- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 09 October 2018 20:48
- Hits: 3191
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
IMF ตัดลด GDP Growth โลกลง 0.2% ค่าเงินเอเชียอ่อนค่า กดดัน เงินทุนไหลออก และคาดจะเห็นแรงขายรับงบกลุ่ม ธ.พ. ที่จะทยอยประกาศสัปดาห์นี้ (เริ่ม TISCO 11 ต.ค.นี้ ) ล้วนกดดันดัชนีต่ำกว่า 1700 จุด กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นเกาะกระแสการลงทุนในประเทศ ความคืบหน้าการลงทุนใน EEC (BGRIM, EASTW) และภาคก่อสร้าง (CK, STEC) หุ้นที่มีผลประกอบการเด่นใน 3Q61 (TPIPP, RJH) Top Picks CPALL(FV@B80) รับกระแสเทศกาลกินเจ และ SKN(FVB6.8) หุ้น Turnaround กำไรฟื้นตัวนับจากงวด 4Q61 และเติบโตโดดเด่นปี 2562 ทำให้ P/E เหลือ 10 เท่า พร้อม Dividend Yield 4.2% (อ่าน Company Update วันนี้)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….แกว่งตัวลงต่ำกว่า 1700 จุดอีกครั้ง
วานนี้การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค จากเงินเอเชียที่กลับมา อ่อนค่า และ ราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐาน หลังทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี กดดัน SET Index แกว่งผันผวน โดยระหว่างวันขึ้นทำจุดสูงสุด 1728 จุด ก่อนจะร่วงหลุด 1700 จุด ในช่วงบ่าย และปิดตลาดฯ ที่ 1,696.22 จุด ลดลง 24.30 จุด หรือ 1.41% พร้อมกับมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่นขึ้น 5.96 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้แรงขายกระจายตัว เริ่มจากหุ้น Global คือทั้งหุ้นน้ำมันคือ PTT PTTEP และปิโตรฯ IVL ลดลง 5.74% หลังเผชิญกับ spread ที่ลดลง และหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) ปรับลงเช่นกันคือ หุ้น ค้าปลีก-ธ.พ. ตามมาด้วยหุ้นการท่องเที่ยวและโรงแรม MINT CENTEL ERW ตรงข้ามกับหุ้นรายตัวที่ปรับขึ้นสวนตลาดคือ AEONTS +3.32% แม้กำไร 2Q61/62 แผ่วตัวบ้าง แต่ 3Q61/62 จะฟื้นตัวชัดเจนจากสัญญาณบวกของสินเชื่อเงินสดที่เร่งตัวเกินคาด
ดัชนีหุ้นไทยน่าจะแกว่งต่ำกว่า 1700 จุดอีกระยะ โดยมีปัจจัยกดดันทั้งสงครามการค้า และค่าเงินโลกผันผวน โดยค่าเงินเอเชียบางประเทศยังอ่อนค่า เช่น รูเปียห์ และบาท ล้วนกดดันเงินทุนไหลออก และอาจเห็นแรงขายงบ 3Q61 ของกลุ่มธนาคารที่จะทยอยประกาศวันพฤหัสบดีนี้ และความคืบหน้าโครงการลงทุน EEC หลัง board EEC อนุมัติแล้ว เป็นปัจจัยบวกระยะกลาง-ยาว ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลหลังเลือกเดินตามแผนได้ต่อเนื่อง
เงินเฟ้อและการกีดกันการค้าโลก กดดัน IMF ตัดลด GDP Growth โลก
ปัจจัยต่างประเทศให้น้ำหนักใน 2 เรื่องคือ เงินเฟ้อสหรัฐและการตัดลด GDP โลกของ IMF คือ
วันที่ 11 ต.ค. สหรัฐจะรายงานเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. ซึ่งตลาดคาด 2.4%yoy ชะลอตัวจาก 2.7% เดือน ส.ค. แต่ยังสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% เป็นการตอกย้ำกว่า Fed ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยฯ อีก 1 ครั้งปลายปีนี้ และปี 2562-2563 จะขึ้นอีก 3 ครั้งและ 2 ครั้งตามลำดับ หนุนให้ค่าเงิน Dolllar กลับมาแข็งค่า แม้แข็งค่าราว 3.8% แล้วนับตั้งแต่ต้นปี ตรงข้ามตลาดเกิดใหม่ ที่มีปัญหาพื้นฐานทั้งขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ กดดันค่าเงินตกต่ำ เช่น อาร์เจนติน่า, ตุรกี, อินเดีย และ อินโดนีเซีย ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้ Fund Flow ไหลออก
