- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 05 September 2018 20:08
- Hits: 2542
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อดัชนีหุ้นไทยทรง-ลง ยังขาดแรงหนุน ให้น้ำหนักสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่จะประกาศเพิ่มในวันนี้ 2 แสนล้านเหรียญฯ ขณะที่ fund flow ไหลออกต่อเนื่อง และเงินเอเชียอ่อนค่า กดดันเงินบาทกลับมาอ่อนค่าเช่นกัน ดีต่อหุ้นส่งออกที่เข้าสู่ฤดูกาล กลยุทธ์เลือกลงทุนรายหุ้นเน้น Domestic Play ที่ P/E และ Beta ต่ำ (DCC, CPF, RATCH, EASTW) เติบโตสูง 2H61 หรือหุ้น Laggard (BH, SCCC) หุ้นอาหารส่งออกเข้าสู่ High Season (CPF) หรือมีเงินสดสุทธิ (VGI, MACO, PLANB) Top Picks CPF(FV@B30) และ HANA(FV@B44) ปรับเพิ่มมูลค่าหุ้นสะท้อน gross margin ที่ดีตาม products mixed ที่เพิ่มขึ้น
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย…. SET Index ผันผวน หุ้นขนาดใหญ่กดตลาด
ตลาดหุ้นไทยวานนี้แกว่งตัวผันผวน ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 1714.41 จุด ลดลง 6.80 จุด หรือ -0.4% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.38 หมื่นล้านบาท กดดันหลักจากหุ้น Market Cap ใหญ่ คือ กลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ (PTT PTTGC IVL), หุ้น AOT -1.5% และ CPALLปรับตัวลงต่อเนื่อง ปิดที่ 67 จุด ลดลง -1.11% ซึ่งน่าจะกดดันจากผลดำเนินงาน 2H61 ยังถูกกดดันจากรับรู้การเงินรวมกับ MAKRO ซึ่งยังคงขยายธุรกิจต่างประเทศ สวนทางหุ้นรายบวกแรก CBG +6.09% S+5.45% และ EA +4.55%
แนวโน้มตลาดฯ ไทยน่าจะยังปรับฐานโดยน่าจะกลับมาทดสอบ 1700 จุดอีกครั้ง โดยให้น้ำหนักต่อ สงครามการค้า สหรัฐ- จีน ที่จะประกาศวงเงินกีดกันเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านเหรียญฯ และค่าเงินเอเชียที่กลับมาอ่อนค่า ยกเว้นเงินบาท และริงกิตที่ทรงตัว แต่สุดท้ายก็น่าจะอ่อนตัวตาม ซึ่งน่าจะหนุนผู้ส่งออกอาหารที่เข้าสู่ช่วง High season
การตอบโต้การค้าจีน-สหรัฐยังมี vs ค่าเงินเอเชียอ่อนค่า
ปัจจัยต่างประเทศวันนี้ให้น้ำหนักกับการประกาศผลการทำประชาพิจารณ์ของสหรัฐ ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าจีนรอบที่ 3 จะเพิ่มวงเงินอีกราว 2 แสนล้านเหรียญ และอัตราภาษี 25% หรือไม่ และในวันเดียวกันสหรัฐมีแผนเจรจากับแคนาดาอีกครั้ง หลังจากปลายสัปดาห์ที่แล้วการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป โดยสภาคองเกรสมีกำหนดเวลาพิจารณาข้อตกลงการค้าภายใน 60 วันหลังจากที่ผลสรุปการเจรจาเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อ
อีกประเด็นที่น่าจะมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นโลก ค่าเงินโลกที่ผันผวนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มจาก ประเทศที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและมีปัญหาหนี้สาธารณะสูง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อาทิ เวเนซุเอล่า พบว่าค่าเงินโบลิวาร์อ่อนค่ามากที่สุดของโลกราว 2.4 ล้าน% นับแต่ต้นปี (เป็น 248209 โบลิวาร์ จากที่ทรงตัวที่ 9.975 ในปีก่อนหน้า)
เงินเปโซอาร์เจนติน่าที่อ่อนค่ามากที่สุด 109.1% และค่าเงินของตุรกีที่อ่อนค่าแรงราว 76.9% นับตั้งแต่ต้นปี แต่เงินเอเซียกลับมาอ่อนค่ามากชึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ หลังจากที่ทรงตัวหรือแกว่งตัวในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะค่าเงินรูเปียะห์ (อินโดนีเซีย) ค่าเงินเปโซ (ฟิลิปปินส์), รูปี (อินเดีย) และริงกิต (มาเลเซีย) ยกเว้นเงินบาท และเงินหยวนที่ยังคงทรงตัว แต่โดยรวมจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าค่าเงินที่อ่อนค่ามากสุด คือ รูปี รองลงมาคือ เปโซ, รูเปียะห์ หยวน และบาท ตามลำดับ ดังรูป
เงินบาทอ่อนค่าหนุนหุ้นส่งออก CPF, HANA
ภาวะที่เงินบาทอ่อนค่า และการเข้าสู่ฤดูกาลส่งออก นับว่าดีต่อหุ้นส่งออก ทั้งส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออกอาหาร กล่าวคือ
กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนฯ ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับ Fair Value ของ HANA ขึ้นมาเป็น 44 บาท (จาก 38.50 บาท) โดยมีการเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-62 ขึ้น 0.4% และ 15.0% จากเดิม ผลจาก Gross Margin ที่ดีขึ้นใน 2Q61 รวมทั้งประเมินรายได้จะเพิ่มขึ้นจากเซ็นเซอร์กลุ่มสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนที่ดีกว่าคาด และจะเพิ่มมากขึ้นในงวด 2H61 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงสมมติฐานผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยได้ตัดลดยอดขายรวมของ HANA ลงจากเดิม 3% ไปแล้ว (ในบทวิเคราะห์อุตสาหกรรมฯ วันที่ 18 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา) เนื่องจาก HANA มีโครงสร้างรายได้จากฐานการผลิตในประเทศจีน 22% และมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ราว 13% ของรายได้รวม ภายใต้ Fair Value ใหม่ ราคาหุ้นปัจจุบันมี upside 10% แนะนำ ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
กลุ่มส่งออกอาหาร ยังแนะนำ CPF (FV@B30) นอกจากจะได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าแล้ว ยังได้ประโยชน์จากราคาสุกรที่อยู่ในระดับสูง โดย CPF มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจสุกรในไทย 14% และรายได้จากธุรกิจสุกรในเวียดนาม 7% ของรายได้รวม คาดแนวโน้มธุรกิจจะทยอยฟื้นตัวในงวด 2H61 จากปัญหาสุกรล้นตลาดคลี่คลายลง นอกจากนี้ ยังมีการพบโรคไข้อหิวาต์อัฟริกาในสุกรที่ระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ทำลายสุกรไปแล้วจำนวนมากกว่า 3.5 หมื่นตัว จึงน่าจะเห็นจีนนำเข้าสุกรจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหาย และลดการนำเข้าจากสหรัฐฯ ภายหลังจากถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าขึ้น 25% ส่งผลบวกต่อการค้าขายสุกรชายแดนเวียดนามและไทยให้คึกคักขึ้น และส่งผลบวกทางอ้อมต่อราคาสุกรในไทยและเวียดนาม หนุนผลประกอบการ CPF โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี upside 14.3%
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดในรอบ 5 ปี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 1.2%mom ที่ 83.2จุด สูงสุดในรอบ 5 ปี 4 เดือน เนื่องจากประชาชนยัมมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคส่งออก, การท่องเที่ยว และการลงทุนเอกชนที่ขยายตัว รวมถึงราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น จึงมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้CCI เป็น Leading indicator ที่หนุนยอดค้าปลีก โดยเฉพาะยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งในกลุ่มค้าปลีก ชื่นชอบ ROBINS(FV@B68) และ BJC(FV@B69)
ROBINS ฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรครึ่งปีหลังจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้น ผลบวกจากเทศกาลฟุตบอลโลก, แผนเพิ่มสัดส่วนยอดขาย Private Brands และรายได้จากค่าเช่าที่เติบโตตามการขยายสาขา ประมาณกำไรปี 2561-2562 คาดโต 18.4% และ 8.6% ตามลำดับ
BJC คาดว่ากำไรไตรมาส 3/2561 โตโดดเด่น แต่ประมาณการปี 2561-2562 อาจมีความเสี่ยงจากอัตราภาษีที่สูงกว่าคาด ซึ่งรอความชัดเจนอยู่ เบื้องต้นคงประมาณการกำไรปีนี้โต 38.2% และปีหน้าโต 17.3%
มีเงินไหลเข้าเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียเหนือ โดยยังขาย TIP
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 226 ล้านเหรียญ แต่เป็นการซื้อเฉพาะตลาดหุ้นแถบอเชียเหนือเท่านั้น คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 165 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) และเกาหลีใต้ 100 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ต่างชาติขายสุทธิ คือ, อินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 29 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), และไทยที่ต่างชาติยังขายสุทธิอีก 6 ล้านเหรียญ หรือ 181 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8 มีมูลค่าขายรวม 9.65 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 494 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 13 วัน มีมูลค่ารวมสูงถึง 2.35 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 2.17 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10 มีมูลค่ารวมสูงถึง 6.17 หมื่นล้านบาท) ทั้งแรงขายหุ้นไทยต่อเนื่อง บวกกับเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้เงินบาทในวานนี้อ่อนค่าลง 0.36% มาอยู่ที่ 32.79 บาท/ดอลลาร์
นักวิเคราะห์ :
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO13395