- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 17 September 2014 17:22
- Hits: 1836
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่า ความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐยังมีน้ำหนัก กลยุทธ์ระยะสั้นให้ถือหุ้น 30% โดยเลือกเฉพาะหุ้นปันผล/กำไรฟื้นตัวในงวด 2H57 เลือก SAMART(FV@B32) เป็น Top pick คาดว่ายังมีข่าวดีระยะสั้น
ตลาดพุ่งเป้าไปที่การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ
วันนี้ตลาดยังคงให้ความสนใจไปที่การประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ซึ่งจะสิ้นสุดในวันนี้ (จะมีการรายงานเช้าพรุ่งนี้ตามเวลาไทย) ต่อท่าทีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของสหรัฐ หลังจากที่อยู่ในระดับต่ำ 0.25% มานานกว่า 5 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะให้ความสำคัญต่อถ้อยแถลง โดยคาดหวังว่าจะมีการพูดถึงกรอบเวลาของการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนกว่าเดิม ที่ระบุเพียงแต่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นกับช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามหากพิจารณาสภาพแวดล้อมปัจจุบันถือว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะยังไม่รีบร้อน โดยน่าจะยังอยู่ในกรอบเดิมคือกลางปี 2558 เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น สะท้อนการรายงาน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐ เดือน ส.ค. ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว 0.1%mom เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ม.ค. ขณะที่ผลจากการสำรวจ นักเศรษฐศาสตร์บลูมเบิร์ก ล่าสุดคาดว่าเงินเฟ้อเดือน ก.ย. จะอยู่ที่ 1.9% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 2% ในเดือนก่อนหน้า) และเช่นเดียวกับอังกฤษ ที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. อยู่ที่ 1.5%อ่อนตัวลงจาก 1.6% ในเดือนก่อนหน้า (และต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้น 2%) และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน
เงินเฟ้อต่ำ หนุน กนง. ยืนดอกเบี้ยที่เดิม
เชื่อว่าการประชุม คณะนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ จะยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ต่อไปเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะกำลังฟื้นตัว และแรงกดดันเงินเฟ้อต่ำ สะท้อนจากเดือน ส.ค. อยู่ที่ 2.09% อ่อนตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และต่ำสุดในรอบ 6 เดือน (8M57 อยู่ที่ 2.2) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามตลาดโลก (พิจารณาจากแหล่งน้ำมันดูไบลดลง 14.4% นับจากระดับสูงสุด เมื่อกลาง มิ.ย. จนถึงปัจจุบัน)
และคาดว่าเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตราบที่ราคาน้ำมันดิบโลก (ดูไบ) ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ 95 เหรียญฯต่อบาร์เรล รวมทั้งผลจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยการปรับลดการเก็บภาษีสรรพสามิต และภาษีเทศบาล พร้อมๆ กับตัดลดเงินเข้ากองทุนน้ำมันลดลง ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำมันขายปลีก เบนซิน และ แก๊สโซฮอล์ 95, 91 และ E20 ลดลงลิตรละ 3.89 บาท, 2.13 บาท, 1.7 บาท และ 1 บาทตามลำดับ (มีผลตั้งแต่ 29 ส.ค. 2558) ยกเว้นมีการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเล็กน้อยเพียง 0.14 บาท นอกจากนี้ภาครัฐยังคงใช้มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการลดค่าครองชีพประชาชน เหมือน ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา เป็นต้น จึงคาดว่า กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยต่อไปในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ และ ต่อเนื่องในอีก 6 เดือนแรกของปี 2558 ซึ่งอาจจะทำให้ไทยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว คือ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ต่างชาติขายสุทธิเอเซีย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ราว 326 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า โดยขายสุทธิหลักมาจากไต้หวัน ที่ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ราว 248 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 2 ล้านเหรียญฯ) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ซึ่งสลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 59 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 3 วันหลังสุด) ขณะที่อินโดนีเซียยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 44 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 10% จากวันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์ขายสุทธิเล็กน้อยเป็นวันที่ 4 ราว 2 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 86% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับไทย ที่ยังคงซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ราว 27 ล้านเหรียญฯ (872 ล้านบาท, เพิ่มขึ้น 36% จากวันก่อนหน้า)
นอกจากความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐแล้ว การขายสุทธิอย่างหนักในไต้หวัน น่าจะเป็นผลจากการรายงานตัวเลข FDI ของจีนที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งน่าจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันรายประเทศ ขณะที่ไทยนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 รวม 2.3 พันล้านบาท ซึ่งยังถือว่าเบาบาง แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติได้สลับมาซื้อสุทธิในตราสารหนี้ราว 339 ล้านบาท หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้ารวม 1.7 หมื่นล้านบาท มีส่วนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 32.21 บาทต่อเหรียญฯ
ราคาน้ำมันโลกต่ำ ดีต่อกลุ่มขนส่ง
การที่ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวช่วงสั้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบดีดกลับขึ้นมาที่ 96.49 เหรียญ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบตลาดล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน ต.ค. ขึ้นมาที่ 94.64 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากค่าเงินดอลลาร์ชะลอการแข็งค่า หลังจากที่แข็งค่ามานานกว่า 5% นับตั้งแต่ ก.ค. เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากตลาดรอผลการประชุม FOMC ที่จะเสร็จสิ้นในค่ำคืนนี้ ดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามคาดว่าในระยะกลาง ความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอตัวยังคงมีอิทธิพล สะท้อนจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) รายงานว่า กำลังซื้อที่อ่อนแรง ทั้งจากยุโรปที่เผชิญปัญหาในยูเครน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน (จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก แซงหน้าสหรัฐที่หันไปผลิตน้ำมันเอง) เป็นปัจจัยกดดันให้อาจจะต้องปรับลดความต้องการโลกโดยรวมในปีนี้ และปีหน้า ขณะที่ supply เชื้อเพลิงโลกน่าจะยังอยู่ในภาวะที่เพิ่มขึ้น แม้ OPEC เตรียมปรับลดเป้าหมายการผลิตในปีหน้าลงอีก 5 แสนบาร์เรล เหลือ 29.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ปริมาณการผลิตจากกลุ่ม non-OPEC รวมทั้งพลังงานทางเลือกอย่าง shale gas และ shale oil ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก จึงคาดว่าจะกดดันให้ราคาน้ำมันดิบดูไบทรงตัวในระดับ 95 เหรียญ/บาร์เรลต่อไป ซึ่งใน สถานการณ์นี้แม้จะไม่ดีต่อผู้ประกอบการน้ำมัน แต่ก็ยังมีผู้ได้ประโยชน์โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่ง
จากการสอบถามนักวิเคราะห์ในกลุ่มขนส่งของ ASP พบว่า หุ้นขนส่งทางอากาศที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้คือ AAV, NOK, THAI เนื่องจากต้นทุนน้ำมันเครื่องบินคิดเป็นราว 30-40% ของต้นทุนการให้บริการโดยรวม โดยสมมติฐานราคาน้ำมันเครื่องบินที่ใช้ในการประมาณการงบกำไรขาดทุนได้กำหนดไว้ที่ 125 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือเทียบเท่าน้ำมันดิบดูไบที่ 100 เหรียญฯ การที่ราคาน้ำมันดิบลดลงมาต่ำสุดที่ 95 เหรียญฯ หรือราว 5 เหรียญฯ นั่นเหมายความว่าราคาน้ำมันเครื่องบินลดลงเหลือราว 118 เหรียญฯ ซึ่งจากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า การลดราคาน้ำมันทุก 5% จากสมมติฐาน จะช่วยให้งบกำไรขาดทุนของสายการบินดีขึ้นจากสมมติฐานเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการทำการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) มากน้อยเพียงใด ซึ่งเท่าที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยกับนักวิเคราะห์พบว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50% ของปริมาณการใช้น้ำมัน ซึ่งพอสรุปในเบื้องต้นได้ดังนี้คือ
THAI(ถือ : [email protected]) คาดว่าต้นทุนน้ำมันทุกๆ 5% ที่ลดลงจากสมมติฐาน จะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว 4 พันล้านบาท แต่เนื่องจากมีการทำ Hedging 50% (ยังคงสมมติฐานที่เดิมคือ Cabin Factor 70% ในปี 2557 และ 75% ในปี 2558 และ Passenger Yield 2.7 และ 2.8 บาท ต่อคน ต่อ กม. ตามลำดับ) กำไรที่เพิ่มจะลดลงเหลือ 2 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยหนุนโอกาสการทำกำไรที่ดีขึ้นจากสมมติฐานเดิมที่ ASP ประเมินไว้ว่าจะขาดทุน 1.4 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ และมีกำไรสุทธิ 1.2 พันล้านบาทในปี 2558
AAV(ถือ : [email protected]) คาดว่าต้นทุนน้ำมันทุกๆ 5% ที่ลดลงจากสมมติฐาน จะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว 700 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีการทำ Hedging 50% (ยังคงสมมติฐานที่เดิมคือ cabin factor 80% ในปี 2557 และ 85% ในปี 2558 และ passenger yield 1.7 บาท ต่อคน ต่อ กม. ในปีนี้และปีหน้าเท่ากัน) กำไรที่เพิ่มจะลดลงเหลือ 350 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยหนุนโอกาสการทำกำไรที่ดีขึ้นจากสมมติฐานเดิมที่ ASP ประเมินไว้ว่าจะกำไร 343 ล้านบาท ในปีนี้ และมีกำไรสุทธิ 1.1 พันล้านบาทในปี 2558
นอกจากปัจจัยเรื่องต้นทุนน้ำมันที่ลดลงแล้ว ในงวด 4Q57 เป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว จะหนุนให้ปริมาณเที่ยวบิน และ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะหนุนให้ผลกำไรของกลุ่มขนส่งทางอากาศในช่วง 4Q57 ดีกว่าในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนในงวด 3Q57 คาดว่าทั้ง THAI และ AAV ยังมีความเสี่ยงเผชิญกับภาวะขาดทุน และการที่ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทใกล้เคียงกับ Fair Value แต่คาดว่า ประเด็นบวกดังกล่าวข้างต้นน่าจะหนุนหุ้นขนส่งทั้ง 2 แห่งให้ทรงตัว หรือมีโอกาสลดลงจากนี้ไม่มาก ผู้ที่มีหุ้นอยู่แนะนำให้ถือต่อไปตราบที่ราคาน้ำมันดิบยังลดลง
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล