- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 01 August 2018 17:21
- Hits: 2568
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดกลับมาซื้อขายต่ำกว่า 1700 จุด สงครามการค้าจีน-สหรัฐกลับมากดดันตลาดอีกรอบ และการประชุม FED ยังมีแผนขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% เพื่อจำกัดเงินเฟ้อที่ใกล้ 3% ส่วนไทยเงินเฟ้อเดือน ก.ค. อาจแตะ 1.5% ใกล้ดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ กนง.มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทอ่อน ขณะที่รายงานงบ 2Q61 หุ้น Real sector ยังทำให้มีแรงขายทำกำไรรายหุ้น กลยุทธ์ยังเน้นหุ้น Domestic (BJC, BH, DTAC, EASTW, BBL, CPF) Top picks คือ ROBINS(FV@B68) และ BH(FV@B221)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้…. SET Index ยังติดแนวต้าน 1,700 จุด
ตลาดหุ้นไทยวานนี้แกว่งตัวในแดนลบตลอดวัน ก่อนจะฟื้นตัวตอนท้ายตลาดปิดที่ 1,701.79 จุด ลดลง 0.08 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 5.7 หมื่นล้านบาท หุ้นหนุนตลาดนำโดยกลุ่ม ธ.พ. คือ SCB+2.56%, BBL+0.98% และ KBANK+0.93% และหุ้นรายตัวบวกแรงคือ MINT 4.11% รวมถึง ADVANC +1.25% (น่าจะเป็นการเก็งกำไรจะประกาศงบฯ 2Q61 ในสัปดาห์นี้ คาดเติบโต 13%yoy) ตรงกันข้ามหุ้นที่ปรับลดลงต่อคือ CPALL -1.32% ตามมาด้วย PTT BDMS และ SCC
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ น่าจะซื้อขายต่ำกว่า 1700 จุดอีกครั้ง ปัจจัยกดดันตลาดน่าจะมาจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ กลับมากดดันอีกครั้ง เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก น่าจะหนุนให้การขึ้นดอกเบี้ยยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐ แคนาดา อังกฤษ และเอเชีย ส่วนในไทย การรายงานเงินเฟ้อเดือน ก.ค. น่าจะแตะ 1.5% น่าจะกดดันให้ กนง. อาจทบทวนนโยบายการเงินผ่อนคลาย
BOJ คงดอกเบี้ยต่ำ กังวลเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อต่ำ
ที่ประชุม BOJ สรุปให้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาผ่านการใช้ QQE (80 ล้านล้านเยนต่อปี) และควบคุมอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) คือยังคงดอกเบี้ยฯระยะสั้น -0.1% และระยะยาวผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐญี่ปุ่น(JGBs) ที่ 0%
แต่เป็นที่สังเกตว่าผลการประชุมรอบนี้แตกต่างจากรอบที่แล้วคือ
คะแนนเสียงแตก เพราะคณะกรรมการสนับสนุนให้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายลดลงเหลือ 7:2 จากคราวที่แล้ว 8:1
ให้จัดสรรวงเงินซื้อ ETFs ที่เปลี่ยนแปลงตามดัชนี TOPIX เป็น 4.2 ล้านล้านเยน จากเดิม 2.7 ล้านล้านเยน วงเงินซื้อ ETF รวม 5.7 ล้านล้านเยน ที่เหลือ 1.5 ล้านล้านเยน สามารถเลือกลงทุนใน ETFs ที่อิงกับดัชนีใดดัชนีหนึ่งจาก 3 ดัชนี คือ TOPIX (คำนวณหุ้นทุกบริษัทในตลาด), the Nikkei225(คำนวณ 225บริษัท), JPX-Nikkei Index400(คำนวณหุ้น 400 บริษัทที่มี ROE สูงและ CG Score สูงๆ)
และปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2561 จากเดิม 1.3% เหลือ 1.1% และ GDP Growth ปี 2561 จาก 1.6% เหลือ 1.5%
ทั้งนี้เชื่อว่าการที่ BOJ ยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เพราะยังกังวลต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปี 2560 (GDP Growth 1.7%) สะท้อนจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจาก 1.1%ในเดือน มี.ค. เหลือ 0.7% ในเดือน พ.ค- มิ.ย. และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผนการขึ้น Sales tax จากเดิม 8% เป็น 10% ที่จะเกิดขึ้น ต.ค. 2562 การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง น่าจะหนุนให้เงินเยนกลับมาอ่อนค่า หลังจากที่แข็งค่าในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และน่าจะหนุนหุ้นญี่ปุ่นฟื้นตัวช่วงสั้น
