WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 
กลยุทธ์การลงทุน
  ตลาดปรับฐานลงต่ำกว่า 1700 จุดอีกรอบ กลับมาให้น้ำหนักสงครามการค้า และ การขึ้นดอกเบี้ยโลก รวมถึงไทย แต่เป็นการนำร่องขึ้นของธนาคารพาณิชย์ก่อนที่ ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้  และต้องระวังแรงขายรับงบ 2Q61 รวมถึงเข้าสู่การจ่ายปันผล (XD) กลยุทธ์ให้เน้นรายหุ้นที่กระทบจากปัจจัยภายนอกน้อย และราคาหุ้นมี upside (AMATA, BJC, BH, DTAC, EASTW, BBL, CPF) Top picks คือ BBL(FV@B220), AMATA([email protected]), EASTW([email protected]) ราคาหุ้นยัง Laggard     
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ …. SET หลุด 1,700 จุด
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยร่วงแรงสวนทางภูมิภาค แม้ช่วงเช้าดัชนีเปิด gap บวก 6 จุด แต่ระหว่างวันมีแรงขายกดดันดัชนีร่วงสู่แดนลบและปิดตลาดที่ระดับ 1696.24 จุด ลดลง 15.85 จุด หรือ -0.93% มูลค่าการซื้อขาย 5.21 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมแทบทุกกลุ่มฯ ปรับตัวลง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม พลังงาน-ปิโตรฯ อย่าง IVL เผชิญกับแรงขายรับงบ 2Q61 ราคาหุ้นร่วง 5.8% และ PTTGC (-1.48%) ส่วน PTT PTTEP อ่อนตัวปิดแดนลบเช่นกัน อีกกลุ่มที่ปรับลดลงแรงคือ อสังหาฯ LH (-5.74%) เผชิญกับ Sentiment เชิงลบระยะสั้น หลังผู้ถือหุ้นใหญ่แจ้งยกเลิกการทำเทนเดอร์ฯ ส่วน QH (-7.22%) และกลุ่ม ธ.พ. ราคาหุ้นในกลุ่มฯ ส่วนใหญ่ทรงตัว-ลดลง
  แนวโน้มตลาดฯ วันนี้คาดยังเคลื่อนไหวบริเวณ 1700 จุด ตราบที่ยังมีปัจจัยกดดันรอบด้าน ทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น (กนง. ประชุม 8 ส.ค. คาดจะคงดอกเบี้ยฯ) ปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และตามด้วยแรงขายรับงบ 2Q61 ของ Real sector  ซึ่งจะตามด้วยการประกาศขึ้น XD  เป็นส่วนที่กดดันดัชนีตลาดอีกด้านหนึ่ง 
สหรัฐคว่ำบาตรภาคการเงินแก่อิหร่านเพิ่มเติม
  สหรัฐยังคงเดินหน้าคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม นอกเหนือจากก่อนหน้าที่ประกาศคว่ำบาตรด้านการค้า คือ ห้ามทุกประเทศซื้อขายน้ำมันกับอิหร่านภายในวันที่ 4 พ.ย.  และล่าสุด เพิ่มคว่ำบาตรด้านการเงิน ซึ่งหากเทียบเคียงกับที่สหรัฐเคยประกาศใช้กับอิหร่านในช่วงปี 2555-2558 (ปลายปี 2558 ได้ถูกยกเลิก เพราะอิหร่านบรรลุข้อตกลงยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ กับมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ คือ สหรัฐ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ และจีน) น่าจะครอบคลุมกิจกรรมดังนี้คือ ห้ามเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์, ห้ามทำธุรกรรมในสกุลริอัลอิหร่าน ในบัญชีระหว่างธนาคาร และห้ามซื้อขายทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ถ่านหิน อลูมิเนียม และเหล็ก เป็นต้น   
  ผลกระทบจากการคว่ำบาตรต่ออิหร่านในช่วง 2555-2558  ทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบในตลาดโลกน้อยลงราว 8 แสนบาร์เรล/วัน จากปกติผลิตเฉลี่ยที่  3.8 ล้านบาร์เรล/วัน ดังปรากฎในรูปด้านล่าง   ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ในช่วงที่ peak พอดี คือ ยืนเหนือ 100 เหรียญฯ  (จากแรงหนุนของ  dollar index อ่อนค่าหนัก 12% จากกลางปี 2553 ถึงกลางปี 2554)  แต่ได้กดดันให้เศรษฐกิจอิหร่านชะลอตัว สะท้อนจาก  GDP Growth ชะลอลงตัวแรง คือ จาก 6.6% ปี 2553 เหลือ 3.7% ปี 2554  และติดลบ 2 ปี คือ -6.6 % ปี 2555 และ -1.6% ปี 2556 ก่อนจะกลับมาขยายตัว 4.3% ในปี 2557   
