WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 
 
กลยุทธ์การลงทุน
  ตลาดโลกฟื้นตัวแต่น่าจะอยู่ภายใต้กรอบ 1700 จุด โดยยังให้น้ำหนักการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ ที่จะมีขึ้น 22-23 ส.ค. นี้ ยังไม่มีข้อสรุปในช่วงสั้น เพราะประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงกล่าวหาจีนถึงเรื่องการอุดหนุนการส่งออกผ่านการลดค่าเงินหยวน และปัญหาตุรกีกับผลกระทบในยุโรปยังไม่ตัดทิ้ง กลยุทธ์เน้นหุ้น Domestic Play (ROBINS, ADVANC, DCC, EASTW, SPF) Top picks   DCC([email protected]), ADVANC(FV@B230) และ CPF(FV@B30) ซึ่งราคาหมูไก่ขึ้นต้อนรับสาร์ทจีน  
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. SET ถูกแรงขาย แกว่งใต้ 1700 จุด
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยแกว่งในทิศทางขาลงตลอดวันและปิดตลาดที่ 1694.63 จุด ลดลง 6.79 จุด หรือ -0.4% มูลค่าการซื้อขาย 5.07 หมื่นล้านบาท น่าจะเกิดจากตลาดผ่อนคลาย การเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีน ที่จะมีขึ้น 22-23 ก.ย. นี้ แต่เป็นปัจจัยสั้น ขณะที่ยังไม่มีแรงหนุนใหม่เข้ามาขับเคลื่อน จึงมีแรงขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงออกมา โดยแรงขายที่เกิดขึ้นมาจากหุ้นขนาดใหญ่เป็นหลัก ทั้งกลุ่มพลังงาน PTT,  PTTEP ธนาคารพาณิชย์ KTB,  SCB และ  BBL  ยกเว้น TMB มีแรงซื้อไล่กลับเข้ามาดันราคาหุ้นยืนแดนบวก หลังวันก่อนหน้าถูกขายหนัก อีกกลุ่มที่ปรับตัวลงแรงคือ ชิ้นส่วนฯ KCE (-5.88%) HANA (-4.61%) SVI (-3.20%) หุ้นรายตัว GLAND ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง 6.25% หลังมีประเด็นข่าว CPN เตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทฯ ทั้งจำนวน
  แนวโน้ม SET วันนี้อาจฟื้นตัว แต่ยังไม่พ้น  1700 จุด  โดยยังให้น้ำหนักสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่เข้าสู่การเจรจาอย่างเป็นทางการ 22-23 ส.ค. นี้ ขณะที่จะมีประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ  ในอัตรา 25% ใน 23 ส.ค. นี้  และวิกฤติการเงินในตุรกี จะลุกลามมาสู่ยุโรปหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ไม่ควรตัดทิ้ง  ส่วนในประเทศการรายงานสินเชื่อของธ.พ. เดือน ก.ค. ผ่าน ธ.พ. 1.1. ยังคงฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศที่ฟื้นตัวที่ดีขึ้น  
หากการเจรจาการค้า จีน-สหรัฐ รอบนี้ไม่สำเร็จ ..ผู้บริโภคกระทบรุนแรง 
  ต่างประเทศวันนี้ตลาดให้น้ำหนักการเจรจาของผู้แทนสหรัฐ-จีน ประเด็นสงครามการค้า 2 วัน ระหว่าง  22-23 ส.ค. คาดว่าไม่น่าจะมีข้อสรุปในเร็ววัน สะท้อนจากเมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงกล่าวหาตอกย้ำว่า รัฐบาลจีนแทรกแชงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่า (นับตั้งแต่ต้นปีเงินหยวนอ่อนค่าราว 5.1%)  และในวันเดียวกัน 23 ส.ค. มีกำหนดที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 25% รอบที่ 2 กับจีน 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ หลักๆ มุ่งไปที่สินค้าประเภทเครื่องจักร, อุปกรณ์ไฟฟ้า, สินค้าเทคโนโลยี เป็นต้น  หลังจากขึ้นรอบแรกไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ สินค้าประเภท ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, แบตเตอรี่ เป็นต้น
  การเจรจารอบนี้น่าจะให้น้ำหนักไป 2-3 เรื่องคือ สหรัฐจะขึ้นภาษีรอบ 3 อีก 2 แสนล้านเหรียญ หรือ มากกว่า  ถัดมาคือเรื่องอัตรา 25%  ขึ้นจากที่เคยประกาศไว้ที่ 10%  และ สุดท้ายคือ สินค้าที่มุ่งเก็บภาษีในรอบนี้คือ สินค้าอุปโภคบริโภค(Consumer Goods) ซึ่งแตกต่างจาก 2 รอบแรกที่เน้นสินค้าขั้นต้น-ขั้นกลาง  แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังอยู่ระหว่าง การทำประชาพิจารณ์ 5 ก.ย. 2561 ขณะที่จีนพร้อมตอบโต้รอบ 3 วงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญ อัตรา 5-25%
  ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งต่อผู้บริโภคในสหรัฐ ซึ่งต้องรับภาระจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นตามอัตราภาษีนำเข้า ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ขั้นต้น-กลาง-ปลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อสหรัฐให้สูงขึ้น ปัจจุบัน เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่  2.9%  และจะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยของหสรัฐที่เร็วขึ้น อาจจะกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวเร็วกว่าคาด 
  ขณะที่ไทยวันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ เดือน ก.ค. คือ ยอดส่งออก(X) ตลาดคาด 10% จาก 8.9% ในเดือน มิ.ย. และยอดนำเข้า(M) ในเดือนเดียวกันคาดทรงตัวที่  10%  
การประชุม Jackson Hole น่าจะให้น้ำหนักกับตุรกีและยุโรป 
  การประชุมที่เมือง Jackson Hole เป็นการประชุมของผู้นำของธนาคารกลางทั่วโลกมาร่วมประชุม นำโดยธนาคารสหรัฐ เป็นเจ้าภาพ  ตามด้วยธนาคารกลางยุโรป  และญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้การจัดประชุมจะมีขึ้นปีละ 1 ครั้ง สำหรับปีนี้จะจัดระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค. ในหัวข้อ  “Changing Market Structure and Implications for Monenetary Policy”  ซึ่งประเด็นที่คาดว่าจะถูกหยิบยกมาหารือคือเรื่องของตุรกี กับ ผลกระทบในยุโรป 
  ขณะที่การประชุม Jackson Hole เมื่อ  24-26 ส.ค. ปี 2560 ในหัวข้อ “Fostering Dynamic Globabal Economy”  ที่มุ่งไปที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและบทเรียนจากการเกิดวิกฤติ เช่น ซับไพรม์ เป็นต้น   เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวมากที่สุดในขณะนั้น  
และหากเทียบกับการประชุม Jackson Hole เมื่อ  25-27 ส.ค. ปี 2559 ในหัวข้อ “Designing Resilent  Monetary Policy Frameworks for the Future” ที่มุ่งไปที่การใช้นโยบายการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่งหลุดพ้นจากวิกฤติซับไพร์ม และเริ่มมีการใช้นโยบายการเงินตึงตัว อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่มีการประชุม Jackson Hole จะมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นสหรัฐไม่มากนัก แต่จะขึ้นกับปัญหาหลักของโลกในขณะนั้นๆ มากกว่า 
สินเชื่อเดือน ก.ค. ยังฟื้นตัว 5.9%yoy  และ 2.4%ytd 
  สินเชื่อที่ประกาศผ่าน ธ.พ. 1.1  เดือน ก.ค.61 ของ 10 แห่งที่ศึกษา แสดงยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 5.9%yoy และ 2.4% ytd โดยธนาคารที่มีการเติบโตโดดเด่นสุดคือ TISCO, KBANK และ KKP และหากเทียบกับเป้าหมายทั้งปี 2561 ที่ 6.3% จึงน่าจะเป็นไปได้
  หากพิจารณาละเอียด พบว่า การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน 2Q61 ทั้งระบบ อยู่ที่ราว 12.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นกว่า 79% ของยอดการใช้เงินกู้ยืมทั้งระบบการเงิน ที่เหลือ 21% เป็นตราสารหนี้ภาคเอกชน (ไม่รวมตราสารหนี้รัฐบาล) ทั้งนี้หากพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารฯ พบว่างวด 2Q61 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.4%yoy เทียบกับ 1Q61 ที่เติบโต 4.7%yoy  ขณะที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนเติบโต 6.8%yoy ลดลงจาก 7.4%yoy ในงวด 1Q61 สะท้อนว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงินยังมีอยู่
  แนวโน้มใน 2H61 จากภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวจากผลของฤดูกาล จะหนุนสินเชื่อจะทยอยเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จะหนุน  NIM ปี 2562 และช่วยหักล้างปัจจัยลบ  การยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ ธุรกรรม on-line banking, การลงทุนด้าน IT)
  โดยภาพรวมคาดการเติบโตของกำไรปี 2561 อยู่ที่ 1.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1%yoy และ 8.4%yoy ในปี 2562 ภายใต้สมมติฐานสินเชื่อเติบโต 6.3% และ 6.8% ,  NIM เฉลี่ยราว  3.11% และ 3.15%   และการตั้งสำรองหนี้ปี 2561 ที่ 1.68 แสนล้านบาท และ 1.69 แสนล้านบาทในปี 2562 
  คงน้ำหนักลงทุนเท่าตลาด แนะนำลงทุน BBL(FV@B220) คาดกำไรสุทธิปี 2561 เติบโต 9.4% yoy จากสินเชื่อรายใหญ่+SME จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนที่ทยอยเกิดขึ้น รวมทั้งยังได้ประโยชน์สูงสุดจากดอกเบี้ยขาขึ้น และ TCAP(FV@B65) คาดกำไรสุทธิปี 2561 เติบโต 12.5% yoy จากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และ SME กลับมาเติบโตชัดเจนมากขึ้น
กำหนดการเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ยังมีขั้นตอนต้องทำอีกมาก  