FED ยังขึ้นดอกเบี้ยตามแผน เงินเฟ้อยังสูงใกล้ 3%
คาดว่าการประชุมธนาคารโลกน่าจะยังเดินหน้าใช้นโยบายการเงินตึงตัว จากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ยกเว้นญี่ปุ่นดังกล่าวข้างต้นคือ
ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประชุมช่วง 31 ก.ค. – 1 ส.ค. คาดยังใช้นโยบายการเงินตึงตัว แม้ในการประชุมรอบนี้จะคงดอกเบี้ย แต่จะขึ้นรอบถัดไปคือ 25-26 ก.ย. และขึ้นอีก 1 ครั้ง ภายในสิ้นปีนี้ตามแผนเดิม ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยฯ สิ้นปีอยู่ที่ 2.25% ยังต่ำกว่าเงินเฟ้อล่าสุด 2.9% ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเริ่มเห็นขัดแย้งเช่น ตลาดบ้านชะลอตัว สวนทางดัชนี PMI ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องตามภาคการผลิต สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และน่าจะเริ่มชะลอตัว
ส่วนเดือน ส.ค. มีประชุมธนาคารกลาง 2 แห่งคือที่อินเดีย (RBI) วันที่ 1 ส.ค. คาดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 6.5% หลังจากที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ไปเมื่อ มิ.ย. เพราะเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ที่ 5.0%yoy (สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 4%) ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินรูปีที่อ่อนค่า (อ่อนค่า 7.6%ytd)
และ 2 ส.ค. ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ 0.25% เป็น 0.75% เพราะเงินเฟ้อล่าสุดเดือน มิ.ย. สูงที่ 2.4% ผลจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าราว 2.8%ytd) และ 11.7% นับตั้งแต่ Brexit เทียบกับดอกเบี้ยฯ 0.5% และอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 43 ปี
สหรัฐเตรียมขึ้นภาษนำเข้าจากจีน รอบ 3 อีก 2 แสนล้านเหรียญ
ความกังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐ - จีนกลับมาอีกครั้ง หลังจากได้ขึ้นภาษีนำเข้ารอบแรกมีผลไปแล้ว 6 ก.ค. ในอัตรา 25% มูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ โดยคาดว่าการประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารอบ 2 มูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ จะทราบผลในเย็นวันนี้ตามเวลาในประเทศ และล่าสุดวานนี้ สหรัฐประกาศขึ้นภาษีเข้า รอบ 3 อีก 2 แสนล้านเหรียญฯ เป็น 25% จากเดิมประกาศจะเก็บที่ 10% หลักๆ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าจำเป็น อาทิ สินค้าเกษตร ประมง, เครื่องนุ่งห่ม, เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะทำประชาพิจารณ์วันที่ 20-23 ส.ค. นี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีในรอบแรก ทำให้ทางฝั่งจีน ทยอยขึ้นราคาสินค้า เพื่อสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นคือ BMW ปรับขึ้นราคาขายรถ SUV 7% ตามหลังผู้ผลิตรถยนต์ Tesla Motors ซึ่งได้ปรับราคาขึ้นเป็นรายแรก สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า Model S และ X เพิ่มขึ้นอีก 20% เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐ ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อาทิ ถั่วเหลือง
คาดเงินเฟ้อไทยแตะ 1.5% ใกล้ดอกเบี้ยนโยบายฯ
วันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ซึ่งนักเศรษฐกิจของ ASPS คาดเพิ่มราว 1.55% เทียบกับตลาดคาด 1.49% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 1.38% ในเดือน มิ.ย. และคาดว่าเงินเฟ้อ น่าจะมีแนวโน้มแตะ 2% ราวช่วงปลายปีนี้ ผลจากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิน 33 บาท/ดอลลาร์
อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น จนใกล้ดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% น่าจะกดดันให้ กนง. ใกล้สิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย หลังจากที่ใช้นโยบายผ่อนคลายนานเกือบ 7 ปี (ตั้งแต่ เม.ย. 2558) ทั้งนี้ไทย ถือเป็นประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าภูมิภาค ตามหลังอินโดนีเซียที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง, ฟิลิปปินส์ขึ้น 2 ครั้ง, มาเลเซียและอินเดียขึ้น 1 ครั้ง
ทั้งนี้ หากไทยขึ้นดอกเบี้ยล่าช้า ผลกระทบที่ตามมาคือ เงินบาทจะยิ่งอ่อนค่า กดดันสินค้านำเข้าและเงินเฟ้อในที่สุด แต่หากขึ้นดอกเบี้ยน่าจะบวกต่อหุ้นธนาคารพาณิชย์
คาด Fund Flow เดือน ส.ค. ยังเป็นลักษณะสลับซื้อ-ขาย
แม้วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 42 ล้านหรียญ แต่เป็นการขายสุทธิในตลาดหุ้นเกาหลีใต้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น 121 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นอีก 4 ประเทศยังถูกซื้อสุทธิ คือ อินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิ 19 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7), ฟิลิปปินส์ 5 ล้านเหรียญ(ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5), ไต้หวัน 426 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และไทย 55 ล้านเหรียญ หรือ 1.82 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
สรุป Fund Flow เดือน ก.ค. 61 พบว่า ตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวตอบรับสงครามการค้าที่ผ่อนคลายช่วงสั้นๆ สังเกตได้จากต่างชาติเริ่มสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคในช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ค. (หลังจากขายสุทธิมาตลอดทั้งปี 61 มียอดขายรวม 2.33 หมื่นล้านบาท (ytd) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ) แต่ภาพรวมทั้งเดือน ก.ค. ยังคงถูกขายสุทธิเล็กน้อย 206 ล้านเหรียญ และตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิมากสุดในภูมิภาค 321ล้านเหรียญ หรือ 1.06 หมื่นล้านบาท (รายละเอียดดังตารางด้านล่าง)
ส่วนแนวโน้ม Fund Flow ในเดือน ส.ค. 61 เชื่อว่าเป็นไปในลักษณะซื้อสลับขาย แม้แรงซื้อจะเริ่มกลับเข้ามาบ้าง แต่เดือนนี้ตลาดฯต้องเผชิญกับประเด็นสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ตามแผน กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทย นอกจากนี้ยังมีประเด็น MSCI อาจเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีน (A Share) ในดัชนี MSCI Emerging Markets มากขึ้น กดดันให้ต่างชาติอาจลดน้ำหนักหุ้นไทยลงบางส่วน ซึ่งยังสอดคล้องกับสถิติเดือน ส.ค. ย้อนหลัง 5 ปี ที่ต่างชาติมักขายหุ้นไทยเฉลี่ยราว 1.03 หมื่นล้านบาท (ขายสุทธิ 3 ใน 5 ปี) ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลดลงเฉลี่ยราว 1.0%
ยังมีแรงเก็งกำไรรายหุ้นงบ 2Q61 ต่อเนื่อง
แรงเก็งกำไรรายหุ้นจากการรายงานผลการดำเนินงาน 2Q61 ยังมีอยู่ นับถึงวานนี้มีหุ้น real sector ที่ประกาศเพิ่มเติมคือ HMPRO (Switch: [email protected]) กำไรเติบโต 16% yoy อยู่ที่ 1.31 พันล้านบาท หนุนโดย SSSG เพิ่มขึ้น 3% yoy และการขยายสาขา 9 แห่ง ขณะที่ 2H61 คาดเติบโตชะลอตัวจากฐาน SSSG ที่สูง และผลกระทบจากที่ไม่มีมาตรการช็อปช่วยชาติ ส่วนระยะยาว คาดต่อยอดเติบโตด้วยธุรกิจใหม่ Home services (บริการติดตั้งและซ่อมแซมสินค้าเกี่ยวกับบ้าน) ยังคงประมาณการกำไรปี 2561 เติบโต 17.5% แต่ราคาเกินมูลค่าพื้นฐานแนะนำ Switch ไป BJC (FV@B69)
GLOW(Sell: [email protected]) กำไรสุทธิเท่ากับ 1.7 พันล้านบาท ลดลง 31.3%qoq แต่กำไรปกติเพิ่มขึ้น 1.6%qoq อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท หนุนหลักจากรายได้ค่าขายไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อื่นที่เพิ่มขึ้น แต่ถูกกดดันจากรายได้อื่นที่ลดลง เนื่องจากไม่มีรายได้พิเศษและค่าปรับลูกค้านิคมฯที่ซื้อไฟฟ้าไม่ถึงปริมาณขั้นต่ำ ส่วนแนวโน้มกำไรจากนี้อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากโรงไฟฟ้า IPP และ SPP เริ่มทยอยหมดอายุสัญญา และยังไม่มีโครงการใหม่ที่มีนัยฯ เข้ามาหนุนการเติบโต อีกทั้งราคาหุ้นได้สะท้อนมูลค่าและราคาซื้อกิจการ GLOW ของ GPSC ไปแล้วที่ราคา 94.89 บาท/หุ้น จึงแนะนำขาย
