- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 11 October 2018 18:06
- Hits: 10575
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
“ดาวโจนส์ดิ่งหนัก กังวลบอนด์ยิลด์พุ่ง ติดตาม CPI”
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : --
ภาวะตลาดและปัจจัย : ตลาดวานนี้– SET Index ปิดตลาดปรับตัวเพิ่มถึง +24.90 จุด ปิดที่ 1721.82 จุด ถือว่าเป็นยอดสูงสุดของวัน และถือว่าดีกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้านที่แกว่งแคบ มูลค่าการซื้อขายน้อยเป็น 46.9 พันล้านบาท ปัจจัยบวกคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปีเริ่มลดลง โดยยังต้องติดตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯที่จะประกาศวันพฤหัส เงินบาทกลับมาแข็งค่า และน้ำมันปรับขึ้น รวมทั้ง IMF ปรับ GDP ไทยขึ้น หุ้นกลุ่มพลังงานยังเป็นตัวหลักหนุนตลาดฯได้เป็นอย่างดี ด้านผู้ซื้อสุทธิรายเดียวเป็น สถาบัน 4.7 พันล้านบาท ส่วนผู้ขายสุทธิคือ นักลงทุนทั่วไป 2.6 พันล้าน ต่างประเทศ 1.8 พันล้านบาท และพอร์ตโบรกเกอร์ 0.3 พันล้านบาท จุดที่น่าสังเกตคือ สถาบันซื้อสุทธิต่อเนื่อง
แนวโน้มและกลยุทธ์– ระยะสั้นคาดว่า SET กลับมาไม่สดใส หลังดาวโจนส์ปรับลงแรงถึง 832 จุด ปัจจัยลบคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปียังอยู่ในระดับสูง หลังประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก.ย.ออกมามาก โดยยังต้องติดตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯที่จะประกาศวันนี้ และน้ำมันปรับลง เงินบาททรงตัว ปัจจัยลบเดิมคือสงครามการค้าสหรัฐ-จีนทวีขึ้น และ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก สหรัฐ และจีน อีกทั้งดัชนีความกลัว (VIX) ทะยานไปถึง 22.96 จุด แต่เช้านี้สิ่งที่ดีคือ บอนด์ยิลด์อ่อนลงบ้าง ติดตามผลกำไรกลุ่มแบงค์ ซึ่ง DBSVTH คาดว่าเป็น 43.1 พันล้านบาท (+5.9% y-o-y,-6.8% q-o-q) ถือว่าปานกลาง ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านเช้านี้แกว่งลงแรงระดับ 2% ดาวโจนส์ล่วงหน้า -59 จุด ณ 8.00 น. น้ำมันล่วงหน้าปรับลง มาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังกระทบต่อหลักทรัพย์กลุ่มสถาบันการเงินและอสังหาฯ ข้อดีคือแม้ปัญหา EM ยังไม่จบแต่เศรษฐกิจของไทยเหนือกว่า EM อื่นคือ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง บัญชีเดินสะพัดเกินดุล เศรษฐกิจ ต.ค.แนวโน้มแข็งแกร่ง ด้านการเลือกตั้งตามโรดแมป มีกิจกรรมคึกคักขึ้นสำหรับปัจจัยต่างประเทศที่เป็นภาพใหญ่คือ ECB ทยอยลด QE และหยุดตอนสิ้นปี มีเงินไหลมาลงทุน EM น้อยลง ปัจจัยที่ยังต้องติดตามคือ สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านมีผลกับราคาน้ำมันให้ปรับขึ้น ส่วนระยะกลาง-ยาวเฟดคาดปีนี้จะปรับขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง (ปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี) และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ทำให้แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่า และเงินไหลออกกลับไปสหรัฐ นับว่าปัจจัยต่างประเทศยังกดดันในเรื่องกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แต่กังวลไทยจะได้รับผลกระทบสงครามการค้าตั้งแต่ปีหน้า แต่ก็มีข้อดีจะมีการย้ายฐานการผลิตมาไทยจีนมาไทย กลยุทธ์ในสัปดาห์นี้ ยังคงเน้นลงทุนหุ้นรายตัวที่มีพื้นฐานดีเมื่อราคาหุ้นปรับลงตามดัชนีฯ และเลือกหุ้นที่มีประเด็นที่น่าสนใจ หุ้นเน้นธุรกิจในประเทศ (Domestic Play) รวมทั้งหุ้นปันผลสูง นักลงทุนระยะสั้นควรเล่นรอบสั้นๆ ไม่หวังกำไรมาก ควรตั้งเป้าผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และทยอยขายทำกำไรเมื่อได้ตามเป้าหมาย ระยะนี้คาดว่า SET จะซื้อขายอยู่ในกรอบเป็น 1690-1710 จุด แต่ SET ตามพื้นฐานระยะยาว1 ปี ให้ไว้ที่ 1860 จุด ที่ P/E 17 เท่า ซึ่งเป็น Median+1 SD และ EPS ปี 61 เติบโตเฉลี่ย 10% ดัชนีฯปรับลง แนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนระยะยาวได้
