- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 15 November 2018 23:40
- Hits: 1087
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันฟื้นตัวระยะสั้น จากที่ OPEC เตรียมตัดลดกำลังการผลิตน้ำมัน แต่คาดว่ายังมีน้ำหนักหักล้าง Demand ที่ชะลอตัวไม่ได้ ส่วนในประเทศยังมีแรงขายรับงบ 3Q61 (CPF กำไรดีกว่าคาด) และยังถ่วงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลงทุนภาครัฐ และการกระตุ้นใช้จ่ายแก่นักท่องเที่ยว ทำให้ SET Index ยังแกว่งตัวในกรอบ 1640-1665 จุด ยังแนะนำสะสมหุ้น Domestic (ROBINS, CPALL, BJC) Top picks เลือก CPALL(FV@B80) และ WHA([email protected]) มีโอกาสเข้าคำนวณ SET50 ในรอบหน้า
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….หุ้นพลังงานกดดันตลาดฯ หลังราคาน้ำมันร่วงต่อ
วานนี้ SET Index แกว่งผันผวนในแดนลบตลอดวัน และปิดตลาดฯ ที่ 1652.30 จุด ลดลง 7.48 จุด (-0.45%) มูลค่าการซื้อขาย 4.49 หมื่นล้านบาท โดยมีแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานตามการปรับตัวของลงของราคาน้ำมันดิบโลก นำโดย PTT ปรับตัวลง 2.5% PTTEP ปรับตัวลง 4.7% ตามด้วยหุ้นขนาดใหญ่อื่นๆ ในกลุ่ม ธ.พ. (KBANK, KTB, BBL) ยกเว้นกลุ่มค้าปลีกฟื้นตัวสวนทางตลาดฯ นำโดยหุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นอีก 0.4% BJC และ HMPRO ที่ปิดตลาดฯ แดนบวก ยกเว้น ROBINS แม้ดีดตัวขึ้นแรงระหว่างวัน แต่สุดท้ายปิดตลาดราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากวานนี้
ยังมีหุ้นรายตัวที่ขึ้นสวนทาง คือ MTC +1.5% เพราะเป็น 1 ในบริษัทที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปคำนวณ MSCI Global Standard ซึ่งจะมีผล 3 ธ.ค. นี้ และ TASCO ดีดตัวแรง 7.5% คาดพ้นจุดต่ำสุดของธุรกิจแล้ว และน่าจะเริ่มเห็นการเติบโตใน 4Q61 จากราคายางมะตอยในประเทศขยับขึ้น
แนวโน้ม SET Index วันนี้ คาดยังแกว่งตัวในกรอบ 1640-1665 จุด การฟื้นตัวของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นจากตัดลดกำลังการผลิต ไม่น่าจะหักล้าง Demand โลกทีมีแนวโน้มชะลอตัวจากสงครามทางการค้า ขณะที่ในประเทศยังมีแรงขายรับงบ 3Q61 แม้จะมีแรงหนุนจาก LTF และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ผ่านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว
เงินเฟ้อโลกชะลอตัว..วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะสิ้นสุดกลางปี 2562
• ปี 2561 ดอกเบี้ยไทยน่าจะไม่ขึ้น ผลประชุม กนง. วานนี้ยังยืนดอกเบี้ยฯ ที่ 1.5% เพราะเงินเฟ้อยังต่ำ ล่าสุดอยู่ที่ 1.23% เดือน ต.ค. ชะลอตัวจาก 1.33% เดือน ก.ย. และ 1.62% เดือน ส.ค. (เงินเฟ้อเฉลี่ย 10M61 ที่ 1.15%) แต่เป็นที่สังเกตว่าคณะกรรมการฯ ที่สนับสนุนให้ยืนดอกเบี้ยที่เดิม : เห็นชอบให้ขึ้นดอกเบี้ย กลับลดลงจาก 5:2 ในการประชุมครั้งก่อน เป็น 4:3 อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในการประชุมที่เหลืออีก 1 ครั้งของปีนี้ กนง. จะยังคงดอกเบี้ยฯ เพราะเชื่อว่าเงินเฟ้อใน 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ยัง จะต่ำกว่า 1.5% (ต่ำกว่าประมาณการเดิมสิ้นปี 2561 เฉลี่ย 1.98%) ผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง รวดเร็วจากราว 84 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรลต้นเดือน ต.ค. เหลือ 65 เหรียญฯ ในช่วงเพียงเดือนเศษ
และหากมองยาวไปปี 2562 น่าจะกดดันให้เงินเฟ้อจะสูงสุดที่ 1.87% (เฉลี่ยทั้งปี 1.57%) ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ 65 เหรียญฯต่อบาร์เรล ทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยฯ ปี 2562 อาจจะเกิดขึ้น 1-2 ครั้ง ราว 0.25-0.5% แต่ขึ้นกับเศรษฐกิจโลกจะมีความเสี่ยงจากสงครามทางการค้าโลกรุนแรงมากน้อยเพียงใด
• การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐน่าจะสิ้นสุดกลางปี 2562 สหรัฐรายงานเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 2.5% ตามตลาดคาด โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.3% ใน ก.ย. (ต่ำกว่าที่ระดับสูงสุด 2.9% ใน ก.ค. 2561) หลัก ๆ มาจากต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น 8.9% เคหะสถานเพิ่มขึ้น 3.2% และอาหาร/เครื่องดื่ม 1.2% และแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้น่าจะชะลอตัวตามราคาน้ำมันที่ลดลง แต่เงินเฟ้อล่าสุด ยังใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง 0.25% เป็น 2.5% สิ้นปีนี้ ยังมีอยู่ ส่วนปี 2562-2563 คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น่าจะน้อยกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง (0.75%) และ 2 ครั้ง (0.5%) หรือไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.75% เพราะคาดเงินเฟ้อยังไม่ได้ทำสูงสูงสุดใหม่ ทำให้เชื่อว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น่าจะสิ้นสุดในปี 2562 ซึ่งถือน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการปรับลดพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ และมาเพิ่มตลาดหุ้นอีกครั้ง ซึ่งตลาดหุ้นน่าจะได้อานิสงค์จากสถานการณ์นี้ แต่คงน่าจะอีก 3-6 เดือนข้างหน้า