SF(Buy: [email protected]) กำไรสุทธิอยู่ที่ 229 ล้านบาท (-10% yoy) หากไม่รวมขาดทุนจากการประเมินสินทรัพย์ 49.4 ล้านบาท พบว่ากำไรปกติอยู่ที่ 278 ล้านบาท เติบโต 27% yoy มาจากส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วม Mega Bangna เพิ่มขึ้น 33% yoy เท่ากับ 164 ล้านบาท (จากการเปิดพื้นที่ Food Walk ตั้งแต่ ธ.ค. 2560) ขณะที่ 2H61 คาดเติบโตขึ้น จากกำไรส่วนเพิ่มจากการปล่อยเช่าที่ดินในเมกะ บางนา และเปิดบริการโครงการใหม่ คือ Market Place นางลิ้นจี่เฟส 2 และ Market Place ดุสิต ทำให้แนวโน้มกำไร 2H61 สูงกว่า 1H61 จึงปรับเพิ่มเป็น ซื้อ
ส่วน Earnings Preview ในงวด 2Q61 นักวิเคราะห์ ASPS ทยอยทำออกมาคือ SVI(Buy: [email protected]) คาดกำไรสุทธิงวด 2Q61 เท่ากับ 147 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯ ถึง 128.7% qoq และ 17.0% yoy เนื่องจากเริ่มเข้าช่วง high season นอกจากนี้ ยังได้ผลบวกจากค่าเงินบาทเฉลี่ยงวด 2Q61 อ่อนค่าลง และปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น จากการปรับกลยุทธ์ด้วยการสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าน้อยชิ้นลงและถี่ขึ้น โดยภาพรวมฝ่ายวิจัยคงประมาณการ คาดกำไรสุทธิปี 2561 เติบโต 18.1% yoy จากคำสั่งซื้อของลูกค้าเก่าและใหม่ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ที่ดีขึ้นดังกล่าว และปันผลเฉลี่ยราว 2-3% จึงแนะนำซื้อ
1,700 จุด เป็นแนวต้านสำคัญ เน้นหุ้น Domestic play
ช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,700 จุดได้ หลังคลายความกังวลชั่วคราวประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่จำกัดการปรับขึ้นของตลาดหุ้นโลก ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางหลายแห่งในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีแนวโน้มใช้นโยบายตึงตัวมากขึ้น เช่น ธนาคารกลางอังกฤษน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการปะชุมรอบนี้ต่อจากธนาคารกลางสหรัฐ และแคนาดาที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า (ยกเว้นธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงใช้มาตรการทางการเงินผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ) ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มสูงขึ้น นักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอาจย้ายเป็นเงินจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตลาดพันธบัตรแทน และอีกประเด็นคือ ราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มทรงกับลง จากความกังวลอุปทานน้ำมันล้นตลาด เนื่องจากกลุ่ม OPEC มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ประกอบกับใกล้สิ้นสุดระยะเวลาข้อตกลงควบคุมกำลังการผลิตในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้สหรัฐยังเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน จึงทำให้การปรับขึ้นของราคาน้ำมันเป็นไปได้ยาก
ขณะที่ประเด็นในประเทศยังคงให้น้ำหนักไปที่การประกาศผลประกอบการ 2Q61 ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นแรง Sell on Fact ออกมามากนัก จากนี้จึงต้องระมัดระวังแรงขายดังกล่าว เมื่อรวมกับปัจจัยข้างต้นแล้วทำให้เชื่อว่าบริเวณ 1,700 จุด ยังเป็นแนวต้านที่แข็งแกร่งของ SET Index ในรอบนี้ กลยุทธ์การลงทุนจึงยังเน้นหุ้น Domestic Play ที่แนวโน้มผลประกอบการเติบโต เงินปันผลสูง ได้แก่ BJC, BH, DTAC, EASTW, BBL, CPF และ ROBINS
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO11940