- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 24 August 2018 16:41
- Hits: 5933
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
มูลค่าการซื้อขายที่บางเบาเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปรับขึ้นของ SET Index ส่วนปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานมีน้ำหนักค่อนไปทางลบ นำโดยประเด็นสงครามการค้ากลับมามีน้ำหนักอีกครั้ง ส่วนการเมืองในประเทศ เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นของการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยภาพรวมคาด SET Index ยังผันผวนในกรอบแคบและต้องระวังแรงขายทำกำไรเป็นช่วงๆ Top Pick ยังเป็น CPF (FV@B30) หนุนด้วยราคาหมู-ไก่ ที่ยืนระดับสูง และราคาถั่วเหลืองที่ปรับลดลง DCC ([email protected]) จากการปรับรูปแบบช่องทางการจัดจำหน่ายมากถึง 200 แห่งทั่วประเทศ
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. SET ยังไม่ไปไหน แกว่งบริเวณ 1700 จุด +/-
วานนี้แม้ SET Index เปิดตลาดบวกกว่า 7 จุด แต่ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่เบาบางต่อเนื่องอีกวันที่ 3.92 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีไม่ขยับไปไหนไกล ปิดที่ 1704.80 จุด เพิ่มขึ้นเพียง 6.5 จุด หรือ 0.38% กลุ่มที่ปรับขึ้น คือ กลุ่มพลังงาน ทั้ง PTTEP ปรับตัวขึ้นมา 1.08% และ PTT (+0.48%) ได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลัง EIA รายงานตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบลดลงกว่าคาด ตามด้วยกลุ่ม ธ.พ. เช่น SCB (+1.38) และแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ AOT SCC ADVANC และ IVL ขณะที่ CPNREIT ปรับตัวลงแรงอีก 4.63% หลังขึ้นเครื่องหมาย XD
สำหรับแนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาดว่า SET Index น่าจะแกว่งในกรอบแคบ แนวรับ 1700 – 1710 จุด โดยตลาดน่าจะยังให้ความสนใจไปที่ผลสรุปของการเจรจาระดับผู้แทนการค้าของสหรัฐ-จีน หลังจากที่วานนี้ทั้ง 2 ประเทศได้ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าต่อกันในอัตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านเหรียญไปแล้ว รวมทั้งประเด็นการเมืองในสหรัฐ ส่วนการเมืองในประเทศ คสช. เตรียมใช้ ม.44 คลายล็อคการเมือง ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ราคาหมู-ไก่ยังปรับขึ้น ส่วนราคาต้นทุนกากถั่วเหลืองลดลง ดีต่อผู้ประกอบการส่งออกอาหาร
สงครามการค้ายังดำเนินต่อไป สหรัฐ-จีน ขึ้นภาษีฯ รอบ 2 ส่วนการเจรจายังไม่คืบ
สงครามการค้าสหรัฐ–จีนยังคงกดดันตลาดหุ้นโลก โดยการเจรจาของผู้แทนทั้ง 2 ฝั่งระหว่าง 22-23 ส.ค. ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งตลาดให้น้ำหนักไปที่การเจรจาระดับผู้นำในเดือน พ.ย. และเมื่อคืนที่ผ่านมาสหรัฐได้เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนรอบที่ 2 ตามที่เคยประกาศไว้อัตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ (รอบแรกเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ) ขณะที่จีนได้ตอบโต้สหรัฐในรอบที่ 2 ทันที วงเงิน 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯในอัตราที่เท่ากัน
หลังจากนี้ต้องให้น้ำหนักไปที่การขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐต่อจีนรอบ 3 อีก 2 แสนล้านเหรียญ หรืออาจจะมากกว่า อัตรา 25%(เดิมประกาศเก็บ10%) ซึ่งสินค้าที่มุ่งเก็บภาษีในรอบนี้คือ สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) ต่างจาก 2 รอบแรกที่เน้นสินค้าขั้นต้น-ขั้นกลาง โดย ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ 5 ก.ย. 2561 ขณะที่จีนพร้อมตอบโต้รอบ 3 วงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญ อัตรา 5-25%
