- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 11 June 2018 23:04
- Hits: 2692
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดดัชนีหุ้นไทยยังถูกขังในกรอบ 1710-1730 จุด แรงกดดันยังมาจากการกีดกันการค้าโลกในวงกว้าง และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางโลกตามสหรัฐ หนุน Dollar Index แข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นๆ ของโลก ตรงกันข้ามกดดันราคาน้ำมันดูไบแกว่งตัวลงใกล้ 70 เหรียญฯ กลยุทธ์เน้นหุ้น Domestic Play (แบงก์ ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และค้าปลีก) ที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศ และกำลังซื้อที่เพิ่มช่วงสั้น จากกระแสบอลโลก Top picks BJC(FV@B69) และ PLANB([email protected])
ย้อนรอยหุ้นไทยศุกร์ที่ผ่านมา …..พลังงาน-ธ.พ. ร่วงกดดันดัชนีฯ ปิดลบ
วันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยยังปรับฐานตามตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ที่กังวลต่อปัญหาสงครามการค้า ก่อนผลการประชุม G7 โดยตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนตลอดวันก่อนจะปิดที่ 1,722.04 จุด ลดลง 11.01 จุด หรือ -0.64% มูลค่าการซื้อขายเบาบาง 4.34 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หุ้นนำ ตลาดลงกระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่ กลุ่มพลังงาน PTT (-2.39%) และ PTTEP(-2.51%) และ ธ.พ. (SCB KBANK) สวนทางหุ้นส่งออกฟื้นตัวแรง KCE(+5.11%) DELTA (+1.95%) และ HANA(+1.47%) และกลุ่มเกษตร-อาหาร (CPF และ BR)
คาด SET Index ยังคงแกว่งผันผวน แนวรับ 1,710 จุด แนวต้าน 1,730 จุด ตลาดน่าจะให้น้ำหนักต่อสงครามการค้าที่ขยายตัวในวงกว้าง แม้หลังประชุม G-7 การประชุมธนาคารกลางโลกน่าจะใช้นโยบายการเงินตึงตัวในทางเดียวกับ Fed และเข้าสู่ช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก น่าจะหนุนการใช้จ่ายในประเทศอย่างน้อย 1 เดือนข้างหน้า
ผลการประชุม G-7 ตอกย้ำการกีดการค้ายังขยายตัว
ผลประชุมประเทศผู้นำ G7 (สหรัฐ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่นและ อังกฤษ) ครั้งที่ 44 ที่แคนาดา ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการกีดกันการค้าสหรัฐ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์เดินทางกลับก่อนการประชุมจะเสร็จ และปฏิเสธการแถลงการณ์ร่วม พร้อมยังเดินหน้ากีดกันการค้าทั่วโลก หลังจากขึ้นภาษีนำเข้า 7 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว 5 สินค้าคือ เครื่องซักผ้า, แผงโซลาร์เซลล์, เหล็ก, อลูมิเนียม, และน้ำมันไบโอดีเซล
ส่วนสินค้าอีก 2 รายการอยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งน่าจะรู้ผล มิ.ย.-ก.ค. นี้ คือ รถยนต์และยานยนต์ (สหรัฐนำเข้าอันดับ 1 ราว 12% ของยอดนำเข้าทั่วโลก) ขึ้นจากเดิม 1.5% เป็น 25% และยางรัดขึ้นราว 28% เดิมไม่เสียภาษี ซึ่งประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเรียงลำดับจากมากไปน้อยคือ เม็กซิโกสัดส่วน 28.6% ของยอดนำเข้ารถยนต์สหรัฐ รองลงมือ แคนาดา 19.1%, ญี่ปุ่น 17.6%, เยอรมนี 9.3% และเกาหลีใต้ 7.0% เป็นต้น
หลังจากนี้ให้ ติดตาม สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งผลการทำประชาพิจารณ์ 15 มิ.ย. จึงจะมีข้อสรุปว่า รายชื่อสินค้าของจีนที่จะถูกจัดเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งคาดจะเป็นกลุ่ม เทคโนโลยีและโทรคมนาคม เพราะเข้าข่ายการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่คาดจีน จะตอบโต้สหรัฐ กลับคืนทันที ในสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐหลัก ๆ คือ ถั่วเหลือง, เครื่องบิน, รถยนต์ เป็นต้น
Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งก่อนสิ้นปีมายืนที่ 2.25%
สัปดาห์นี้ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ Fed) ระหว่าง 12-13 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในครั้งนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Bloomberg คาดโอกาสการขึ้นในรอบนี้ 84% และจะขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ครั้งภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ สิ้นปี 2561 ดอกเบี้ยนโยบาย จะ อยู่ที่ราว 2.25% และน่าจะขึ้น 3 ครั้งในปี 2562 และ 2 ครั้งในปี 2563 ครั้งละ 0.25% ขึ้นไปทำสถิติสูงสุด 3.5% ใกล้เคียงกับ ก.ย. ปี 2547 ก่อนที่จะเกิดปัญหา Subprime
เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการประชุมวันที่ 14 มิ.ย. คาดว่าน่าจะสิ้นสุดการใช้ QE ภายในปี 2561 และน่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. อยู่ที่ 1.9% จาก 1.2% ใน เม.ย. แต่อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะค่อยเป็นค่อยไปเพราะเศรษฐกิจประเทศสมาชิกยุโรปยังอ่อนแอ โดยเฉพาะในกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์, อิตาลี กรีซ และสเปน)
และตามด้วยการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น 14-15 มิ.ย. คาดว่าน่า จะยังใช้นโยบายการเงินอ่อนตัวต่อเนื่องจนเดือน พ.ค. ปี 2562 (ใช้ QE ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 80 ล้านล้านเยน) เพราะเงินเฟ้อยังถดถอยคือ 0.4% ในเดือน พ.ค. เทียบกับ 0.5% ในเม.ย. และ 1% ใน มี.ค. 2561
ภาพรวมการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ยังเร็วและแรงกว่าประเทศอื่น ๆของโลกน่าจะหนุน Dollar Index แข็งค่าต่อเนื่อง แม้อาจจะมีการย่อตัวในช่วงสั้น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งกดดันน้ำมันดิบดูไบชะลอตัวลงใกล้ 70 เหรียญฯ และ น่าจะกดดันหุ้นน้ำมันที่ราคาหุ้นใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี upside จำกัด คือ PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137) ยกเว้นหุ้นถ่านหินที่ยังมี upside คือ BANPU([email protected])
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นกลุ่ม TIP
สัปดาห์ที่ผ่านมา ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในภูมิภาค 4 วันติดต่อกัน ยกเว้นวันศุกร์ ที่ สลับมาขายสุทธิอีกครั้ง มูลค่า 339 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกแห่งยกเว้น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เพียงแห่งเดียวที่ต่างชาติซื้อสุทธิ มูลค่า 53 ล้านเหรียญ ตลาดอื่น ๆ ขายสุทธิคือ ไต้หวันต่างชาติขายสุทธิ 102 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 5 วัน) และตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ขายสุทธิมาตลอดสัปดาห์ โดยฟิลิปปินส์ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 18 ราว 13 ล้านเหรียญ อินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 175 ล้านเหรียญ และไทยขายสุทธิเป็นวันที่ 5 อีก 102 ล้านเหรียญ หรือ 3.27 พันล้านบาท (ขายสุทธิวันที่ 5) ทั้งนี้สวนทางกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิอีก 872ล้านบาท (ซื้อสุทธิมาแล้วกว่า 11 วัน มีมูลค่ารวม 1.95 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติยังเดินหน้าซื้อสุทธิอีก 540 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 11 มีมูลค่ารวม 5.94 หมื่นล้านบาท) กดดันให้ Bond Yield 10 ปี ของไทยขยับตัวลงมาต่ำกว่าสหรัฐฯ โดยล่าสุด Bond Yield 10 ปี ของไทยอยู่ที่ 2.77%, สหรัฐฯ 2.95%
9 หุ้นเด่น World Cup Play ชอบ BJC, MINT, PLANB และ EPG มากสุด
ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก (14 มิ.ย. – 15 ก.ค. 61) คาดว่าปีนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีการถ่ายทอดในช่วง Prime Time (เริ่มตั้งแต่ 19.00 น. เป็นต้นไป) และผลสำรวจ ม.หอการค้าไทย คาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายสะพัดกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท จากการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค ช่วยหนุน SET Index ให้มีโอกาสฟื้นตัว และสอดคล้องกับสถิติในช่วงฟุตบอลโลกและยูโร 8 ปีหลังสุด (ฟุตบอลโลก 2 ครั้ง, ยูโร 2 ครั้ง) พบว่า SET ปรับขึ้นทุกครั้ง และให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.2% (ช่วงถ่ายทอดราว 1 เดือน)
ฝ่ายวิจัยฯได้ทำการค้นหาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากกระแสบอลโลก โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดฯ (ระยะเวลาราว 1 เดือนที่มีการถ่ายทอด) ได้ผลลัพธ์ออกมา 9 บริษัท คือ
กลุ่มค้าปลีก (BJC ราคาเพิ่ม 23.4%, CPALL 5.3%, HMPRO 5.2% และ ROBINS 4.3%)
กลุ่มอาหาร (MINT 9.9%, CENTEL 7.6%)
กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (EPG)
และกลุ่มสื่อโฆษณา (PLANB, AMALIN)
กลุ่มค้าปลีก : BJC(FV@B69) ถือหุ้นใน BIGC 99.8% โดยมีสาขาทั่วประเทศกว่า 200 สาขา จึง ได้ประโยชน์ทางตรงจากการขายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร, เครื่องดื่ม รวมถึง Smart TV และยังเป็นผู้ผลิตขวดเบียร์ในไทยและเวียดนาม CPALL(FV@B79) มีสาขา 7-Eleven ในประเทศเกินกว่า 10,000 สาขา หนุนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วทั้งประเทศ HMPRO([email protected]) เทศกาลบอลโลกหนุนยอดขายทีวีเติบโตโดดเด่นขึ้น จากที่เคยซบเซาลง 2.8% เหลือ 2.8 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 เพราะ เป็นช่วงไว้อาลัยของคนทั้งประเทศ ROBINS(FV@B68) ถือหุ้น Power Buy และ Super Sport สัดส่วน 40% เท่ากัน ได้แรงหนุนจากการยอดขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ทีวี และเสื้อผ้ากีฬา เป็นต้น
