- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 23 July 2018 17:16
- Hits: 1462
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หุ้นไทยฟื้นตัว หลังแบงก์รายงานงบดีกว่าคาด แต่ส่วนใหญ่เพราะขายเงินลงทุน และสำรองลดลง หลังเลื่อน IFRS9 บวกกับดอลลาร์อาจชะลอแข็งค่าช่วงสั้น หลังประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการขึ้นดอกเบี้ย Fed อาจหนุน SET แตะ 1680 จุด แต่ความเสี่ยงสงครามการค้าจะชัดมากขึ้นหลังจากนี้ เป็นจังหวะปรับพอร์ต และสะสมหุ้น Domestic Play คือ BJC, BH, RATCH, EASTW, BBL, CPF) Top picks เลือก RATCH(FV@61) และ BBL(FV@B220) ยัง Laggard
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวันศุกร์….SET บวกแรง งบแบงก์ดีกว่าคาด
SET index ศุกร์ที่แล้วบวกขึ้นต่อ ปิดตลาดที่ 1,671.06 จุด เพิ่มขึ้น 24.17 จุด หรือ +1.47% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 6.69 หมื่นล้านบาท โดยได้ 2 กลุ่มหลักดันดัชนี คือ กลุ่มพลังงาน PTT +4.04% PTTEP +1.91% และกลุ่มธ.พ. หลังผลกำไรดีกว่าคาด โดยบวกแรงทั้งกลุ่มฯ ยกเว้น TMB -5.88% เนื่องจากผลการดำเนินงาน -11.1%qoq ฝ่ายวิจัยลดคำแนะนำเป็น Switch และลดมูลค่าเหลือ 2.5 บาทจากเดิม 2.88 บาท และตามด้วยหุ้นอาหารส่งออก (CPF GFPT) สำหรับหุ้นรายตัว CPALL ลดลงต่ออีก 0.99% ส่วน KTC เริ่มอ่อนแรงปิดที่ 31.75 บาท -1.55%
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้คาดว่าดัชนีอาจจะฟื้นตัวต่อ 1775-1780 จุด แต่น่าจะมี upside จำกัด เพราะความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ยังมีอยู่ และ แรงขายทำกำไรหุ้นแบงค์น่าจะยังมี หลังรายงานงบเสร็จสิ้น โดยนักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดคำแนะนำหุ้นแบงค์ 3 แห่งคือ TMB, SCB, KTB
ส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐหดตัว..จีนและเม็กซิโกขึ้นภาษีนำเข้า
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังเป็นประเด็นกดดันตลาดหุ้นโลก สะท้อนจากวันศุกร์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงยืนยันเดินหน้าจะขึ้นภาษีนำเข้าจีนเพิ่มเติมจากก่อนหน้าที่ 2.5 แสนล้านเหรียญฯเป็น 5 แสนล้านเหรียญฯ (เท่ากับมูลค่าที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมดในปี 2560) หลังจากรอบแรกขึ้นภาษีนำเข้า 25% วงเงิน 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งมีผลไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ค.
