WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 
กลยุทธ์การลงทุน
  ค่าเงินโลกผันผวนรุนแรงอีกครั้ง หลังสหรัฐขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมตุรกีเป็น 2 เท่า กดดันเงินตุรกี ตกต่ำรุนแรงเป็นประวัติศาสตร์  น่าจะกดดันค่าเงินที่มีความสัมพันธการค้ากับตุรกี คือ ยุโรป ตะวันออกกลาง และ จีน ตรงข้ามค่าเงินดอลลาร์แข็งต่อเนื่อง  กดดันสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดูไบต่ำกว่า 70 เหรียญฯ อีกครั้ง  และแรงขายรับงบ 2Q61 รวมถึงเข้าสู่การจ่ายปันผล (XD)   กลยุทธ์เน้นหุ้น Domestic Play ที่ราคาหุ้นมี upside (AMATA, BJC, DTAC, EASTW, BBL, CPF) Top picks คือ EASTW([email protected]) และ DCC([email protected]) กลยุทธ์และแผนการตลาดทำให้ Long-Term Growth ดีขึ้นมีโอกาสปรับเพิ่ม Fair Value
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. แรงขายรับงบ 2Q61กดดัน SET ร่วง 16 จุด
  วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทย ดัชนีแกว่งตัวในแดนลบตลอดทั้งวัน ปิดตลาดที่ 1705.96 จุด ลดลง 16.52 จุด หรือ 0.96% มูลค่าการซื้อขาย 5.5 หมื่นล้านบาท  ดัชนีเผชิญกับแรงขายรับงบ 2Q61  โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่  CPF ราคาหุ้นลดลง 5.14% หลังรายงานกำไรใกล้เคียงคาด  รวมถึงบริษัทย่อยคือ  CPALL (CPF ถือหุ้น xx%) ลดลง 3.72%  ผลกำไรต่ำกว่าคาด   ตามด้วยกลุ่มพลังงานและปิโตรฯ  นำโดย PTTGC ลดลง 2.09%  และ  IVL (-1.70%) และ กลุ่ม ธ.พ.  นำโดย SCB (-1.36%)  และ  BBL  เป็นต้น
  แนวโน้ม SET Index วันนี้มีโอกาสหลุด 1700 จุด จากความกังวลต่อสงครามการค้ามีน้ำหนักมากขึ้น  ล่าสุดสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก/อลูมิเนียมจากตุรกีอีก 1 เท่าตัวเป็น 50% กดดันค่าเงินตุรกีตกต่ำรุนแรง และน่าจะดึงค่าเงินคู่ค้า สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และจีน ตรงข้ามค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ารุนแรง จะกดดันราคาน้ำมันดูไบต่ำกว่า 70 เหรียญฯ สุดท้ายแรงขายรับงบ 2Q61 ของ Real sector  
สหรัฐขึ้นภาษีเหล็กจากตุรกีอีก 1 เท่าเป็น 50%
  หลังสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้ารายสินค้า (Safe Guard) กับทั่วโลก  โดยเฉพาะเหล็กอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10%  เมื่อต้นปี 2561  ล่าสุดเมื่อสุดปลายสัปดาห์ที่ผ่าน ยังประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะ ตุรกีอีก  1 เท่าจากประกาศหลังสุด เป็น 50% และ 20% ตามลำดับ  เชื่อว่าเพราะตุรกีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย  (รัฐเซียเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับสหรัฐ)  
  ตุรกีประสบปัญหาขาดดุลการค้า (ส่งออก-นำเข้า)ติดต่อระยะเวลา 33 ปีตั้งแต่ปี 2528-ปัจจุบัน และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ดุลการค้า+ดุลบริการ) ติดต่อกันตั้งแต่  พ.ค.2559)   โดยพบว่า ตุรกีขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดราว  28%ข องยอดขาดดุลการค้ากับทั่วโลก รองลงมาคือ รัสเซีย 23.1%, เกาหลีใต้ 8.3%, เยอรมัน 8.1%, สวิสเซอแลนด์  7.6% เป็นต้น  โดยประเทศคู่ค้าหลักของตุรกี คือ เยอรมัน, จีน, รัสเซีย, สหรัฐ และอิตาลี
ประเทศคู่ค้าของตุรกี
  สินค้านำเข้าจากทั่วโลกหลักๆ คือ น้ำมันปิโตรเลี่ยม (นำเข้าจากรัสเซียราว 31% ของการนำเข้ารวม, บัลแกเรีย 7.2% ,อิตาลี 6.1%), เครื่องจักร (เอเซีย 35%, เยอรมัน 20%, ญี่ปุ่น 19%),  อุปกรณ์ไฟฟ้า(บัลแกเรีย 49% , กรีซ 16%, สโลวิเนีย 13%),  อัญมณี(อินเดีย 48% , UAE 25%, ฮ่องกง 7,1%), ยานยนต์ (เยอรมัน 22%,  อิตาลี 12%, ฝรั่งเศส  8.5%,) เป็นต้น
