- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 02 October 2018 19:24
- Hits: 10414
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
“NAFTA สำเร็จ น้ำมันขึ้นต่อ บาทแข็ง...หนุน SET”
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : --
ภาวะตลาดและปัจจัย : ตลาดวานนี้– SET Index ปรับขึ้น +4.06 จุด ปิดที่ 1760.47 จุด ระหว่างวันไปทำยอดสูงสุดถึง 1765.06 จุด และถือว่าปรับขึ้นดีกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้านซี่งส่วนใหญ่ปรับลง มูลค่าการซื้อขายปานกลางเป็น 53.4 พันล้านบาท ปัจจัยบวกคือปัจจัยต่างประเทศยังดีคือ ดาวโจนส์ น้ำมันเพิ่ม แม้ดอลลาร์แข็งค่า แต่บาทก็แข็งค่า เงินจึงไม่ไหลออกนัก ตัวเลขเศรษฐกิจส.ค.ดีต่อเนื่อง และแนวโน้ม ก.ย.สดใสต่อเนื่อง การเมืองไทยมีความคืบหน้าการจัดตั้งพรรคต่างๆ เช่น พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อธรรม หุ้นกลุ่มพลังงานและนิคมฯโดดเด่น ด้านผู้ซื้อสุทธิเป็น พอร์ตโบรกเกอร์ 1.1 พันล้านบาท และต่างประเทศ 0.5 พันล้านบาท ส่วนผู้ขายสุทธิคือ นักลงทุนทั่วไป 1.5 พันล้านบาท และสถาบัน 0.1 พันล้านบาท
แนวโน้มและกลยุทธ์– ระยะสั้นคาดว่า SET มีแรงส่งจากปัจจัยต่างประเทศคือ บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น หลังการเจรจา NAFTA ฉบับใหม่ หรือ USMCA สำเร็จ ดาวโจนส์ น้ำมันปรับเพิ่มขึ้นดี เงินบาทก็แข็งค่า เงินไหลเข้า ดัชนีความกลัว VIX ลดลงเป็น 12 จุด แม้มีปัจจัยลบคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี เพิ่มอีกเป็น 3.0845% ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ และเกิดปัญหาวิกฤติงบประมาณอิตาลี ตลาดหุ้นเพื่อนเช้านี้แกว่งแคบๆ ดาวโจนส์ล่วงหน้า -10 จุด ณ 8.04 น. น้ำมันล่วงหน้า Mix ด้านปัจจัยในประเทศ เศรษฐกิจก.ย. แนวโน้มแข็งแกร่งต่อเนื่องจาก ส.ค. ด้านการเลือกตั้งตามโรดแมป มีกิจกรรมคึกคักขึ้น ดร.สมคิดจี้ฟิทช์เพิ่มเรทติ้งไทย สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่เป็นภาพใหญ่คือ ECB ทยอยลด QE และหยุดตอนสิ้นปี มีเงินไหลมาลงทุน EM น้อยลง วิกฤติค่าเงิน EM ยังไม่คลี่คลาย ด้านปัจจัยบวกระยะกลาง-ยาว คือ เศรษฐกิจของไทยเหนือกว่า EM อื่นคือ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง หนี้ต่างประเทศน้อย ระยะสั้นยังต้องระวังแรงขายทำกำไรที่จะมีออกมาเช่นกัน ปัจจัยที่ยังต้องติดตามคือ สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านมีผลกับราคาน้ำมันให้ปรับขึ้น ส่วนระยะกลาง-ยาวเฟดคาดปีนี้จะปรับขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง (ปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี) และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ทำให้แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่า และเงินไหลออกกลับไปสหรัฐนับว่าปัจจัยต่างประเทศยังกดดันในเรื่องกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แต่กังวลไทยจะได้รับผลกระทบสงครามการค้าตั้งแต่ปีหน้า แต่ก็มีข้อดีจะมีการย้ายฐานการผลิตมาไทยจีนมาไทย กลยุทธ์ในสัปดาห์นี้ ยังคงเน้นลงทุนหุ้นรายตัวที่มีพื้นฐานดี และมีประเด็นที่น่าสนใจ หุ้นเน้นธุรกิจในประเทศ (Domestic Play) รวมทั้งหุ้นปันผลสูง นักลงทุนระยะสั้นควรเล่นรอบสั้นๆ ไม่หวังกำไรมาก ควรตั้งเป้าผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และทยอยขายทำกำไรเมื่อได้ตามเป้าหมาย ระยะนี้คาดว่า SET จะซื้อขายอยู่ในกรอบเป็น 1750-1780 จุด แต่ SET ตามพื้นฐานระยะยาวให้ไว้ที่ 1860 จุด ที่ P/E 17 เท่า ซึ่งเป็น Median+1 SD และ EPS ปี 61 เติบโตเฉลี่ย 10% แนะนำให้ทยอยสะสมได้
Update หุ้นเด่น: SEAFCO – รายได้ก่อสร้าง QTD (ต้น 3Q61-ถึง ส.ค.61) ทำได้สูงมากเป็น 570 ลบ.แล้ว จึงคาดว่ากำไร 3Q61 เบื้องต้นสูงเป็น 108 ล้านบาท (+141% y-o-y, +16% q-o-q) งานในมือ (Backlog) 2.8 พันล้านบาท รับประกันรายได้ปีนี้และปีหน้าถึง 100%/46% และประมูลงานใหม่อีก 5-6 พันลบ. คงคำแนะนำ ซื้อ คาดกำไรหลักปีนี้และปีหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่และเติบโตสดใส +90%/+18% y-o-y ด้านราคาพื้นฐานกำหนดไว้ที่ 10.02 บาท ประเมินด้วย Forward P/E ปี 61 ที่ 22 เท่า และอัตราผลตอบแทนเงินปันผลอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจปีนี้ประมาณ 2.7%
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้น Candlestick & Indicators เป็นบวกเล็กๆ แต่ความน่าจะเป็นของตลาดฯระยะกลางมีน้ำหนักเป็นการลง ตามโครงสร้าง อย่างไรก็ตามอาจมีรีบาวด์สั้นๆก่อนจึงปรับลง ซื้อเน้นค่าบวก แนวต้าน 1765-1770 แนวตัดขาดทุนต่ำกว่า 1750 จุด
สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะทำ New High ที่เข้ามาใหม่คือ SEAFCO, HUMAN, PTTEP, JWD, PLANB, RS หุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ PTL,SENA,RCL,STEC หุ้นที่หลุด List KBANK, GLOBAL, BCH หุ้นที่อยู่ในพื้นที่หาจังหวะ Take Profit คือ PYLON, WHA, PSL, BH
Key Drivers TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
+ ภาวะตลาดหุ้น : ดาวโจนส์บวกดี หลังการเจรจา NAFTA ฉบับใหม่สำเร็จ
# ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,651.21 จุด พุ่งขึ้น 192.90 จุด หรือ +0.73% ขณะที่ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 2,924.59 จุด เพิ่มขึ้น 10.61 จุด หรือ +0.36% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,037.30 จุด ลดลง 9.05 จุด หรือ -0.11%
# ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) ขานรับข่าวสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ โดยข่าวความคืบหน้าดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มรถยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ทะยานขึ้นแข็งแกร่งถึง 2.8%
+ ตลาดน้ำมัน : น้ำมัน WTI ปรับขึ้น เป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
# สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 2.05 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 75.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
# สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 2.25 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 84.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
# สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากรายงานข่าวที่ว่าสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังคงได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกจะลดลง อันเนื่องมาจากสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
• ทองคำ : ปรับลง เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่า
# สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 4.5 ดอลลาร์ หรือ 0.38% ปิดที่ 1191.70 ดอลลาร์/ออนซ์
# สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากมีรายงานว่า สหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่นการลงทุนในตลาดหุ้น
+ การเจรจาการค้า NAFTA สำเร็จ ใช้ USMCA แทนที่ บรรยากาศการค้าดีขึ้น
# นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านการค้า หลังจากนางคริสเตียน ฟรีแลนด์ รมช.ต่างประเทศแคนาดาและนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า "แคนาดาและสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกับเม็กซิโกแล้ว โดยข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งเรียกว่า "ข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา" (United States-Mexico-Canada Agreement) หรือ USMCA เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ได้รับการแก้ไขให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับศตวรรษ์ที่ 21" ทั้งนี้ ข้อตกลง USMCA จะเข้ามาแทนที่ข้อตกลง NAFTA ซึ่งถูกใช้มานานกว่า 24 ปี
# ทั้งนี้ ผู้นำของสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา จะลงนามในข้อตกลง USMCA ภายในสิ้นเดือนพ.ย. และหลังจากนั้นจะมีการนำข้อตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรสเพื่อให้การอนุมัติต่อไป
-/+ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐประกาศวานนี้ ออกมา Mix
# สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.6 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 54.7 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว
# อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ของมาร์กิตสวนทางกับผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ร่วงลงสู่ระดับ 59.8 ในเดือนก.ย. โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 60.4 หลังจากแตะระดับ 61.3 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2547
# ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนส.ค. จากระดับ 0.2% ในเดือนก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค.