ทั้งนี้เชื่อว่าหากการกีดกันการค้าสหรัฐ-จีนยังขยายตัวต่อเนื่อง จะกระทบต่อการค้าโลกในปี 2562 และเชื่อว่าเอเซียจะได้รับผลกระทบเป็นหลัก เพราะจีนค้าขายกับตลาดเอเซียสูงสุดราว 50% ของการค้าขายทั้งหมดจีน ขณะที่ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากจีน เนื่องจากสหรัฐฯมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากจีนลดลง และจีนมีสัดส่วนการค้าสูงสุด 18%ของการค้าของไทยทั้งหมด ซึ่งล่าสุด ยอดส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐ เดือน ก.ค. หดตัวลงครั้งแรกในรอบ 1 ปี 9 เดือน และส่งออกไทยไปจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 1 ปี
และเชื่อว่าจะกระทบชัดเจนต่อส่งออกในช่วง 4Q61 ถึง 2562 ทั้งนี้ ASPS ยังคง GDP Growth ปี 2561-62 ที่ 4.4% ตามเดิม ผ่านสมมติฐาน ส่งออก(รูปดอลลาร์) ในปี 2562 ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 8%ในปี 2561(ส่งออกเฉลี่ย 7M61 เฉลี่ย 10.6%) แต่หากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น จากการศึกษา กำหนดส่งออกลดลงจากเดิมทุกๆ 1% และปัจจัยอื่นคงที่จะกระทบต่อ GDP ลดลงราว 0.058%
Trade War ยังไม่จบ…คาดกดดัน Fund Flow กลับมาไหลออก
แม้วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค 329 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) แต่น่าจะเป็นการสลับมาซื้อช่วงสั้นเท่านั้น เนื่องจากประเด็นสงครามการค้ายังมีต่อ หากพิจารณา Fund Flow วานนี้เป็นรายประเทศพบว่า เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 193 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยไต้หวัน 88 ล้านเหรียญ (หลังขายสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนีเซีย 38 ล้านเหรียญ (หลังขายสุทธิติดต่อกัน 4 วัน), ฟิลิปปินส์ 1 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ถูกต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 1 แสนเหรียญ หรือ 4 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 8 วัน มีมูลค่ารวม 1.23 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันฯซื้อสุทธิ 1.49 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่า 2.59 พันล้านบาท ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของไทย ล่าสุดอยู่ที่ 2.74%
คลายล็อกทางการเมือง = คลายความกังวลเรื่องกำหนดการเลือกตั้ง
เพื่อให้กำหนดการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดเบื้องต้นเป็น 24 ก.พ.2562 หรืออย่างช้าไม่เกิน 5 พ.ค.2562 มีความเป็นไปได้มากขึ้น คสช.จึงมีแนวคิดที่จะใช้มาตรา 44 เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้บางส่วน (คลายล็อกทางการเมือง) เช่น สามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้, ให้ความเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ และสามารถดำเนินการเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตได้ (ตั้งกรรมการเพื่อสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง, ติดต่อประสายงานกับสมาชิกพรรคได้) ทั้งนี้ประเมินว่าการคลายล็อกให้พรรคการเมืองดังกล่าวข้างต้น น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดหมายว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. จะถูกลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ รวมถึงการหาเสียงอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะเกิดขึ้น หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ในเดือน ธ.ค.2561
ส่วนการเตรียมการในฝั่งของ กกต. ในเบื้องต้นคณะกรรมการชุดใหม่ มีกำหนดว่า จะสามารถออก พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งได้ในเดือน ม.ค. 2562 และจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 24 ก.พ.2562 อย่างไรก็ตามหากนับตามกรอบเวลาสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้คือจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลัง พ.ร.ป. 4 ฉบับหลักมีผลบังคับใช้ กำหนดการเลือกตั้งสามารถขยับออกไปได้จนถึงเดือนราวกลางเดือน พ.ค.2562 (วันที่แน่นอนต้องรอดูวันที่ พ.ร.ป. 2 ฉบับ สุดท้ายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา) พัฒนาการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะช่วยคลายความกังวลเรื่องกำหนดการเลือกตั้งไประดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผลดีต่อ Sentiment การลงทุนใน SET Index
