- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 31 August 2018 21:26
- Hits: 2274
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนีหุ้นไทยกลับสู่การปรับฐาน เชื่อว่ายังขาดแรงหนุน ยังให้น้ำหนักการเจรจาการค้าสหรัฐ-แคนาดา ยุโรป และจีน และมีโอกาสปรับลดกำไรตลาดหุ้นไทย หลังประกาศงบ 2Q61 และเข้าร่วม Analyst’s meeting เริ่มเห็นการทยอยปรับลดประมาณการกำไรปี 2561-2562 ของหุ้นรายตัว กลยุทธ์ยังให้ทยอยขายทำกำไรรายหุ้น และสลับมาลงทุน Domestic Play ที่ P/E และ Beta ต่ำ (DCC, CPF, RATCH, EASTW) เติบโตสูง 2H61 หรือหุ้น Laggard (BH, SCCC) หุ้นอาหารส่งออกเข้าสู่ High Season (CPF) Top Pick MACO([email protected]) เป็นตัวเลือกในสื่อบันเทิงที่มี EPS Growth สูงสุด และมี PEG ต่ำสุดในกลุ่มสื่อนอกบ้าน
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย…. กลุ่ม ธ.พ.ประคองตลาดฯ
วานนี้ตลาดหุ้นไทย แกว่งในกรอบแคบหลังจากเปิดกระโดดขึ้นในภาคเช้า ก่อนจะมาปิดตลาดที่ 1720.43 จุด ลดลง 1.83 จุด หรือ -0.11% มูลค่าการซื้อขาย 4.21 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีได้แรงหนุนจากหุ้นปิโตรฯ IVL+2.55% ตามด้วย SCC +0.44% และ VGI +6.29% รวมถึงกลุ่มอสังหาฯ SF+5.85%, QH+1.76% และหุ้นนิคมฯ AMATA WHA ตรงกันข้ามหุ้นที่ถูกแรงขายหนักคือ BDMS, CPALL และ PTT เช่นเดียวกับกลุ่ม ICT อย่าง ADVANC -0.99%, INTUCH -1.33%
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ น่าจะปรับฐานโดยน่าจะกลับมาทดสอบ 1700 จุด อีกครั้ง โดยยังให้น้ำหนักต่อ การเจรจากการค้าสหรัฐ – แคนาดา ในสุดสัปดาห์นี้ ส่วนสัปดาห์หน้าจะเป็นยุโรป และจีน ตามมาด้วยเรื่องเงินเฟ้อที่จะมีการประกาศของยุโรปในวันนี้ และของไทยใน 3 ก.ย. ซึ่งน่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่า ไทยน่าจะเข้าภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า
การเจรจาสหรัฐ แคนาดา, ยุโรป และจีน ยังมีอิทธิพลต่อตลาด
ปัจจัยต่างประเทศยังให้น้ำหนักไปที่การเจรจาการค้าของสหรัฐกับประเทศในกลุ่ม NAFTA (ประกอบด้วย สหรัฐ, แคนาดา และเม็กซิโก) หลังต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐบรรลุข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral) กับเม็กซิโก แต่ยังไม่มีรายละเอียดอะไรชัดเจน และในวันนี้สหรัฐเดินหน้าเจรจาการค้ากับแคนาดาต่อ โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในวันนี้ พิจารณาการค้าของกลุ่ม NAFTA น่าจะได้ข้อสรุป แต่ทุกฝ่ายมีต้นทุนสูงขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้า กล่าวคือ
เม็กซิโกมีสัดส่วนการค้า(X+M) กับสหรัฐราว 64.1% ของการค้าทั้งหมดของเม็กซิโก สินค้าหลักที่สหรัฐนำเข้าจากเม็กซิโก คือ รถยนต์และชิ้นส่วน, รถบรรทุก, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์, เครื่องเล่นวิดีโอ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่เม็กซิโกนำเข้าจากสหรัฐเป็นหลัก คือ น้ำมัน, เครื่องจักร, เครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์และส่วนประกอบ, พลาสติก เป็นต้น
ส่วนแคนาดามีสัดส่วนการค้า (X+M) กับสหรัฐประมาณ 64.6% ของการค้าทั้งหมดของแคนาดา สินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากแคนาดา คือ รถยนต์และส่วนประกอบ, ปิโตรเลียม, ก๊าซธรรมชาติ, ไม้แปรรูป, แร่อลูมิเนียม เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่แคนาดานำเข้าจากสหรัฐ คือ รถยนต์และส่วนประกอบนำเข้ามากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องจักร, น้ำมัน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, พลาสติก เป็นต้น
