- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 23 March 2018 16:45
- Hits: 15346
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
“วิตกสงครามการค้า”
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : --
ปัจจัยต่างประเทศ & ในประเทศ : ปธน.ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมสินค้านำเข้าจากจีนกว่า 100 รายการ ซึ่งทางการจีนกล่าวว่าจีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกด้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ พร้อมกับแสดงท่าทีต่อต้านนโยบายกีดกันการค้าของปธน.ทรัมป์ ซึ่งประเด็นนี้ก่อให้เกิดความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่อาจแผ่ขยายเป็นวงกว้างและกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนนี้ร่วงแรงเกือบๆ 3% และตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่นเช้าวันนี้ดิ่งลงถึง 2%-3% แต่ตลาดหุ้นเล็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนมากก็อ่อนลงแต่ในอัตราที่น้อยกว่า ส่วนปัจจัยภายในยังไม่มีประเด็นที่มีนัยสำคัญ
ในยามที่มีความเสี่ยง/ความไม่แน่นอน นักลงทุนก็หันเข้าลงทุนในทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองขยับขึ้นต่อเมื่อคืนนี้ และมีโอกาสขึ้นไปทดสอบ High เดิมที่ 1360+/- ดอลลาร์/ออนซ์ในระยะใกล้นี้
ปัจจัยจัยติดตาม – 1. งบประมาณชั่วคราวสหรัฐจะสิ้นสุดในวันที่ 23 มี.ค.นี้แล้ว ซึ่งจะต้องติดตามว่าวุฒิสภาจะโหวตผ่านร่างกฎหมายงบประมาณทันกำหนดเส้นตายในวันเสาร์ 11.00 น. (เวลาไทย) หรือไม่, 2. การทำ Window dressing ปิดไตรมาส 1/61
วิเคราะห์เทคนิค : ภาพตลาดเป็นลบเล็กๆ การซื้อใหม่เน้นตามด้วยค่าบวก แนวต้าน 1805-1810, (1820) จุด ต่ำกว่า 1795 จุดลดพอร์ตตาม สำหรับหุ้นที่ราคามีโอกาสทำ New High ที่เข้ามาใหม่เป็น KTC, KCE, SENA, DEMCO, AH, TPAC, ROBINS ส่วนหุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ KTC, KCE, SENA, DEMCO, AH, TPAC, ROBINS หุ้นที่หลุด List คือ SAT, TIPCO และหุ้นที่แนะนำไปแล้วให้หาจังหวะ Take profit คือ TWPC, SCC, S, BWG
ปัจจัยต่างประเทศ
- สหรัฐ : ทรัมลงนามคำสั่งให้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 6 หมื่นล้านUS$ แล้ว...จีนระบุจะตอบโต้อย่างแน่นอน
# ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมสินค้านำเข้าจากจีนกว่า 100 รายการ
# การออกมาตรการเรียกเก็บภาษีครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ทำการสอบสวนตามมาตรา 301 ต่อพฤติกรรมการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน
# ทางด้านรัฐบาลจีนได้ออกมาส่งสัญญาณเมื่อวานนี้ว่า จีนจะไม่ยอมนิ่งเฉยและจะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกด้าน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ พร้อมกับแสดงท่าทีต่อต้านนโยบายกีดกันการค้าของปธน.ทรัมป์
- สหรัฐ : ประธานเฟดระบุว่านโยบายการค้าของทรัมป์สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจ
# ประธานเฟดแถลงการณ์หลังประชุม FOMC เมื่อวานนี้ว่ากรรมการเฟดหลายคนในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ได้หยิบยกประเด็นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของทรัมป์มาพูดคุยในการประชุมครั้งนี้ สรุปได้ว่า “แม้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่กรรมการเฟดหลายคนเปิดเผยว่าหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกับบรรดาผู้นำในภาคธุรกิจทั่วประเทศ พบว่านโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐได้กลายมาเป็นปัจจัยที่สร้างความวิตกกังวลต่อภาคธุรกิจ" โดยประเด็นนี้อาจสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และอาจทำให้เกิดการตอบโต้ทางการค้าเป็นวงกว้าง
• สหรัฐ : ดัชนี PMI ภาคผลิตเบื้องต้นมี.ค.ขยับขึ้นแต่ภาคบริการอ่อนลง แต่ทั้งสองดัชนีคงสูงกว่า 50
# เอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนมี.ค. เพิ่มเป็น 55.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือน จากระดับ 55.3 ในเดือนก.พ. แต่ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นอ่อนลงเป็น 54.1 จากระดับ 55.9 ในเดือนก.พ.
