- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 22 June 2018 18:33
- Hits: 4253
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สงครามการค้าขยายตัวในวงกว้าง กระทบต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้น ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับฐานสะท้อนความกังวลไประดับหนึ่งจนมี P/E ต่ำกว่า 15 เท่า ถือเป็นจังหวะทยอยสะสม กลยุทธ์การลงทุน ให้เน้นหุ้นปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น (BBL, KBANK, PLANB) หรือหุ้นสาธารณูปโภค (RATCH, TTW, EASTW) และลดน้ำหนักหุ้น Global ที่มี upside จำกัด Top picks BBL (FV@B220) และ RATCH (FV@B61)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้...SET Index ไปต่อไม่ไหว กลับมาร่วงหนักอีกครั้ง
วานนี้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงหนักอีกครั้ง ระหว่างวันลงทำจุดต่ำใหม่ของปีที่ 1,629.26 จุด ก่อนจะฟื้นขึ้นมาเล็กน้อยและปิดตลาดที่ 1,634.58 จุด ลดลง 29.82 จุด หรือ -1.79% มูลค่าการซื้อขายกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท ตลาดยังอยู่ในภาวะเปราะบางท่ามกลางปัจจัยลบรายล้อม โดยกลุ่มหุ้นที่ลดลงหนัก คือ กลุ่มพลังงาน (PTT, PTTEP, PTTGC) กลุ่ม ICT, กลุ่ม ธ.พ. รวมถึงหุ้นรายตัว SCC ปรับลงอีก 2.86% สวนทางกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนฯ KCE, HANA บวกรับอานิสงส์บาทอ่อน แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่วนหุ้น LH เพิ่มขึ้นถึง 4.55% จากคุณอนันต์ อัศวโภคิณ ยื่นความประสงค์ทำ Tender Offer ที่ราคา 11.80 บาท คาดไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐาน
คาด SET Index ยังผันผวน แนวรับ 1620 จุด แนวต้าน 1645 จุด ประเด็นสงครามการค้าที่แผ่ขยายวงกว้างยังถือเป็นความเสี่ยงกดดันภาวะการลงทุน ขณะที่ราคาน้ำมันมีโอกาสอ่อนตัวลงต่อจากการที่กลุ่ม OPEC ปรับเพิ่มกำลังการผลิต กลยุทธ์การลงทุนจึงให้สลับมาพักเงินในหุ้นที่เสมือนถือเงินสด และทยอยสะสมหุ้น Domestic หลีกเลี่ยงหุ้น Global ในระยะนี้ไปก่อน
สงครามการค้าแผ่ขยายวงกว้าง...ทุกประเทศรวมตัวกันขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้สหรัฐ
สงครามการค้าโลกยังขยายตัวในวงกว้าง เพราะนอกจากจีนแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีนโยบายตอบโต้การค้าสหรัฐ อาทิ ยุโรป, เม็กซิโก, แคนาดา, รัสเซีย และล่าสุดเมื่อวานนี้ คือ อินเดีย และตุรกี ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าต่อสหรัฐ หลังจากถูกขึ้นภาษีนำเข้า (Safe Guard) เหล็กและอลูมิเนียม 25 % ไปช่วงปลายเดือน มี.ค.
