- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 03 October 2018 18:01
- Hits: 4835
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับฐาน เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัว การปรับเพิ่มค่าแรงในสหรัฐเริ่มแล้ว หลังการจ้างงานเต็มที่ และผลกระทบจากการค้าชัดเจนขึ้น การเจรจาการค้าอเมริกาเหนือ “USMCA” สหรัฐยังได้เปรียบและกีดกันการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนฯ นอกกลุ่มฯ กดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นหุ้นที่เติบโตอิงเศรษฐกิจในประเทศ และมีผลกำไรดีต่อเนื่องในปี 2562 Top picks เลือก SAWAD(FV@B55), TPIPP([email protected]) และ CPALL(FV@B80) 2 บริษัทหลัง อยู่ในกลุ่ม Laggard
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ …. หุ้นพลังงานกดดันตลาดฯ
วานนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยระหว่างวัน SET Index ร่วงลงแนวรับ 1747 จุด ก่อนจะขึ้นมาปิดตลาดที่ระดับ 1,748.09 จุด ลดลง 12.38 จุด หรือ 0.70% มูลค่าซื้อขาย 6. 3 หมื่นล้านบาท เริ่มเห็นแรงขายของหุ้นในกลุ่มพลังงาน (PTT -0.9%, PTTEP -1.88%) เชื่อว่าระดับราคาน้ำมันดิบที่เกิน 80 เหรียญฯ น่ากดดันความต้องการและเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับปิโตรฯ IVL และ PTTGC ปรับตัวลงเช่นกัน ยกเว้นหุ้นกลุ่มชิ้นส่วน HANA KCE ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดฯ น่าจะเป็นความคาดหวังต่อผลการดำเนินงานที่ดีในงวด 3Q61 อันเป็นผลของฤดูกาล
คาด SET Index วันนี้ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1740-1753 จุด หากราคาน้ำมันปรับฐาน และลงมาทดสอบ 80 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล หลังทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี แต่ได้สะท้อนได้ราคาหุ้นทั้ง PTT, PTTEP แล้ว และตามด้วย ผลประกอบการรายตัวที่มีกำไรโดดเด่น โดยในกลุ่มที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ เช่นหุ้นโรงไฟฟ้า TPIPP BGRIM และ GUNKUL และโรงพยาบาล RJH, BCH เป็นต้น
เงื่อนไข USMCA สหรัฐยังได้เปรียบ กดดันรถยนต์/ชิ้นส่วนจากนอกกลุ่ม
ผลการเจรจาการค้าประเทศอเมริกาเหนือ 3 ประเทศ (สหรัฐ, เม็กซิโก, แคนาดา) หลังจากได้ข้อสรุปให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น (USMCA) หรือ United States-Mexico-Canada Agreement จากเดิม NAFTA ที่ทำข้อตกลงนานถึง 24 ปี แม้ได้ข้อสรุปแต่ดูเหมือนว่าสหรัฐยังเป็นฝ่ายได้เปรียบ กล่าวคือ ข้อแลกเปลี่ยนที่สหรัฐต้องการ เพื่อแลกกับยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนฯ 25% จาก 2 ประเทศ
1. ขอให้เปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มเติมให้กับสหรัฐคือ ให้แคนาดาต้องเปิดตลาดนมให้สหรัฐให้มีส่วนแบ่งตลาดที่ 3.5% และ ให้เม็กซิโกให้ปรับลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในสินค้าเกษตร อาทิ เนื้อหมู เป็นต้น
2. รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าสหรัฐ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขใหม่ คือ
เพิ่มสัดส่วนการใช้ส่วนประกอบรถยนต์ (ชิ้นส่วน) ที่มีการผลิตในอเมริกาเหนือเป็น 75% จากเดิม 62.5%
ส่วนประกอบรถยนต์ 40% ของรถยนต์ แต่ละคัน ต้องผลิตจากโรงงานที่มีค่าแรงเฉลี่ยมากกว่า 16 ดอลลาร์/ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อยกระดับค่าแรงให้ใกล้เคียงกัน (ค่าแรงงานเม็กซิโกต่ำ ล่าสุด เดือน ก.ค. เฉลี่ย 2.3 ดอลลาร์/ชั่วโมง vs. สหรัฐ 22.7ดอลลาร์/ชั่วโมง และ แคนาดา 28 ดอลลาร์/ชั่วโมง) ซึ่งจะทำให้สินค้านำเข้าสหรัฐแพง กดดันเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ดี
บังคับใช้เหล็กและอลูมิเนียมจากในอเมริกาเหนือในการประกอบยานยนต์สัดส่วน 70% ของที่ใช้ทั้งหมด
มาตรการดังกล่าวกระทบต่อการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนฯ จากประเทศนอกกลุ่ม USMCA ซึ่ง กระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกที่ส่งออกตลาดเหล่านี้ รวมถึงไทย ซึ่งมีมูลค่าส่งออกรถยนต์ไป 3 ประเทศราว 5.8 หมื่นคัน หรือคิด 8%ของตลาดส่งออกรวมทั้งหมด แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 70% และรถกระบะ 30% (ติดตามอ่านรายละเอียด ผลกระทบต่อหุ้นชิ้นส่วนรถยนต์ใน Equity Talk วันนี้)
สงครามการค้ากดดันเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลก
ขณะที่สัญญาการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้น ดังที่นำเสนอไปล่าสุด ถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐชะลอตัว ทั้งในภาคเกษตร คือ ถั่วเหลือง โดยยอดส่งออกถั่วเหลืองของสหรัฐไปจีนรายสัปดาห์ พบว่า ตั้งแต่ 15 ส.ค.เป็นต้นมา ไม่มีการส่งออกไปจีนอีกแล้ว เพราะจีนหันไปนำเข้าจากบราซิลแทน ส่งผลให้ราคาถั่วเหลืองปรับลงราว 14% นับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. – ปัจจุบัน
