WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      ยังแนะนำหุ้นรายตัวที่มีผลประกอบการเด่น ยังเลือก SYNTEC([email protected]) และ GFPT (FV@B22) เป็น Top Picks โดยยังชื่นชอบ GUNKUL(FV@B25) และหุ้น DEMCO(FV@B18)

เงินเฟ้อไทยต่ำ หนุนดอกเบี้ยต่ำ 6 เดือนข้างหน้า
       กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ส.ค. อยู่ที่ 2.09%yoy ชะลอลงจาก 2.16%yoy เดือน ก.ค. และเฉลี่ยเดือน ม.ค.-ส.ค. เพิ่มขึ้น 2.21%yoy ทั้งนี้เกิดจากการอ่อนตัวของราคาอาหารสด หลังผลผลิตเกษตรเริ่มออกสู่ตลาด อันเป็นผลของฤดูกาล ขณะที่ราคาพลังงานยังคงทรงตัวในระดับต่ำตามราคาตลาดโลก ขณะที่นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ปรับลดราคาดีเซลและแก๊สโซฮอล น่าจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ลดลง 0.076% หรือลดลง 0.0191% ต่อเดือน ซึ่งอาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อตลอดปี 2557 ที่ ASP ประเมินไว้ที่ 2.4% อาจจะสูงเกินไป อย่างไรก็ตามกระทรวงฯ ได้ปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2557 อยู่ที่ 2.21% จากเดิม 2.23% (คาดว่างวด 3Q57 อยู่ที่ 2.15% และ 4Q57 อยู่ที่ 2.2% โดย 2H57 จะอยู่ที่ 2.18% จาก 2.3% ใน1H57) ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% (อัตราดอกเบี้ยสุทธิติดลบเล็กน้อย) ต่อไป ก่อนที่จะมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558 เมื่อโครงการลงทุนพื้นฐานของรัฐเดินหน้า ทำให้มีความต้องการเงินทุนมากขึ้น จะทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินเริ่มลดน้อยลง ในสถานการณ์นี้ยังถือว่าดอกเบี้ยต่ำเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้น

ยุโรปยังย่ำแย่ จากพี่เบิ้ม
      เศรษฐกิจในยูโรโซน ยังมีความเสี่ยง นอกจากฟื้นตัวล่าช้าแล้ว ยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาทางการเมืองในภูมิภาค ระหว่างยูเครน และรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้มหาอำนาจทั้งสหรัฐ และยุโรป ต้องเข้าสู่ความขัดแย้ง และจนทำให้เกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ทั้ง 2 ประเทศ ได้หยุดการทำธุรกรรมด้านการเงิน และการค้าสินค้าอาหารให้กับรัสเซีย และในทางกลับกันรัสเซีย ก็ตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของยุโรปอย่างมาก สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุด พบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิต เดือน ส.ค. ติดลบ 2.12%mom นับว่าต่ำสุดในรอบ 13 เดือน เกิดจากการชะลอตัวของการผลิต ในประเทศผู้นำขนาดใหญ่ กล่าวคือเดือน ส.ค. PMI การผลิตของ เยอรมัน และ อิตาลี หดตัว 1.2%mom และหดตัว 4%mom ยกเว้นฝรั่งเศส ขยายตัว 0.9% เช่นเดียวกับ เงินเฟ้อที่ชะลอติดต่อหลายเดือนล่าสุดลงมาที่ 0.3% และอัตราการว่างงานยังสูง 11.6% ใกล้กับช่วงวิกฤติ จึงทำให้คาดว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนในช่วง 2H57 จะแย่กว่าในช่วง 1H57 (งวด 1H57 เยอรมัน ขยายตัว 1.8%yoy vs IMF คาดทั้งปี 1.7%, ฝรั่งเศส ขยายตัว 0.45% vs IMF คาดทั้งปี 1%, และ อิตาลี หดตัว 0.3% vs IMF คาดทั้งปี 0.6%) ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดแล้ว IMF น่าจะต้องปรับลด GDP Growth ของยุโรปอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน
       ด้วยเหตุนี้ ทำให้ตลาดต่างคาดหวังจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจาก การประชุม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 4 ก.ย. นี้ แต่อาจไม่ได้ใช้มาตรการ QE ขนาดใหญ่ เหมือนที่ใช้ในสหรัฐ อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น เพราะยุโรปมีการรวมกลุ่มประเทศสมาชิก 17 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน การใช้ QE อาจจะสร้างความยุ่งยากมากกว่าประเทศอื่นๆ ขณะที่ ECB ยังต้องการติดตามผลการตัดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.15%และดอกเบี้ยเงินฝาก ติดลบ 0.1% (และให้สินเชื่อวงเงินขนาดใหญ่ ด้วยดอกเบี้ยระดับต่ำ หรือ Target LTRO) อีกระยะหนึ่ง

