- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 23 August 2018 18:33
- Hits: 3696
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นไทยน่าจะยังเคลื่อนไหวผันผวนบริเวณ 1700 จุด โดยยังให้น้ำหนักการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ ที่จะสิ้นสุดในวันนี้ สอดคล้องกับต่างชาติยังขายสุทธิไทย และสลับซื้อ-ขายตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ยังหลีกเลี่ยงหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจภายนอก ยกเว้นหุ้นส่งออกในกลุ่มอาหารที่ยังมี upside เช่น CPF และยังเน้นสะสมหุ้น Domestic Play (ROBINS, ADVANC, DCC, EASTW, SPF) Top picks DCC ([email protected]), ADVANC (FV@B230) และ CPF (FV@B30)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. SET ยังไม่ผ่าน 1700 จุด
วานนี้เห็นการแกว่งตัวผันผวนในแดนบวก หลังดัชนีขึ้นไปบริเวณแนวต้าน 1705 จุด ก่อนจะย่อตัวลงช่วงท้ายตลาด ปิดที่ 1698.30 จุด เพิ่มขึ้น 3.67 จุด หรือ 0.22% มูลค่าการซื้อขายเบาบางเพียง 3.9 หมื่นล้านบาท แรงซื้อกลับเข้ามาหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานต่อ โดยเฉพาะ PTTEP (+2.59%) หลังราคาน้ำมันดิบขยับขึ้น ตามด้วยปิโตรฯ-โรงกลั่น IVL (+0.44), PTTGC (+0.31), TOP (+2.7%) และ ESSO (+1.94%) เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มธนาคารฯ มีแรงรีบาวด์หุ้น ธ.พ. ใหญ่ (KBANK SCB) ขณะที่กลุ่มค้าปลีกเผชิญกับแรงขายจาก CPALL, HMPRO, MAKRO รวมถึง CPF ลดลง 1.89%
แนวโน้ม SET วันนี้แกว่งพักตัวในกรอบ 1690–1705 จุด ยังต้องให้น้ำหนักความคืบหน้าการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ก่อนที่สหรัฐจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ ในอัตรา 25% ในวันนี้ และวิกฤติการเงินในตุรกี ขณะที่ราคาน้ำมันดีดตัวแรงช่วงสั้นจากสต็อกน้ำมันลดลงมากกว่าคาด
รายงานการประชุม Fed ยังยืนยันเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง พร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือน ก.ย.
รายงานการประชุม (Fed minute) ระบุว่าคณะกรรมการยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน สะท้อนจากอัตราการว่างงาน ล่าสุดอยู่ที่ 3.9% (ต่ำสุดในรอบ 18 ปี) แม้ปัจจัยเสี่ยงที่ให้น้ำหนัก คือ สงครามการค้าที่สหรัฐ-จีนเกิดขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้น ตลาดที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัว และเศรษฐกิจที่อ่อนแอของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) อย่างไรก็ตาม Fed ยังคงส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามแผน โดยจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งๆละ 0.25% ในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้ (ผลสำรวจของ Blomberg คาดโอกาสขึ้นรอบถัดไป คือ ก.ย. ด้วยโอกาส 92.3%) ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้อยู่ที่ 2.5% เทียบเงินเฟ้อล่าสุดที่ 2.9% ส่วนปี 2562 คาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง และปี 2563 อีก 2 ครั้ง
สต็อกน้ำมันลดลงมากกว่าคาด หนุนราคาฟื้นช่วงสั้น
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบลดลง 5.83 ล้านบาร์เรลนับเป็นการลดลงที่มากกว่าความคาดหมายซึ่งอยู่ที่ 1.49 ล้านบาร์เรล ผลจากโรงกลั่นเพิ่มการกลั่นน้ำมันดิบ ขณะที่ Dollar Index อ่อนค่าในช่วงสั้น (ระยะยาวอยู่ในทิศทางแข็งค่าเนื่องจาก Fed มีแผนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้) โดยรวมหนุนให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวในช่วงสั้น
อย่างไรก็ตามปัญหา Oversupply ยังมีอยู่หลังจาก Supply จากแหล่งผลิตสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐยังคงผลิตน้ำมันทดแทนการนำเข้า ล่าสุดผลิตวันละ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงสุดเป็นประวัติการณ์) และประเทศกลุ่ม OPEC ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยกำลังผลิตที่หายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอล่า หลังจากถูกสหรัฐคว่ำบาตร ประกอบกับความกังวลแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกจะชะลอลง จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่เกิดขึ้นแล้ว 2 รอบวงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกคือ สหรัฐบริโภคราว 24.9 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิด 25.5% ของการบริโภคน้ำมันในตลาดโลก รองลงมาอันดับ 2 คือจีน 12.5 ล้านบาร์เรล/วัน ราว 12.8% น่าจะกดดันราคาน้ำมันดิบระยะยาว
