- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 29 June 2018 15:48
- Hits: 4208
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ศึกนอกยังไม่จบ ศึกในมาอีก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายฯ กลั่นกรองการลงทุนภาครัฐอีก 1 ขั้นตอน ทำให้การลงทุนภาครัฐล่าช้าออกไป จึงลดน้ำหนักหุ้นรับเหมาก่อสร้างเป็นน้อยกว่าตลาด เป็นอีกปัจจัยหนึ่งกดดัน SET Index ต่ำกว่า 1600 จุด กลยุทธ์ลงทุนเน้นหุ้น Domestic ที่มี P/E ต่ำ เงินปันผลสูง และหุ้นปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น (BBL, KBANK) สาธารณูปโภค (RATCH, TTW, EASTW) อาหาร-ส่งออกได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า (CPF, TU, GFPT) Top picks: RATCH (FV@B61), DTAC (FV@B68) และ GFPT(FV@B14)
ย้อนรอยหุ้นไทยวานนี้ ….SET index ดิ่ง หลุด 1,600 จุด
วานนี้ SET Index ยังแกว่งตัวผันผวน แม้ช่วงเช้าดัชนีเปิดโดดกว่า 5 จุด แต่ระหว่างวันยังมีแรงขายกดดันดัชนีลงมาปิดที่ 1,599.54 จุด ลดลง 19.12 จุด หรือ 1.18% มูลค่าการซื้อขาย 5.7 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมเป็นการปรับลงเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดย หุ้นขนาดใหญ่กลุ่ม ธ.พ. SCB ปรับตัวลงต่ออีก 4.47% ตามด้วยกลุ่ม ICT ลดลงแรงทั้ง TRUE และ DTAC ขณะที่รายหุ้นที่ปรับตัวลงแรงอย่าง BEAUTY ร่วงต่ออีก 12.32% ปิดที่ 12.10 ต่ำสุดในรอบกว่า 10 เดือน ตามด้วย PSH ลดลงแรง 4.93% ขณะที่หุ้นน้ำมัน PTT PTTEP แม้จะยังยืนแกร่งเหนือตลาดได้ในช่วงเช้า แต่ช่วงบ่ายกลับไม่สามารถพยุงตัวได้ กดตลาดลงเช่นกัน
แนวโน้มดัชนีตลาดวันนี้ ยังคงเดินหน้าลงใต้ต่ำกว่า 1600 จุด ให้น้ำหนักการลงทุนภาครัฐล่าช้าต่อไป จาก พรบ. วินัยการเงินการคลัง ฉบับใหม่ที่ออกเดิม เม.ย. แต่เพิ่งประกาศให้โลกรู้วานนี้ โดยเพิ่มขั้นตอนการคัดกรองโครงการลงทุนอีก 1 ขั้นตอน โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังเข้ามาด้วย เป็นอีกปัจจัยหนึ่งกดดันตลาดหุ้นไทย นอกเหนือจาก สงครามการค้าโลก
อินโดนีเซีย มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3, เงินเฟ้อไทย เดือน มิ.ย. น่าจะแตะ 1.72%
อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ผลจากต้นทุนน้ำมันดิบที่ยืนเหนือ 70 เหรียญฯ กดดันให้ธนาคารกลางโลกเดินหน้าใช้นโยบายการเงินตึงตัว โดยฝั่งเอเซีย วันนี้จะมีประชุม ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) คาดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของปีนี้ คือ 0.25% เป็น 5.0% เพราะค่าเงินรูเปียะห์อ่อนค่า 8.03% (จากจุดต่ำสุดเมื่อ 25 ม.ค. 2561) กดดันให้ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น และเงินเฟ้อสูง 3.23% ในเดือน พ.ค. เป็นการขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดในเอเซีย
ก่อนหน้านี้ฟิลิปปินส์ขึ้นดอกเบี้ยฯ 2 ครั้ง 0.5% เป็น 3.5% เพราะเนื่องจากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอยู่ที่ 4.5%yoy เกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ตั้งไว้ราว 31% ตามมาด้วย มาเลเซียขึ้นดอกเบี้ยไป เมื่อ ม.ค. 2561 0.25% เป็น 3.25% (ครั้งแรกในรอบ 3 ปี) เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ขึ้นเร็ว 3.7%yoy, และอินเดียขึ้นดอกเบี้ย เมื่อปลาย พ.ค. (ครั้งแรกในรอบ 4 ปี) 0.25% เป็น 6.25% เพราะเงินเฟ้อเดือน เม.ย. พุ่งขึ้น 4.58% จาก 4.2% (สูงกว่าเป้าหมาย 4.0%)
ส่วนไทย 2 ก.ค. จะรายงาน เงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. ASPS คาดจะอยู่ที่ 1.72 % จาก 1.49% ในเดือน พ.ค.และจะเร่งเป็น 1.8% และ 1.9% ในเดือน ก.ค. และ ส.ค. พร้อมแตะ 2% ใน ก.ย. และ 2.35% ใน ธ.ค. ผลจากราคาน้ำมับดิบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะห่างจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ 1.5% จึงคาดว่าการประชุม กนง. ที่เหลืออีก 4 ครั้งในปีนี้ น่าจะส่งสัญญาณสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายที่กินเวลานานเกือบ 7 ปี และหากไทยขึ้นดอกเบี้ยล่าช้า ผลกระทบที่จะตามมาคือ เงินบาทจะยิ่งอ่อนค่า กดดันสินค้านำเข้า และกดดันเงินเฟ้อในที่สุด