และหลังจากนี้ สหรัฐมีแผนจะเดินหน้าเจรจากับยุโรปเป็นลำดับถัดไปตั้งแต่สัปดาห์หน้า ซึ่งน่าจะมีผลสรุปได้ไม่ยากเหมือนกับ 2 ประเทศข้างต้น แต่สำหรับกับจีนอาจจะซับซ้อนมากกว่า สหรัฐ อยู่ระหว่างรอผลการทำประชาพิจารณ์เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าจีนรอบที่ 3 ในวันที่ 5 ก.ย. สาระสำคัญอยู่ที่วงเงินกีดกันรอบนี้จะมากกว่า 2 แสนล้านเหรียญ และอัตราภาษี 25% จะเพิ่มขึ้นจากที่เคยประกาศไว้ครั้งแรกที่ 10% หรือไม่ ทั้งนี้แม้สหรัฐอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบจีน แต่ผลกระทบสุดท้ายมีแต่ผู้แพ้ คือ ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย กระทบมากสุด จากการที่ต้องจ่ายสินค้าแพงขึ้น ซึ่งจะผลักดันเงินเฟ้อและหนุนการใช้นโยบายการเงินตึงตัวเร็วขึ้น
MACO เป็นตัวเลือกใหม่ของสื่อนอกบ้าน ที่มีการเติบโตโดดเด่น
ฝ่ายวิจัยเริ่มเข้าไป Initial coverage หุ้น MACO รู้สึกชื่นชอบและน่าจะเป็นทางเลือกของการลงทุนสำหรับหุ้นที่ทำธุรกิจสื่อนอกบ้าน โดยมีจุดเด่น คือ 1) ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ VGI ซึ่งได้ลิขสิทธิในการทำโฆษณาบนรถไฟฟ้า BTS (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ VGI) จึงสามารถรุกธุรกิจสื่อนอกบ้านไปด้วยกัน 2) การมีเครือข่ายสื่อที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งรูปแบบ Billboard ,Digital Billboard และ Street Furniture พร้อมแผนการขยายกำลังการผลิตสื่ออย่างต่อเนื่องและชัดเจน ทั้งเพิ่ม Digital Billboard (จาก 35 จอ เป็น 100 จอ) เปลี่ยนป้าย Street Furniture ใต้สถานี BTS จากภาพนิ่ง เป็น ดิจิทัล และในระยะยาวยังได้พื้นที่สื่อเพิ่มตามการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า BTS ถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดฯ เป็นอันดับ 3 รองจาก VGI และ PLANB
MACO กำลังรุกขยายธุรกิจสื่อโฆษณาไปยังอาเซียน ด้วยการซื้อ VGI Global Media Malaysia (VGM) สัดส่วน 75% (ซื้อจากบริษัทแม่คือ VGI) มูลค่า 360 ล้านบาท ซึ่ง VGM เป็น Holding Company ที่ลงทุนในธุรกิจสื่อนอกบ้านหลากหลายรูปแบบในมาเลเซียและอินโดนีเซียพร้อมได้สัมปทานระยะยาว ได้แก่
1. สัมปทานทำสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้า MRT สาย SBK ในมาเลเซีย อายุสัมปทาน 10 ปี ตั้งแต่ 16 ธ.ค.59-15 ธ.ค.68
2. สัมปทานทำสื่อโฆษณาในรถไฟฟ้า MRT สายแรกของประเทศอินโดนีเซีย อายุสัมปทาน 20 ปี เปิดให้บริการ 1Q62
3. สัมปทานสื่อโฆษณาในสนามบิน KLIA1 และ KLIA2 อายุสัมปทาน 7 ปี ตั้งแต่ 1 พ.ค.57-1 พ.ค.64 และมีสิทธิต่ออายุได้อีก 3 ปี คาดธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์เดือน ตุลาคม 2561
นอกจากนี้ยังได้ลงทุน 81.65% ในบริษัท Tran.Ad และ 89% ในบริษัท Roctec รวมมูลค่า 373 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบและวางระบบแสดงผลในไทยและฮ่องกงตามลำดับ โดยสามารถจัดทำงบการเงินรวม ( Conso) งบตั้งแต่เดือนสิงหาคม คาดรับรู้กำไรจาก Tran.Ad และ Roctec ราว 29 ล้านบาท ในปี 2561
อย่างไรก็ตามด้วยแผนการลงทุนต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม แม้จะมี Dilution effect 16.6% แต่การซื้อหุ้นที่ทำธุรกิจอยู่แล้วสามารถรับรู้ผลการดำเนินงานได้ทันที่ จึงทำให้บริษัทยังมี EPS Growth 2% ในปี 2561 และเติบโตสูง 63% และ 24% ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ
ส่วนด้าน Valuation ราคาหุ้น MACO ปัจจุบัน เทียบเท่า PE 2561F 29 เท่า ถือว่ายอมรับได้ หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ทำธุรกิจใกล้เคียงมากที่สุด คือ PLANB ที่มี PE 2561F 34 เท่า และหากพิจารณา PEG ปี 2562 ของ MACO พบว่าจะลดลงอย่างมากจาก 1.33 เท่าในปี 2561 เหลือ 0.29 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการเดียวกันอีก 2 รายคือ VGI และ PLANB ที่มี PEG มีค่ามากกว่า 1 และเป็นบริษัทที่ปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้นเพราะมีฐานะเงินสดสุทธิ เช่นเดียวกับ VGI, PLANB (ติดตาม Initial coverage เร็วๆนี้)
ต่างชาติซื้อหุ้นภูมิภาค 4 วันติด แต่ขายไทย 5 วันติด
วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่ากว่า 318 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิ 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 196 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8), ไต้หวัน 180 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4), อินโดนีเซีย 32 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิวันเดียว) ยกเว้นอีก 2 ตลาดยังขายสุทธิ คือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิ 2 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยขายสุทธิ 88 ล้านเหรียญ หรือ 2.89 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 มูลค่าขายรวม 6.93 พันล้านบาท) สวนทาง สถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิอีก 3.16 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 11 วัน มูลค่ารวมสูงถึง 2.28 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 580 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8 มีมูลค่ารวมสูงถึง 5.79 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของไทย ล่าสุดอยู่ที่ 2.73%
ความเสี่ยงต่อการตัดลดกำไรตลาดยังมี หลัง Analyst’s Meeting เพิ่มเติม
แม้ผลสรุปภาพรวมของผลประกอบการ บจ. งวด 1H61 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท เติบโต 8%yoy และคิดเป็น 50% ของประมาณการฯ ทั้งปีที่ 1.1 ล้านล้านบาท หรือ EPS 110.78 บาท/หุ้น อย่างไรก็ตาม หลังจาก Analyst’s Meeting พบว่าหลายอุตสาหกรรมนักวิเคราะห์ได้มีการปรับเปลี่ยนประมาณการกำไรหุ้นรายตัว ในเบื้องต้นแล้วพบว่า กำไรตลาดฯ ปี 2561 ลดลงราว 2.6 หมื่นล้านบาท หรือ 2.4% จากเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายการพิเศษเป็นหลัก
ค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นในงวด 2Q61 ที่ผ่านมา เช่น ด้อยค่าโครงข่ายโทรศัพท์บ้านและโครงข่ายที่ล้าสมัยของ TRUE กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท, ค่าใช้จ่ายความเสียหายจากวัตถุดิบคงคลังของ GGC กว่า 2 พันล้านบาท, ค่าใช้จ่ายพิเศษของ TU กว่า 1.5 พันล้านบาท
ผลการดำเนินงานปกติ 2H61 มีโอกาสต่ำกว่าประมาณการเดิม เช่น IRPC (มีแผน shutdown ที่ไม่ได้รวมไว้ในประมาณการฯ เดิม), MINT (ปรับลดสมมติฐานส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม-บริษัทย่อยลง), CK (ความล่าช้าในการเปิดประมูลโครงการภาครัฐ ส่งผลให้ปรับลดประมาณการรายได้ก่อสร้างลง), SYNTEC (ปรับลด Gross margin และกำไรพิเศษลง ทั้งยังมีโอกาสเกิดค่าใช้จ่ายพิเศษ), TVO (ราคากากถั่วเหลืองลดลง ส่งผลให้ประมาณการยอดขายลดลง), TPIPP (เลื่อน COD โรงไฟฟ้า 2 โรง) BCPG (ลด Capacity Factor โครงการโซลาร์ในไทย และเลื่อน COD โครงการโซลาร์ญี่ปุ่น)
ผลการดำเนินงาน 1H61ออกมาต่ำกว่าที่คาด หรือขาดทุน จึงต้องปรับประมาณการทั้งปี เช่น TPIPL, VNG, TASCO เป็นต้น
ต้นทุนทางการเงินมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่ารายได้ เช่น GPSC (ภาระดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ระยะสั้นที่อยู่ในระดับสูงจากการเข้าซื้อ GLOW)
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังอยู่ในระหว่างการทบทวนประมาณการฯ ปี 2561 และปี 2562 ด้วยเช่นกัน จึงประเมินว่า SET Index มีกรอบการขึ้นที่จำกัด และ เนื่องจาก fund flow ยังไหลออก เบื้องต้นจึงยังคงดัชนีเป้าหมาย อิง P/E 15 เท่า ที่ 1662 จุด ไว้ก่อน
กลยุทธ์การลงทุนยังให้น้ำหนักการลงทุน 40% ของเงินลงทุน เน้นเลือกรายหุ้นคือ
1. Domestic Play โดยพิจารณาจาก
หุ้นที่มี P/E ต่ำและผันผวนน้อย : DCC, TCAP, SCC, RATCH, EASTW
กำไร 2H61 เติบโตกว่า 1H61 และราคาหุ้นยัง laggard : BH, SCCC
อิงการบริโภคในประเทศ : ADVANC, DTAC, MACO
2. หุ้นส่งออกอาหารที่ยัง Laggard : CPF
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO13209