WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 
กลยุทธ์การลงทุน
  SET อยู่ภายใต้ 1600 จุด Fund Flow ยังไหลออก ตราบที่การขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และสงครามการค้าที่ยังกดดันเศรษฐกิจโลก หากสหรัฐฯยังเพิ่มมาตรการภาษีและมิใช่ภาษีกับจีน กระทบประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทยและมาเลเซีย กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้น Domestic ที่มี P/E ต่ำ เงินปันผลสูง และหุ้นปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น (BBL, KBANK) สาธารณูปโภค (RATCH, TTW, EASTW) อาหาร-ส่งออกได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า (CPF, TU, GFPT) Top picks: BBL(FV@B220) และ KBANK(FV@B227)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ….SET ผันผวน ยังต่ำกว่า 1,600  
  วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งผันผวนตลอดวัน  โดยระหว่างวันบวก 10 จุด ก่อนจะร่วงเกือบ 15 จุด และขึ้นมาปิดที่ 1595.58 จุด ลดลง 3.96 จุด หรือ 0.25% มูลค่าการซื้อขาย 6.45 หมื่นล้านบาท ดัชนีถูกแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มปิโตรฯ อย่าง PTTGC ปิดที่ 73 (-4.26%) ทำ low ในรอบ 8 เดือน  ทั้งนี้เพราะ  GGC (PTTGC ถือหุ้น 72.3%) อาจต้องตั้งสำรอง 2.1 พันล้านบาท ในงวด 2Q61  ซึ่งเป็นมูลค่าเท่ากับ สินค้าคงคลังที่หายไป  ตามข่าวที่ GGC แจ้งตลาดหลักทรัพย์  กดดันให้ราคาหุ้น GGC ปรับตัวลงมาแรง 24.18%  ปิดที่ 9.25 บาท ต่ำกว่าราคา IPO ที่ 11.2 บาท  ขณะที่หุ้นใหญ่ฟื้นตัว 2 กลุ่มหลักคือ  พลังงานทั้ง  PTT และ  PTTEP ปรับตัวขึ้นมา 1.05% และ 2.94% และ  ธ.พ. คือ  KBANK,  SCB,  BBL    เช่นเดียวกับหุ้นส่งออกกลุ่มชิ้นส่วน ฯ  ที่ปรับตัวขึ้นแรงสวนทางตลาด (DELTA, KCE,  HANA)
  แนวโน้มดัชนีตลาดวันนี้ ยังคงผันผวนต่ำกว่า 1600 จุด ปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อตลาดฯ คือ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย เพื่อให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ที่คาดว่าจะแตะ 1.7%  ส่วน พรบ. วินัยการเงินการคลัง ฉบับใหม่  กดดันการลงทุนภาครัฐล่าช้า  และผลกระทบจากการกีดการค้าของสหรัฐต่อจีน โดยเพิ่มมาตรการมิใช่ภาษี ยังกดดัน เศรษฐกิจโลก และไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ไทยอาจแตะ 1.72% กดดันขึ้นดอกเบี้ย 4Q61
  วันนี้ คาดกระทรวงพาณิชย์จะรายงานเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 1.72% (ASPS vs ตลาดคาด 1.54%) จาก 1.49% ในเดือน พ.ค. และจะเร่งเป็น 1.8%  และ 1.9% ในเดือน ก.ค. และ ส.ค.  พร้อมแตะ 2% ใน ก.ย. และ 2.35% ใน ธ.ค. ผลจากราคาน้ำมับดิบที่เพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิน 33 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้เงินเฟ้อจะห่างจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยปัจจุบัน  1.5% จึงคาดว่า กนง. น่าจะเริ่มส่งสัญญาณสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากที่ใช้นโยบายผ่อนคลายนานเกือบ 7 ปี 
  ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยฯ ช้ากว่าภูมิภาค ล่าสุด วันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลาง อินโดนีเซียได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของปีนี้ 0.5% เป็น 5.25% สูงกว่าที่ตลาดคาดจะขึ้นราว 0.25% เนื่องจากค่าเงินรูเปียะห์อ่อนค่า 7.8% (จากจุดต่ำสุดเมื่อ 25 ม.ค. 2561) กดดันราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อสูง 3.23% ในเดือน พ.ค. นับเป็นประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดในเอเซีย 
  ก่อนหน้านี้ฟิลิปปินส์ขึ้นดอกเบี้ยฯ 2 ครั้งรวม 0.5% เป็น 3.5% เพราะเนื่องจากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอยู่ที่ 4.5% เกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ตั้งไว้ราว 31% ตามมาด้วย มาเลเซียขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อ ม.ค. 2561 0.25% เป็น 3.25% (ครั้งแรกในรอบ 3 ปี) เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ขึ้นเร็ว 3.7%yoy, และอินเดียขึ้นดอกเบี้ยเมื่อปลาย พ.ค. (ครั้งแรกในรอบ 4 ปี)  0.25% เป็น 6.25% เพราะเงินเฟ้อเดือน เม.ย. พุ่งขึ้น 4.58% จาก 4.2% (สูงกว่าเป้าหมาย 4.0%)  ซึ่งหากไทยขึ้นดอกเบี้ยล่าช้า ผลกระทบที่ตามมาคือ เงินบาทจะยิ่งอ่อนค่า กดดันสินค้านำเข้าและเงินเฟ้อในที่สุด