เช้านี้ IMF ปรับ GDP Growth ปี 2561 และ 2562 ลงเหลือ 3.7% เท่ากัน จากเดิม ที่ คาด ว่าเฉลี่ย 3.9% โดยปรับลดสหรัฐ แต่เป็นการปรับลดปี 2562 เหลือ 2.5% จากเดิม 2.7% แต่ยังคง 2.9% ในปี 2561 เพราะยังได้รับผลบวกจากการลดภาษีนิติบุคคล ตามมาด้วยจีนแต่เป็นการปรับลดปี 2562 เหลือ 6.2% จากเดิม 6.4% แต่ยังคง 6.6% ในปี 2561 รายละเอียดประเทศอื่นๆ ติดตามการรายงานละเอียดอีกรอบ ทั้งนี้เพราะ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนรวม 3 ครั้งมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้ปรับลดปริมาณการค้าโลก เหลือ 4.2% ในปี 2561 จากเดิม 5.2% ส่วนในปี 2562 เหลือ 4% จากเดิม 4.5%
ทั้งนี้คาดว่าประเทศที่มีโอกาสถูกปรับลด GDP growth ลงคาดคือ ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อาทิ ประเทศเกิดใหม่ในแถบเอเชีย จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นน่าจะยังมีแนวโน้มผันผวนและปรับฐานต่อเนื่อง
เร่งโครงการลงทุนภาครัฐ รองรับการเติบโตในอนาคต
ระยะสั้น คาดว่าปัจจัยกดดันยังมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้า และค่าเงินโลกที่ผันผวน โดยเฉพาะค่าเงินเอเชีย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเงินบาทของไทย โดยทั้ง 2 ประเทศแรกมีปัญหาพื้นฐานทั้งในเรื่องขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำ ทำให้มีปัญหาในการชำระหนี้ค่าสินค้านำเข้า และหนี้สินค้าต่างประเทศ ยิ่งการกีดกันการค้าขยายวงกว้าง ประเทศเหล่านี้ยิ่งประสบปัญหาขาดดุลทั้งคู่มากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการอ่อนตัวของค่าเงิน ซึ่งเป็นการปรับตัว เพื่อสร้างความสมดุลในด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่ปัญหาการชำระหนี้ค่าสินค้า บริการและ หนี้ต่างประเทศ หลังเงินอ่อนค่าถือเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคระยะกลางและยาว
ส่วนในประเทศเริ่มเห็นปัจจัยบวกเข้า โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านการเมือง ที่จะเห็นการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 ภาครัฐน่าจะเร่งผลักดันอนุมัติโครงการลงทุนออกมาให้ทันในช่วงสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะโครงการ EEC ซี่งการประชุมบอร์ด EEC ล่าสุด ห็นชอบ 4 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 4.7 แสนล้านบาท แยกเป็น 1) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก 62% 2) โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา 2% 3) โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 24% และ 4) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 12% นอกจากนี้ ยังเห็นชอบ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับ EEC วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดน่าจะเข้าที่ประชุม ครม. วันอังคารที่ 16 ต.ค. 61 นี้ ถือเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น ๆ และถือเป็นการวางรากฐานการลงทุนภาครัฐ แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าโครงการเหล่านี้น่าจะเดินหน้าต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามหุ้นที่ได้ประโยชน์จากสถาการณ์นี้ล้วนปรับขึ้น ทำให้เห็นการปรับฐานในสัปดาห์นี้ แต่น่าจะเป็นจังหวะสะสม คือ WHA, BGRIM ยกเว้น EASTW ที่ราคาหุ้นแกว่งตัวออกด้านข้างมานาน แต่มีจุดเด่นเงินปันผลเด่น
ตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับฐานแรง พร้อมต่างชาติขายสุทธิเป็นวันที่ 5
