- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 30 November 2018 15:40
- Hits: 1386
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แรงซื้อบางส่วนยังรอดูนอกตลาด เพื่อรอผลการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ แม้เชื่อสหรัฐ เดินหน้าขึ้นภาษีจีนต่อ และยังกดดันเศรษฐกิจโลก แต่ตลาดหุ้นน่าจะตอบสนองไประดับหนึ่ง และการที่ Fed ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยง ไปตราสารหนี้ลดน้อยลง ทำให้ดัชนียังแกว่งตัว 1630-1650 จุด ยังชอบหุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง : วัสดุก่อสร้าง (TASCO, SCC, DCC) ปิโตรเคมี (IRPC, SCC, TOP) และหุ้น Domestic ที่เข้าสู่ฤดูกาลใช้จ่ายและล่าสุด Modern Trade เปิดช่องให้บัตรคนจนสามารถซื้อสินค้าได้ เลือก BJC(FV@B61) และ DCC([email protected]) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….ดัชนีฯ ร่วงท้ายตลาดฯ
วานนี้ SET Index แกว่งตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุด 1650 จุด ก่อนจะอ่อนตัวลงสู่แดนลบช่วงท้าย ปิดตลาดที่ 1636.49 ลดลง 4.14 จุด (-0.25%) มูลค่าการซื้อขายเพียง 3.66 หมื่นล้านบาท โดยมีแรงขายในกลุ่มธนาคารฯ (BBL KTB SCB) เป็นหลัก และ กลุ่มสื่อสาร ปรับทั้งกลุ่ม นำโดย ADVANC หลังจากที่เพิ่มขึ้นแรงในวันก่อนหน้า เช่นเดียวกับ INTUCH ส่วนรายหุ้นที่ปรับตัวขึ้นยังมาจากปัจจัยหนุน เช่น TASCO บวกต่ออีก 1.9% หลังราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัว , MTC +3.1% หลังถูกคัดเข้า MSCI Global มีผลต้นสัปดาห์หน้า เป็นต้น
แนวโน้มวันนี้คาดดัชนีน่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1630-1650 จุด โดยนักลงทุนน่าจะรอผลการประชุมในการประชุม G-20 วันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. นี้ ซึ่งบรรจุวาระการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ แต่คาด สหรัฐ จะเดินหน้าขึ้นภาษีจีนต่อ แต่ระยะสั้นตลาดยังได้รับแรงหนุน หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 และ ราคาน้ำมันดิบที่ต่ำกว่า 60 เหรียญฯ เอื้อต่อประเทศนำเข้าน้ำมัน รวมถึงช่วยลดต้นทุนของ อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบ เช่น ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้างและสายการบิน เป็นต้น
Modern Trade เปิดช่อง ผู้ถือบัตรคนจนเข้าซื้อสินค้าได้
ต่างประเทศยังให้น้ำหนัก การประชุม G-20 ระหว่าง 30 พ.ย.–1 ธ.ค. ที่อาร์เจนตินา ซึ่งมุ่งไปที่ผลการ เจรจาการค้า นอกรอบ จีน-สหรัฐ เชื่อว่าไม่น่าจะได้ข้อสรุป และสหรัฐน่าจะเดินหน้าขึ้นกดดันจีนผ่านการภาษีนำเข้าจากจีนรอบ 4 วงเงิน 2.67 แสนล้านเหรียญ ภาษีราว 10-25% และ ดูเหมือนว่า สหรัฐยัง เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการ ที่เคยขึ้นภาษีจีนไปแล้ว โดยเฉพาะ รถยนต์ ซึ่งจะเก็บเพิ่มเป็น 40% หลังจากเก็บไปแล้ว 25% ซึ่งมีผลบังคับในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคครัวในประเทศยังมีความคืบหน้า แม้หลังจากรัฐบาล ได้ออกมาตรการช็อปช่วยชาติครั้งใหม่ เป็นปีที่ 4 ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2561 – 15 ม.ค. 2562 แต่จำกัดซื้อสินค้า 3 ประเภท คือ ยางรถยนต์ที่ผลิตในไทย, หนังสือ(ทั้งสิ่งพิมพ์ และ E-Book) และสินค้าโอท็อป ลดหย่อนได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท และ กลุ่มที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ทำให้เกิดแรงจูงใจน้อยกว่ามาตรการที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รัฐบาลเปิดทางให้ ผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งปัจจุบันถือบัตรทั้งประเทศมีรวม 11.4 ล้านคน (ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐเดือนละ 300 กรณีมีรายได้ปีละไม่เกิน 3 หมื่นบาท) หรือ 500 บาท กรณีที่มีรายได้ 3 หมื่น-1 แสนบาท ) สามารถซื้อสินค้าในร้านค้าสมัยใหม่ หรือ Modern Trade จากเดิมซื้อสินค้าได้เฉพาะร้านธงฟ้าเท่านั้น แหล่งในหนังสือพิมพ์เช้านี้ระบุว่ามี Modern Trade อย่างน้อย 2 รายคือ Tesco Lotus และ Big C สามารถ ให้บริการ รับชำระสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย (Tesco Lotus ให้สิทธิเงินคืนจาก Vat 5%) ส่วน 7-11 อยู่ระหว่างการขออนุญาต ซึ่งถือว่า เป็น Sentiment เชิงบวกต่อธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะ BJC (FV@B61) และ CPALL (FV@B80)