สหรัฐจะมีท่าทีลดการแข็งกร้าวลงหรือไม่ มีผลต่อตลาดหุ้นโลก  
  สงครามการค้ายังเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักกดดันตลาดหุ้นโลก  แม้ว่ามาตรการที่มิใช่ภาษี (Non Tariff) ของสหรัฐที่จะบังคับใช้กับจีน ถูกเลื่อนการประกาศรายละเอียดออกไปก่อน ทั้งนี้สหรัฐจะกีดกัน  บริษัทต่างชาติที่มีสัญชาติจีนถือหุ้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไป เข้าซื้อหุ้นบริษัทสหรัฐในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสำคัญ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่, หุ่นยนต์ และอากาศยาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผน พัฒนาเศรษฐกิจจีนตั้งไว้ หรือ  Made in China 2025  เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยยังเป็นประเด็นที่ให้น้ำหนัก
  ขณะที่มาตรการที่เป็นภาษี (Tariff)  มีผล 6 ก.ค. นี้ โดยขึ้นภาษีนำเข้ารอบแรก 25% วงเงิน  3.6 หมื่นล้านเหรียญ ส่วนที่เหลือจะทยอยประกาศจนครบ 2.5 แสนล้านบาท ตามแผนที่เสนอไปแล้ว หากสหรัฐยังเดินหน้าประกาศเพิ่มเติม คาดจะส่งผลกระทบต่อจีนมากที่สุด โดยเฉพาะฝั่งผู้ผลิต ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ผู้ผลิตโทรคมนาคม เป็นต้น ขณะฝั่งผู้ผลิตสหรัฐที่กระทบมากสุด คือ ภาคเกษตร ได้แก่ ผู้ผลิตถั่วเหลืองและผู้เลี้ยงสุกร และภาคอุตสาหกรรม คือ อากาศยาน, ยานยนต์ เช่นเดียวกับ ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายน่าจะกระทบมากสุด คือ สหรัฐ เพราะต้องจ่ายสินค้าแพงขึ้น 
  หากสหรัฐเพิ่มการกีดกัน non-tariff อีกทางหนึ่ง คาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจและการค้าโลก มากขึ้น และในวงกว้าง เพราะจีนค้าขายกับประเทศในแถบเอเชีย 50% ของการค้าทั้งหมด ประเทศที่พึ่งพาการส่งออก เช่น ไทย และ มาเลเซีย ไม่น่าจะหลีกเลี่ยงผลกระทบได้  แต่อย่างไรก็ตาม ติดตามท่าทีของ สหรัฐ จะผ่อนคลายลงหรือไม่ หากผ่อนคลายจริง เชื่อว่าทุกอย่างจะย้อนกลับเป็นทางด้านบวก  
ซาอุดิอาระเบีย อาจไม่สามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันตามสหรัฐขอ 
  ราคาน้ำมันดิบโลกยังยืนเหนือ 70 เหรียญฯ โดยปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐต้องการให้ซาอุดิอาระเบีย (ผลิตน้ำมันวันละ 10 ล้านบาร์เรลราว  31.4%ของกำลังการผลิตกลุ่ม OPEC)  เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก  2 ล้านบาร์เรล/วัน  เพื่อชดเชยส่วนที่หายไปหลังจากที่สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่าน(ผลิตวันละ 3.81 ล้านบาร์เรลราว 11.9%) และเวเนซุเอล่า (ผลิตวันละ 1.4 ล้านบาร์เรล หรือราว  4.5%)
เชื่อว่าซาอุดิอาระเบียจะไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตตามคำขอจากสหรัฐได้  เนื่องจากถือเป็นการผิดข้อตกลงควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน OPEC  ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ กำลังการผลิตของสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้มีโอกาสที่จะเกิด Oversupply อีกครั้ง
  ยิ่งไปกว่านั้น Dollar Index แม้ช่วงสั้นอาจชะลอลง แต่แข็งค่าต่อเนื่องราว 2.74%นับตั้งแต่ต้นปี  จากดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐในอัตราเร่ง และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกหากสงครามการค้ายืดเยื้อน่าจะกดดันราคาน้ำมันดิบในระยะถัดไป (ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ย ytd 68.09 เหรียญฯ) และน่าจะกดดันหุ้นน้ำมันที่ราคาหุ้นใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี Upside จำกัด คือ PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137) ยกเว้นหุ้นถ่านหินที่ยังมี upsideคือ  BANPU([email protected])
คาดเดือน ก.ค. แรงขายต่างชาติชะลอลง และเริ่มสลับมาซื้อหุ้นไทยบ้าง
  ตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ปรับฐานลงมาแรง ทำให้วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นครั้งแรก หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 15 วัน ด้วยมูลค่า 350 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทุกประเทศ (ซื้อสุทธิพร้อมกันล่าสุดเมื่อ 23 ม.ค. 61) เริ่มจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 206 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิวันเดียว), ไต้หวัน 23 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเป็นวันที่ 12), ตามมาด้วยกลุ่ม TIP อย่าง อินโดนีเซีย 25 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเป็นวันที่ 10), ฟิลิปปินส์ 10 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 85 ล้านเหรียญ หรือ 2.82 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 1.30 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว)
  สรุป Fund Flow เดือน มิ.ย. 61 พบว่า ประเด็นสงครามการค้ายืดเยื้อ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ถูกแรงเทขายหนักถึง 6.18 พันล้านเหรียญ (เป็นเดือนที่ถูกขายมากสุดเป็นอันดับ 2 ในปีนี้ รองจากเดือน ก.พ. 61) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ รวมถึงไทยที่ถูกขายสุทธิ 1.50 พันล้านเหรียญ หรือ 4.86 หมื่นล้านบาท (รายละเอียดดังตารางด้านล่าง)
  แนวโน้ม Fund Flow เดือน ก.ค. 61 คาดว่าแรงขายจากต่างชาติในหุ้นไทยน่าจะชะลอลง และการสลับมาซื้อบ้าง เนื่องจากสัดส่วนการถือครองที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงตลาดหุ้นที่ปรับฐานลงมาแรง และน่าจะสะท้อนข่าวร้ายไปในระดับหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ที่ต่างชาติซื้อสุทธิเฉลี่ยราว 4.39 พันล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิถึง 7 ใน 10 ปี หนุน SET Index เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.13%
ให้น้ำหนักหุ้นธนาคาร จากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น  
  ตามที่ฝ่ายวิจัยประเมินว่า โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 4Q61 มีความเป็นไปได้มากขึ้น ฝ่ายวิจัยยังคงประเมินว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์ชัดเจนภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยช่วงปลายสัปดาห์หน้าจะเข้าสู่การรรายงานงบฯ 2Q61 ของกลุ่มฯ ซึ่งนักวิเคราะห์ได้ประเมินถึงกำไรสุทธิกลุ่มฯ อยู่ที่ 4.66 หมื่นล้านบาท หดตัวถึง 11.0% qoq แต่เพิ่มขึ้น 2.8% yoy โดยรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงถึง 10.7%qoq และ 0.6%yoy จากธุรกรรม online ที่หายไปจากกลุ่ม ธ.พ. ใหญ่ ส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิทรงตัว qoq แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.6%yoy ขณะที่ NIM ลดลงเนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตเป็นสินเชื่อขนาดใหญ่ที่ yield ต่ำ อีกทั้งค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น ด้านคุณภาพสินทรัพย์ประเมินว่ายังทรงตัว โดย ธ.พ. ที่กำไรสุทธิ 2Q61 หดตัวแรง คือ KBANK, SCB, TISCO ส่วน ธ.พ. ที่กำไรสุทธิหดตตัวไม่มากนัก คือ KKP, LHFG, TCAP
  ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงาน 3Q61 คาดจะฟื้นตัวจากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการลงทุนและการใช้จ่ายของภาคเอกชนและภาครัฐ ช่วยหักล้างผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่ยังเป็นทิศทางลงต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว จะหนุน NIM ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากโครงสร้างสินเชื่อของ ธ.พ.ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 56% จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่าทุก 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยตลาดที่ปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 5.6% จึงยังแนะนำ BBL(FV@B220) ที่ได้รับผลบวกสูงสุด กรณีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มฯ ที่ 8.1% ส่วน KBANK (FV@B227) ราคาหุ้นปรับฐานสะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว ทั้งยังปรับกลยุทธ์เน้นการหารายได้ค่าธรรมเนียมอื่นมาทดแทน ผลักดันการเพิ่มรายได้ดอกเบี้ย และเร่งลดต้นทุน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าธรรมเนียมฯ
 
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO10661

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!