- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 19 November 2018 15:34
- Hits: 3825
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดวันนี้ SET ยังแกว่งตัวในกรอบ 1645-1625 จุด โดยยังให้น้ำหนักสงครามการค้าโลกยังมีอยู่ โดยตลาดน่าจะรอความชัดเจนหลังการประชุม G-20 ต้น ธ.ค. นี้ แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นการบริโภค/รากหญ้าในประเทศยังมีอยู่ กลยุทธ์ยังเน้นสะสมหุ้น Domestic (ROBINS, CPALL, BJC) Top picks เลือก CPALL(FV@B80) และ TTW([email protected])
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ….SET Index อ่อนตัวตัวท้ายตลาดฯ
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index อ่อนตัวช่วงท้ายตลาด และปิดแดนลบที่ระดับ 1635 จุด ลดลง 3.83 จุด (-0.23%) มูลค่าการซื้อขาย 3.71 หมื่นล้านบาท แม้จะมีแรงรีบาวด์ในหุ้นกลุ่มพลังงาน PTT PTTEP หลังราคาน้ำมันฟื้นตัวระยะสั้น รวมถึงการฟื้นตัวของหุ้นในกลุ่มค้าปลีก (CPALL) แต่แรงขายในกลุ่มอื่นๆ ยังมีอยู่ เช่น อสังหาฯ เผชิญกับ Sentiment ลบเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน ทำให้หุ้นในกลุ่มฯ ส่วนใหญ่ยังถูกแรงขายกดดันต่อเนื่อง ส่วนรายหุ้นที่แกร่งเหนือตลาดอย่าง CPF และ HANA ปรับตัวขึ้น 1.6% และ 2.1% ตามลำดับ หลังงบ 3Q61 ทำได้ดีกว่าคาด
แนวโน้ม SET Index วันนี้ เชื่อว่ายังแกว่งตัวใน กรอบ 1645-1625 จุด ความกังวลต่อการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ต่อ จีน ครั้งที่ 4 วงเงิน 2.67 แสนเหรียญฯ ยังมีอยู่ และนักลงทุนน่าจะรอดู ผลสรุป ในต้นเดือน ธ.ค. นี้ ขณะที่ในประเทศรัฐยังออกมาตรการช่วยเหลือรากหญ้าและ กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศหนุนหุ้นค้าปลีก
รัฐกระตุ้นการลงทุน+ครัวเรือน แทนการส่งออกที่ชะลอตัว
ท่ามกลางสงครามการค้ายังมีอยู่ น่าจะกดดันราคาน้ำมันดิบดูไบแกว่งตัว 60-70 เหรียญฯต่อบาร์เรล แม้กลุ่ม OPEC เตรียมจะพิจารณาควบคุมการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม โดยจะลดการผลิตลง 1.4 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2562 ควบคู่กับการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่จะสิ้นสุดปลายปีออกไปถึงปี 2562 ซึ่งต้องติดตามการประชุม OPEC รอบปลายปีที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วันที่ 6 ธ.ค. นี้
ส่วนในประเทศวันนี้ สภาพัฒน์ฯจะรายงาน GDP Growth งวด 3Q61(ช่วงสายๆ) ตลาดคาด 4.2%yoy ขณะที่ ASPS คาด 4.3% อย่างไรก็ตามคาดว่ามีแนวโน้มชะลอลงต่อในงวด 4Q61 สะท้อนจาก ยอดส่งออกที่ชะลอตัวใน 2-3 เดือนล่าสุด โดยเฉพาะ ก.ย. ที่พลิกกลับมาหดตัว 5.2% ครั้งแรกในรอบ 1 ปี 7 เดือน และมีแนวโน้มชะลอลงต่อถึงปีหน้า ทำให้ปี 2562 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักน่าจะมาจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน (Investment Led Growth) ประกอบกับรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากประชาธิปไตยน่าจะเป็นใบเบิกทางและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ น่าจะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ควบคู่กับรัฐบาลได้ออกกฏหมาย EEC ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี หนุนยอดขอ BOI มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นรัฐบาลยังเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคครัวเรือน ล่าสุด เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในปลายปีนี้ โดยมุ่งไปที่แรงงานนอกภาคเกษตร, ครู และผู้สูงอายุ (ดังตาราง) ซึ่งน่าจะดีต่อหุ้นที่เน้นการบริโภคในประเทศ ทั้งค้าปลีก-ค้าส่ง เช่น CPALL, ROBINS, BJC และผู้ให้บริการมือถือ ADVANC, DTAC เป็นต้น
มาตรการกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนที่มีผลแล้วและกำลังพิจารณาเพิ่ม
ที่มา : ASPS รวบรวม
ภาษีทรัพย์สินมีผลปี 2563 กดดันหุ้นพัฒนาที่อยู่อาศัย