ต่างชาติขายหุ้นไทย 14 เดือนติด…รอลุ้น LTF พยุงดัชนีช่วงที่เหลือของปี
วานนี้ต่างชาติเดินหน้าขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่า 220 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียวที่ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 36 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 3 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 113 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), ตามมาด้วยไต้หวัน 74 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน), ฟิลิปปินส์ 16 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5), อินโดนีเซีย 36 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 53 ล้านเหรียญ หรือ 1.75 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) ส่วนสถาบันในประเทศสลับมาขายสุทธิ 567 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว)
ความกังวลเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว กดดันตลาดหุ้นในภูมิภาคและไทยปรับฐาน โดยในเดือนนี้ดัชนีหุ้นไทยลดลงมาอีก 1.01% (เดือน ต.ค. ลดลง 4.92%) อีกทั้ง Fund Flow ยังคงไหลออกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 กว่า 3.12 แสนล้านบาท ส่วนแรงหนุนจากสถาบันในประเทศเริ่มชะลอตัว สังเกตได้จากตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว สถาบันฯขายสุทธิหุ้นไทยถึง 6 ใน 8 วัน อย่างไรก็ดีต้องรอลุ้นดูว่าเม็ดเงิน LTF ที่มักเข้ามาสูงสุดในช่วงเดือน ธ.ค.เฉลี่ยราว 46% ของแรงซื้อทั้งปี หรือราว 2.96 หมื่นล้านบาท จะช่วยพยุงตลาดในช่วงท้ายของปีได้มากน้อยเพียงใด
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กำไรตลาด 3Q61 ราว 2.6 แสนล้านบาทใกล้เคียงคาด
การรายงานงบฯ 3Q61 จากการรวบรวมของฝ่ายวิจัยฯ จนถึงค่ำวานนี้ พบว่ามีบริษัทที่ประกาศงบฯ แล้วประมาณ 556 บริษัท หรือ 92% ของ Market Cap ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 2.56 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกันเฉพาะ บจ. ที่ประกาศงบฯ กับช่วง 3Q60 และ 2Q61 ปรากฏว่าเติบโตถึง 21.9% yoy และ 1.8%qoq ขณะที่ Real Sector ในงวด 3Q61 นี้ ทำกำไรสุทธิรวมกัน 1.88 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.1%yoy และ 2.2%qoq หากเปรียบเทียบกันเป็นรายกลุ่มฯ สามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้
กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิเติบโตทั้ง yoy และ qoq คือ กลุ่มพลังงาน (PTT PTTEP BGRIM BCP EGCO EA), กลุ่มปิโตรเคมี (PTTGC และ IVL), กลุ่มยานยนต์ (STANLY), กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนฯ (DELTA), กลุ่มขนส่ง (BEM BTS), กลุ่มค้าปลีก (COM7 HMPRO CPALL BJC), กลุ่มรับเหมาฯ (PYLON SEAFCO CK ITD STEC STPI), กลุ่มโรงพยาบาล (BCH BH BDMS)
กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิเติบโต yoy แต่ลดลง qoq คือ กลุ่มสื่อ-บันเทิง (MAJOR), กลุ่มท่องเที่ยว (CENTEL), กลุ่มเกษตร (STA)
กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิเติบโต qoq แต่ลดลง yoy คือ กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม (หลักๆ มาจาก CBG TFG TU)
กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิลดลงทั้ง yoy และ qoq คือ กลุ่ม ICT (จาก ADVANC, INTUCH, DTAC, JAS และ JASIF), กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC), กลุ่มอสังหาฯ (CPN LH SIRI)
ทั้งนี้ ตามที่ฝ่ายวิจัยได้เคยนำเสนอถึงคาดกำไรสุทธิของตลาดฯ ทั้งปี 2561 ที่ 1.07 ล้านล้านบาท โดยงวด 1H61 ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 5.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของประมาณการฯ ทั้งปี ขณะที่ผลการดำเนินงานรวมในงวด 3Q61 นี้ ทำได้ใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 2.6 แสนล้านบาท เบื้องต้นฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรฯ ปี 2561 ไว้เช่นเดิมก่อน
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการ 4Q61 คาดชะลอตัวลงจาก 3Q61 ปัจจัยหลักมาจากกลุ่มที่มี Market Cap ขนาดใหญ่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานอ่อนตัวลง เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่ม ICT และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ตรงข้ามกลุ่มที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตขึ้น คือ กลุ่มค้าปลีก จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปี และกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม รวมทั้งสนามบิน-สายการบิน จากการเข้าสู่ช่วง High Season ของฤดูกาลท่องเที่ยว แต่อาจจะมีน้ำหนักไม่มากพอเมื่อเทียบกับแรงกดดันจากหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์