- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 12 September 2014 15:17
- Hits: 2278
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เริ่มเห็นแรงขายของต่างชาติในตลาดหุ้นหลายประเทศ ถือเป็นสัญญาณเตือน ส่วนปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คาดว่าจะทำให้ SET Index ผันผวนต่อเนื่อง กำหนดกลยุทธ์ในลักษณะ Selective Buy เลือก SAMART(FV@B32) เป็น Top pick เติบโตตาม SAMTEL หนุนกำไรฟื้นตัวแรงใน 2H57 และเติบโตต่อเนื่อง 23% ในปีหน้า
ปฏิรูปโครงสร้างภาษี เป็นทั้งโอกาส และข้อระวังในการลงทุน
นโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้แก่การดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ โดยมีเป้าหมาย 3 ประการคือ
1. ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
2. สนับสนุนศักยภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3. เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลัง เฉพาะทางด้านการจัดเก็บรายได้
สำหรับรายการภาษีที่ถูกคาดหมายว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมีหลายรายการ ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นโอกาสและข้อควรระวังสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น เช่น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: มีแนวคิดที่จะเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน โดยการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายที่จะนำมาลดหย่อนในการคำนวณภาษี และการให้นำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว มาลดหย่อนภาษี 15,000 บาท กรณีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวและค้าปลีก นอกจากนี้ยังเพิ่มขีดความสามารถการลงทุนให้กับนักลงทุนบุคคลธรรมดา เป็นผลดีต่อการลงทุน
ภาษีมรดก: เป็นไปตามแนวคิดที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ล่าสุดมีการกำหนดเกณฑ์เบื้องต้นว่าจะจัดเก็บจากผู้ที่ได้รับมรดกมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไปในอัตรา 10% มีเป้าหมายไปที่สินทรัพย์ประเภทที่มีการจดทะเบียน เช่น อสังหาริมทรัพย์, บัญชีเงินฝาก, รถยนต์, หุ้น และพันธบัตร เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจทำให้เกิดการปรับพอร์ตการลงทุน เลี่ยงไปอยู่ในกลุ่มสินทรัพย์ที่ไม่มีการจดทะเบียน หรือสินทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้นำที่ดินมาทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น และลดการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งในกรณีดังกล่าวหากจำกัดผลกระทบเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแนวทางการพัฒนาโครงการในปัจจุบัน ไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่สต๊อกที่ดินเปล่าในระยะยาว แต่ในทางตรงข้ามอาจทำให้การกำหนดแผนซื้อที่ดินใหม่เพื่อการพัฒนาทำได้ง่ายขึ้น
การยกเลิกสิทธิภาษีของผู้ซื้อ LTF: ประเมินว่าในช่วงรอยต่อ น่าจะเป็นผลลบต่อ SET Index เนื่องจากน่าจะทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุน LTF ลดลงอย่างมาก ขณะที่เงินไหลออกจะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้มูลค่ากองทุน LTF ณ สิ้นเดือน ส.ค.57 จำนวน 53 กอง มูลค่า 2.45 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังอาจทำให้แนวทางการลงทุนโดยภาพรวม เปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะสั้น มากกว่าลงทุนระยะยาว ซึ่งทำให้ SET Index ผันผวนได้ง่ายขึ้น
ภาษีสรรพสามิต: มีสินค้าหลายกลุ่มที่อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเปลี่ยนภาษีสรรพสามิต เช่น น้ำมัน ก็มีแนวคิดว่าจะปรับจากการเก็บหลายอัตราตามประเภทน้ำมัน มาเก็บอัตราเดียวกันทุกผลิตภัณฑ์ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นความชัดเจนมากนักในแนวทางปฎิบัติ ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม, กาแฟ / ชาเชียว อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการปรับขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นที่อยู่ในกลุ่มเช่น OISHI และ ICHI หากมีการปรับขึ้นจริง
เอเซียทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่การประชุม FOMC คงไม่มีอะไรใหม่
การคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำยังมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง สวนทางกับประเทศกำลังพัฒนาในฝั่งเอเซีย ที่มีการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาก่อนหน้าแล้ว โดยล่าสุด ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 4% (หลังจากที่เดือน ก.ค. ได้ปรับเพิ่มไปแล้ว 0.25%) เช่นเดียวกับปรับดอกเบี้ยเงินฝาก ขึ้น 0.25% เป็น 2.5% เนื่องจากยังมีความเสี่ยงต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.9% ขณะที่ยังคงอัตราการดำรงเงินสดสำรอง (RRR) ที่ระดับ 20% หลังจากที่เดือน พ.ค. ได้ปรับเพิ่มขึ้น 1% เพื่อดูดซับสภาพคล่อง เช่นเดียวกับมาเลเซีย ที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเซีย โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.25% เป็น 3.25% เมื่อต้นเดือน ก.ค. (เป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ค. 2554 หลังจากที่ยืนดอกเบี้ยที่ 3% มานานเกือบ 3 ปี) เนื่องภาวะเงินเฟ้อที่สูงเกิน 3% นับตั้งแต่สิ้นปี 2556
ยกเว้นอินโดนีเซีย ที่การประชุมครั้งล่าสุดได้มีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 7.5% (ตั้งแต่ พ.ย. 2556) เทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 4% ทั้งนี้เพื่อช่วยลดช่องว่างของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในงวด 2Q57 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2552 ส่วนประเทศไทย ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% (คงที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 หลังจากที่ลดไปแล้ว 0.25% ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา) เทียบกับอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. ที่ 2.09% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะปรับขึ้นอีกครั้งราว 2H58
สหรัฐ รายงานตัวเลข จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ย.เพิ่มขึ้น 11,000 ราย ที่ระดับ 315,000 ราย (สูงกว่าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 300,000 ราย) ขณะที่เฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับเพิ่มขึ้น 750 ราย ที่ระดับ 304,000 ราย จะเห็นได้ว่าตลาดแรงงานยังคงมีความผันผวนในระยะสั้น สอดคล้องกับ ตัวเลขที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ (ADP) เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 204,000 ตำแหน่ง (ต่ำกว่าที่คาด 16,000 ตำแหน่ง) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือนส.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 142,000 ตำแหน่ง (ต่ำกว่าที่คาด 83,000 ตำแหน่ง)
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขภาคแรงงาน ถือเป็นหนึ่งในข้อมูลที่สำคัญ ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ใช้ในการตัดสินใจต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโนบายครั้งแรก ดังนั้นจึงคาดว่าในการประชุม FOMC ในระหว่างวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ คงยังไม่มีอะไรแปลกใหม่ โดยคาดไว้ ว่า FED ยังคงเดินหน้าตัดลด QE ต่อเนื่องอีก 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งคาดว่าจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. และใช้ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ 0.25% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ในช่วง 2H58
ต่างชาติยังคงขายหุ้นไทย แต่ปริมาณเบาบาง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 213 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 50% จากวันก่อนหน้า) โดยที่เป็นการขายสุทธิในทุกประเทศ สูงสุดคือ เกาหลีใต้ที่กลับมาเปิดทำการหลังผ่านวันหยุด มียอดขายสุทธิราว 97 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 9 วันทำการก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวันขายสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 85% จากวันก่อนหน้าเหลือราว 52 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับอินโดนีเซียที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 51 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 26%) ส่วนฟิลิปปินส์สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 7 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อใน 8 วันหลังสุด) ส่วนไทยขายสุทธิเล็กน้อยเป็นวันที่ 2 ราว 5 ล้านเหรียญฯ (175 ล้านบาท, ลดลง 22%)
ทั้งนี้ แม้ว่า นักลงทุนต่างชาติจะสลับมาขายสุทธิหุ้นไทย 2 วันติดต่อกัน แต่ด้วยปริมาณเบาบางเพียง 200 ล้านบาทต่อวันเท่านั้นโดยเฉลี่ย ยังถือว่าต่ำมากหากเทียบกับยอดซื้อสุทธิก่อนหน้า ที่ซื้อสุทธิเฉลี่ยต่อวันกว่า 1.3 พันล้านบาท แต่ในตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนกลุ่มนี้กลับขายสุทธิออกมาอย่างหนักราว 8.6 พันล้านบาท (สูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน) กดดันค่าเงินบาทให้อ่อนตัวลงอีกเล็กน้อยแตะระดับ 32.2 บาทต่อเหรียญฯ และน่าจะยังคงเป็นปัจจัยกดดัน fund flow ในระยะสั้นต่อไป