สรุปว่า พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้ผ่านการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดประกาศใช้ 1 ม.ค.2563 โดยมีการปรับปรุงอัตราเพดานภาษีแต่ละกลุ่มดังนี้คือ
• ภาคเกษตรกรรมสูงสุดไม่เกิน 0.15% : บุคคลธรรมดาได้รับยกเว้น 60 ล้านบาทแรก
• ที่อยู่อาศัย 0.3% : บุคคลธรรมดา เก็บภาษีหลังที่ 2 ตั้งแต่บาทแรก
• ที่พาณิชยกรรม 1.2%
• ที่ดินว่างเปล่า 0.3% และให้เพิ่มเพดานขึ้นทุก 3 ปี แต่จำกัดไม่เกิน 3%
ทั้งนี้ยกเว้นการเสียภาษีทรัพย์สิน 3 กลุ่มคือ
1. ทรัพย์สินของรัฐ หรือส่วนที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์
2. ได้รับการลดหย่อน เช่นสถานศึกษา หรือบ้านที่ได้รับมรดก
3. ได้รับการผ่อนปรน เช่น ยกเว้นการจัดเก็บ 3 ปีแรก สำหรับที่ดินเกษตรกรรม แต่จะค่อยๆ เพิ่มอัตราการจัดเก็บ
ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนมี 2 ส่วนหลัก คือ
1. ที่ดินที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์กรรม ได้แก่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่า ซึ่งในกลุ่มนี้ในอดีตถูกจัดเก็บภาษี 2 ส่วนคือภาษีโรงเรือน และรายได้ประเมินจากการที่อสังหาริมทรัพย์นั้นทำได้ แต่วิธีการตามกฎหมายใหม่ถูกจัดเก็บบนฐานราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งการจัดเก็บคนละฐานการประเมินอาจทำให้จำนวนเงินที่ถูกจัดเก็บภาษีเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะจะมีภาระจ่ายคงที่ ซึ่งแตกต่างจากการจัดเก็บในอดีตรา จะผันแปรไปตามรายได้ และภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น
2. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย กลุ่มเป้าหมายที่จะถูกจัดเก็บภาษีได้แก่ บ้านหลังแรกที่มีราคาสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป และบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป โดยในส่วนของบ้านราคาสูงกว่า 50 ล้านบาท ฝ่ายวิจัยเห็นว่าเป็นส่วนน้อยของตลาด และราคาที่สูงขนาดนี้ผู้ซื้อไม่มีความยืดหยุ่นต่อภาระภาษีที่เสีย จึงผลกระทบจำกัด แต่บ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป (ไม่ได้ระบุราคา) เชื่อว่ากระทบ เพราะมิใช่เรื่องภาษีเท่านั้น แต่มาตรการของ ธปท. คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ (Loan to Value , LTV) บ้านหลังที่ 2 (เชื่อว่าเป็นการเก็งกำไร/ลงทุน) ซึ่ง สินค้าที่กระทบน่ากลุ่มคอนโดมิเนียม โดยภาพรวมทำให้กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จะต้องเน้นมีพอร์ตสินค้ากระจายตัว ทั้งประเภทสินทรัพย์ รายได้ และ Dividend Yield สูง (LH, QH)
การกระตุ้นเศรษฐกิจ การเลือกตั้ง หนุน Fund Flow ไหลกลับไทยสูง
วันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 103 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทิ 5 วัน) แต่เป็นการซื้อสุทธิเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คืออินโดนีเซียซื้อสุทธิ 114 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) และเกาหลีใต้ 38 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 5 วัน) ส่วนอีก 3 ตลาดยังขายสุทธิ คือ ไต้หวัน 36 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า), ฟิลิปปินส์ 3 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) และไทย ขายสุทธิเล็กน้อย 9 ล้านเหรียญ หรือ 304 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิอีก 1.31 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
และหากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 2561 พบว่า ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคไปแล้วกว่า 2.90 หมื่นล้านเหรียญ (ytd) อย่างไรก็ดีในเดือน พ.ย. 61 ต่างชาติเริ่มมีการสลับมาซื้อสุทธิบ้าง จนทำให้ยอดซื้อสุทธิในเดือน พ.ย. (mtd) ของตลาดหุ้นภูมิภาคเกือบทุกประเทศพลิกกลับมาเป็นบวก ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่ยังขายสุทธิ 175 ล้านเหรียญ หรือ 5.78 พันล้านบาท แต่แรงขายลดน้อยลง (รายละเอียดดังตารางทางด้านล่าง) บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจของภาครัฐช่วงปลายปี และการเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที น่าจะช่วยกระตุ้นให้ Fund Flow มีโอกาสไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กำไรตลาด 3Q61 ใกล้เคียงคาด..ปี 2562 ต้องปรับลดตามราคาน้ำมันที่ลดลง
