- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 07 September 2018 22:03
- Hits: 2798
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนียังผันผวนแต่น่าจะยังต่ำกว่า 1700 จุด ยังให้น้ำหนักสงครามการค้าสหรัฐ-จีน โดยจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนอีก 2 แสนล้านเหรียญฯ และ fund flow ออกต่อเนื่อง แต่มีประเด็นบวกที่เข้าสู่ฤดูกาลส่งออก น่าจะหนุนหุ้นอาหาร ซึ่งได้ประโยชน์เงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่าตามประเทศเกิดใหม่ กลยุทธ์ปรับพอร์ตและเลือกลงทุนรายหุ้นเน้น Domestic Play ที่ P/E และ Beta ต่ำ (RATCH, EASTW) เติบโตสูง 2H61 หรือหุ้นอาหารส่งออกเข้าสู่ High Season (CPF, TU, HANA) หรือมีเงินสดสุทธิ (VGI, MACO, PLANB) Top Picks CPF(FV@B30) และ HANA(FV@B44)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย…. SET Index ฟื้นช่วงสั้น
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ ยังผันผวน โดยแม้จะยังปรับฐานช่วงเช้า แต่กลับฟื้นตัวช่วงบ่าย และปิดตลาดที่ 1693.94 จุด เพิ่มขึ้น 7.57 จุด หรือ +0.45% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.46 หมื่นล้านบาท ดัชนีถูกดันขึ้นด้วยกลุ่มธ.พ. กลุ่มค้าปลีก CPALL+2.68% ROBINS+1.57% BJC+0.9% และกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ (PTTEP, GULF, IVL, TOP) ตรงข้ามหุ้นกลุ่ม ICT ที่ได้รับ sentiment เชิงลบ จาก TRUE ลดลง 8.59% เพราะศาลอนุญาโตตุลาการ มีคำสั่งให้จ่ายเงินค่าปรับ ที่มิได้กำไรจากการให้บริการโครงข่าย 1800 ตามข้อตกลง (TOT ให้การเยียวยา คือให้ใช้คลื่นเพื่อรักษาลูกค้า แต่ให้กำไรที่เกิดขึ้นส่งคืน) ส่วนหุ้นรายตัวที่ปิดลบคือ BDMS-0.95%, SCC-0.45% และ BEC-4.14%
แนวโน้มตลาดฯ ไทยยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่า 1700 จุด โดยให้น้ำหนักต่อ สงครามการค้า สหรัฐ- จีน ที่จะประกาศวงเงินกีดกันเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านเหรียญฯ และค่าเงินเอเชียที่กลับมาอ่อนค่าตามตลาดเกิดใหม่หลาย ๆ แห่ง แต่น่าจะเป็นปัจจัยหนุนหุ้นส่งออกอาหาร ที่เข้าสู่ช่วง High season ชอบ HANA, CPF, TU
แม้มีกระแสต่อต้าน ทรัมป์ยังจะเดินหน้ากีดการนำเข้าจากจีนเพิ่ม
การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐต่อจีนในรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญอัตราภาษี 25% (เดิมประกาศอัตรา 10%) คาดว่าจะได้ประกาศบังคับใช้อย่างเร็วสุดคือ วันนี้(ตามเวลาสหรัฐ) หรือในสัปดาห์หน้า หลังจากเมื่อวานนี้ได้ทำประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว แม้ได้รับการต่อต้านจากผู้ประกอบการขั้นปลาย แต่สหรัฐจะเดินหน้าต่อ ทำให้วงเงินกีดการค้ากับจีนขึ้นเป็น 2.5 แสนล้านเหรียญฯ ขณะที่จีนน่าจะตอบโต้รอบนี้ไม่เกิน 6 หมื่นล้านเหรียญฯ เมื่อรวมกับ 2 รอบก่อนหน้า จีนจะตอบโต้ราว 1.1 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นข้อจำกัดจากที่จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐปีละ 4 แสนล้านเหรียญฯ
เชื่อว่าในที่สุดแล้ว ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายจะได้รับผลกระทบมากสุด โดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐ เพราะในรอบนี้ได้มุ่งไปที่สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) อาทิ จักรยาน, อุปกรณ์กีฬา, กล้องถ่ายรูป, เครื่องนุ่งห่ม, เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น แตกต่างจาก 2 ครั้งก่อนหน้าที่เน้นสินค้าขั้นต้น-กลาง เป็นผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่คอยกดดันเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป และอาจผลักดันเงินเฟ้อและหนุนการใช้นโยบายการเงินตึงตัวเร็วขึ้น
ราคาเนื้อสัตว์/ทูน่า ยังฟื้นต่อ ดีต่อ CPF, TU
ผลจากสงครามการค้า และแนวโน้มบาทอ่อนค่า รวมทั้งการเข้าสู่ช่วง High Season หนุนให้ราคาหุ้นกลุ่มส่งออกปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นส่งออกอาหาร ที่ได้ปัจจัยบวกจากราคาในประเทศที่ทรงตัวได้ในระดับสูงหลังจากขยับขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คือ
ราคาสุกรในไทยอยู่ที่ 64 บาท/กก. สูงสุดในรอบ 14 เดือน ผลจากปัญหาสุกรล้นตลาดได้คลี่คลายดีขึ้นแล้ว บวกกับปัจจัยหนุนจากโรคไข้อหิวาต์อัฟริกาในสุกรระบาดในจีน ทำให้จีนมีแนวโน้มต้องนำเข้าสุกรจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้การค้าขายสุกรตามชายแดนคึกคักขึ้น ส่งผลบวกทางอ้อมต่อราคาสุกรของเวียดนามและไทย
ล่าสุด ราคากากถั่วเหลืองโลกอ่อนตัวลงถึง 18.0% นับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 61 จากการที่จีนปรับขึ้นภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ กดดันความต้องการใช้ถั่วเหลืองโลกลดลง ส่งผลบวกต่อธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์อีกทางหนึ่ง
