- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 28 August 2018 01:18
- Hits: 5211
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมาต่ำกว่า 1700 จุด เพราะนอกจากขาดปัจจัยหนุนใหม่ ๆ หลังการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ ไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายยังเบาบาง พร้อมกับ flow ยังคงไหลออก จึงยังกลยุทธ์ฯ เดิมคือเน้นหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ ผันผวนต่ำ และ/หรือหุ้นอาหารส่งออก ที่เข้าสู่ High Season Top Picks ยังเป็น CPF (FV@B30) และ DCC ([email protected]) การปรับรูปแบบธุรกิจ ทำให้เกิด New S Curve
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. SET มูลค่าซื้อขายน้อยสุดในรอบปี
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวกรอบแคบในแดนลบตลอดช่วงการซื้อขาย ก่อนจะปิดตลาดที่ 1703.82 จุด ลดลง 0.98 จุด หรือ -0.06% ด้วยมูลค่าการซื้อขายน้อยสุดในรอบปีที่ 3.27 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่ปรับขึ้นนำตลาดฯ คือ กลุ่ม ICT นำโดย TRUE เพิ่มขึ้นถึง 3.2% THCOM เพิ่มขึ้น 3.14% DTAC เพิ่มขึ้น 1.1% ส่วนหุ้นรายตัวอื่นๆ ที่ปรับขึ้นได้โดดเด่น คือ DCC หุ้น top picks ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มขึ้นถึง 8.7%, CBG เพิ่มขึ้น 4.47%, และ BA เพิ่มขึ้น 3.25% ได้แรงหนุนจากการอนุมัติซื้อหุ้นคืน ตรงข้ามกับ PTT SCC KBANK CPALL และ AOT กดดันตลาดฯ
สำหรับแนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาดว่า SET Index น่าจะยืนหนือ 1700 จุด ยากยังขาดปัจจัยหนุนหลังการประชุมสำคัญๆ ของโลก ที่ผ่านไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ หรือการประชุม Jackson hole จากนี้คงต้องติดตามเรื่องเงินเฟ้อ ที่จะเริ่มประกาศต้นเดือน ก.ย. กับ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโลกในระยะถัดไป
อัตราเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
ผลจากการประชุมสำคัญๆ ของโลกเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ดูเหมือนจะไม่มีผลสรุปอะไรที่ชัดเจน ทั้งผลการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน ระหว่าง 22-23 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ตลาดให้น้ำหนักไปที่การขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐต่อจีนอัตราภาษี 25% (เดิมประกาศเก็บ10%) ในรอบ 3 กับวงเงินกีดกันการค้ารอบนี้จะมากกว่า 2 แสนล้านเหรียญ หรือไม่ คงต้องรอผลการทำประชาพิจารณ์ 5 ก.ย. 2561
และตามมาด้วยการประชุม Jackson Hole ประธาน Fed ยังแสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และจะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยฯ อย่างค่อยเป็นค่อยไป คือคาดขึ้นอีก 2 ครั้งๆละ 0.25% ในปีนี้ (จากการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้ง) ซึ่งตลาดคาดจะขึ้นครั้งถัดไปในรอบก.ย. ส่งผลให้ดอกเบี้ยสหรัฐปลายปีอยู่ที่ 2.5% เทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ 2.9%
สัปดาห์นี้ตลาดน่าจะกลับมาให้น้ำหนักกับการรายงานเงินเฟ้อหลายประเทศทั่วโลก คาดทรงตัวในระดับสูงตามราคาน้ำมันดิบ เริ่มจาก
30 ส.ค. ญี่ปุ่นรายงานเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. คาดทรงตัว 0.8%yoy จากเดือนก่อนหน้า
31 ส.ค. ยุโรป คาดเงินเฟ้อเดือน ส.ค. จะทรงตัว 2.1%yoy และ
3 ก.ย. ไทยน่าจะรายงานเงินเงินเฟ้อเดือน ส.ค. ซึ่ง ASPS ประเมินจะเร่งขึ้นที่ 1.59% จาก 1.46% ในเดือน ก.ค. และแตะ 2.01% ใน ธ.ค. เป็นแรงกดดันให้ กนง. ต้องหันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น คือคาดจะขึ้นดอกเบี้ยฯ 1 ครั้งราว 0.25% ในปลายปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.75% ซึ่งจะดีต่อหุ้นธนาคารพาณิชย์ ยังชอบ BBL(FV@B220) มากสุด
Trade War กดดันเงินทุนไหลออก และมูลค่าซื้อขายลดลง