ภาพรวมผลประกอบการ 3Q61 จากการรวบรวมของฝ่ายวิจัย พบว่ามีบริษัทที่ประกาศงบฯ 568 บริษัท หรือ 92% ของ Market Cap ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 2.56 แสนล้านบาท แม้จะยังไม่ครบถ้วนเกือบ 100% แต่ก็ถือเป็นระดับกำไรใกล้เคียงกับที่คาดไว้ และถือว่าใกล้เคียงกับงวด 2Q61 (ทำกำไรฯ ได้ 2.60 แสนล้านบาท) และหากเปรียบเทียบกันเป็นรายกลุ่มฯ สามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้
กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิเติบโตทั้ง yoy และ qoq คือ กลุ่มพลังงาน (GULF PTT PTTEP BGRIM BCP EGCO EA), กลุ่มปิโตรเคมี (PTTGC และ IVL), กลุ่มยานยนต์ (STANLY), กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนฯ (DELTA HANA), กลุ่มขนส่ง (BEM BTS), กลุ่มค้าปลีก (COM7 HMPRO CPALL BJC), กลุ่มรับเหมาฯ (CK ITD STEC), กลุ่มโรงพยาบาล (BCH BH BDMS)
กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิเติบโต yoy แต่ลดลง qoq คือ กลุ่มสื่อ-บันเทิง (MAJOR VGI), กลุ่มท่องเที่ยว (OHTL), กลุ่มเกษตร (STA)
กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิเติบโต qoq แต่ลดลง yoy คือ กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม (หลักๆ มาจาก CBG TFG TU)
กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิลดลงทั้ง yoy และ qoq คือ กลุ่ม ICT (จาก ADVANC, INTUCH, DTAC, JAS และ JASIF), กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC EPG TASCO ), กลุ่มอสังหาฯ (CPN LH SIRI)
โดยรวม กำไรสุทธิตลาดฯ 9 เดือน รวมอยู่ที่ 8.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 75.2% ของประมาณการฯ ทั้งปีที่ 1.07 แสนล้านบาท ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการ 4Q61 คาดชะลอตัวลงจาก 3Q61 ปัจจัยหลักมาจากกลุ่มที่มี Market Cap ขนาดใหญ่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานอ่อนตัวลง เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่ม ICT และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ตรงข้ามกลุ่มที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตขึ้น คือ กลุ่มค้าปลีก จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปี และกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม รวมทั้งสนามบิน-สายการบิน จากการเข้าสู่ช่วง High Season ของฤดูกาลท่องเที่ยว แต่อาจจะมีน้ำหนักไม่มากพอเมื่อเทียบกับแรงกดดันจากหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ ฝ่ายวิจัยจึงอยู่ในระหว่างการทบทวนประมาณการฯ ปีนี้ แต่คาดว่า EPS ไม่น่าจะลดลงจากเดิมที่ 108 บาท/หุ้น มากนัก
แนวโน้มผลประกอบการปี 2562 คาดว่ายังเติบโตแต่ในอัตราลดลง โดยคาดว่า EPS จะลดลงเหลือ 111–112 บาท/หุ้น จากเดิม 115 บาท/หุ้น เพราะมีการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันปี 2562 ลง 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล หากอิงกำไรใหม่ และ PER ที่ 15 เท่า จะได้ดัชนีเป้าหมายระหว่าง 1665–1680 จุด แต่หากอิง PER 16 เท่า จะได้ดัชนีเป้าหมายระหว่าง 1776–1792 จุด โดยมีแนวโน้มจะหันไปใช้ PER 15 เท่า เพราะคาดว่า fund flow มีโอกาสไหลกลับมาไทยใน 2Q62 เป็นต้นไป และ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก กลยุทธ์การลงทุน จึงยังเน้นหุ้นที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) ควบคู่กับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ แนะนำ CPALL(FV@B80) และ TTW([email protected])
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์