Update หุ้นเด่น: PTTEP – ทาง PTTEP ยื่นประมูลสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช & เอราวัณ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน PTTEP ถือหุ้นแหล่งบงกช 66.66% และถือหุ้นในแหล่งเอราวัณ 5% และบนสมมติฐานว่า PTTEP ชนะการประมูลและถือหุ้นในสองแหล่งเท่าเดิม พบว่าราคาพื้นฐานจะเป็น 160 บาท/หุ้นสำหรับแนวโน้ม Core Profit ใน 2H61 ยังแข็งแกร่ง คาดปริมาณขายเพิ่ม 5.6% HoH จากการถือหุ้นในแหล่งบงกชเพิ่ม 22% ตั้งแต่ 21 มิ.ย.61 แต่คาดว่าจะมีขาดทุนพิเศษจากขายมอนทารา ที่ราคา 195 ล้านดอลลาร์+ส่วนเพิ่มที่ตกลงกับผู้ซื้อที่ไม่เกิน 160 ล้านดอลลาร์ เทียบกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ณ สิ้นมิ.ย.61 ที่ 268 ล้านดอลลาร์
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้น Candlestick & Indicators เป็นบวกเล็กๆ แต่ความน่าจะเป็นของตลาดฯระยะกลางมีน้ำหนักเป็นการลง ตามโครงสร้าง อย่างไรก็ตามอาจมีรีบาวด์สั้นๆก่อนจึงปรับลง ซื้อเน้นค่าบวก แนวต้าน 1725-1730 แนวรับ 1690-1680
สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะทำ New High ที่เข้ามาใหม่คือ KTB, STEC, SYNEX, GPSC, STA, GLOBAL, BLA หุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ MBK, SCC หุ้นที่หลุด List SCN หุ้นที่อยู่ในพื้นที่หาจังหวะ Take Profit คือ BH, BBL, SKN, PTT, JKN
Key Drivers TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
- ภาวะตลาดหุ้น : ดาวโจนส์ดิ่งถึง 831.83 จุด
# ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,598.74 จุด ดิ่งลง 831.83 จุด หรือ -3.15% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,785.68 จุด ลดลง 94.66 จุด หรือ -3.29% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,422.05 จุด ร่วงลง 315.97 จุด หรือ -4.08
# ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) โดยทั้งดาวโจนส์ และ S&P500 ต่างก็ดิ่งลงหนักสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.ปีนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งขึ้นหลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ดัชนี Nasdaq ทรุดตัวลงกว่า 300 จุด จากแรงฉุดของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
- ตลาดน้ำมัน : น้ำมัน WTI ปรับลง วิตกดาวโจนส์และบอนด์ยิลด์
# สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 1.79 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 73.17 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.ปีนี้
# สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.91 ดอลลาร์ หรือเกือบ 2.3% ปิดที่ 83.09 ดอลลาร์/บาร์เรล
# สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) โดยได้รับปัจจัยกดดันจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ดิ่งลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาต่อผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคน "ไมเคิล" รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
• ทองคำ : ปรับขึ้น เข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย
# สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.9 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 1,193.4 ดอลลาร์/ออนซ์
# สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ช่วยหนุนแรงซื้อทองคำ นอกจากนี้ การร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
-ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พื้นฐาน ก.ย.61 ปรับตัวขึ้นสูง
# ดัชนีราคาผู้บริโภค (PPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ พุ่งขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.
-อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นมาก
# เมื่อเวลา 20.04 น.ตามเวลาไทยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.241% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.401%
# ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลกรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
+ ดอลลาร์อ่อนค่า เงินปอนด์พุ่ง รับข่าวอังกฤษ-EU จ่อบรรลุข้อตกลง Brexit จันทร์หน้า
# สกุลเงินปอนด์และยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) ขานรับความหวังที่ว่าอังกฤษจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการแยกตัวออกจาก EU (Brexit) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
-ติตดามตัวเลข CPI ประกาศวันนี้ มีผลกับ Bond Yied และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
# นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ (CPI) เดือนก.ย.ของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เดือนก.ย.จะเพิ่มขึ้น 0.2% โดยหากตัวเลข CPI ดีดตัวขึ้นมากกว่าระดับ 0.2% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
• ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่จะทยอยประกาศออกมา
# สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.ย., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
ปัจจัยในประเทศ และข่าวเด่นอุตสาหกรรม
• ที่ประชุมครม. เห็นชอบ พรบ.กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน
# ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในระยะเริ่มแรกจะมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินรวม 5 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ สินเชื่อทะเบียนรถ และ การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และแฟคตอริ่ง
• แนวโน้มสินเชื่อจำนำทะเบียนคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด จากขยายการกำกับของนโยบายรัฐ
# ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มสินเชื่อจำนำทะเบียนในระยะที่เหลือของปีนี้ คงได้รับผลกระทบจำกัดจากแนวนโยบายรัฐที่จะขยายขอบเขตการกำกับดูแลผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ประเมินว่าอัตราการเติบโตของยอดสินเชื่อจำนำทะเบียนในปี 2561 อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากระดับ 14.6% ในปี 2560 เป็นประมาณ 10% (YoY) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วง 2 ปีก่อน ที่ธนาคารหลายแห่งเพิ่งเข้าบุกเบิกและรุกธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
+ KBANK ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อปีหน้า สูงกว่าปี 61
# ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ตั้งเป้าการขยายตัวของสินเชื่อในปี 62 เติบโต 6.5-7% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 5-7% โดยที่ปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวของสินเชื่อในปี 62 ส่วนใหญ่จะมาจากสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประเมินว่าการลงทุนต่าง ๆ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
# ผลกระทบ: แม้คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงาน 3Q61 จะชะลอตัวลง กำไรสุทธิเป็น 8,971 ล้านบาท (-5.3% y-o-y, -17.8% q-o-q) เพระ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงและค่าใช้จ่าดำเนินงานสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านระบบดิจิตอล ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้น หลักๆมาจากความพยายามขยายฐานลูกค้าออนไลน์แบงค์กิ้งแต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและการเติบโตที่ดีในระยะยาว การใช้ออนไลน์ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการเปิดสาขา ชดเชยรายได้ที่ลดลง คงคำแนะนำ ซื้อ ที่ราคาพื้นฐาน 270.00 บาท คาดว่า EPS ปีนี้และปีหน้าเติบโตในเกณฑ์น่าพอใจเป็น +11.5%/+1.9% ตามลำดับ
+/- ติดตามประกาศผลประกอบการ 3Q61 เริ่มจากกลุ่มสถาบันการเงิน สัปดาห์นี้
# คาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มธนาคาร 3Q61 เป็น 43.1 พันล้านบาท (+5.9% y-o-y,-6.8% q-o-q)
# สาเหตุที่เติบโตได้ y-o-y เพราะความต้องการสินเชื่อมาก และการตั้งสำรองปรับลดลง แต่ขณะเดียวกัน รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ได้แก่ค่าธรรมเนียมกลับปรับลดลง รวมทั้งต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น
# ในงวด 3Q61 คาดว่าหลักทรัพย์ที่มีกำไรสุทธิดีสุดคือ BBL ส่วนกำไรจากการดำเนินงานดีสุดคือ KKP
# คงจัดลำดับให้ BBL และ KKP เป็น Top Pick ในหลักทรัพย์หมวดธนาคาร
นักวิเคราะห์ : สมบัติ เอกวรรณพัฒนา : [email protected]
OO14938