  ขณะที่สินค้าส่งออกไปทั่วโลก หลักๆ คือ ยานยนต์(ตลาดหลักคือเยอรมัน 22%, ฝรั่งเศส  8.5%, อังกฤษ 8.4%) เครื่องนุ่งห่ม((เยอรมัน 22%,  อิตาลี 12%, ฝรั่งเศส  8.5%)   เหล็ก(เยอรมัน 36%, เบลเยียม 14%,สโลวิเนีย 13%) , เครื่องจักร(เยอรมัน 16.7%, อังกฤษ 5.8%, สหรัฐ 5.4%)   และอัญมณี (สหรัฐอาหรับฯ 62.2%, อิรัก 14.5%, สหรัฐ 8.5%)  
  จากปัญหาดังกล่าวกดดันค่าเงินอ่อนค่าต่อเนื่องมาหลายปี และกดดันเงินเฟ้อ ล่าสุด เดือน ส.ค. พุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่  15.85%  จาก 15.3% เดือน ก.ค., 12.15% เดือน มิ.ย. และ 10.85% เดือน พ.ค.  เป็นผลทำให้ธนาคารกลางตุรกีขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวมถึง 9%  จาก 7.5% เป็น  16.5% ถือเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจตุรกีที่รุนแรงอีกประกาศ   จนเมื่อมีปัญหาค่าเงินตกต่ำรุนแรงทำให้ธนาคารกลางตุรกีกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอีกรอบโดยลด Resevse Required Ratio ทันที 2.5% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยยังคงดอกเบี้ยนโยบายฯ ที่เดิม แต่เชื่อว่ายังต้องมีการประกาศนโยบายการผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อลดวิกฤติฯ ในครั้งนี้ 
ค่าเงินโลกผันผวน กดดันตลาดหุ้น  
  ค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ราว 38% ในรอบ 1 สัปดาห์ และลดลง  82% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ก่อนหน้านี้ออนค่าลักษณะค่อยเป็นค่อยไป) ซึ่งผลกระทบน่าจะกดดันค่าเงินโลกที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับตุรกี  โดยเฉพาะคู่ค้าหลักคือ สหภาพยุโรป (28% ของยอดค้ารวม) พบว่าอ่อนค่า 2.4% ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา  หรือลดลง 8% นับจากสหรัฐขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม  ตามด้วยเงินหยวน จีน ลดลง 8.6% นับจากเดือน ก.พ.  และ ค่าเงินตะวันออกกลาง ( อิหร่าน อิรักและดูไบ) เป็นต้น  
  เช่นเดียวกับตลาดหุ้น พบว่าค่าเงินตุรกีตกต่ำมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกราว 56.56% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน รองจากเวเนซุเอลา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเมืองในประเทศ และ เป็น 1 ใน 2 ประเทศ ที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตรทางการค้า (อีกประเทศคืออิหร่าน)  ขณะที่อาร์เจนตินา และ จีนติดลบมากเป็นลำดับ 3 และ 4 
  เชื่อว่าผลกระทบจากค่าเงินโลกที่ผันผวนจะกระทบการค้าและการลงทุน ซึ่งน่าจะกดดันตลาดหุ้นในฐานะที่เป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจโลก  และแน่นอนตลาดหุ้นไทย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ และนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันตลาดหุ้นไทยติดลบเพียง 2.7% ถือว่า outperform ตลาดหุ้นโลกอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในเอเชีย  คือ อินโดนีเซีย -7.7%, ฟิลิปปินส์ -10.6% ยกเว้น เวียดนาม และ มาเลเซีย ติดลบน้อยกว่า 1% และ อินเดียที่ +10.5% 
การเสนอแก้ พรป.ว่าด้วย กกต. กระทบกำหนดการเลือกตั้ง 
