WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 

กลยุทธ์การลงทุน
  หาก สนช. เห็นชอบ พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับในการประชุมวันนี้ ก็น่าจะช่วยกระตุ้น Sentiment ของตลาดให้ขึ้นมาได้ระดับหนี่ง แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดในเรื่องของ Fund Flow ที่ยังไหลออก โดยภาพรวมจึงทำให้ SET Index ยังมีความผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งภาวะดังกล่าวหุ้นที่เลือกต้องมีปัจจัยขับเคลื่อนที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเติบโตของผลประกอบการ การจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ หรือหุ้นที่ Laggard โดย Top picks วันนี้เลือก BJC (FV@B73) ที่เติบโตโดดเด่น และ BCH (FV@B 18.60) ราคาหุ้นยัง Laggard ตลาดฯ
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย..... แรงขายจากต่างชาติและกองทุนฯ กดดัน SET Index ร่วงต่อ
  Sentiment ที่เป็นลบจากตลาดหุ้นภูมิภาค ส่งผลให้วานนี้ SET Index จมอยู่ในแดนลบตลอดทั้งวัน โดยปิดตลาดฯ ที่ 1781.64 จุด ลดลง 17.42 จุด หรือ -0.97% ยังเห็นแรงขายทำกำไรหนักๆ ในกลุ่มพลังงาน โดย PTT ลดลงแรงถึง 2.17% เช่นเดียวกับ PTTEP ลดลง 1.76% ขณะที่ BANPU แม้แรงกดดันจากคดีความหงสาสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ก็ยังเห็นแรงขายหนักออกมา ราคาหุ้นลงแรงถึง 7.42% กลุ่มปิโตรเคมีลงแรงเช่นกัน ทั้ง PTTGC ลดลง 4.44% และ IVL ลดลง 0.48% สวนทางกับหุ้นที่ปรับขึ้นสวนตลาด คือ CPN เพิ่มขึ้น 1.87% BDMS เพิ่มขึ้น 0.90% และ CPF เพิ่มขึ้น 1.26% ทั้งนี้ ตลาดฯ ยังขาดปัจจัยบวกหนุนใหม่ๆ เข้ามาผลักดันตลาด โดยเฉพาะประเด็นต่างประเทศจากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ขณะที่ประเด็นในประเทศ คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่จะทราบผลวันนี้ จึงทำให้นักลงทุนทยอยลดพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง
  สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ คาดดัชนีมีโอกาสปรับฐานลงต่อ ประเมินแนวรับบริเวณ 1775 จุด และแนวต้านที่ 1800 จุด
สนช. ลงมติ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ การได้มาซึ่ง ส.ว. วันนี้
  หลังจากที่คณะกรรมาธิการ 3 ฝ่าย ได้ร่วมพิจารณา และมีการปรับเปลี่ยน เนื้อหาบางประการใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เรียบร้อยแล้ว กระบวนการลำดับสุดท้ายก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็คือการที่ต้องนำ พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เช้าสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 (166 เสียงจาก 248 เสียง) โดยจะมีการพิจารณาในวันนี้ (8 มี.ค. 2561) ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด เชื่อว่า พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับน่าจะได้คะแนนเสียงรับรองจาก สนช. และหากเป็นไปตามคาดก็จะเป็นการยืนยันได้ว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วไป (เลือก ส.ส.) น่าจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือน ก.พ. 2562 แต่อย่างไรก็ตามหากเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ อาจทำให้กระทบต่อกำหนดการเลือกตั้งดังกล่าวมาข้างต้น
  สนช. ไม่ให้การรับรอง พ.ร.ป. ฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือ ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุมสภาฯ เช่นกัน ในกรณีนี้ ถือว่า พ.ร.ป. ต้องตกไป และเข้าสู่กระบวนการในการร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนได้
  กรณีที่ สนช. ให้การรับรอง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับแล้ว เกิดเหตุการที่มีผู้เห็นว่า เนื้อหาบางประการใน พ.ร.ป. ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อาจมีการส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งในกรณีนี้ขั้นตอนในการนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องหยุดไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นออกมา ซึ่งอาจทำให้กำหนดเวลาในการที่กฎหมายจะถูกบังคับใช้ต้องถูกเลื่อนออกไป อันจะมีผลต่อกำหนดการจัดการเลือกตั้ง
