้อปช่วยชาติ
เงินเฟ้อไทยต่ำกว่า 1% คาด กนง. เลื่อนขึ้นดอกเบี้ยฯ ไปเป็นปี 2562
เงินเฟ้อไทยเดือน พ.ย. ขยายตัว 0.94%yoy ต่ำกว่าที่ตลาดคาด และชะลอลงจากเดือน ต.ค. ที่ 1.23% และห่างจากจุดสูงสุดของปีที่ 1.62% ในเดือน ส.ค. เพราะราคาสินค้าหมวดพลังงานชะลอตัวลง กล่าวคือ ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 4.78% เทียบกับที่เพิ่ม 11.98% เดือนก่อนหน้า และหมวดอื่นๆ ยังเพิ่มขึ้น ในอัตราลดลง โดยเฉพาะอาหารสด เช่น ข้าวและแป้งเพิ่ม 4.12% (จาก 4.87% เดือนก่อน) ยกเว้น เนื้อสัตว์ 1.01% เทียบกับ 0.21% เดือนก่อนหน้า ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.66%, เทียบกับ 1.77% เดือนก่อนหน้า เป็นต้น โดยรวมทำให้เงินเฟ้อ 11M61 เพิ่มเฉลี่ย 1.13%yoy
เงินเฟ้อที่ชะลอดังกล่าว จึงคาดว่าในการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายปีนี้ (วันที่ 19 ธ.ค.) จะคงดอกเบี้ยที่เดิม แต่น่าจะไปขึ้นปี 2562 ราว 1-2 ครั้งหรือ 0.25-0.5% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 65 เหรียญ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาทต่อเหรียญ ทำให้เงินเฟ้อสิ้นปี 2562 จะอยู่ที่ราว 1.8% และ เฉลี่ยทั้งปี 2562 เป็น 1.55% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคหลังผ่อนคลายสงครามการค้า
ผลการประชุม G-20 นอกรอบ ระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ผ่อนคลาย ประกอบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (bond yield 10 ปี) ที่ต่ำกว่า 3% เหลือ 2.97% (ของไทยเหลือ 2.65%) ทำให้เห็นการโยกย้ายเม็ดเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัยมายังตลาดหุ้น โดยวานนี้ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 500 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิวันก่อนหน้า) แต่ยังขายสุทธิ อินโดนิเซียและฟิลิปปินส์ เป็นวันที่ 2 แต่อีก 3 ตลาดยังซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ ซื้อสุทธิต่อเนื่องอีก 314 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) ตามด้วยไต้หวันสลับมาซื้อสุทธิ 162 ล้านเหรียญ และไทยซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 อีก 81 ล้านเหรียญ หรือ 2.7 พันล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศซื้อสุทธิสูงกว่า 9.4 พันล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 มูลค่ารวมกว่า 2.35 หมื่นล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
มองตลาดหุ้นปี 2562 ดีขึ้น กำหนดเป้าหมาย 1795 จุด
วานนี้ทีมวิจัย ASPS ได้ออกรายงาน “Investment Strategy” หลังจาก จีน-สหรัฐ ประกาศยุติสงครามการค้าชั่วคราว และจะกลับมาเจรจาอีกครั้งในเดือนเม.ย. ปี 2562 แต่ถือว่าได้ผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว และได้สะท้อนในดัชนีตลาดหุ้นโลกที่ปรับฐานจากจุดสูงสุดในปี 2561 จนถึงเดือน พ.ย. ปรับลดลงเฉลี่ย 19% หลังสหรัฐขึ้น ภาษีการค้ากับจีน 3 รอบรวม 2.5 แสนล้านเหรียญฯ
ขณะที่เชื่อว่ามีพัฒนาการเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย อย่างน้อย 2 ประการแรกคือ วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นโลกใกล้จบแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐ หลังขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 8 ครั้ง และเงินเฟ้อชะลอตัว สอดคล้องกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาหลายเดือน คาดว่าสหรัฐน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งปีนี้ และ อีกไม่เกิน 3 ครั้งในปี 2562 หรือดอกเบี้ยไปสูงสุดที่ 3% ภายใต้สมมติฐานเงินเฟ้อไม่เกิน 3% กดดันผลตอบแทนพันธบัตรชะลอตัวลง ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตราสารหนี้มาสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่ม ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางเอเชียบางแห่งยังขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 เช่น ในกลุ่ม TIP และ ไทย
ประการที่ 2 คือ ไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และสามารถผลักดันการลงทุนโดยรวม ที่ผ่านการพิจารณาของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง และ ครม. มูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้คาด GDP Growth จะอยู่ที่ 3.5% ในปี 2562 ชะลอตัวจาก 4% ในปีนี้
ขณะที่ปัจจุบันเชื่อว่าทำให้ Fund Flow จะกลับเข้ามาในเอเชียรวมถึงไทย หลังจากที่ขายสุทธิต่อเนื่องตลาดปี 2561 ทำให้ P/E ตลาดหุ้นไทยลดเหลือ 14.4 เท่า ใกล้เคียงเพื่อนบ้าน ยกเว้นเพียง จีน ที่ถูกกว่าไทยมาก และที่สำคัญ ไทยมีจุดแข็งด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สามารถชำระสินค้านำเข้านานกว่า 11 เดือน และครอบคลุมชำระหนี้สินต่างประเทศ
จึงเพิ่มดัชนีเป้าหมายอิง P/E 16 เท่า เพิ่มจากเดิม 15 เท่า และ EPS ในปี 2562 ที่ปรับลดเหลือ 112.2 บาท อยู่ที่ 1795 จุด มี upside 9.4% เพิ่มน้ำหนักการลงทุนจากเดิม 40% เป็น 50% กลยุทธ์ Domestic Play ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น WHA, CK, SCC, CPALL, ADVANC , BBL, KBANK (ติดตามอ่านรายละเอียดในรายงานฉบับเต็ม)
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์