  การเมืองอาจกกดดันตลาดอีกรอบ หลังสมาชิก สนช. 36 คน เข้าชื่อเพื่อเสนอให้แก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 (มีผลบังคับใช้เมื่อ 8 ก.ย.2560 และเป็น 1 ใน 4 ของกฎหมายที่ต้องมีผลบังคับใช้ก่อนจัดการเลือกตั้ง)  สาระสำคัญของการเสนอแก้ไข คือ ต้องการให้ยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต. (ชุดของนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ชุดปัจจุบัน) ได้คัดเลือกและประกาศผลไปแล้ว จำนวน 616 คน และต้องการให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทน การให้ กกต. ไปออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งเอง เพราะเกรงว่าระเบียบ กกต. จะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ของ กกต.แต่ละชุดที่เข้ามาทำหน้าที่ อาจทำให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองได้
  หาก สนช. รับหลักการและเข้าสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมาย ก็อาจส่งผลกระทบต่อกำหนดการในการจัดการเลือกตั้ง เพราะขั้นตอนในการแก้ไขกฎหมาย  รวมถึงการที่ต้องทำการแต่งตั้งผู้ตรวจการการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ต้องใช้ระยะเวลา  เพราะต้องดำเนินการ 2 ขั้นตอนที่สำคัญ ประกอบด้วย 
การรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77
  การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว
คาดเงินทุนไหลออก..กดดันจากปัญหาตุรกี  
  ในช่วงวันที่ 10 – 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคกว่า 609 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ  เริ่มจากเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 352 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วัน) ตามมาด้วยไต้หวัน 151 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วัน), อินโดนีเซีย 89 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4),ฟิลิปปินส์ 25 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ยกเว้นไทย แม้วานนี้จะหยุดทำการ แต่วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสุทธิเล็กน้อย 8 ล้านเหรียญ หรือ 272 ล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 10 วัน) ต่างกับสถาบันฯที่ขายสุทธิกว่า 5.07 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
  Fund Flow กลับมาไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาค เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยภายนอกรุมเร้า ทั้งความกังวลสงครามการค้าที่บานปลาย จากสหรัฐขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมตุรกีเป็น 2 เท่า กดดันเงินตุรกีตกต่ำรุนแรงเป็นประวัติศาสตร์ ล่าสุดอยู่ที่ 6.87 ลีรา/ดอลลาร์ (อ่อนค่าแรงกว่า 82% ytd) ตรงข้ามค่าเงินดอลลาร์แข็งต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 95.60 จุด (แข็งค่าขึ้นกว่า 4.58% (ytd) กดดันเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงไทย และเช้าวันนี้ยังมีประเด็นกดดันจาก MSCI รายงานว่าจะปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีน A Share ขึ้นจาก 2.5% เป็น 5% (คิดเป็นทั้งหมด 236 บริษัท) ลงในดัชนี MSCI China Index และยังคิดเป็นสัดส่วนใน MSCI Emerging Markets กว่า  0.75% (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ก.ย. 61) โดยสัดส่วนหุ้นจีน A Share ที่เพิ่มขึ้น น่าจะกดดันให้ต่างชาติลดน้ำหนักหุ้นไทย และตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคลงบางส่วน  
SET ผันผวนตามแรงขายรับงบ 2Q61 และขึ้น XD 
  เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการประกาศผลดำเนินงานงวด 2Q61 จากที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมจนถึงวานนี้ มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 319 บริษัท คิดเป็น 73% ของ Market Cap. รวม กำไรสุทธิรวม 2.06 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะที่ประกาศ 2Q60 พบว่าเติบโตราว 13.2%yoy แต่หากเปรียบเทียบกับ 1Q61 พบว่าไตรมาสนี้กำไรฯ ลดลงราว 17.2%qoq  และเฉพาะ Real Sector ที่ประกาศงบฯ แล้ว มีกำไรสุทธิรวมกันราว 1.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.9%yoy แต่ลดลง 21.7%qoq โดยผลการดำเนินงานที่ทยอยประกาศออกมาเพิ่มเติม สามารถสรุปได้ดังนี้
หุ้นกำไรเติบโตทั้ง yoy และ qoq คือ
หุ้น BANPU(Buy:[email protected]) กำไรสุทธิเท่ากับ 3.97 พันล้านบาท +75.7%yoy จากปริมาณขายถ่านหินรวมที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจไฟฟ้าที่มีปริมาณขายไฟในระดับสูงตามสภาวะอากาศ รวมถึงกำไร Fx
หุ้น IRPC(Buy:[email protected]) กำไรสุทธิ +47%qoq, +230%yoy จากกำไรสต็อกน้ำมัน แต่กำไรปกติลดลง 22%qoq กดดันจากค่าการกลั่น (Market GRM) ลดลง โดยรวมกำไรสุทธิ 1H61 ที่ 6.8 พันลบ. (89%yoy) 64% ของประมาณการ ส่วน 3Q61 คาดลดลง qoq จากแผน shutdown และไม่มีกำไรสต็อกน้ำมันสูงเช่นงวดที่ผ่านมา แต่คาด กำไรปกติปี 61 และ 62 คาดเติบโต 41% และ 14% ตามลำดับ จากการทยอยรับรู้มูลค่าเพิ่มโครงการในมือ 
หุ้น PLANB(Buy:[email protected])  กำไรสุทธิอยู่ที่ 153 ล้านบาท เติบโต 26% YoY จากรายได้รวม  877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% YoY จากการปรับตัวสูงขึ้นของ Utilization rate จาก 65% เป็น 72% แนวโน้มกำไร 2H61 จะดีกว่า 1H61 มีปัจจัยสำคัญจากการรับรู้รายได้จอดิจิทัลขนาดใหญ่ที่ห้างเซ็นทรัลเวิร์ลแบบเต็มไตรมาส หลังจากเริ่มขายไปแล้วในเดือน มิ.ย.61 เป็นเดือนแรก คาดว่าปีนี้จะรับรู้รายได้ราว 100-120 ล้านบาท ด้วยอัตราการจองเต็มแล้วถึงสิ้นปี  
หุ้นที่กำไรเติบโต yoy แต่หดตัว qoq คือ
หุ้น BCP (Buy:FV@B39)  กำไรสุทธิ ลดลง 12.2%qoq ส่วนกำไรปกติลดลง 42.6%qoq อยู่ที่ 642 ลบ. กดดันจากแผนการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี และธุรกิจการตลาดกำไรลดลง แต่ได้แรงหนุนจากธุรกิจไฟฟ้า ส่วนกำไรปกติ 3Q61 คาดเพิ่มขึ้น qoq หนุนจากการกลับมาเดินเครื่องโรงกลั่น แต่ในส่วนของค่าการกลั่นนั้น คาดปรับตัวลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วง low season (ไม่เกิดพายุเฮอริเคนที่รุนแรง) โดยรวมคาดกำไรสุทธิงวด 3Q61 ทรงตัว และไม่มีบันทึกกำไรสต๊อกน้ำมันสูงเช่นงวดที่ผ่านมา
หุ้น CHG (Buy:[email protected])  กำไรเติบโต 50% YoY(แต่ลดลง 8%qoq) เกิดจากรายได้ผู้ป่วยเงินสดเติบโตเพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น ขณะที่ SG&A/Sales ลดลงมากเกิดจากรายการโอนกลับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2561-66 ขึ้นเฉลี่ย 9.8% หลังพบว่ารายได้มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาด และอัตรากำไรดีขึ้นทุกไตรมาส ส่วนในงวด 3Q61 คาดจะยังเติบโตเพราะเป็นช่วง High season ที่มีโรคระบาดมากขึ้น 
หุ้น PYLON(Buy:[email protected]) กำไรสุทธิ 31 ล้านบาท ลดลง 56%QoQ เป็นผลจากการส่งมอบพื้นที่ทำงานล่าช้าของผู้ว่าจ้าง แต่การเริ่มงาน 2 โครงการใหญ่ที่ถูกเลื่อนมาจาก 2Q61 และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะทำให้ PYLON มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นใน 3Q61 และจะต่อเนื่องไปถึง 4Q61 รองรับด้วย Backlog ปัจจุบันที่มีสูงถึง 1 พันล้านบาท ซึ่งงานส่วนใหญ่จะส่งมอบภายในปีนี้  จึงยังแนะนำ ซื้อ
หุ้นที่กำไรหดตัว yoy แต่โต qoq คือ