ดังนั้นในวันนี้ นักลงทุนควรต้องติดตามผลการพิจารณาของ สนช. อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะเป็นประเด็นที่มีผลต่อทิศทางของ SET Index
ประชุม ECB และ BOJ และการพิจารณาขึ้นภาษีเหล็ก อลูมิเนียมในวันนี้ 
  ประเด็นกีดกันการค้าของสหรัฐเริ่มมีความร้อนแรงมากขึ้น หลังจากไม่ต่ออายุ GSP แก่ 12 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย (กระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยกว่า 3,400 รายการ)  และการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการ (Safe Guard) ทั้งหมด 6 สินค้า โดยมีสินค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว 2 สินค้าคือ เครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์ ส่วนอีก 4 สินค้าที่อยู่ระหว่างพิจารณาคือ เหล็ก,อลูมิเนียม, น้ำมันไบโอดีเซล และยางรัด
  โดยในวันนี้ (ตามเวลาสหรัฐ) ประธานาธิบดีทรัมป์เตรียมพิจารณาและอนุมัติการขึ้นภาษี 2 สินค้า คือ เหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งหากอนุมัติแล้ว คาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวยังมิได้สรุปอัตราภาษีนำเข้า และประเทศที่กำหนดทั้งหมดอย่างชัดเจน แต่มีโอกาสที่จะยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ และมีสนธิสัญญา NAFTA โดยแคนาดาและเม็กซิโกมีสัดส่วนการค้า (X+M) กับสหรัฐสูงถึง 64.64% และ 64.07% ตามลำดับ
  อย่างไรก็ตามประเทศคู่ค้าหลักที่จะถูกจัดเก็บภาษี เช่น จีน และยุโรป  ได้เตรียมมาตรการตอบโต้ผ่านการขึ้นภาษีดังที่กล่าวในช่วงต้นสัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตามในมุมของสหรัฐฯเอง แม้จะดีต่อผู้ผู้ผลิตในสหรัฐ แต่กลับกระทบกับผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น  โดยรวมทำให้ค่าเงิน Dollar index ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง หรืออ่อนค่าราว 2.75%ytd  นับตั้งแต่ต้นปี
  และในวันนี้ 8 มี.ค. ตลาดให้น้ำหนักการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดคาดจะไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่คาดว่า ECB น่าจะเตรียมใช้นโยบายการเงินตึงตัวในช่วง 4Q61 หลังจากที่แผนการใช้มาตรการ QE สิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2561 เนื่องจากเงินเฟ้อล่าสุด อยู่ที่  1.2% สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 0%   เช่นเดียวกับญี่ปุ่น (BOJ)ประชุมระหว่าง 8-9 มี.ค. ซึ่งส่งสัญญาณจะกลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวในปี  2562  เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่กระเตื้องพุ่งขึ้นแรงอยู่ที่ 1.4% ในเดือน ก.พ.จาก 0.2%  ใน พ.ย.2560 ตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น จากปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบาย ติดลบ 0.1% (ตั้งแต่ พ.ย. 2558)  ควบคู่กับคงวงเงิน QQE เดือนละ 80 ล้านล้านเยนต่อปี
สต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 กดดันราคาน้ำมันอ่อนตัวช่วงสั้น  
  สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุด   เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบารร์เรล น้อยกว่าตลาดคาดที่ 2.72 ล้านบาร์เรล แต่เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันสัปดาห์ที่  2 เนื่องจาก เป็นผลจากการที่อยู่ในช่วงฤดูกาลการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นขณะที่ความกังวลจากปัญหา Oversupply ยังมีอยู่ หลังสหรัฐรายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบ ล่าสุด ยังเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6  (ที่ 800 หลุม ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี)  ทำให้สหรัฐจะเพิ่มการผลิตน้ำมันราว  0.8%จากสัปดาห์ที่แล้ว มาอยู่ที่  10.37  ล้านบาร์เรลต่อวัน(สูงสุดตั้งแต่ปี 2513)     อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันที่แข็งแกร่ง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความพยายามควบคุมปริมาณผลิตน้ำมัน ทางฝั่ง OPEC และ Non OPEC ต่อเนื่องจนถึง ธ.