ยังชื่นชอบ SAMART ที่เติบโตตาม SAMTEL
วันนี้นักวิเคราะห์ ASP ได้ออกรายงานฉบับยาวของ SAMTEL โดยมีคำแนะนำซื้อ มูลค่าเหมาะสมปี 2557 อยู่ที่ 23.5 บาท (อิง Expected P/E 19 เท่า) มี Upside 13% และ ปี 2558 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 27.2 บาท (อิง Expected P/E 18 เท่า) ขณะที่ Div Yield สูงกว่า 3% ต่อปี ทั้งนี้ SAMTEL มีส่วนแบ่งตลาดราว 24% สูงเป็นลำดับ 2 ในธุรกิจรับเหมาโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมภาครัฐ และอยู่ในธุรกิจมานานกว่า 20 ปี โดยจะเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่งวด 3Q57 จากความคืบหน้างานโครงการภาครัฐ (โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็ก) ล่าสุดเพิ่งได้งานโครงการที่เคยทำไปแล้ว คือ โครงการตรวจบัตรผู้โดยสาร AOT มูลค่า 2 พันล้านบาท (ทยอยรับรู้รายได้งวด 4Q57 ราว 100 ล้านบาท) และ งวด 4Q57 คาดว่าจะได้งานงานระบบข้อมูลแผนที่ของกรมที่ดินมูลค่า 1 พันล้านบาท ซึ่ง SAMTEL เคยทำในเฟสแรกแล้วเช่นกัน โดยรวมคาดว่า Backlog ในงวด 2H57 จะอยู่ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท เทียบกับ 5.5 พันล้านบาทในงวด 1H57 อย่างไรก็ตาม แม้จะทำให้กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ จาก 301 ล้านบาท ในงวด 1H57 คาดว่าจะเพิ่มราว 19% เป็น 359 ล้านบาท ในงวด 2H57 แต่ทั้งปี 2557 คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติจะหดตัว 13% จากปี 2556 แต่คาดว่าจะกลับมาโดดเด่นในปี 2558 คือ เติบโตราว 37% จากปี 2558 (ปี 2557 กำไรสุทธิรวมรายการพิเศษจะหดตัวราว 10.8% จากปี 2556)
ทั้งนี้ SAMART (FV@B 32) ถือหุ้นใน SAMTEL 70% จึงน่าจะได้รับผลดีตามไปด้วย โดยคาดว่าผลกำไรจะฟื้นตัวแรงในงวด 2H57 และปี 2558 น่าจะสามารถสร้างการเติบโตกำไรได้ 20% และ 15% ในปี 2559 จึงยังคงชื่นชอบหุ้น SAMART (ติดตามอ่านรายงาน Initial Coverage หุ้น SAMTEL ได้ใน Equity Talk ฉบับวันนี้)
TTCL รับงาน RAPID มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
TTCL ได้รับงานก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมี โครงการ Utility for Steam Cracker Complex in Refinery and Petrochemicals Integrated Development (RAPID) Project ในประเทศมาเลเซีย โดยเป็นการรับช่วงงานต่อจาก TOYO Engineering Corporation ขอบเขตของงานประกอบไปด้วย การออกแบบวิศวกรรม จัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์วัสดุ ก่อสร้างโรงงาน และทดสอบการเดินเครื่อง ระยะเวลาการก่อสร้าง ประมาณปี 2557-2562 นับเป็นการเซ็นสัญญารับงานโครงการ RAPID Project ในมาเลเซีย นับเป็นงานใหญ่ งานแรกในปีนี้ของ TTCL และถือเป็นงานที่มีมูลค่าสูงสุดที่ TTCL เคยได้รับมา ประเมินมูลค่างานเบื้องต้น น่าจะอยู่ในช่วง 400-500 ล้านเหรียญฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด 2,320 ล้านเหรียญ ที่ TOYO Engineering ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TTCL ได้รับมา ทำให้ Backlog ของ TTCL เพิ่มขึ้นจาก 1.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้น 2Q57 มายืนเหนือระดับ 3 หมื่นล้านบาท
โดยช่วงที่เหลือของปี TTCL ยังมีลุ้นรับงานใหญ่อีก 2 โครงการ คืองานก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในเวียดนาม มูลค่าประมาณ 100-200 ล้านเหรียญฯ และโรงงานส่วนต่อขยายโรงแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดในกาตาร์อีก 220 ล้านเหรียญฯ หาก TTCL ได้รับเข้ามาทั้งหมด ก็จะทำให้ TTCL มี Backlog ที่มั่นคงอย่างมากสำหรับการสร้างรายได้ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า โดยเชื่อว่าผลประกอบการนับจากนี้ไปของ TTCL จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากรายได้ของธุรกิจหลักคือการรับเหมาก่อสร้าง และรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยปี 2558 จะเป็นปีแรกที่โรงไฟฟ้า Ahlone กำลังการผลิต 120 MW จะเดินเครื่องจักรเต็มที่ ซึ่งน่าจะสร้างกำไรให้กับ TTCL ได้ราว 250-300 ล้านบาท/ปี รวมไปถึงโรงไฟฟ้านวนคร ที่จะเริ่มจ่ายเงินปันผลให้กับ TTCL ประมาณ 65 ล้านบาท/ปี เป็นปีแรก ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2557 ไว้ที่ 604 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 1,066 ล้านบาท ในปี 2558 โดยให้คำแนะนำ ซื้อ ประเมิน Fair Value ด้วยวิธี Sum of the Part ให้ราคาเหมาะสมปี 2557 ที่ 37.46 บาท และเพิ่มเป็น 41.95 บาทในปี 2558