  กำหนดการเลือกตั้ง ส.ส. ดูเหมือนจะมีความชัดเจนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง หลังจากที่ สนช. ถอนเรื่องการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ฯ ต่อมาได้มีการหารือของ กกต. ชุดใหม่ เกี่ยวกับเรื่องกระบวนการและกำหนดการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในเบื้องต้นได้ข้อสรุปไม่ต่างจากกรอบเวลาเดิมคือน่าจะเกิดขึ้นในช่วง 24 ก.พ. 2562 แต่ไม่เกิน 5 พ.ค.2562  แต่ดูเหมือนจะให้น้ำหนักไปวันที่ 24 ก.พ. 2562 มากเป็นพิเศษ 
สำหรับเส้นทางที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งฯ ขึ้นอยู่บนความคาดหมายว่า ร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับสุดท้าย ซึ่งว่าด้วยที่มา ส.ว. และการเลือกตั้ง ส.ส. น่าจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาในช่วงกลางเดือน ก.ย. 2561 ซึ่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยที่มา ส.ว. จะมีผลบังคับใช้ทันที  แต่ในส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้หลังจากลงประกาศฯ 90 วัน ซึ่งน่าจะเป็นช่วงกลางเดือน ธ.ค.2561  ที่กฎหมายหลักทั้ง 4 ฉบับที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ 
  ทั้งนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ การจัดการเลือกตั้งทั่วไปต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ครบถ้วน ซึ่งหากนับโดยใช้กรอบเวลาสูงสุด การจัดการเลือกตั้งควรต้องเกิดขึ้นก่อนกลางเดือน พ.ค.2562  ส่วนแนวคิดที่จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562 จะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการเตรียมการของหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้ง ได้แก่ กกต. และพรรคการเมือง  ในส่วนของพรรคการเมือง มีเรื่องของการจัดทำไพรมารีโหวต (การคัดเลือกตัวแทนพรรค เข้าสู่การแข่งขันการเลือกตั้งระดับประเทศ) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับการเมืองไทย และอาจต้องใช้เวลา รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ มาก  สำหรับ กกต. ประเด็นหลักอยู่ที่การแต่งตั้ง ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทั่วประเทศ ดังที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้  
  หากจะให้มีจัดการเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 กระบวนการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง จะมีช่วงเวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน เศษ   จึงจะเห็นการคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมบางอย่างได้  เช่น การจัดทำไพรมารีโหวตในช่วงเดือน ก.ย.2621 (หลังกฎหมาย 2 ฉบับลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา) และปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ครบถ้วนในเดือน ธ.ค.2561 (หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้) หากทุกกระบวนการทุกอย่างดำเนินการไปอย่างราบรื่น และการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ภายใน กลาง พ.ค. 2562 หรือ ก่อนนั้น ก็จะเป็นผลดีต่อ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้น 
ต่างชาติซื้อเฉพาะหุ้นเอเชียเหนือ แต่ยังขายไทย
  วานนี้ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์หยุดทำการ แต่ตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 325 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 8 วัน) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิ 250 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)  และเกาหลีใต้ 194 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ อินโดนีเซีย 10 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 10) และไทย ยอดขายสุทธิกว่า 109 ล้านเหรียญ หรือ 3.60 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 6 วัน มีมูลค่ารวม 1.20 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันฯซื้อสุทธิ 1.66 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4)
  เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติรอความชัดเจนในการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จึงลดพอร์ตหุ้นและสลับไปพักเงินในตราสารหนี้ระยะสั้นของไทย (อายุน้อยกว่า 1 ปี) กว่า 9.16 พันล้านบาท แต่ขายสุทธิตราสารหนี้ระยะยาวเล็กน้อย (อายุมากกว่า 1 ปี) 280 ล้านบาท ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.74%
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO12780

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!