พรุ่งนี้ ติดตามสหรัฐฯ เตรียมออกมาตรการจำกัดการลงทุนจากจีนเพิ่ม
ต่างประเทศยังให้น้ำหนักยังคงเป็นสงครามการค้าโลก พรุ่งนี้ 30 มิ.ย. คาดสหรัฐเตรียมออกมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non Tariff) ต่อจีน คือ คาดห้ามบริษัทที่คนจีนถือหุ้นเกิน 25% เข้าซื้อหุ้นบริษัทในสหรัฐในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสำคัญ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่, หุ่นยนต์ และ อากาศยาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผน พัฒนาเศรษฐกิจจีนตั้งไว้ หรือ Made in China 2025 เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยก่อนหน้าสหรัฐใช้มาตรการภาษี(Tariff) คือ ขึ้นภาษีนำเข้า จีน 25% วงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญฯ จากแผนที่ประกาศไว้วงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญฯ แต่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า 5 หมื่นล้านเหรียญฯ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการตอบโต้ เนื่องจากปี 2560 จีนนำเข้าจากสหรัฐเพียง 1.05 แสนล้านเหรียญ ขณะที่สหรัฐนำเข้าจากจีนถึง 5.05 แสนล้านเหรียญ)
ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยังมีอยู่ ตราบที่สหรัฐยังมี ท่าทีแข็งกร้าวต่อหรือไม่ ผลกระทบมิใช่มีต่อจีน แต่สหรัฐ ทั้งฝั่งผู้ผลิตและ ผู้บริโภค (ต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นผลักดันอัตราเงินเฟ้อ) และคู่ค้าในเอเชีย ที่เป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบ (Supply Chain) ให้กับจีน จะกระทบทางอ้อม ซึ่งผลน่าจะชัดเจนขึ้นในปี 2562 แต่ตรงกันข้ามหากสหรัฐ ลดท่าทีแข็งกร้าวลง ทุกอย่างจะย้อนกลับ
พรบ. วินัยการเงินการคลังฯ ฉบับใหม่ ถ่วงการลงทุนภาครัฐ กระทบกลุ่มรับเหมาฯ
งานประมูลโครงการภาครัฐมีแนวโน้มชะลอตัว หลังจาก พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้การขออนุมัติโครงการต่างๆ ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังเพิ่มขึ้นอีกขั้นตอนหนึ่ง ทั้งในส่วนของความคุ้มค่าด้านการเงิน และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเปิดประมูล
ฝ่ายวิจัยประเมินถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังมีโอกาสเปิดประมูลได้ทันภายในปีนี้ พบว่ามีอยู่ราว 4.7 แสนล้านบาท จาก 8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านการพิจารณาการคณะกรรมการฯ ชุดนี้แล้ว หรือผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว ได้แก่
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 236,700 ล้านบาท : อยู่ระหว่างเปิดขายซองประกวดราคาถึงวันที่ 9 ก.ค. กำหนดรับซองเสนอราคา 12 พ.ย. และประกาศารายชื่อผู้ชนะการประมูล 13 พ.ย. 2561
2. โครงการทางด่วนดาวคะนอง-พระราม 3 มูลค่า 31,244 ล้านบาท : อยู่ระหว่างกทพ. สรุปผลเพื่อเปิดขายซองประกวดราคา
3. งานระบบเก็บค่าโดยสารมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่ารวม 13,000 ล้านบาท : กรมทางหลวงเตรียมประกวดราคา
4. รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 101,112 ล้านบาท : เตรียมเปิดประมูลใน 4Q61
5. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 และ 3 มูลค่า 12,700 ล้านบาท
แม้ว่าการเปิดประมูลภาครัฐจะล่าช้า แต่เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรของกลุ่มรับเหมาฯ ในปี 2561-62 อย่างมีนัยฯ เนื่องจากผู้รับเหมารายใหญ่ล้วนมี Backlog รองรับรายได้ในช่วง 2-4 ปีต่อจากนี้ (ล่าสุด Backlog รวมกันอยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท)