ปฏิรูปพลังงาน ผลประโยชน์ควรตกกับประเทศชาติ
       การปฏิรูปพลังงานเป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจอย่างมาก แต่ผลการพูดคุยกันในรอบแรกกลับจบลงที่การลดราคาขายปลีก น้ำมันเบนซิน, แก๊สโซฮอล์ 95 91 และ E20 ลดลงลิตรละ 3.89 บาท, 2.13 บาท, 1.7 บาท และ 1 บาทตามลำดับ โดยการปรับลดการเก็บภาษีสรรพสามิต และภาษีเทศบาล ในกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ลง พร้อมๆ กับการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลดลง ในทางตรงกันข้ามกับราคาขายดีเซล ที่ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.14 บาท เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทั้งสรรพสามิต และภาษีเทศบาล จากเดิมลิตรละ 0.005 บาท และ 0.0005 บาท เป็น 0.75 บาท และ 0.075 บาท แต่กลับลดภาษีน้ำเข้ากองทุนน้ำมันจากเดิมลิตรละ 1.55 บาท เหลือ 1 บาท แม้นักวิชาการมองว่า การปรับโครงสร้างราคาครั้งนี้ รัฐไม่สูญเสียรายได้ เพราะสามารถเก็บภาษีจากน้ำมันดีเซล มาชดเชยส่วนของเบนซินที่หายไป (การใช้น้ำมันดีเซลมีปริมาณการใช้ต่อวันสูงถึง 60 ล้านลิตร vs การใช้น้ำมันเบนซินที่ 22 ล้านลิตร) แต่กองทุนน้ำมันจะหายไปประมาณ 1,100 ล้านบาทต่อเดือน (จากเดิมที่จัดเก็บได้ 3,557 ล้านบาทต่อเดือน) ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันยังคงติดลบใน 3 เดือนแรกที่ประกาศลดภาษี รายละเอียดดังที่นำเสนอใน Market Talk ของเมื่อวัน 29 ส.ค. 2557

      และเมื่อวานได้เปิดอ่าน คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย (ลม เปลี่ยนทิศ) ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าคิด ภายใต้เรื่อง “จะปฏิรูปพลังงาน หรือแค่ลดราคาเอาใจ” โดยยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเคยเป็น 1 ในสมาชิกโอเปค ส่งออกน้ำมัน แต่วันนี้ต้องกลับมานำเข้าน้ำมันแทน และรัฐบาลยังยอมให้ประชาชนใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราคาถูก จนรัฐบาลต้องแบกภาระการชดเชยน้ำมันปีละ 1 ล้านล้านบาท หรือราว 20% ของงบประจำปี เราอยากจะเป็นแบบอินโดนีเซียหรือ????? และยังมีบทสัมภาษณ์ของ ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการบริการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้เปิดเผยโครงสร้างราคาน้ำมัน และกำเนิดของ PTT นักลงทุนที่สนใจลองไปหามาอ่านกัน ดูจะได้เข้าใจเรื่องของโครงสร้างพลังงานด้วยตัวท่านเอง แทนที่จะรับฟังจากปากต่อปาก ซึ่งมีข้อเท็จจริงปะปนกันอยู่ และสร้างความสับสน หรือเราสนใจเพียงแต่อยากใช้เชื้อเพลิงราคาถูก โดยไม่คำนึงถึงภาวะของประเทศในระยะยาว