การตอบโต้การค้าสหรัฐมิใช่มีเพียงจีน แต่ยังมีอีกหลายประเทศ คือ เม็กซิโก แคนาดา รัสเซีย ฯฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีเหล็ก และอลูมิเนียม กดดันให้สินค้าโภคภัณฑ์ ลดลงเกือบทุกประเภทปรับลดลง
ด้วยเหตุนี้ทำให้กระทรวงเกษตรของสหรัฐได้ปรับลดยอดส่งออกถั่วเหลืองปี 2561 เหลือ 55.5 ล้านตัน (จาก 56.7 ล้านตันในปีก่อนหน้า) เทียบกับผลผลิตปี 2561/62 ราว 117 ล้านตัน (ลดลงจาก 119 ล้านตันปี 2560/61) ซึ่งคาดส่วนใหญ่การส่งออกไปตลาดจีน
และล่าสุดคาดว่าการส่งออกหมูโดยรวมน่าจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะ เม็กซิโก (สัดส่วน 25.6%ของตลาดส่งออกทั้งหมดของสหรัฐ) พบว่า ยอดส่งออกสหรัฐไปเม็กซิโก รายสัปดาห์แตะจุดต่ำสุดของปีนี้ ผลจากเม็กซิโกขึ้นภาษีนำเข้าเนื้อหมูเป็น 20% จากเดิม 10% เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม เช่นเดียวกับ จีน (7.1%ของตลาดส่งออกทั้งหมดของสหรัฐ) ยอดส่งออกสหรัฐไปจีน (ม.ค.-พ.ค.) หดตัว 18%
เชื่อว่าผลกระทบน่าจะขยายตัวในวงกว้าง ในฐานะที่สหรัฐเป็นคู่ค้าหลักของประเทศในแถบเอเชีย ขณะที่ เอเชียเป็นคู่ค้าสำคัญของจีน (จีนค้าขายกับตลาดเอเซียสูงสุดราว 48.5% ของการนำเข้าในตลาดโลก) และ ยังผู้ส่งออกวัตถุดิบ (Supply Chain) รวมถึงไทย จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ราว 18.1% รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 11.5% และสหรัฐ 9.7%
และ วันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ค. จะประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดยังคงดอกเบี้ยฯ 0% (ตั้งแต่ มี.ค.2559) แม้เงินเฟ้อจะสูง 2% แต่ปัญหาการฟื้นตัวของประเทศสมาชิกที่ล่าช้า แต่น่าจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 เมื่อ QE สิ้นสุดลง ทั้งนี้ในการประชุมรอบล่าสุด ECB ได้ยืด QE ออกไป 3 เดือน หลังครบกำหนดก.ย. นี้ จนถึง ธ.ค.2561 แต่ลดวงเงินลง 50% เหลือ 1.5 หมื่นล้านยูโร/เดือน
ส่งออก/นำเข้า เดือน มิ.ย. ยังเพิ่ม แต่น่าจะลดลง 2H61
การส่งออกไทยใน มิ.ย. เพิ่ม 8.19%yoy ตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวตั้งแต่ปีนี้ คือ ญี่ปุ่น, สหรัฐ, เวียดนาม, มาเลเซีย ส่วนจีน ขยายตัวต่อเป็นเดือนที่ 3 หลังจากที่หดตัวไปเมื่อเดือน มี.ค. ขณะที่ออสเตรเลียหดตัวเป็นเดือนแรก และสิงคโปร์พลิกกลับมาขยายตัว
ทั้งนี้สินค้าส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปีคือ รถยนต์และส่วนประกอบ, คอมพิวเตอร์, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์, เหล็ก, ข้าว และไก่ เป็นต้น ส่วนที่ขยายตัวต่อเป็นเดือนที่ 3 คือ อัญมณี, ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล โดยรวมงวด 1H61 ขยายตัว 10.95% สอดคล้องกับปี 2561 ที่ ASPS คาด 8%yoy
ด้านนำเข้าเดือน มิ.ย. เริ่มชะลอเหลือ 10.83%yoy แต่งวด 1H61 ขยายตัวสูง 15.61% ส่วนใหญ่ นำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งออก เช่น เคมีภัณฑ์, เหล็ก, ส่วนประกอบยานยนต์, และ คอมพิวเตอร์ ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรกลและเครื่องจักรไฟฟ้ายังขยายเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนถึงการลงทุนเอกชนที่ดีต่อเนื่อง โดยรวมทำให้ดุลการค้าเดือน มิ.ย. เกินดุล 1.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยสรุปแม้การส่งออกจะยังขยายตัวได้ แต่จากสงครามการค้าโลกที่ยังขยายตัว จึงน่าจะกระทบต่อการค้าโลกราวช่วง 2H61 ถึง 2562 ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในลำดับถัดมา
หุ้นแบงก์ฟื้นกำไรดีกว่าคาด สำรองฯ เลื่อนการใช้ IFRS 9
สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่ศึกษา รายงานกำไร 2Q61 เท่ากับ 5.33 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% qoq และ 17.6% yoy ดีกว่าคาด (คาดหดตัว 11.0% qoq แต่ยังเพิ่มขึ้น 2.8% yoy) ซึ่งผลการดำเนินงานดีกว่าคาด เพราะมาจากรายรายได้อื่นๆ และค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ที่ลดลง ขณะที่สินเชื่อยังเติบโตตามคาด และ รายได้ค่าธรรมเนียมบริการ online ลดลงตามคาด รายละเอียดคือ
สินเชื่อสุทธิ เติบโตตามคาด 2.0% qoq และ 4.6% yoy จากกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย (BBL, TCAP) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (SCB, TCAP, KKP, TISCO) สินเชื่อ SME (BBL, TMB)
รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ลดลงตามคาด 9.9% qoq แต่ยังทรงตัวได้จากงวด 2Q60 ฉุดด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมฯ สำหรับธุรกรรม online ที่หายไปในกลุ่ม ธ.พ.ใหญ่ (KBANK, SCB, BBL)
รายได้อื่น เติบโต 7.5% qoq และ 19.1% yoy ดีกว่าคาด หนุนด้วยการเพิ่มขึ้นของกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและ Fx (KTB) รวมถึงกำไรจากการขายเงินลงทุน (KBANK, BBL, SCB) ทรัพย์สินรอการขาย : NPA (TCAP)
ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ลดลง 0.3% qoq ต่ำกว่าคาด แต่ยังเพิ่มขึ้น 6.2% yoy เนื่องจากการบริหารค่าใช้จ่ายให้ลดลง (SCB, TISCO)
คุณภาพสินทรัพย์ NPL ทรงตัวตามคาด โดยสัดส่วนเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมใกล้เคียงกับ ณ สิ้น 1Q61 ที่ 3.19% และ coverage ratio ที่ 146.3% ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ลดลงตามคาด ที่ระดับ credit cost โดย ธ.พ. ที่เห็นพัฒนาการเชิงบวกของคุณภาพสินทรัพย์ คือ BBL, TCAP, KKP
NIM เพิ่มขึ้น 6bp มาที่ 3.06% ดีกว่าคาด ผลบวกจาก yield ที่เพิ่มขึ้น จากการปล่อยสินเชื่อกลุ่ม high yield มากขึ้น (TCAP, BAY)
ขณะที่การเลื่อนบังคับใช้ IFRS 9 ออกไปอีก 1 ปี เป็น 1 ม.ค. 63 ทำให้ ธ.พ. ไม่ต้องเร่งตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เป็นผลให้หุ้นกลุ่มฯ ผ่อนคลายอีกระยะหนึ่ง แม้แนวโน้มผลการดำเนินงาน 3Q61 มีโอกาสอ่อนตัวลง แต่ได้แรงหนุนจากกสินเชื่อที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจ และการบริหาร NIM ที่มีประสิทธิภาพขึ้น ฝ่ายวิจัยยังเลือก BBL TCAP เป็น Top picks ของกลุ่ม
แรงขายหุ้นในภูมิภาคเริ่มชะลอลง และสลับมาซื้อบางประเทศ รวมถึงไทย
วันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค (เป็นวันที่ 3)ราว 119 ล้านเหรียญ แต่ยังขายสุทธิถึง 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิ 154 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ฟิลิปปินส์ 8 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และอินโดนีเซีย 1 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศ ซื้อสุทธิ คือ ไต้หวัน 253 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทย 30 ล้านเหรียญ หรือ 979 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเพียง 2 วัน นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. เป็นต้นมา) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิสูงถึง 4.64 พันล้านบาท (ตลอดเดือน ก.ค. ซื้อสุทธิรวมสูงถึง 2.96 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติขายสุทธิ 4.79 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ยังอยู่ที่ระดับ 2.76%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO11606