ราคาหมู-ไก่ยังทรงตัวสูง, ต้นทุนกากถั่วเหลืองลดลง ดีต่อ CPF ส่วน GFPT เต็มมูลค่า
ราคาไก่เป็นและสุกรหน้าฟาร์มในประเทศยังอยู่ในระดับสูง เพราะ supply บางส่วนหายไปจากเกษตรกรรายย่อยและรายกลางที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องทยอยลดการเลี้ยงไก่และสุกรลง หลังราคาในประเทศต่ำกว่าต้นทุนมาเกือบ 1 ปี รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในบางจังหวัด ทำให้ฟาร์มไก่และสุกรบางส่วนเสียหาย นอกจากนี้ยังใกล้ช่วงเทศกาลสารทจีนทำให้ความความต้องการบริโภคไก่และสุกรเพิ่มขึ้นในระยะสั้น
โดยราคาไก่เป็นล่าสุดอยู่ที่ 38 บาท/กก. ทำระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน และเพิ่มขึ้นถึง 11.8% นับตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. 61 ทั้งนี้ ราคาไก่เป็นเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2561 เท่ากับ 33.89 บาท/กก. สอดคล้องกับสมมติฐานราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2561-62 ที่ 34 บาท/กก. และสูงกว่าต้นทุนการเลี้ยงไก่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ 33 บาท/กก. โดยหากจะให้ราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2561 เป็นไปตามสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ ราคาไก่เป็นในช่วงที่เหลือของปี 2561 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 34.2 บาท/กก.
ส่วนราคาสุกรหน้าฟาร์มล่าสุดอยู่ที่ 64 บาท/กก. ทำระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน และเพิ่มขึ้นถึง 12.3% นับตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. 61 โดยราคาสุกรหน้าฟาร์มเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2561 เท่ากับ 52.60 บาท/กก. สูงกว่าต้นทุนการเลี้ยงสุกรของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ 54 บาท/กก. และต่ำกว่าสมมติฐานที่ 56 บาท/กก. เล็กน้อย โดยหากจะให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มเฉลี่ยปี 2561 เป็นไปตามสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ ราคาสุกรหน้าฟาร์มในช่วงที่เหลือของปี 2561 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 62 บาท/กก.
ขณะที่ราคากากถั่วเหลือง ล่าสุดอยู่ที่ 316.50 เหรียญฯ/ตัน ปรับลดลง 6.1% จากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะรุนแรงมากขึ้น ทำให้จีนมีโอกาสนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ลดลง และหันไปนำเข้าถั่วเหลืองจากประเทศอื่น หรือหันไปบริโภคน้ำมันพืชชนิดอื่นแทน ส่งผลกระทบให้ราคากากถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับลดลงตามไปด้วย เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของไทย ซึ่งมีต้นทุนกากถั่วเหลืองคิดเป็นสัดส่วน 30% ของค่าใช้จ่ายทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมด ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคากากถั่วเหลืองในปี 2561 ยังสอดคล้องกับสมมติฐานราคากากถั่วเหลืองเฉลี่ยปี 2561 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้
โดยรวมยังถือเป็นปัจจัยบวกต่อ TFG (ซื้อ : [email protected]) ที่มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจไก่ 70% และธุรกิจสุกร 20% และ CPF (ซื้อ : FV@B30) ที่มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจสุกรในประเทศ 14% และธุรกิจไก่ในประเทศ 9% ส่วน GFPT (ซื้อ : [email protected]) ที่มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจไก่ 70% แต่ราคาหุ้นปัจจุบันเกิน Fair Vale ไปแล้ว จึงแนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว โดยยังชอบ CPF มากสุด
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO12906