  คาดว่าการคว่ำบาตรรอบนี้น่าจะทำให้ supply น้ำมันดิบโลกหายไปบางส่วน แต่คาดว่าผลผลิตจาก OPEC โดยรวมที่จะยุติการควบคุมการผลิต และการผลิตน้ำมันเพื่อทดแทนการนำเข้าในสหรัฐ น่าจะทำให้ Supply–Demand น้ำมันน่าจะยังอยู่ในระดับสมดุล  และผลกระทบจากสงครามการค้าน่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวต่ำกว่า 70 เหรียญฯ 
หลังงบ 2Q61 ตัดลดคำแนะนำ IVL และลดกำไร TU 
  คาด Sell on Fact  บริษัทที่ประกาศเพิ่มเติม พร้อมกับมีการปรับลดคำแนะนำ และ ลดประมาณ คือ
  TU(Buy: FV@B21) กำไรสุทธิเท่ากับ 10 ล้านบาท (ดีกว่าที่คาด) แม้จะลดลงถึง 98.9% qoq และ 99.3% yoy จากการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพิเศษไกล่เกลี่ยคดีความในสหรัฐถึง 1.5 พันล้านบาท แต่กำไรปกติงวด 2Q61 ฟื้นตัวอย่างมีนัยฯ จากธุรกิจทูน่าและค่าเงินบาทเฉลี่ยงวด 2Q61 ที่อ่อนค่าลง หนุน gross margin ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 13.8% อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ลงเพื่อสะท้อนการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษข้างต้น หลังปรับลดประมาณการ คาดกำไรสุทธิปี 2561 จะลดลง 31% yoy (กำไรปกติปี 2561 จะทรงตัวจากปี 2560) และคาดมูลค่าเหมาะสมใหม่อยู่ที่ 20.50 บาท (จากปัจจุบัน 21 บาท) 
  IVL(Switch: FV@B62) กำไรสุทธิใกล้เคียงคาด เท่ากับ 8.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.8%qoq และแม้ ตัดรายการพิเศษกำไรปกติยังเพิ่มขึ้น 44.4%qoq มาอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท ทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ หนุนจากทั้ง spread ผลิตภัณฑ์ และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น แต่คาดแนวโน้มกำไรปกติ 3Q61 จะทรงตัวใกล้เคียง 2Q61  หลังผ่าน high season ใน 2Q61 แต่จะได้ปริมาณขายเพิ่มขึ้นจากโครงการที่ M&A แล้วเสร็จ รวมถึงรับรู้โครงการ M&G ในบราซิลเต็มไตรมาส และโครงการ US cracker ในปลาย3Q61    อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยบวกไปหมดแล้ว และมี upside จำกัด จึงปรับลดคำแนะนำจาก ซื้อ เป็น switch ไป IRPC([email protected])  
  INTUCH (Buy: [email protected]) กำไรลดลง 9.4%qoq แต่กำไรปกติเติบโต 8.5%yoy เพราะกำไรจากบริษัท 2 แห่ง  THCOM (ถือหุ้น 41.14%) มีการกลับรายการสำรองหนี้สูญมาเป็นรายได้ หลังจากที่ลูกค้าของ และ ADVANC (ถือหุ้น 40.45%) กำไรทรงตัว  ตามแนวโน้มธุรกิจมือถือที่ทรงตัว เพราะแม้ รายได้ทรงตัว แต่สามารถคุมต้นทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และผลบวกจากการเริ่มให้บริการโครงข่ายใหม่ Next G  (Internet เชื่อม WIFI อัตโนมัติ ซึ่งคิดค่าธรรมรายเดือนที่ 599 บาท เทียบกับ APRU เฉลี่ยของลูกค้า Post-Paid 587 บาทในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็น 20% ของลูกค้าทั้งหมด)  จะขึ้น XD @B3.78 ณ 18 ส.ค. นี้)
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นภูมิภาค และเปิดชอร์ต SET50 Futures 3 วันติด
  วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 29 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และเป็นการขายสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิ 70 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 19 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และฟิลิปปินส์ 2 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นอีก 2 ประเทศต่างชาติซื้อสุทธิ คือ อินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิ 25 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) และไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิ 37 ล้านเหรียญ หรือ 1.23 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6) อย่างไรก็ตามต่างชาติเปิดสถานะชอร์ตสุทธิสัญญา SET50 Futures 4,030 สัญญา (ชอร์ตสุทธิเป็นวันที่ 3 มูลค่ารวม 1.69 หมื่นสัญญา) รวมถึงสถาบันฯเดินหน้าขายสุทธิหุ้นไทยอีก  3.91 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) กดดันตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง
  ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติสลับมาขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่า 1.10 พันล้านบาท ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ของไทย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.73% แต่ยังน้อยกว่า Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐที่ 2.94% กดดันให้ Fund Flow มีโอกาสไหลกลับไปหาตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบดีกว่า
แรงขายรับงบ 2Q61 และ ใกล้ขึ้น XD มีน้ำหนักมากขึ้น 
  ปัจจัยในประเทศระยะนี้ยังให้น้ำหนักไปที่การประกาศผลประกอบการฯ 2Q61 จากที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมจนถึงวานนี้ มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 42 บริษัท คิดเป็น 32% ของ Market Cap. ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะบริษัทที่ประกาศงบฯ แล้วกับงวด 2Q60 พบว่าไตรมาสนี้เติบโตราว 10.6%yoy แต่หากเปรียบเทียบกับ 1Q61 พบว่าไตรมาสนี้กำไรฯ ลดลงราว 10.1%qoq ทั้งนี้ ในภาค Real Sector ที่ประกาศงบฯ แล้ว มีกำไรสุทธิรวมกันราว 4.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.3%yoy แต่ลดลง 2.2%qoq โดยผลการดำเนินงานของแต่ละ บจ. ออกมาเป็นดังนี้
หุ้นผลประกอบการเติบโตทั้ง yoy และ qoq คือ
  กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ภาพรวมกำไรเติบโตดีกว่าคาด เพิ่มขึ้น 1.9% qoq และ 17.6% yoy หลักๆ มาจากรายได้อื่น ส่วนสินเชื่อเติบโตค่อยเป็นค่อยไปตามเศรษฐกิจ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันกำไรธ.พ. (ยกเว้น TMB SCB ที่อ่อนตัวลง qoq, yoy)
   หุ้นกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ IVL GPSC รวมถึงหุ้น SCCC กำไรเติบโตก้าวกระโดด เพิ่มขึ้น 316%YoY จากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งเริ่มส่งบวกเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ 
  หุ้นที่กำไรเติบโต yoy แต่หดตัว qoq คือ หุ้น ADVANC THCOM และ INTUCH 
  ส่วนหุ้นที่กำไรหดตัวทั้ง yoy และ qoq คือ หุ้น PTTEP GLOW DTAC และ SCC 
  ทั้งนี้ การรายงานงบฯ จะดำเนินไปจนถึงเช้าวันที่ 15 ส.ค. และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงของการขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล โดยบริษัทที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ ที่ขึ้น XD เช่น SCCC(XD 7 ส.ค.@ 4 บาท), PTTEP (XD 8 ส.ค.@ 1.75 บาท), SCC(XD 8 ส.ค.@ 8.50 บาท),  ADVANC(XD 15 ส.ค.@ 3.78 บาท),  INTUCH(XD 16 ส.ค.@ 1.35 บาท), TU(XD 20 ส.ค.@ 0.25 บาท) เป็นต้น โดยรวมในเดือน ส.ค. นี้ คาดมีบริษัทขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 134 บริษัท กระทบต่อตลาด 11.65  จุด ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดฯ ให้ปรับขึ้นได้ค่อนข้างลำบาก
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO12186

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!