ความกังวลประเด็น Trade War ยังกดดันให้ Flow ไหลออก พร้อมปริมาณซื้อขายเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุดวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 129 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 4 วัน) แม้มีอยู่ 2 ประเทศที่ยังซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 90 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) และอินโดนีเซีย 2 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) แต่ตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ ไต้หวัน 97 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), ฟิลิปปินส์ 8 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยที่ถูกต่างชาติขายสุทธิ 43 ล้านเหรียญ หรือ 1.41 พันล้านบาท (หลังจากซื้อเล็กน้อยในวันก่อนหน้า) ต่างกับสถาบันฯซื้อสุทธิ 538 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7)
นอกจากนี้ต่างชาติหันมาให้น้ำหนักสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้มากขึ้น โดยวานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.34 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการพักเงินในตราสารหนี้ระยะสั้น (T<1) กว่า 9.81 พันล้านบาท ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของไทย อยู่ที่ 2.75%
กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นรายหุ้น : DCC/CPF
หลังจากการประชุมสำคัญ ๆ ของโลกผ่านพ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูเหมือนไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน แต่ยังให้น้ำหนักเรื่องของสงครามการค้า จีน-สหรัฐ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 5 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งมีการเก็บภาษีนำเข้า 25% ทั้ง 2 ฝั่ง คาดจะกดดันต้นทุนสินค้าขั้นต้น–กลาง และผลักดันให้สินค้าขั้นปลายปรับเพิ่มตาม ในที่สุดจะกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐ ซึ่งพึ่งพาสินค้าจีนเป็นหลัก เช่นเดียวกับจีน เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอพร้อมกับเงินเฟ้อ
ประเด็นที่ให้น้ำหนักจากนี้เป็นเรื่องเงินเฟ้อกับนโยบายการเงิน เชื่อว่าสหรัฐน่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผน จากเงินเฟ้อที่ขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งน่าจะเป็นอุปสรรคเศรษฐกิจและตลาดหุ้น และเมื่อบวกกับผลกระทบจากการกีดดันทางการค้าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสชะลอตัวเร็วกว่าคาด
ตลาดหุ้นไทยแม้จะมีค่า P/E 15.3 เท่า (อิงประมาณการกำไรตลาดฯ ปีนี้ที่ 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 110.78 บาทต่อหุ้น) ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 14.78 เท่า เท่านั้น แต่ต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอีกหลายแห่งคือ ฟิลิปปินส์ 17.41เท่า มาเลเซีย 17.16 เท่า เวียดนาม 16.62 เท่า ทั้งนี้ไม่รวมตลาดหุ้นจีน แม้ Expected P/E ต่ำเพียง 11.1 เท่า ซึ่งเชื่อว่ายังไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบของสงครามการค้า และอาจจะนำไปสู่การปรับประมาณการกำไรของตลาดหุ้นจีนลง จะทำให้ค่า Expected P/E ตลาดหุ้นจีนกลับขึ้นมาสูงได้ อย่างไรก็ตามในภาวะที่ Flow ยังไหล ตลาดน่าจะซื้อขายด้วย P/E ที่ลดลง ทำให้ยังคงดัชนีเป้าหมายปี 2561 ที่ 15 เท่า อยู่ที่ 1662 จุด ดังนั้นภาพตลาดหุ้นไทยจากนี้น่าจะซื้อขายบวก-ลบ จากดัชนีเป้าหมาย 2-3% จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
กลยุทธ์การลงทุนยังให้น้ำหนักการลงทุน 40% ของเงินลงทุน และเน้นเลือกหุ้น
1. Domestic Play โดยพิจารณาจาก
หุ้นที่มี P/E ต่ำและผันผวนน้อย คือ : DCC, TCAP, SCC, CPF, RATCH, EASTW
กำไร 2H61 เติบโตกว่า 1H61 และราคาหุ้นยัง laggard : BJC, BH, SCCC
อิงการบริโภคในประเทศ : ROBINS, BJC, ADVANC, DTAC
ดอกเบี้ยขาขึ้น : BBL, TCAP
2. หุ้นส่งออกอาหารที่ยัง Laggard : CPF
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO12964