WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน
ใกล้การประชุม G-20 ซึ่งมีวาระการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ เชื่อว่ายังกดดันตลาด และสหรัฐยังเตรียมพร้อมจะขึ้นภาษีรถยนต์จากทั่วโลก น่าจะกดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ดัชนียังแกว่งตัวในกรอบ 1625-1645 จุด ส่วนราคาน้ำมันดูไบที่ต่ำกว่า 60 เหรียญฯ ยังเอื้อต่อผู้ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ทั้งวัสดุก่อสร้าง (TASCO, SCC) ปิโตรเคมี (IRPC, SCC, TOP) และพรรคการเมืองจะเริ่มหาเสียงได้หลัง 11 ธ.ค. น่าจะเป็นปัจจัยหนุนหุ้น Domestic ทั้งหุ้นเกี่ยวข้องกับลงทุนในสาธารณูปโภค/EEC และการบริโภคครัวเรือน Top picks เลือก SCC(FV@B515) และ TASCO(FV@B18) ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันขาลง
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….SET Index แกว่งในกรอบแคบ
วานนี้ SET Index แกว่งตัวในกรอบแคบๆ ก่อนจะปิดตลาดแดนบวกที่ระดับ 1634.27 จุด เพิ่มขึ้น 3.5 จุด(+0.21%) มูลค่าการซื้อขาย 3.65 หมื่นล้านบาท ยังไม่มีปัจจัยลบกดดันตลาดฯ บวกกับราคาน้ำมันรีบาวด์ระยะสั้น จึงมีแรงซื้อไล่ซื้อกลับในหุ้นกลุ่มพลังงาน อย่าง PTT เพิ่มขึ้น 0.5% ตามด้วยหุ้นกลุ่มค้าปลีก(HMPRO, MAKRO) ร.พ.(BDMS, BH) และหุ้นขนาดใหญ่กลุ่ม ธ.พ. (BBL KBANK) ที่ปรับตัวขึ้นต่อ อีกกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นคือ กลุ่มโรงแรมทั้ง ERW (+4.7%) CENTEL(+3%) และ MINT(1.4%) 
แนวโน้มดัชนีวันนี้ น่าจะยังแกว่งตัวในกรอบ 1620-1645 จุด แม้จะได้รับ sentiment เชิงบวกจากตลาดต่างประเทศ แต่เชื่อว่าความผันผวนยังมี เพราะสหรัฐเตรียมขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์เข้าไว้ใน Safeguard อีกรายการ  ก่อนที่ได้ข้อสรุป รอบสุดท้าย สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน  ในการประชุม G-20 วันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. นี้ และราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า 60 เหรียญฯ ยังเอื้อต่อประเทศที่ใช้น้ำมัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบ เช่น ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้างและสายการบิน เป็นต้น   
ก่อนสรุปขึ้นภาษีนำเข้าจีน สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากทั่วโลกอีกรายการ
ระหว่างรอการประชุม G-20 วันที่ 30 พ.ย.–1ธ.ค. ที่ประเทศอาร์เจนตินา  ซึ่งมุ่งไปที่การเจรจาการค้านอกรอบระหว่างจีน และสหรัฐ แต่คาดว่าข้อสรุปไม่น่าจะสร้างความแปลกใจต่อตลาดคือ สหรัฐยังเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนตามเจตนาเดิม ขณะเดียวกัน สหรัฐเตรียมเดินหน้า ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ เป็นอีก 1 รายการในภาษี Safe Guard  จากเดิม 2-2.5% เป็น  25%  เพิ่มเติมจากก่อนหน้าที่ขึ้นภาษี 6 รายการคือ เหล็ก, อลูมิเนียม, เครื่องซักผ้า, แผงโซลาร์เซลล์, น้ำมันไบโอดีเซล และ ยางรัด  ทั้งนี้ยกเว้นไม่เก็บภาษี รถยนต์ นำเข้า เม็กซิโก และแคนาดา 
ทั้งนี้รถยนต์ เป็นสินค้าที่สหรัฐนำเข้าอันดับ 1 ราว 12% ของยอดนำเข้าทั้งหมด  โดยประเทศที่นำเข้ามากที่สุดคือ เม็กซิโก รองลงมาคือแคนาดา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นต้น  ขณะที่นำเข้าจากไทยน้อย ราว 1.04 พันล้านเหรียญ หรือราว 0.44% ของยอดส่งออกรวมของไทย(4% ของตลาดรถยนต์ไปทั่วโลกของไทย แต่คาดว่ากระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์โดยปี 2562 คาด 2.2 ล้านคัน จาก 2.14 ล้านคันในปีนี้ ซึ่งน่าจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนทุกรายในตลาด STANLY,  AH  ขณะที่ SAT คาดได้รับผลกระทบแต่น่าจะชดเชยจากการได้รับคำสั่งซื้อใหม่จากบริษัทชิ้นส่วนจากสหรัฐ (Tier-1) ให้ผลิตชิ้นส่วนเพลาข้างกระบะ 1.5 ตัน (Axle Shaft)  (Direct Export) ให้ผลิตนาน 7 ปี  เริ่มส่งมอบตั้งแต่ 4Q61 ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ในงวด 4Q61  70 ล้านบาท และในปี 2562 เป็นต้นไปปีละ 400 ล้านบาท
สหรัฐนำเข้ารถยนต์ทั่วโลก
 