กลุ่มอาหาร : MINT(FV@B51) สัดส่วนรายได้จากอาหาร “Delivery” เช่น The Pizza Company, Swensen’s ราว 40% หนุนกำไร 2Q61 เติบโตเมื่อเทียบกับปี 2560 CENTEL(FV@B56) สัดส่วนรายได้จากอาหาร “Delivery” อย่าง KFC และอื่นๆ รวมกันกว่า 50% และจะดียิ่งชึ้นหากผู้ประกอบการมีการจัดส่งสินค้าตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงบอลโลก
กลุ่มบรรจุภัณฑ์ : EPG([email protected]) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก อาทิ ถ้วยน้ำ, หลอด, กล่องอาหารแช่แข็งใน 7-Eleven คิดเป็น 26.5% ของรายได้
กลุ่มสื่อโฆษณา : PLANB([email protected]) ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จ่ายเงินสนับสนุน ในซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลก น่าจะหันมาใช้สื่อโฆษณานอกบ้านมากขึ้น ตามไลฟ์สไตล์ ของคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูทีวีบน smart phone และอยู่นอกบ้านมากขึ้น AMARIN เป็นช่อง HD เพียงช่องเดียวที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก (อีก 2 ช่องคือ ช่อง 5 และ TRUE4U เป็นช่อง standard) หนุนเรตติ้งสูงขึ้น ล่าสุดขึ้นมาอยู่อันดับที่ 7 และยังถ่ายทอดสดทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
กลยุทธ์ฝ่ายวิจัยแนะนำลงทุนหุ้นเด่นรับกระแสบอลโลกที่มีคำแนะนำ “ซื้อ” คือ BJC, MINT, CENTEL, EPG และ PLANB หรือเก็งกำไรหุ้นที่มีคำแนะนำ “Switch” คือ CPALL, HMPRO, ROBIN และหุ้นที่ไม่ได้ศึกษา แต่โดดเด่น อย่าง AMARIN Top picks เลือก BJC, MINT, PLANB และ EPG รายละเอียดอื่นๆสามารถติดตามอ่านในบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม Quantitative Analysis ฉบับเต็มได้ในวันนี้
สัปดาห์นี้คาดดัชนีผันผวน 1700-1745 จุด สะสมหุ้น 40% ใน Domestic Play
คาดสัปดาห์นี้ SET Index แกว่งผันผวนในกรอบ 1700 – 1745 จุด ตลาดฯ ยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาหนุน แต่ยังเห็นปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะจากต่างประเทศ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและ EU แคนาดา เม็กซิโก รวมทั้งจีน ยังคงเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลต่อภาวะการลงทุน
ขณะที่การประชุมธนาคารกลางโลกยังส่งสัญญานการขึ้นตามเบี้ยตามสหรัฐ แต่การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐเร็วและแรงกว่าน่าจะหนุน dollar index แข็งค่า ซึ่งน่าจะกดดันน้ำมัน แกว่งลง โดยคาดราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะยืน +/- 70 เหรียญต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยกดดันจากซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมวันที่ 22 มิ.ย. นี้ เพื่อชดเชยกำลังการผลิตของอิหร่านและเวเนซุเอลาที่หายไป นอกจาก supply จากสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ demand โลกยังเพิ่มในอัตราน้อยกว่า supply
กลยุทธ์การลงทุน ตลาดยังคงผันผวนจากปัจจัยภายนอก จึงยังแนะนำลงทุนหุ้น Domestic Play ที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ สัปดาห์ที่แล้วราคาปรับฐานตามความผันผวนของ SET Index แต่ฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่าราคาที่ปรับลงสะท้อนถึงการลดลงของค่าธรรมเนียมฯ ธุรกรรม on-line ไปมากแล้ว แต่คาดรายได้ดอกเบี้ยฯ ที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโตดีกว่าคาดส่งผลบวกต่อการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ จะช่วยชดเชยผลกระทบไปได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นขาขึ้นในช่วง 4Q61 จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่ม ธ.พ. ในแง่ของ spread ที่กว้างขึ้น แนะนำ BBL (FV@B220) KBANK (FV@B227) และ TCAP (FV@B65)
กลุ่มค้าปลีก ได้อานิสงส์เทศกาลฟุตบอลโลกช่วง 14 มิ.ย. – 15 ก.ค. นี้ โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค แนะนำ BJC (FV@B69) และเก็งกำไร ROBINS (FV@B68)
รวมทั้ง PLANB ([email protected]) ซึ่งได้ประโยชน์จากการเป็นผู้นำสื่อนอกบ้านในช่วงที่เม็ดเงินโฆษณาช่วงฟุตบอลโลกถูกจำกัด และ MINT (FV@B51) ซึ่งมีธุรกิจร้านอาหาร จะได้ประโยชน์จากช่วงฟุตบอลโลกด้วย
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO9885