การที่ทุกประเทศรวมตัวกันขึ้นภาษีนำเข้ากดดันสหรัฐ ทำให้เชื่อว่าสหรัฐอาจต้องทบทวนท่าทีจะเดินแข็งกร้าวต่อหรือไม่ ถ้ายังเดินหน้าแข็งกร้าวต่อเชื่อว่าสหรัฐจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะฝั่งผู้ผลิตในสหรัฐ และผู้บริโภคยังกระทบพอๆ กัน เพราะต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นผลักดันอัตราเงินเฟ้อ และกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งคาดว่าผลลบจะชัดเจนขึ้นในปี 2562 แต่อีกทางหนึ่งถ้าผ่อนคลาย คือ สหรัฐไม่มีท่าทีแข็งกร้าว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะจำกัด และลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน (Global Economic Outlook ในวันนี้)
ส่งออกไทยขยายตัวติดต่อกัน 15 เดือน แต่หลังจากนี้ต้องระวังผลจากสงครามการค้า
กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกไทยเดือน พ.ค. ขยายตัว 11.4%yoy ที่ 2.23 หมื่นล้านเหรียญ (รูปบาทขยายตัว 1.3%yoy จากเงินบาทที่แข็งค่า) โดยมีปัจจัยหนุนจากตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวตั้งแต่ปี คือ ญี่ปุ่น, สหรัฐ, เวียดนาม, มาเลเซีย และออสเตรเลีย ส่วนจีน ขยายตัวต่อเป็นเดือนที่สอง หลังจากที่หดตัวไปเมื่อเดือน มี.ค. สินค้าส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ, คอมพิวเตอร์, เม็ดพลาสติก, เหล็ก, ข้าว และไก่ เป็นต้น ขณะที่นำเข้าในเดือนเดียวกัน ขยายตัว 11.7%yoy (รูปบาทขยายตัว 1.7%) ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออก เช่น เคมีภัณฑ์, เหล็ก, ส่วนประกอบยานยนต์และคอมพิวเตอร์
โดยรวมทำให้ยอดส่งออกและนำเข้า เฉลี่ย 5M61 ขยายตัว 11.5% และ 16.6% ยังสอดคล้องกับคาดการณ์ใหม่ปี 2561 ที่ ASPS คาด 8% และ 11% อย่างไรก็ตามสงครามการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัว ยังมีน้ำหนักต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 2H61
ประเด็นสงครามการค้า กดดันให้ต่างชาติยังเทขายหุ้นในภูมิภาค รวมถึงไทย
ความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้ายังกดดันให้ต่างชาติลดความเสี่ยงในการลงทุน และเดินหน้าขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ด้วยมูลค่า 621 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 421 ล้านเหรียญ (หลังจากสลับมาซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยไต้หวัน 241 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8), อินโดนีเซีย 59 ล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ 42 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 25 วัน) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 117 ล้านเหรียญ หรือ 3.84 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 14 มูลค่ารวมกว่า 4.44 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 1.16 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติขายสุทธิ 1.66 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) หนุน Bond Yield 10 ปี ของไทยขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.84% แต่ยังน้อยกว่าสหรัฐฯ ล่าสุดอยู่ที่ 2.93%
แนวโน้มตลาดและกลยุทธ์การลงทุน 3Q61...เลือกหุ้นปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น
ตลาดหุ้นโลกถูกกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งตัว จนทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐมีแนวโน้มเร่งตัวตามเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเร็วกว่าทุกสกุลที่เป็นคู่ค้าของโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ขึ้นดอกเบี้ยล้าช้ากว่า รวมถึงเงินบาท (เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ) อ่อนค่า 5% เพียงช่วง 2 เดือนเท่านั้น
ขณะที่เงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัว โดยคาดว่าจะแตะ 1.72% ในเดือน มิ.ย. จาก 1.49% ใน พ.ค. และขึ้นแตะ 2% ในเดือน ก.ย. พร้อมทำสถิติสูงสุด 2.35% สิ้นปีนี้ ทำให้คาดว่า กนง. มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ปีนี้ และ 0.5% ปีหน้า เป็น 1.75% และ 2.25% ตามลำดับ
นอกจากนี้การกีดกันการค้าที่ขยายวงกว้าง มิใช่เฉพาะสหรัฐ-จีน แต่ยังขยายตัวไปยัง แคนาดา ยุโรป และ เม็กซิโก ล่าสุดแผ่ขยายมายังตุรกีและอินเดีย น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าโลก โดยเฉพาะผู้ที่ค้าขายกับจีน ในฐานะที่เป็น Supply Chain น่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภายใต้ความเสี่ยงข้างต้น คาดว่าจะส่งผลต่อประมาณการกำไรตลาดปี 2562 ชัดเจนขึ้น แต่ยังคงกำไรสุทธิตลาดต่อหุ้น (EPS) ปี 2561 ที่ 110.7 บาท เติบโต 13%yoy (ปรับปรุงหลังรายงานงบ 1Q61) และยังกำหนดดัชนีเป้าหมายปี 2561 อิง P/E 16 เท่า ได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1,772 จุด (ลดลงจากครั้งที่แล้วที่ 1,798 จุด) มี upside ราว 7% จึงเป็นระดับที่จะเลือกสะสมเป็นรายหุ้น
กลยุทธ์การลงทุน ให้น้ำหนักการลงทุน 40% (เพิ่มจาก 30% เมื่อ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา) โดยเลือกหุ้นที่เติบโตในประเทศ (Domestic Play) เป็นหลัก และมีเกราะป้องกันดอกเบี้ยขาขึ้น คือ AMATA, BANPU, BBL, BJC, KBANK, LH, STEC และ TPIPL ติดตามอ่านรายละเอียดใน Invest Plus+3Q61
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO10375