- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 07 September 2018 22:50
- Hits: 6731
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
“SET รีบาวด์ต่อไหม...สวนปัจจัยต่างประเทศยังรุมเร้า”
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : --
ภาวะตลาดและปัจจัย : ตลาดวานนี้ – SET Index รีบาวด์ +7.57 จุด ปิดที่ 1693.94 จุด หลังจากปรับตัวลงแรงในวันพุธ ถือว่าสวนทางตลาดหุ้นเพื่อนบ้านในโซนเอเชียที่ส่วนใหญ่ปรับลง แม้ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งทรัมป์กล่าวว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน 2 แสนล้านดอลลาร์โดยมีผลทันทีเมื่อการทำประชาพิจารณ์กับภาคส่วนต่างๆของสหรัฐแล้วเสร็จวานนี้ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม EM เช่น อาร์เจนตินา, เวเนซูเอลา, ตุรกี, อิตาลี และใกล้บ้านเราคือ อินเดียและอินโดนีเซียซึ่งกังวลภาวะการชำระหนี้สกุลดอลลาร์ที่มีการแข็งค่า นักลงทุนรอข่าวบวกใหม่ๆเข้ามา มูลค่าการซื้อขายสูงขึ้นเป็น 54.6 พันล้านบาท ด้านผู้ขายสุทธิ ยังคงเป็น ต่างชาติ 2.5 พันล้านบาท สถาบันถึง 1.4 พันลบ. ส่วน ส่วนผู้ซื้อสุทธิคือ นักลงทุนทั่วไป 2.9 พันล้านบาท และพอร์ตโบรกเกอร์ 1.0 พันล้านบาท
แนวโน้มและกลยุทธ์– ระยะสั้นนักลงทุนลุ้น SET รีบาวด์ต่อจากวานนี้ ปัจจัยบวกคือ ตัวเลขเศรษฐกิจการจ้างงานและดัชนีภาคบริการอ่อนกว่าคาด ความกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยลดลง ดอลลาร์อ่อนค่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีตกลง ท่ามกลางปัจจัยลบจากต่างประเทศเดิมๆคือ สหรัฐมีแนวโน้มจะเดินหน้าเก็บภาษีจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐวันนี้ (ประกาศผลเที่ยงวัน เวลาฮ่องกง จาก CNBC) และจีนพร้อมตอบโต้ วิกฤติค่าเงิน EM ชิลี อาร์เจนตินา อินเดีย อินโดนีเซีย การเจรจาสหรัฐ-แคนาดา NAFTA ไม่คืบหน้า คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือนนี้เป็นครั้งที่ 3 ประชุม 25-26 ก.ย.นี้ น้ำมันปรับลง และค่าความกลัว (VIX) เพิ่มขึ้น สถาบันกลับมาขายสุทธิ สิ่งที่ดีของไทยเหนือกว่า EM อื่นคือ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง แม้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าคาด และความคืบหน้าเลือกตั้งปีหน้า ด้านตลาดหุ้นเพื่อนบ้านเช้านี้ยังปรับลงถ้วนหน้า ดาวโจนส์ล่วงหน้า -59 จุด (8.09 น.) น้ำมันเช้านี้ปรับขึ้น แต่ระยะสั้นยังต้องระวังแรงขายทำกำไรที่จะมีออกมา ปัจจัยที่ยังต้องติดตามคือ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประกาศคืนนี้สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่าน ส่วนระยะกลาง-ยาวเฟดคาดปีนี้จะปรับขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง (ปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี) และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ทำให้แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่า และเงินไหลออกกลับไปสหรัฐ นับว่าปัจจัยต่างประเทศยังกดดันในเรื่องกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แต่ปัจจัยภายในที่ดีคือ การเลือกตั้งไทยเป็นไปตามโรดแม็ป เศรษฐกิจไทยยังดี แต่กังวลไทยจะได้รับผลกระทบสงครามการค้าตั้งแต่ปีหน้า เพราะเราเป็นห่วงโซ่ผู้รับจ้างผลิตและส่งออก จึงอาจได้รับผลลบได้ กลยุทธ์ในสัปดาห์นี้ ยังคงเน้นลงทุนหุ้นรายตัวที่มีพื้นฐานดีและมีประเด็นที่น่าสนใจ หุ้นเน้นธุรกิจในประเทศ (Domestic Play) หรือหุ้นไม่ผันแปรตามเศรษฐกิจ (Domestic Play) รวมทั้งหุ้นปันผลสูง นักลงทุนระยะสั้นควรเล่นรอบสั้นๆ ไม่หวังกำไรมาก ระยะกลาง-ยาวควรตั้งเป้าผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และทยอยขายทำกำไรเมื่อได้ตามเป้าหมาย ระยะนี้คาดว่า SET จะซื้อขายอยู่ในกรอบเป็น 1660-1700 จุด แต่หากดัชนีลดต่ำกว่าระดับ 1710 จุด จะเป็นสัญญาณไม่ดีนัก SET ตามพื้นฐานระยะยาวให้ไว้ที่ 1860 จุด ที่ระดับ P/E 17 เท่า ซึ่งเป็น Median+1 SD และ EPS ปี 61 เติบโตเฉลี่ย 10%
Update หุ้นเด่น : DIF ราคากองทุนฯปรับลงตาม TRUE หลังมีข่าวต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้ทีโอที ตามคำตัดสินของอนุญาโตฯ และทางบลจ.ไทยพาณิชย์ซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทจัดการได้ชี้แจงว่า กองทุนฯได้รับทราบกรณีดังกล่าวแล้ว และถือว่าคำตัดสินยังไม่สิ้นสุด และยังไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกองทุนฯ ทางฝ่ายวิจัยฯก็เห็นด้วย และมองว่าเร็วไปที่จะสรุปว่า TRUE ประสบปัญหาและกระทบต่อการเช่าโครงข่ายของ DIF จึงแนะนำให้ทยอยสะสม ราคาพื้นฐาน 16.20 บาท คาดว่ากว่ากระบวนทางศาลจะสิ้นสุดต้องใช้เวลาอีกหลายปี และปันผลที่สูงของ DIF ยังน่าสนใจ ปีนี้ 6.9% และปีหน้า 7.0%
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้น Candlestick & Indicators เป็นบวกเล็กๆ แต่ความน่าจะเป็นของตลาดฯระยะกลางมีน้ำหนักเป็นการลง ตามโครงสร้าง อย่างไรก็ตามอาจมีรีบาวด์สั้นๆก่อนจึงปรับลง ซื้อเน้นค่าบวก แนวรับสั้นคือ 1670-1660 แนวต้าน 1700-1710
สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะทำ New High ที่เข้ามาใหม่คือ SCCC, TTCL, BPP, CBG, BCH, AUCT หุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ CHG, EPG, GLOBAL หุ้นที่หลุด List AEONTS หุ้นที่อยู่ในพื้นที่หาจังหวะ Take Profit TOP, PSL, DCC
Key Drivers TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
+/- ภาวะตลาดหุ้น : ดาวโจนส์ปรับขึ้นเล็กน้อย ยังกังวลสงครามการค้า
# ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,995.87 จุด เพิ่มขึ้น 20.88 จุด หรือ +0.08% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,878.05 จุด ลดลง 10.55 จุด หรือ -0.37% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,922.73 จุด ลดลง 72.45 จุด หรือ -0.91%
# ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (6 ก.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ซบเซา เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ขณะที่ดัชนี Nasdaq และ S&P 500 ปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงานร่วงลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ในวันนี้ เพื่อเป็นปัจจัยบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ตลาดน้ำมัน : น้ำมัน WTI ปรับลง สต็อกเบนซินสูง กังวลสงครามการค้า
# สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 95 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 67.77 ดอลลาร์/บาร์เรล
# สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 77 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 76.50 ดอลลาร์/บาร์เรล
# สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงหลุดจากระดับ 68 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (6 ก.ย.) หลังจากสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สต็อกนํ้ามันเบนซินพุ่งขึ้นมากกว่าคาดการณ์นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกอาจถดถอยลง อันเนื่องมาจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตลาดใหม่
• ทองคำ : ปรับขึ้น จากดอลลาร์อ่อนค่า
# สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 3 ดอลลาร์ หรือ 0.25% ปิดที่ 1,204.3 ดอลลาร์/ออนซ์
# สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่สองเมื่อคืนนี้ (6 ก.ย.) โดยการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของสกุลเงินดอลลาร์ยังคงเพิ่มแรงดึงดูดให้กับทองคำ นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดนั้น ยังส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
+ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ชะลอกว่าคาด
# สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่าการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 163,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง
# ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ชะลอตัวสู่ระดับ 54.8 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 56.0 ในเดือนก.ค.
-จีนพร้อมตอบโต้ทันที หากสหรัฐจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์
# ยังมีข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยรัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณเตือนว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ทันที หากสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขู่ไว้ก่อนหน้านี้
-รอผลการเจรจาการค้า แคนาดา-สหรัฐ NAFTA หลังประชุมรอบ 2 ไปก่อนหน้า
# นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายในขณะที่รอผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและแคนาดา โดยตัวแทนเจรจาการค้าของทั้งสองฝ่ายได้เปิดฉากการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่อีกครั้งเมื่อวันพุธที่ผ่านมาหลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ขณะที่ปธน.ทรัมป์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและแคนาดา จะทราบผลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
+ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนกว่าคาด
# ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้าอย่างจีนและแคนาดา ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันนี้ เพื่อเป็นปัจจัยบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
• ติดตามตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร ส.ค.61
# นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 191,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานเดือนส.ค.จะลดลงสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี จากระดับ 3.9% ในเดือนก.ค.
ปัจจัยในประเทศ และข่าวเด่นอุตสาหกรรม
+ สภาผู้ส่งออกปรับเป้าการส่งออกไทยปีนี้เพิ่มขึ้น
# สภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู่ส่งออก ปรับเป้าหมายการส่งออกของไทยทั้งปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9% จากเดิมคาด 8% หลังจากมูลค่าการส่งออกไทยในเดือนก.ค.61 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ที่ 8.3% อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย เช่น เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น, มาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐ, วิกฤติเงินเฟ้อในเวเนซุเอล่า, สินค้าเกษตร/ประมง บางรายการยังมีราคาตกต่ำ เป็นต้น
+ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ส.ค.61 เป็น 40.88%
# สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้น ก.ค.61 คิดเป็น 40.88% ของ GDP โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องและวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งรวมถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการชำระคืนหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง โดยรายการชำระหนี้ที่สำคัญ คือการชำระคืนหนี้ในประเทศของรัฐบาลก่อนครบกำหนด วงเงิน 10,383 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดหนี้คงค้างลดลง และเป็นการลดภาระดอกเบี้ยในอนาคตที่ต้องจ่ายจากเงินงบประมาณของประเทศได้ประมาณ 260 ล้านบาท
•/- คาด กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือนนี้ แต่จะส่งสัญญาณการปรับขึ้น
# กนง.จะมีกำหนดการประชุมครั้งต่อไปคือ 19 ก.ย.61 ฝ่ายวิจัยฯ DBSVTH คาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือนนี้ ที่ 1.5% แต่จะส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนมากขึ้น และติดตามผลคะแนนการโหวต ซึ่งมีการแตกเสียงกันมากขึ้น
นักวิเคราะห์ : สมบัติ เอกวรรณพัฒนา : [email protected]
OO13517