ต่างชาติชะลอการซื้อหุ้น รอผลการประชุม G20
แม้วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 258 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) แต่เป็นการซื้อสุทธิเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 280 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) และอินโดนีเซีย 48 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 ประเทศ ต่างชาติขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิ 38 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 13 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 18 ล้านเหรียญ หรือ 580 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8 มีมูลค่ารวม 9.30 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิอีก 1.87 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 มีมูลค่ารวม 1.31 หมื่นล้านบาท)
ความไม่แน่นอนในการประชุม G-20 วันเสาร์-อาทิตย์นี้ กดดันให้ต่างชาติชะลอการซื้อหุ้นในระยะสั้น และสลับมาซื้อตราสารหนี้แทน สังเกตได้จาก Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และในคืนที่ผ่านมาลงไปแตะระดับต่ำกว่า 3% (ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน) เช่นเดียวกับตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติขายหุ้นและสลับมาซื้อตราสารหนี้ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 มีมูลค่ารวม 7.61 พันล้านบาท กดดัน Bond Yield 10 ปี ของไทยลดลงมาอยู่ที่ 2.71% (จากที่เคยสูงสุดที่ 2.89% ณ 9 ต.ค. 61)
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ตลาดหุ้น sideway สะท้อนผลประชุม G-20 สหรัฐน่าจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน
วันนี้ตลาดน่าจะรอผล การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ในการประชุม G-20 ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่าสหรัฐจะยังคงเดินหน้าเก็บภาษีจากจีนตามเดิม แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ตลาดน่าจะสะท้อนประเด็นดังกล่าวไปมากพอสมควร
ขณะที่ประเด็นหนุนตลาดฯ เริ่มชัดเจนขึ้น โดยวานนี้ ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยเรื่องประกาศกกต. การแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. 350 เขต พร้อมนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้ง ตามคาดในวันที่ 24 ก.พ. 2562 น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และหนุน Fund Flow ให้กลับเข้ามาอีกครั้ง หลังปีนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 2.87 แสนล้านบาท สูงสุดในภูมิภาครองจากไต้หวันและเกาหลีใต้
นอกจากนี้ สัญญาณที่ว่า Fed อาจไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอาจมีความน่าสนใจลดลงน้อยลง และอาจส่งผลให้มีเม็ดเงินปรับเปลี่ยนในลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ที่ Valuation ไม่แพงมากนัก อาทิ ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่และไทย ซึ่งระดับ Expected P/E ปี 2562 ปัจจุบันอยู่ที่ราว 14.6 เท่า แม้จะใกล้เคียงตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน แต่ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของการเกินดุลทางการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง น่าจะเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติอีกประการหนึ่ง
กลยุทธ์การลงทุน ยังเน้นไปที่หุ้น Domestic Play ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ ร่วมกับหุ้นปันผลสูง Upside สูง ร่วมกับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง ดังตารางด้านล่าง
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์