       ขณะที่นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASP เมื่อวานนี้ได้นำเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงานเพิ่มเติม โดยรอบถัดไปน่าจะมุ่งไปที่ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ซึ่งปัจจุบันขายในราคาต่ำกว่าตลาดโลกมาก เพราะมีการนำนำเงินกองทุนภาษีดังกล่าวข้างต้นมาชดเชย ทั้งนี้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซแอลพีจีอยู่ทั้งหมดราว 8 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 6-7 แสนตัน/เดือน ซึ่งส่วนใหญ่นำมาใช้ในภาคครัวเรือน 41% รองลงมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น 36% ขนส่ง 15% และ อุตสาหกรรม 8% ขณะที่แอลพีจี ที่ผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ กล่าวคือ 1) จากโรงแยกก๊าซ (PTT) ราว 50% ต้นทุนเฉลี่ย 10 บาท/กก. 2) โรงกลั่น (TOP, PTTGC, IRPC, BCP และ ESSO) ราว 25% ต้นทุนเฉลี่ย 20 บาท/กก. และ 3) นำเข้า อีกราว 25% ต้นทุนประมาณ 30 บาท/กก.

      แต่อย่างไรก็ตามเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน จึงได้กำหนดราคาขายปลีกแตกต่างกัน (ใช้ราคาหน้าโรงงาน 10 บาท เท่ากัน แล้วบวกกลับด้วยภาษีต่าง ๆ ) คือ ครัวเรือนจ่ายที่ 22.63 บาท ขนส่ง 21.38 บาท และอุตสาหกรรม 30.07 บาท จะเห็นกว่าภาคครัวเรือน และขนส่ง กำหนดราคาขายต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงคาดว่าการปรับโครงสร้างราคาในครั้งนี้น่าจะทยอยปรับราคาในส่วนของภาคขนส่งให้เท่ากับภาคครัวเรือนก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากนัก ส่วนจะมีการปรับราคาขายของภาคครัวเรือนและขนส่งขึ้นไปเท่ากับภาคอุตสาหกรรมหรือไม่คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะจะกระทบต่อรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถแท็กซี่ เนื่องจากใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงราว 2 หมื่นคัน ฝ่ายวิจัยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มน้ำมัน “มากกว่าตลาด” โดยยังคงคำแนะนำซื้อ PTT (FV@360B), PTTEP (FV@195B) และกลุ่มโรงกลั่นได้แก่ PTTGC (FV@84B), IRPC ([email protected]), BCP (FV@36) แต่แนะนำเพียงถือ สำหรับ TOP (FV@56) รายละเอียดใน Equity Talk วานนี้

ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง เช่นเดียวกับสถาบัน
     เงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 10 หลังจากที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค ราว 382 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้า เริ่มจากไต้หวัน ซื้อสุทธิสูงสุดราว 279 ล้านเหรียญฯ (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 12, เพิ่มขึ้น 84% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 แต่ลดลง 65% เหลือราว 54 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ไทย สลับมาซื้อสุทธิราว 47 ล้านเหรียญฯ (1.5 พันล้านบาท, ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ส่วนอินโดนีเซียสลับมาซื้อสุทธิเช่นกันราว 11 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด) สวนทางกับฟิลิปินส์ที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 9 ล้านเหรียญฯ (หลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องกัน 4 วันก่อนหน้า)
ภาพการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นไปในลักษณะเดิม กล่าวคือ เลือกซื้อรายประเทศโดยเฉพาะไต้หวันและเกาหลีใต้ และเลือกซื้อสลับขายเบาบางในกลุ่ม TIP แต่อย่างไรก็ตาม วานนี้นักลงทุนกลุ่มนี้ได้สลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยหนักขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่สลับมาซื้อสุทธิราว 833 ล้านบาท หลังจากสลับขายสุทธิ 2 วันก่อนหน้า (ซื้อสุทธิ 12 จาก 15 วันหลังสุด รวม 9.1 พันล้านบาท)

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!