ที่มา: www.trademap.org
ส่วนปัจจัยในประเทศ ล่าสุด กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการช็อปช่วยชาติเป็นปีที่ 4 ให้ครม. พิจารณา คาดวันที่ 4 ธ.ค. นี้ โดยจำกัดซื้อสินค้า 3 ประเภท คือ ยางรถยนต์ที่ผลิตในไทย, หนังสือ(ทั้งสิ่งพิมพ์ และ E-Book) และสินค้าโอท็อป ลดหย่อนได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2561 – 15 ม.ค. 2562  คาดว่าไม่จูงใจเหมือน 3 ปีก่อนหน้า ที่ไม่จำกัดสินค้า  
การเมืองน่าจะกระตุ้นตลาด พรรคการเมืองหาเสียงหลัง 11 ธ.ค. นี้    
เส้นทางที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 ชัดเจนมากขึ้น สัญญาณที่บ่งชี้ที่สำคัญ 2 เรื่อง
1.    การย้ายพรรคการเมืองของ อดีต ส.ส. มีความคึกคักอย่างมาก เพราะกฎหมายกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองที่จะส่งลงสมัครอย่างน้อย 90 วัน ก่อนการเลือกตั้ง ถ้าใช้ 24 ก.พ.2562 เป็นเป้าหมาย การย้ายพรรคต้องจบภายใน 26 พ.ย.ที่ผ่านมา  ซึ่ง พบว่า 2 พรรคการเมืองใหญ่ดั้งเดิมได้แก่ ประชาธิปัตย์ และ เพื่อไทย มี ส.ส. ไหลออกมากที่สุด  โดยส่วนใหญ่ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ เช่น พลังประชารัฐ , พลังประชาชาติไทย, ไทยรักษาชาติ และเพื่อชาติ จากนี้การย้ายพรรคน่าจะสิ้นสุดลง 
2.    การนัดหารือระหว่าง คสช., กกต. และตัวแทนพรรคการเมือง ในเรื่องกำหนดการเลือกตั้ง  การปลดล็อคทางการเมือง และข้อปฎิบัติต่างๆ ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้ง  กำหนดไว้  7 ธ.ค.2561 หลังจากนั้น ซึ่งจะเห็นการปลดล็อค และออกพระราชกฤษฎีกาให้จัดการเลือกตั้ง
พัฒนาการเชิงบวกดังกล่าว น่าจะหนุนตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง  สอดคล้องกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณในช่วงการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด พบว่า SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วง 1 สัปดาห์หลังเลือกตั้ง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 4.38% และให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้ง 4 ครั้ง และมักจะดึงเงินทุนต่างชาติเข้าตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังเลือกตั้ง  เฉลี่ยสูงถึง 8.29 พันล้านบาท  (ดังภาพ) 
ผลตอบแทนของ SET Index ก่อนและหลังเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด
 