นอกจากนี้ยังมีการรับงานภาคเอกชน ทั้งคอนโดมิเนียม และงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี ทำให้เชื่อว่าคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2561 ยังมีความเป็นไปได้ (เติบโตถึง 601%yoy จากฐานที่ต่ำในปีก่อน) แต่อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนสำคัญของราคาหุ้นในกลุ่มฯ จะมาจากความคาดหวังเกี่ยวกับงานประมูลภาครัฐเป็นหลัก ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็น sentiment เชิงลบ และทำให้กลุ่มรับเหมาฯ มีความน่าสนใจน้อยลงในระยะนี้
ASPS จึงปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มฯ จากเดิม “เท่ากับตลาด” เป็น “น้อยกว่าตลาด” และอยู่ในระหว่างการพิจารณามูลค่าพื้นฐานหุ้นเป็นรายบริษัท อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและมี backlog อยู่ในมือจำนวนมาก คือ STEC (FV@B25) และ SEAFCO ([email protected])
การลงทุนภาครัฐล่าช้า แต่ภาครัฐยังคงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตใกล้เต็มที่
แม้ปัญหาการลงทุนภาครัฐจะล่าช้า (ราว 6% ของ GDP)แต่การลงทุนเอกชน(ราว 17% ของ GDP)ยังส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจาก ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ช่วง 1Q61 เพิ่มขึ้นถึง 247%yoy อยู่ที่ 2.05 แสนล้านบาท จาก 5.9 หมื่นล้านบาท ใน 1Q60 และคิดเป็น 28.5% ของเป้า BOI ในปี 2561 ที่ตั้งไว้ราว 7.2 แสนล้านบาท ประกอบกับภาคอุตสาหกรรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มต่อเนื่อง 4 ไตรมาส และสูงกว่า 80% ซึ่งมีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรม, ยานยนต์, ปิโตรเลี่ยม, จักรยานยนต์, คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่อย่างไรก็ตามน้ำหนักต่อ GDP ของภาครัฐจะน้อยกว่าของเอกชน จึงส่งผลกระทบต่อ GDP ไม่มากนัก
กสทช. ให้ DTAC ปิดใช้งานคลื่น 2300 MHz ตามแนวเส้นทาง BTS ชั่วคราว
ข่าวด้านลบออกมากดดันตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมอยู่ต่อเนื่อง ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาหุ้น DTAC ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีข่าวการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz จะทำให้ DTAC สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการใกล้เคียงกับคู่แข่งขัน แต่ก้กลับโชคร้าย เมื่อรถไฟฟ้า BTS เกิดขัดข้องจากการรบกวนการใช้ คลื่น 2300MHz ซึ่งเป็นคลื่นใหม่ที่ DTAC เพิ่งทำสัญญาเช่าใช้ งานจาก ToT (7 ปี คือ 2561-2568 ปีละ 4500 ล้านบาท หลังจากนี้ต้องส่งมอบคืนคลื่นให้กับ กสทช ในฐานะที่เป็นผู้บริหารและจัดการคลื่นความถี่ของประเทศ) ซึ่งเป็นคลื่นที่ใกล้เคียงกับระบบอาณัติสัญญาณ BTS ปัจจุบันใช้คลื่นสาธารณะ 2400 MHz ที่ไม่ได้จ่ายเงินให้รัฐ (เป็นย่านความถี่ใกล้กับช่วงบนของแถบคลื่น 2370 MHz)
ล่าสุด คือ กสทช. ได้ขอให้ BTS ย้ายไปใช้งานคลื่นความถี่ 2400 MHz ช่วงปลาย คือ 2480-2495 MHz รวมถึงการติดฟิลเตอร์ (อุปกรณ์ลดการรบกวน) เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งคาดว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จ 29 มิ.ย. 61 ในระหว่างนี้ขอให้ DTAC ปิดการใช้งาน 2300 MHz ตามสถานีฐานบนแนวทางเส้นทาง BTS ชั่วคราว 2 วัน ซึ่งกระทบการให้บริการ 4G เฉพาะจุดเท่านั้น การให้บริการ 4G บนคลื่นอื่น คือ 1800 และ 2100 MHz ยังให้บริการอยู่ โดยภาพรวมคงประมาณการและมูลค่าพื้นฐานเดิม โดยยังให้น้ำหนัก กับโอกาสการเข้าร่วมประมูลคลื่นใหม่ คาดจะขจัดความกังวลการเสียลูกค้าช่วงเปลี่ยนผ่าน และหนุนหุ้นกลับมา Outperform ได้ จึงยังแนะนำ ซื้อ
ต่างชาติขายหุ้นทุกประเทศในภูมิภาค