และล่าสุด ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐเดือน ก.ย. หดตัวลงเกือบทุกค่าย อาทิ GM ยอดขายรถลดลง 15.6%yoy, Nissan ลดลง 12.2%, Ford ลดลง 11.3%, Toyota ลดลง 10.4%, Honda ลดลง 7.0% เป็นต้น ซึ่งบางส่วนเป็นผลจากผู้ผลิตเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นจากมาตรภาษี Safe guard โดยเฉพาะภาษีเหล็กและอลูมิเนียม นับเป็นการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะชะลอตัวใน 4Q61 และต่อเนื่องปี 2562
ขณะที่จีน พบว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจชะลอตัว คือ ดัชนียอดสั่งซื้อเพื่อส่งออก (New export orders PMI) เดือน ก.ย. ชะลอตัวลงติดต่อเดือนที่ 4 และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี 7 เดือน ส่งผลให้ดัชนี PMI ภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือนเดียวกันชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 4 เดือน
เชื่อว่าสงครามการค้าจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนตั้งแต่ช่วง 4Q61 จนถึงปี 2562 เห็นได้จากการเริ่มทยอยปรับลดคาดการณ์ ล่าสุด WTO ปรับลดการค้าโลก (Trade volume) ในปี 2561 ลงเหลือ 3.9% จาก 4.4% และปี 2562 เหลือ 3.7% จากเดิม 4% เช่นเดียวกับ GDP Growth โลกเหลือ 3.1% จาก 3.2% และปี 2562 เหลือ 2.9% จากเดิม 3.1% (IMF คาด 3.9%เท่ากันทั้ง 2 ปี)
ธปท. ส่งสัญญาณคุมสินเชื่อบ้าน กดดันหุ้นอสังหาฯ
ดังที่ได้นำเสนอถึงแนวโน้ม NPLs ทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อบ้าน เพราะการตกชั้นของลูกค้าหนี้ ซึ่งจากการศึกษา ธ.พ. 10 แห่งเบื้องต้น ASPS พบว่า มีการไหลตกชั้นจากลูกค้าปกติเป็นกลุ่มที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention ค้างชำระตั้งแต่ 30–90 วัน) เพิ่มมากขึ้น และเมื่อนำ NPL ของสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ล่าสุดอยู่ที่ 3.6% (เทียบ 2.4% ปี 2555) รวมกับสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ อีก 1.9% (เทียบปี 2555 1.5%) จะสูงอยู่ที่ 5.4% (รายธนาคาร พบว่า KTB มี NPL+ SMเพิ่มมากสุด จาก 2.9% เป็น 7% ตามด้วย KBANK จาก 2.6% เป็น 6.75% และ SCB จาก 3.9% เป็น 5.2% ) นับเป็นประเด็นเสี่ยงต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ขณะที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น น่าจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งทำให้ ธปท. ได้เริ่มส่งสัญญาณเตือนให้ ธ.พ. ต่างๆ มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทั้งบ้านหลังแรกและหลัง โดยจะเปิดรับฟังความคิดเป็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องใน 3 เรื่องหลัก
1. อัตราการปล่อยสินเชื่อ ต่อหลักประกัน หรือ LTV ratio โดยคอนโดมิเนียม ให้ไม่เกิน 90% และบ้านแนวราบ ให้ไม่เกิน 95% ของมูลค่าหลักประกัน
2. กำหนดวงเงินสินเชื่อ re-finance ห้ามให้กู้มากกว่าหนี้ ธ.พ. เดิม
3. กำหนดให้วงเงินปล่อยสินเชื่อ และภาระหนี้ ต้องสอดคล้องกับรายได้ของผู้กู้
รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ต่อรายได้ ด้วยเหตุนี้เป็นการตอกย้ำว่าการปล่อยสินเชื่อบ้านน่าจะชะลอตัวลงจากปัจจุบันที่ 17% ของสินเชื่อรวม น่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการ ที่มีสัดส่วนคอนโดมิเนียมระดับสูง และ จับตลาดเป้าหมายระดับกลาง-ล่าง อย่างเช่น LPN, ORI, ANAN, SENA ส่วนผู้ประกอบการระดับบนน่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เช่น LH, SC และ QH
สงครามการค้าเริ่มเห็นผล กดดัน Fund Flow ไหลออกทั้ง 5 ประเทศ
วานนี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับตัวลงทั้ง 5 ประเทศ สาเหตุหนึ่งเกิดจากการขายทำกำไร และเริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ ชัดเจนขึ้น ดังกล่าวข้างต้น กดดันต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคกว่า 887 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาค 469 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 302 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3), ฟิลิปปินส์ 7 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 24 วัน) และอินโดนีเซีย 7 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 101 ล้านเหรียญ หรือ 3.27 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 2.74 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
ส่วนทางตลาด TFEX ต่างชาติชอร์ตสุทธิสัญญา SET50 Futures อีก 6.03 พันสัญญา และตลอด 5 วันทำการที่ผ่านมา ชอร์ตสุทธิไปแล้วกว่า 2.47 หมื่นสัญญา กดดันยอดขายสะสมสุทธิในปี 2561 นี้ (ytd)1.01 หมื่นสัญญาอีกครั้ง
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO14560