เช่นเดียวกับราคาไก่ในประเทศ ล่าสุดทำจุดสูงสุดในรอบ 10 เดือน ที่ 38 บาท/กก. และราคาทูน่า น่าจะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ล่าสุดอยู่ที่ 1400 เหรียญฯต่อตัน เพิ่ม 11% จากเดือนก่อนหน้า (เฉลี่ย 1560 เหรียญฯต่อตัน ต่ำกว่าสมมติฐานที่ ASPS ประเมิน 1750 เหรียญฯต่อตัน) และในเดือน พ.ค. สามารถปรับเพิ่มราคาขายทูน่ากระป๋องที่เป็นแบรนด์ในฝรั่งเศสของ TU ซึ่งส่วนที่หนุนรายได้ ตรงกันข้ามต้นทุนวัตถุดิบลดลงน่าจะหนุนกำไรของผู้ประกอบการใน 2H61
โดยรวมประเมินกำไรจากการดำเนินงานกลุ่มเกษตร-อาหารปี 2561-62 ที่ฝ่ายวิจัยศึกษา (CPF TU GFPT TFG BR KSL และ STA) จะฟื้นตัว 30.8% yoy และ 22.8% yoy จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มเกษตร-อาหาร เท่าตลาด เลือก CPF (FV@B30) เป็น Top pick จากราคาไก่และสุกรในไทยและเวียดนามฟื้นตัวชัดเจนในงวด 3Q61 และแนะนำซื้อ TU ([email protected]) จากราคาต้นทุนวัตถุดิบทูน่าลดลง ส่งผลบวกต่อประสิทธิภาพการทำกำไรงวด 2H61
ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากสงครามการค้า หักล้างสต็อกน้ำมันที่ลดช่วงสั้น
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ที่ 4.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าตลาดคาดจะลดลง 1.29 ล้านบาร์เรล ผลจากยังอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลขับขี่ ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่ม หนุนโรงกลั่นเพิ่มการกลั่นน้ำมันดิบ สะท้อนจากใช้กำลังการผลิตทรงตัวจากสัปดาห์ก่อนหน้า 97.3% ขณะที่ Supply น้ำมันยังคงเพิ่มขึ้น จากสหรัฐยังคงผลิตแทนการนำเข้า (ล่าสุดผลิตวันละ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์) และกลุ่ม OPEC ที่ยังเดินหน้าเพิ่มการผลิต ชดเชยส่วนหายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอล่า เนื่องจากถูกสหรัฐคว่ำบาตร ภายใต้สัญญาการคงกำลังการผลิตของ OPEC และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันยังมีอยู่ถึงสิ้นปีนี้ก็ตาม
ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มชะลอ จาก 2 เหตุผลคือ
สงครามการค้าสหรัฐและจีนที่เกิดขึ้นแล้ว และทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกคือ สหรัฐบริโภคสูงสุด 24.9 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิด 25.5% ของการบริโภคน้ำมันในตลาดโลก และจีนอันดับ 2 12.5 ล้านบาร์เรล/วัน ราว 12.8%
และ Dollar index ที่แนวโน้มแข็งค่าราว 3.2% นับตั้งแต่ต้นปี จากการที่ Fed เดินหน้าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งๆละ 0.25% จากการประชุมที่เหลือ 3 ครั้งในปีนี้ (คาดขึ้นครั้งถัดไป 25-26 ก.ย. และอีกครั้งปลายปีรอบ 18-19 ธ.ค.) น่าจะกดดันราคาน้ำมันดิบระยะกลางยาว
จึงยังคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้ 65 เหรียญฯต่อบาร์เรล และปีหน้าที่ 70 เหรียญฯ และ 75 เหรียญฯ ในปีถัดๆ ไป ขณะที่ราคาหุ้นน้ำมันส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี Upside จำกัด จึงยังแนะนำ Switch ทั้ง PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137)
ต่างชาติและสถาบันฯ จับมือกันขายหุ้นไทย
ความกังวลประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยังกดดันตลาดหุ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคอีก 409 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นไต้หวันเพียงแห่งเดียวที่ยังซื้อสุทธิเล็กน้อย 20 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิ 268 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 65 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5), ฟิลิปปินส์ 19 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) และไทยที่ต่างชาติยังขายสุทธิอีก 78 ล้านเหรียญ หรือ 2.55 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 10 มีมูลค่าขายรวม 1.44 หมื่นล้านบาท) และยังคงเปิดสถานะชอร์ตสุทธิ SET50 Futures อีก 1.78 พันสัญญา (ชอร์ตสุทธิติดต่อกัน 5 วัน มีมูลค่ารวมสูงถึง 2.33 หมื่นสัญญา) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศขายสุทธิหุ้นไทย 1.37 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 1.94 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) ทั้งเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทย เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้เงินบาทมีทิศทางที่อ่อนค่าลง 0.86% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ 32.78 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO13506