- สหรัฐ : ติดตามการโหวตร่างงบประมาณของวุฒิสภา ซึ่งมีกำหนดเส้นตายวันเสาร์ 11.00 น. (เวลาไทย)
# จับตาการโหวตร่างกฎหมายงบประมาณวงเงิน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐ โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วและได้ส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อทำการพิจารณาต่อไป ซึ่งสภาคองเกรสจะต้องโหวตร่างกฎหมายดังกล่าวให้ทันเส้นตายในเวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐหรือในวันเสาร์เวลา 11.00 น.ตามเวลาไทย ซึ่งหากร่างงบประมาณฉบับนี้ไม่ได้รับการลงนามจากปธน.ทรัมป์ก่อนกำหนดเส้นตาย ก็จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐเผชิญกับการปิดหน่วยงานของรัฐ (ชัตดาวน์) เป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้
• ยูโรโซน : ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการยูโรโซนขั้นต้นเดือนมี.ค.อ่อนลงแต่ยังสูงกว่า 50
# ไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของยูโรโซน อยู่ที่ 55.3 ในเดือนมี.ค. ลดลงจากตัวเลขเดือนก.พ.ที่ระดับ 57.1 และยังทำสถิติต่ำสุดในรอบ 14 เดือน แต่ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า กิจกรรมในภาคธุรกิจของยูโรโซนยังคงมีการขยายตัว
# ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.ลดลงสู่ระดับ 56.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดรอบ 8 เดือน จาก 58.6 ในเดือนก.พ. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นอยู่ที่ 55.0 ในเดือนมี.ค. ลดลงจาก 56.2 เมื่อเดือนก.พ. และทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
- เยอรมนี : ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีดิ่งต่ำสุดรอบ 11 เดือนในมี.ค.
# ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 114.7 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน จากระดับ 115.4 ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 114.8 ทั้งนี้เป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า
- ภาวะตลาดหุ้นสหรัฐ : ดาวโจนส์ร่วง 724.42 จุด (-2.93%) วิตกสงครามการค้า
# ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 724.42 จุด หรือ -2.93 ปิดที่ 23,957.89 จุด ดัชนี S&P500 ลดลง 68.24 จุด หรือ -2.52% ปิดที่ 2,643.69 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 178.61 จุด หรือ -2.43% ปิดที่ 7,166.68 จุด
# ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
# การโยกย้ายตำแหน่งในคณะทำงานของปธน.ทรัมป์ ทำให้การเมืองสหรัฐมีความไม่แน่นอนมากขึ้น และการร่วงลงของหุ้น Facebook ก็ฉุดหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีลงด้วย
- ภาวะตลาดน้ำมัน : ราคาอ่อนลง
# สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 87 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 64.30 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 56 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 68.91 ดอลลาร์/บาร์เรล
# EIA เปิดเผยว่าการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 26,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10.407 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
+ ภาวะตลาดทองคำ : ราคาปรับขึ้นในช่วงที่มีปัจจัยเสี่ยง/ไม่แน่นอน
# สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 5.9 ดอลลาร์ หรือ 0.45% ปิดที่ 1,327.4 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องสงครามการค้า
ปัจจัยในประเทศ & ข่าวเด่นบจ.
-/• กลุ่มไฟแนนซ์ : กฎเกณฑ์ใหม่ของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ
# เกณฑ์ใหม่ของธุรกิจเช่าซื้อในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 16 ก.พ.61 ระบุว่า 1) สัญญาของธุรกิจเช่าซื้อต้องระบุรายละเอียดอัตราดอกเบี้ยแท้จริง, การชำระค่างวด, สถานะเงินกู้ ฯลฯ ให้ชัดเจน เหมือนกับสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัย, 2)กรณีผิดนัดชำรหนี้ ผู้ปล่อยกู้สามารถคิดค่าปรับได้ในอัตราดอกเบี้ย+3% แต่ไม่เกิน 15% ต่อปี และ 3) ถ้าลูกหนี้คืนหนี้ก่อนกำหนดในสัญญา จะต้องให้ส่วนลดกับผู้กู้ไม่ต่ำกว่า 50% ของดอกเบี้ยในสินเชื่อก้อนนั้น โดยเกณฑ์นี้บังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ นอกจากนั้นจะมีเกณฑ์ที่กำลังจะมาใหม่สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ด้วย โดยทางกระทรวงพาณิชย์กำลังร่างเกณฑ์ที่จะนำมาใช้กับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่แบงค์พาณิชย์ได้แก่ ลิสซิ่ง, สินเชื่อจำนำ, แฟคตอริ่ง, เช่าซื้อ, และพิโคไฟแนนซ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด แต่คาดว่าเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ลดลง
# คาดว่าเกณฑ์ใหม่จะส่งผลกระทบทางลบต่อกลุ่มไฟแนนซ์ และต้องใช้เวลาในการปรับตัว อย่างไรก็ตามผลกระทบไม่น่าจะรุนแรงมาก โดยบางบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับเกณฑ์ใหม่แล้ว เช่น SAWAD ที่ดำเนินการไปเมื่อปี 60 ทำให้ผลกระทบต่อบริษัทจำกัดมาก
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค – [email protected]
OO6926