วานนี้ต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกัน 15 วัน ด้วยมูลค่า 589 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค นำโดย เกาหลีใต้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 241 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามด้วยตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิต่อเนื่องอีก 228 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 12), อินโดนีเซีย 49 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 10), ฟิลิปปินส์ 7 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และสำหรับไทยต่างชาติขายสุทธิอีก 64 ล้านเหรียญ หรือ 2.12 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 1.65 พันล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้สถาบันขายสุทธิ มูลค่ารวม 412 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ ด้วยมูลค่า 2.39 พันล้านบาท ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของไทยยังแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 2.77% ส่วน Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐฯ ล่าสุดอยู่ที่ 2.84%
เปิดโผ 9 หุ้นเด่น เสริมเกราะป้องกันแรงขายจากกองทุน
กระแสเงินทุนต่างชาติเคยเป็นแรงผลักดันหลัก และส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยมากกว่าเม็ดเงินจากกองทุน สังเกตได้จากมูลค่าซื้อขายสะสมของต่างชาติมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) กับดัชนี SET สูงถึง 0.8 ในอดีต (ช่วงปี 2548 ถึง กลาง มี.ค. 2556) อย่างไรก็ตามแรงขายหุ้นไทยจากต่างชาติที่มีมาต่อเนื่อง นับตั้งแต่จุดสูงสุดช่วง กลาง มี.ค. 2556 จนถึงปัจจุบัน กว่า 5.6 แสนล้านบาท (ปรับตามมูลค่าตลาด) โดยเฉพาะปีนี้ถูกขายหนักถึง 1.8 แสนล้านบาท (ytd) ทำให้แรงซื้อจากกองทุนไทยเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยพยุง SET Index แทน สังเกตได้จากมูลค่าการซื้อขายของกองทุนมีความสัมพันธ์กับตลาดฯ สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วง 1 ถึง 2 ปี ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายของกองทุนมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) กับดัชนี SET สูงถึง 0.93 (ยิ่งเข้าใกล้ 1 ยิ่งสัมพันธ์กันมาก) จากที่เคยติดลบ 0.82 ในอดีต (ช่วงปี 2548 ถึง กลาง มี.ค. 2556)
อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยภายนอกที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทย ทำให้กองทุนมีสถานะถือเงินสดมากขึ้น จากปกติถือครองเงินสดที่ระดับ 2-3% แต่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% (ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือน เม.ย. 61)
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรงจนมีค่า P/E สูง พร้อมกับกองทุนมีสถานะถือครองอยู่เยอะ แต่ตราบใดที่กำไรไม่เป็นไปตามคาด จะมีความเสี่ยงถูกขายทำกำไรสูง เช่น GPSC ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 60 ถึงปัจจุบัน (ระยะเวลาเกือบ 1 ปีครื่ง) กว่า 88.6%, ERW 47.8%, ASAP 47.1%, COM7 33.6%, M 28.6%และ BEAUTY 23.1% เป็นต้น ขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้นมาเพียง 5.3% (ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 26 มิ.ย. 61) และทั้ง 6 บริษัท ปัจจุบันมีสัดส่วนการถือครองจากกองทุนไทยสูงเกินกว่า 4%
กลยุทธ์การลงทุนแนะนำสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่กองทุนถือน้อยกว่า 3% และราคาปรับฐานลงมาแรงกว่า SET Index ในปีนี้ (ytd) คือ (MINT, KBANK, TCAP, SIRI, ANAN, JWD, EPG) และ (STEC, TPIPL)แต่หุ้นก่อสร้างแนะสะสมเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากระยะสั้นมีประเด็นงานก่อสร้างภาครัฐคงอาจจะล่าช้าออกไปอีก หลัง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการลงทุนภาครัฐอีก 1 ขั้นตอน ส่วนรายละเอียดทั้งหมด สามารถติดตามอ่านได้ในบทวิเคราะห์ Quantitative Analysis ในวันที่ 28 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO10607