ขณะที่ราคาหุ้นน้ำมันในตลาดหุ้นไทย ทั้ง PTT และ PTTEP ใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี Upside จำกัด แนะนำให้นักลงทุนหาจังหวะขายเพื่อทำกำไรทั้ง PTT(FV@B54), PTTEP(FV@B137)
เดือน ก.ค. ตลาดส่งออกสหรัฐและจีนชะลอตัว ผลกระทบจากสงครามการค้า
ยอดส่งออกไทยเดือน ก.ค.(ในรูปดอลลาร์) ขยายตัว 8.3%yoy ที่ 2.04 หมื่นล้านเหรียญ แม้ตลาดส่งออกโดยรวมยังขยายตัวตั้งแต่ต้นปีนี้ อาทิ ญี่ปุ่น,เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย แต่เป็นที่สังเกตว่าในเดือนนี้ตลาดส่งออกหลักบางแห่ง เช่น สหรัฐและจีนหดตัวลง กล่าวคือ ตลาดสหรัฐหดตัว 1.9% ครั้งแรกในรอบ 1 ปี 9 เดือน สินค้าส่งออกที่หดตัวหลักๆ คือ สินค้าเกษตร อาทิ กุ้งและอาหารทะเล เนื่องจากผลผลิตที่น้อยลง, โทรทัศน์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และการขึ้นภาษีนำเข้า Safe Guard 5 สินค้าหดตัวแรง อาทิ แผงโซลาร์เซลล์หดตัว 72%, เครื่องซักผ้าหดตัว 21.9%, เหล็ก หดตัว 4.6% เป็นต้น
และตลาดจีน พบว่า ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เหลือ 3.5% จาก 14.7% และ 11.79% ในเดือน พ.ค.และ มิ.ย. ตามลำดับ สินค้าส่งออกที่หดตัวเป็นครั้งแรก คือ ยานยนต์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, น้ำมันสำเร็จรูป และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ตรงข้ามสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง คือ เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง โดยรวมทำให้ส่งออกเฉลี่ย 7M61 ที่ 10.6%
ด้านการนำเข้า ในเดือนเดียวกัน ขยายตัว 10.5%yoy ที่ 2.09 หมื่นล้านเหรียญฯ หลักๆเป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อมาผลิตส่งออก อาทิ เคมีภัณฑ์, แผงวงจรไฟฟ้า, เหล็ก, และคอมพิวเตอร์ และเป็นที่สังเกตว่า ยอดนำเข้าเครื่องจักรกลและเครื่องจักรไฟฟ้ายังขยายเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนถึงการลงทุนเอกชนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ทำให้นำเข้าเฉลี่ย 7M61 ขยายตัว 14.8%
โดยสรุปแม้การส่งออกจะยังขยายตัวก็ตาม แต่น่าจะเริ่มชะลอตัวในช่วงที่เหลือ อันเป็นผลกระทบจาก สงครามการค้าสหรัฐ ที่ประกาศกับหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งจะกระทบต่อการค้าโลกชัดเจนช่วง 4Q61 ถึง 2562 และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในลำดับถัดมา เพราะคู่ค้าหลักของไทย คือ จีน ซึ่งมีสัดส่วนสูงสุด 18% ของการค้าของไทยทั้งหมด รองลงมา ญี่ปุ่น 11.5% และ สหรัฐ 9.7%
ต่างชาติสลับซื้อ-ขาย หุ้นรายประเทศ และขายไทยเล็กน้อย
วานนี้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียหยุดทำการ แต่ตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า นักลงทุนต่างชาติยังรอผลการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขณะที่ Fund Flow ยังเป็นลักษณะสลับซื้อขายรายประเทศ โดยวานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อย 52 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ 148 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และฟิลิปปินส์ 1 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 7 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ ไต้หวัน 90 ล้านเหรียญ (หลังจากสุทธิ 7 วัน) และไทยที่ถูกต่างชาติขายสุทธิเล็กน้อย 8 ล้านเหรียญ หรือ 255 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 7 วัน มีมูลค่ารวม 1.23 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันฯซื้อสุทธิ 2.07 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่า 7.97 พันล้านบาท ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของไทย ล่าสุดอยู่ที่ 2.74% และขยับมาใกล้ Bond Yield 10 ปี สหรัฐมากขึ้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO12845