ค. ปีนี้  น่าจะลดปัญหา Oversupply ลงได้   ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันจะปรับฐานช่วงสั้นๆ แต่คาดว่าราคาน้ำดูไบ ล่าสุดอยู่ที่  61.65  เหรียญฯ ต่อบาร์เรล น่าจะยังคงยืนเหนือ 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และแกว่งตัว  60-65 เหรียญฯ ได้  จึงเป็นโอกาสสะสมหุ้นน้ำมัน PTTEP(FV@B137) เติบโตต่อเนื่องในปี 2561 ขณะที่ราคาหุ้นยังมี Upside 22.87%
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค รวมถึงไทย
  วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค ด้วยมูลค่า 628 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 456 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยไต้หวัน 43 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนีเซีย 85 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6), ฟิลิปปินส์ 6 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 12)  และไทย 38 ล้านเหรียญ หรือ 1.19 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิ 1.86 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิ 4.11 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่สลับมาซื้อสุทธิ 2.49 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 4 วัน)
แนะนำ 3 theme หุ้นเด่น รับมือตลาดผันผวนสูง
  ดังที่ฝ่ายวิจัยประเมินถึงความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเพิ่มขึ้น ทั้งจากนโยบายกีดดันทางการค้าของสหรัฐที่อาจจะกระทบประเทศคู่ค้าในวงกว้าง รวมทั้งความผันผวนของค่าเงินโลก ขณะที่ประเด็นการเมืองยังต้องติดตาม  ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงไปแล้วกว่า 2.65%mtd
กลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยแนะนำลงทุนใน 3 theme หุ้นรับมือความผันผวนของตลาดฯ ดังนี้
  หุ้นเติบโตโดดเด่น โดยฝ่ายวิจัยคัดกรองหุ้นที่มี ASP Score ในเกณฑ์ดี (มากกว่า 5) และมี Upside เกินกว่า 10% ได้แก่ AH, TVO, BJC, BBP, PLANB, SC, SEAFCO, WHA และ PTTEP (รายละเอียดตามบทวิเคราะห์ Investment Strategy กลยุทธ์การลงทุนในงวด 2Q61 วันที่ 6 มี.ค. 61)
  หุ้น Defensive ผันผวนต่ำ คัดกรองโดยเลือกหุ้นที่มี ASP Score ในเกณฑ์ดี (มากกว่า 5), มี  Upside เกินกว่า 10%, Expected P/E ปี 2561 ต่ำกว่า 15 เท่า, Div. Yield สูงกว่า 3% และมี Beta น้อยกว่า 1 ได้ชุดหุ้นมาดังตารางด้านล่าง ฝ่ายวิจัยแนะนำ SC, AH, SNC และ TVO
  หุ้น Laggard แต่มีปัจจัยบวกสนับสนุน โดยฝ่ายวิจัยชอบกลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากปรับเพิ่มน้ำหนักกลุ่มฯ เป็น เท่ากับตลาด (จากเดิม น้อยกว่าตลาด) เพราะหลังจากนี้จะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์หลังจากที่ได้ผ่านการลงทุนไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งศูนย์ Excellent Center ต่างๆ ทยอยรับรู้รายได้และกำไรมากขึ้นในปีนี้ ประกอบกับการเติบโตของตลาด Medical / Wellness Tourism ที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบคู่แข่งทั้งด้านคุณภาพและราคา จะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้ป่วยที่มีโรคต่างๆ มากกว่าปกติ โดยฝ่ายวิจัยเลือก  BCH ([email protected]) เป็น Top Pick โดยได้รับประโยชน์เต็มปีจากการปรับเพิ่มค่าบริการของประกันสังคม และการฟื้นตัวของ World Medical Hospital (WMC) ทั้งยังมีแนวโน้มจะปรับประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายขึ้น นอกจากนี้ยังแนะนำ RJH ([email protected]) ผลประกอบการเด่น และมี Upside คงเหลือมากที่สุดในกลุ่มฯ
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO6202

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!