หุ้น PSH(Buy:[email protected])  กำไรใกล้เคียงคาด(-10% yoy,+81%qoq) ส่วนภาพรวมกำไร 1H61 ทรงตัว YoYที่ 2.4 พันล้านบาท  แม้ปรับกำไรปี 2561 ลงจากเดิม 4% สะท้อนปรับลดแผนเปิดโครงการใหม่ แต่กำไรปีนี้ยังโต 7.5% yoy โดย 2H61 จะเติบโตขึ้นจาก 1H61 หนุนจากการโอนฯ 4 คอนโดฯ ใหม่
หุ้นที่กำไรหดตัวทั้ง yoy และ qoq คือ
หุ้น PTT(Switch:FV@B54) กำไรสุทธิอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท ลดลง 24.5%qoq และ 4.1%yoy เกิดจากเงินบาทที่อ่อนค่า กระทบต่อการรับรู้ค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัทลูก PTTEP ขณะที่การดำเนินงานปกติของธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังปรับตัวดีขึ้น
 หุ้น HANA(Buy:[email protected])   กำไรสุทธิ(ต่ำกว่าคาด 33%) ลดลงถึง 51.2% qoq และ 60.0% yoy จากการขาดทุน Fx ขณะที่กำไรปกติเพิ่มขึ้น 38.6% qoq จากช่วงฤดูส่งออก นอกจากนี้ ยังได้ผลบวกจากค่าเงินบาทเฉลี่ยงวด 2Q61 อ่อนค่าลง หนุน gross margin เพิ่มเป็น 13.6%  คาดกำไรสุทธิปี 2561 ลดลง 31.4% yoy จากการบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง เช่นเดียวกับกำไรปกติปี 2561 ที่คาดลดลง 24.0% yoy จากผลกระทบปัญหาวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนฯ ขาดแคลน แต่คาดกำไรปกติปี 2562 จะพลิกกลับมาเติบโต 3.7% yoy จากลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ สมาร์ทโฟนและฉลากอัจฉริยะเติบโตต่อเนื่อง  
หุ้น WORK(Switch:FV@B48)   กำไรลดลง 69% YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก สาเหตุหลักมาจากต้นทุนผลิตรายการสูงขึ้น 11% YoY ขณะที่รายได้จากการขายโฆษณาลดลงมากถึง 27% YoY สำหรับแนวโน้มกำไรงวด 3Q61 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น QoQ โดยมีปัจจัยหนุนจากรายได้การจัดคอนเสิร์ตศิลปินดังจากเกาหลี และรายได้จากการขายโฆษณาช่วงถ่ายทอดสดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์   แต่ภาพรวมเรตติ้งยังอยู่ในขาลง จึงมีโอกาสที่จะปรับประมาณการลง แนะนำ Switch ไป RS
และหลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงของการขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล โดยบริษัทที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ ที่ขึ้น XD เช่น ADVANC(XD 15 ส.ค.@ 3.78 บาท),  INTUCH(XD 16 ส.ค.@ 1.35 บาท), TU(XD 20 ส.ค.@ 0.25 บาท) , IVL(XD 20 ส.ค.@ 0.70 บาท)  เป็นต้น โดยรวมในเดือน ส.ค. นี้ คาดมีบริษัทรอขึ้นเครื่องหมาย XD ราว  143 บริษัท กระทบต่อตลาด 9.67 จุด
นักวิเคราะห์ :
  ภรณี ทองเย็น                         เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
  เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม         เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
  พบชัย ภัทราวิชญ์                  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
  ภราดร เตียรณปราโมทย์      เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
  ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์               เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
  โยธิน ภูคงนิล                        ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
  เจิดจรัส แก้วเกื้อ                    ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
  วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร         ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO12406

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!