ราคาน้ำมันต่ำกว่า 60 เหรียญฯ เอื้อประโยชน์มากสุดต่อ TASCO, SCC, IRPC
ดังที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปวานนี้ ถึงราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ดีต่ออุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลัก จากที่นำเสนอในช่วง 2 วันที่ผ่านมาขอสรุปอีกครั้งดันี้
1. ปิโตรเคมี ผู้ได้ประโยชน์น่าจะเป็นกลุ่มที่ ใช้แนฟทา หรือคอนเดนเสท เป็นวัตถุดิบ แยกเป็น  ผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจรตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ขั้นต้น-ขั้นปลาย โดยผู้ที่ได้ประโยชน์มากสุดคือ IRPC (สัดส่วนกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 40% อะโรเมติกส์ 10% สไตรรีนิกซ์ 20% และโรงกลั่น 30%) - ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้ง 100% และ SCC (กำไรสุทธิจากปิโตรเคมีราว 70% ของกำไรสุทธิทั้งหมดใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ทั้ง 100% โดยที่ต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงดังกล่าว จะทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ และต้นทุนวัตถุดิบ (spread) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสั้น ๆ ขณะที่ PTTGC แม้จะเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจรเช่นกัน แต่วัตถุดิบหลักเป็นก๊าซที่ได้จากโรงแยกก๊าซ(สัดส่วนราว 85-90% ส่วนที่เหลือ 10-15%  เป็นแนฟทา) ซึ่งมี lagtime ราว 6 เดือน จึงได้ประโยชน์น้อยกว่าผู้ประกอบการทั้ง 2 รายข้างต้น
ส่วนผู้ผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น ได้แก่ TOP (สัดส่วนกำลังการผลิต อะโรเมติกส์ 25% และโรงกลั่น 65%) – ใช้คอนเดนเสทเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้ง 100% และ ESSO สัดส่วนกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ 35% และโรงกลั่น 65%) – ใช้คอนเดนเสทเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้ง 100% ซึ่งทั้ง 2 หุ้นดังกล่าว ได้ประโยชน์น้อยกว่า เนื่องจากมีสัดส่วนปิโตรเคมี 35% แต่มีโรงกลั่นถึง 65% ขณะที BCP มีสัดส่วนปิโตรเคมี เพียง 20% จึงได้ประโยชน์ไม่มากนัก
ในส่วนของ IVL เป็นผู้ผลิตขั้นปลายสายผลิตภัณฑ์ PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบหลัก คือพาราไซลีน (PX) นำมาผลิตรวมกับขั้นกลางคือ MEG (ซื้อจาก PTTGC) ทั้งนี้ PX จะผันแปรตาม demand และ supply เป็นหลัก  จึงอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ราคาน้ำมันขาลงทันที 
โดยสรุปธุรกิจปิโตรเคมี  ผู้ที่ได้ประโยชน์มากสุดคือ  SCC,  IRPC และ TOP   
2.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง แม้จะใช้เชื้อเพลิงในการผลิตที่แตกต่างกัน โดยผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ TASCO ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตยางมะตอย (TASCO) รายใหญ่สุดของประเทศ ซึ่งต้นทุนกว่า 90% มาจากการนำเข้าน้ำมันดิบ (Crude)  จากการประเมิน พบว่าราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทุก 10 เหรียญฯ/บาร์เรล จะทำให้ต้นทุนในการผลิตยางมะตอยของ TASCO ลดลง 63 เหรียญฯ/ตัน  หากกำหนดให้ราคาขายคงที่  จะเพิ่ม Gross margin ราว 10%    แต่หากพิจารณาราคาน้ำมันดูไบลดลงจากระดับสูงสุด 84 เหรียญฯ จนขณะนี้ลดลงเกือบ 30 เหรียญฯ น่าจะหนุนกำไร TASCO ในงวด 4Q61 ต่อเนื่องในปี 2562  
ตามมาด้วย SCC  แม้โครงสร้างกำไรของ SCC มาจากธุรกิจปิโตรเคมีเกือบ 70% ของกำไรรวม จะได้ประโยชน์จาก  spread มีแนวโน้มลดลงดังกล่าวข้างต้น  SCC ยังมีธุรกิจปูนที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง ซึ่งน่าจะหนุนกำไรในงวด 4Q61 และต่อเนื่องในปี 2562  
และ DCC ใช้ต้นทุนเชื้อเพลิงเป็นก๊าซ ผลประโยชน์ในระยะสั้นจะช้ากว่า 2 บริษัทแรก แต่เนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่งสูง ต่อยอดขาย (SG&A) ราว  8% ทำให้ได้ประโยชน์ในสถานการณ์นี้ด้วย
โดยสรุป  TASCO, SCC น่าจะได้ประโยชน์มากสุดในกลุ่มนี้
 
และ 3. สายการบินนั้น การลดลงของราคาน้ำมัน แม้จะช่วยลดต้นทุน  แต่ประโยชน์ที่ได้รับจะลดหลั่นกันไป ตามการ hedging หรือการป้องกันความเสี่ยงจากต้นทุนน้ำมันไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ผู้ที่ hedge ไว้ต่ำจะได้ประโยชน์สูงสุด คือ AAV โดยใน 4Q61 ทำไว้ 13% และเพียง 2% ในปี 2562 ตามด้วย BA และ THAI แต่โดยรวม ภาวะการแข่งขันในธุรกิจที่สูงขึ้น น่าจะหักล้างประเด็นบวกจากราคาน้ำมันขาลง 
 
ต่างชาติชะลอการลงทุน…รอผลประชุม G-20
นักลงทุนรอผลการประชุม G-20 ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ การเจรจาการค้า จีน-สหรัฐ ต่อด้วยการประชุม OPEC ส่งผลให้ต่างชาติชะลอการลงทุน   และมีสลับมาขายบางประเทศ สังเกตได้จากวานนี้ แม้ จะซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 3 แต่มีมูลค่าเพียง 49 ล้านเหรียญ และซื้อสุทธิเพียง 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 199 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 11 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และฟิลิปปินส์ 6 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศ ขายสุทธิ คือ ไต้หวันขายสุทธิ 99 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยขายสุทธิอีก 68 ล้านเหรียญ หรือ 2.22 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 มีมูลค่ารวม 7.88 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิกว่า 4.27 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 มีมูลค่ารวม 9.13 พันล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 736 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) โดยเป็นการซื้อสุทธิเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (T>1) 1.82 พันล้านบาท แต่ยังขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (T<1) 1.09 พันล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
 
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!