- ดอลลาร์แข็งค่า หลังเจรจา NAFTA ฉบับใหม่สำเร็จ
# ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) ขานรับข่าวสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากรายงานของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.ย. ของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน
-ดัชนีภาคการผลิตเยอรมันเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน
# ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเยอรมนี ร่วงลงแตะระดับ 53.7 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 55.9 ในเดือนส.ค. การปรับตัวลงของดัชนี PMI ได้รับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน
-จับตาสถานการณ์ด้านงบประมาณของอิตาลี
# นักลงทุนจับตาสถานการณ์ด้านงบประมาณของอิตาลีอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดมีรายงานว่า รัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของพรรคไฟว์ สตาร์ และพรรคเดอะ ลีก เห็นพ้องให้มีการกำหนดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปีหน้าไว้ที่ 2.4% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลชุดก่อนถึง 3 เท่า และคาดว่าจะทำให้สหภาพยุโรป (EU) แสดงความไม่เห็นด้วย
# รัฐบาลอิตาลีได้ขยายเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปี 2562 เพื่อหนุนนโยบายจากแคมเปญการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับ EU ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงมากเมื่อวันศุกร์
• ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่จะประกาศต่อไปในสัปดาห์นี้
# ได้แก่ ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนก.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนก.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนก.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค., ดุลการค้าเดือนส.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.
ปัจจัยในประเทศ และข่าวเด่นอุตสาหกรรม
+ รองนายกฯ ดร.สมคิด จี้ ฟิทช์ปรับเรทติ้งไทยเพิ่ม
# สมคิด" จี้ "ฟิทช์" ปรับเพิ่ม เรทติ้งไทย หลังเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง สร้างสมดุลดีขึ้น การเมืองชัดเจน ย้ำไม่แฟร์ หากมองแต่ปัจจัยการเมือง พร้อมระบุฮ่องกงสนลงทุนโครงการไซเบอร์พอร์ต ส่งผู้เชี่ยวชาญช่วยดูระบบการเงิน ขณะ เงินบาทไทยแข็งค่าสวนทางภูมิภาค ลุ้นข่าวฟิทช์ปรับเรทติ้งส์ ทั้งเงินเฟ้อสูงกว่าคาด (กรุงเทพธุรกิจ)
+ บาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง แสดงว่ามีเงินไหลเข้ามายังไทย
# บาทแข็งค่าต่อเนื่องสวนทางกับภูมิภาค หลังตัวเลขเงินเฟ้อออกมาดีเกินคาด และยังมี flow ไหลเข้ามาตลอด" ขณะที่ธปท.เผย เศรษฐกิจ ส.ค.ขยายตัวดีจากเดือนก่อนหน้า
+ อัตราเงินเฟ้อ ก.ย.เพิ่มขึ้น แต่ในลักษณะชะลอตัวลง
# ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.61 สูงขึ้น 1.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ชะลอตัว แต่ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อยังสูงขึ้นต่อ เนื่องเป็นเดือนที่ 15 มีสาเหตุสำคัญจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 โดยราคาสินค้าในหมวดพลังงาน เพิ่มขึ้น 8.10% ในขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารสดลดลง 1.16% ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศ และการปรับ
-การเบิกจ่ายงบประมาณปี 61 ทำได้ 92% ต่ำกว่าปีก่อน 2.6%
# โฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2561 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้ 2,667,073 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92% ต่ำกว่าปีก่อน 2.6% (ปีงบประมาณ 2560 เบิกจ่ายได้ 94.6%)
• ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ ก.ย.61 ทรงตัวใกล้เคียง ส.ค.61
# ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนก.ย.61 อยู่ที่ระดับ 51.5 ทรงตัวใกล้เคียงจากเดือนก่อน โดยองค์ประกอบของดัชนีส่วนใหญ่มีระดับใกล้เคียงเดือนส.ค. ยกเว้นความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการ ทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเหล็กและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนลดลงจากเดือนก่อนทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต สอดคล้องกับราคาพลังงานที่ผันผวนมากขึ้น และผู้ประกอบการเห็นว่าต้นทุนการผลิตสูงยังเป็นข้อจำกัดทางธุรกิจสำคัญในเดือนนี้ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่มีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนลดลงมาก เช่น ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจขนส่งและคมนาคม
นักวิเคราะห์ : สมบัติ เอกวรรณพัฒนา : [email protected]
OO14524