วานนี้ต่างชาติยังเดินหน้าขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่าสูงถึง 654 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวัน 366 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 148 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วย, อินโดนีเซีย 59 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5), ฟิลิปปินส์ 10 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 28 วัน) และไทยขายสุทธิอีก 72 ล้านเหรียญ หรือ 2.37 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 3.03 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5)
Bond Yield สหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 3.23% (สูงสุดในรอบ 7 ปี 3 เดือน) ผลตอบแทนที่จูงใจกดดันให้ต่างชาติลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นลงอย่างชัดเจน สังเกตได้จากในเดือน ต.ค. นี้ ตลาดหุ้นในภูมิภาคเปิดทำการมาได้เพียง 6 วันทำการเท่านั้น แต่ Fund Flow ที่ไหลออกกดดันให้ตลาดหุ้นปรับฐานแรงเกินกว่า 3% (mtd) ทุกแห่ง (ไต้หวัน -5%, เกาหลีใต้ -3.8%, อินโดนีเซีย -3.6%, ฟิลิปปินส์ -3.1% แลไทย -60 จุด หรือ 3.4% (mtd)
งบ ธ.พ. เริ่มรายงาน 11 ต.ค. ระวังแรงขายรับงบฯ
สัปดาห์นี้ จะเข้าสู่การรายงานงบ 3Q61 ของบริษัทจดทะเบียน เริ่มจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดย TISCO จะรายงานงบฯ เป็นแห่งแรก ในวันที่ 11 ต.ค. นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ ASPS ประเมินว่า ธ.พ. 10 แห่ง ที่ศึกษามีกำไร 5.18 หมื่นล้านบาท ลดลง 3% QoQ (แต่เพิ่มขึ้น 9.2% yoy) จากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและรายได้อื่นๆ ลดลง และหักล้างรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตจากลูกค้าทุกกลุ่ม แต่ประเด็นความเสี่ยงคือ NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มจะตกชั้นเป็นหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งเป็นผลให้ ธปท. ออกหลักเกณฑ์ใหม่ควบคุม มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 62 คาดแม้ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัว แต่น่าจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น ยังคงชอบ BBL, TCAP
ส่วนกลุ่มที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) เฉพาะ sector ที่มี market cap. ใหญ่ ประเมินว่าผลการดำเนินงานส่วนใหญ่ทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่น กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเลียม คาดกำไรเติบโตเล็กน้อยจาก 2Q61 หนุนด้วยราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจากสิ้น 2Q61 ราว 4 – 5 เหรียญฯ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี คาดอ่อนตัวลงจากภาพรวม Spread ลดลง ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นมีการปิดซ่อมบำรุง เช่น โรงกลั่น IRPC, โรงปิโตรเคมี PTTGC เช่นเดียวกับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่จะมีการ shutdown โรงไฟฟ้าหงสา และ BLCP
กลุ่ม ICT งวด 3Q61 ไม่น่าจะเห็นการบันทึกรายการที่เกี่ยวเนื่องกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จึงทำให้กำไรสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้าง คาดกำไรทรงตัว ขณะที่รับเหมาก่อสร้างกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มีความคืบหน้า อาทิ โครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
โดยรวมคาดว่ากำไรสุทธิตลาดฯ 3Q61อยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านบาท ลดลง QoQ แต่เพิ่ม YoY เมื่อรวมกับกำไรสุทธิ 1H61 ที่ 5.5 แสนล้านบาท คาดว่ากำไรตลาดฯ 9M61 จะอยู่ที่ราว 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 75% ของประมาณการฯ ทั้งปีที่ 1.07 ล้านล้านบาท
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
OO14806