WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน 
  คาด SET ยังผันผวนในกรอบ 1815-1837 จุด จากแรงขายรับงบกลุ่ม Real Sector ที่จะประกาศหลังกลุ่ม ธ.พ. ขณะที่ราคาน้ำมันฟื้นตัว ยังประคองดัชนี กลยุทธ์ยังแนะนำขายทำกำไรหุ้นเกิน Fair Value/upside จำกัด (AOT, BJC, TOP, JAS, EA, TRUE) และให้สะสมหุ้น Laggards/ปันผลสูง (SIRI, TMT, TASCO, SCC, CPF, MAJOR) Top picks เลือก SIRI ([email protected]), MCS ([email protected]) และ PTTEP (FV@B118) จากราคาน้ำมันโลกสูงสุดรอบ 3 ปี 
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … กลุ่ม ธ.พ. และ พลังงาน หนุน SET Index ยืนแดนบวก
  วานนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งในแดนบวกตลอดวันก่อนจะปิดที่ 1831.78 เพิ่มขึ้น 7.72 จุด หรือ 0.42% มูลค่าการซื้อขาย 7.82 หมื่นล้านบาท แรงหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวขึ้นยกแผง นำโดย SCB เพิ่มขึ้น 2.60% ตามด้วย KBANK เพิ่มขึ้น 2.71%, BBL เพิ่มขึ้น 1.90%, KTB เพิ่มขึ้น 0.99% และ BAY เพิ่มขึ้น 2.69% เช่นเดียวกับกลุ่มพลังงาน นำโดย PTT และ PTTEP เพิ่มขึ้น 0.83% และ 1.30% ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังยืนเหนือ 66 เหรียญฯ ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นกลุ่ม ICT ทั้ง TRUE, ADVANC เพิ่มขึ้น 2.36% และ 0.8% ตามลำดับ
  ส่วนหุ้นที่ปรับลดลงส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ราคาเกินมูลค่าพื้นฐานปี 61 นำโดย AOT ลดลง 1.06% หลังจากวิ่งขึ้นทำ new high มาตั้งแต่ต้นปี แม้ธุรกิจท่องเที่ยวยังสดใสโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตกว่า 19.5% ในงวด 4Q60 หนุนธุรกิจสายการบินเติบโตโดดเด่น รวมทั้งมีโครงการเชิงพาณิชย์ที่เริ่มชัดเจนหนุนการเติบโตได้ในระยะยาว แต่ราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยบวกต่างๆ ไปมากจนเกินมูลค่าพื้นฐานปี 61 จึงแนะนำ switch ไปยังหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มี upside อย่าง MINT และ JWD ส่วนหุ้นอื่นๆ ที่ปรับลดลงคือ หุ้นโรงไฟฟ้า ทั้ง GPSC ลดลง 1.45% และ EA ลดลง 1.44%
  สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้ คาดว่าดัชนีมีโอกาสแกว่งผันผวน แนวรับ 1815 จุด แนวต้าน 1837 จุด
ทรัมป์ฯ หันมาใช้นโยบายกีดกันการค้าแผงโซลาร์เซลล์  และ เครื่องใช้ไฟฟ้า 
  หลังจากที่สหรัฐได้รับการผ่อนปรนต่องบประมาณขาดดุลปีใหม่จนถึงวันที่ 8 ก.พ.  ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถกลับมาทำงานตามปกติได้ระยะหนึ่ง  แต่คงต้องติดตามผลการพิจารณาของวุฒิสภาฯ อีกครั้ง     แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ก็มิได้หยุดเฉยๆ หันมาทบทวนโยบายการค้าและกีดกันสินค้านำเข้ารอบใหม่  2 รายการสินค้าคือ แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel)  โดยมีการปรับภาษีนำเข้าคิดที่  30% ในปีแรก, 25%ในปีที่ 2, 15% ปีที่ 3 และ 15% ในปีที่ 4 จากปัจจุบัน ไม่เสียภาษี  

ซึ่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ มากน้อยตามสัดส่วนที่ส่งออกไปสหรัฐ กล่าวคือ
  แผงโซลาร์เซลล์ (Solar panel) แต่ละปีสหรัฐนำเข้าราว 13.3 พันล้านเหรียญฯจากทั่วโลก   โดยประเทศที่สหรัฐนำเข้าแผงโซล่าเซลส่วนใหญ่อยู่ในแถบเอเซีย  หลักๆ มาจากมาเลเซียมากที่สุดราว   36%ของยอดนำเข้าแผงโซล่าเซลล์ทั้งหมดของสหรัฐ   รองลงมา คือเกาหลีใต้ราว 21%, เวียดนาม  9.1%   สำหรับไทยแม้สหรัฐจะนำเข้าลำดับที่ 4 ราว 9%   แต่พบว่ามูลค่าส่งออกแผงโซล่าของไทยไปสหรัฐ แต่ละปีราว   421.1 ล้านเหรียญฯ  ซึ่งในจำนวนนี้ส่งออกคิดราว  48%ไปสหรัฐ  ผลกระทบโดยรวมคิดราว 0.2%  ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด ผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบ คือ SOLAR  และ SPCG ผู้ผลิต ขายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซล่าเซลทุกรูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศ
  เครื่องซักผ้าแต่ละปีสหรัฐนำเข้าราว 1,710 ล้านเหรียญฯจากทั่วโลก  โดยประเทศที่สหรัฐนำเข้าเครื่องซักผ้า คือ  เวียดนาม สัดส่วนสูงสุดราว  31.4% ของยอดนำเข้าเครื่องซักผ้าทั้งหมด   รองลงมาคือไทยราว  22.8%,  เกาหลีใต้   14.8%    สำหรับไทยพบว่ามูลค่าส่งออกเครื่องซักผ้าของไทยไปสหรัฐแต่ละปีราว   518.2  ล้านเหรียญฯ ซึ่งในจำนวนนี้ส่งออกคิดราว  34% ไปสหรัฐ  ผลกระทบโดยรวมคิดราว   0.21%  ของยอดส่งออกรวม ผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบ คือ  KYE ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้เครื่องหมายการค้า มิตซูบิชิ  อย่างไรก็ตามผู้ผลิตส่วนใหญ่อยู่นอกตลาด
  โดยรวม  การส่งออกไปสหรัฐทั้ง 2 รายการคิดราวประเภทละ   0.2%  ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด แต่ ต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้น  นอกเหนือจากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องเป็นปีที่ 2   ทำให้ประสิทธิภาพการทำกำไรของธุรกิจส่งออกน่าจะชะลอตัวลงในปี  2561  ซึ่งถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นระยะกลาง-ยาว
ราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มหนุน PTTEP, BANPU
  ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยวานนี้สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ยังปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 64.5 เหรียญ/บาร์เรล    น้ำมันเบรนท์ทะเลเหนือ  69.8 เหรียญฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ   66.9 เหรียญฯ  ได้รับปัจจัยหนุนดังนี้
  • ฝั่งอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว หลังจาก ล่าสุด IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP Growth โลกขึ้นปีละ 0.2% ขยายตัว 3.9%yoyในปี 2561- 2562  หนุนความต้องการใช้น้ำมันดิบโลก
  • ฝั่งอุปทานแม้ปัญหา Oversuppply ยังมีอยู่แต่คาดว่าจะเข้าสู่สมดุลใน 2H61 และล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบียได้เผยว่า ผลการประชุมร่วมประเทศกลุ่ม OPEC และNon OPEC เช่น รัสเซีย และโอมาน มีความเห็นตรงกันว่ายังคงร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน และมีโอกาสขยายระยะเวลาต่อไปจนถึงปี 2562
  • ปัญหาความไม่สงบในไนจีเรียยังมีอยู่  หลังกลุ่มติดอาวุธในไรจีเรียประกาศพร้อมจะโจมตีการขุดเจาะน้ำมันดิบครั้งใหม่นอกชายฝั่งทะเลประเทศในจีเรีย
  • Dollar Index อ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุด  89.9 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 ปี หรืออ่อนค่าราว 2.2%  นับตั้งแต่ต้นปี 
  ราคาน้ำมันดิบดูไบล่าสุดยังยืนเหนือ 66 เหรียญฯต่อบาร์เรล สูงกว่าสมมติฐานที่นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASPS ประเมินไว้ที่ 60 เหรียญฯ ในปี 2561 (ให้ราคาน้ำมันดิบคงที่ 65 เหรียญฯ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป)  หากราคาน้ำมันดิบดูไบที่สูงกว่าสมมติฐานทุก 5 เหรียญฯ  คือ 65 เหรียญฯ  และ 70 เหรียญฯ  คาดว่าจะช่วยเพิ่ม Fair Value ปี 2561 ให้ PTTEP(FV@ B118) ขึ้นเป็น 126.81 บาท และ 135.45 บาท ตามลำดับ  และหุ้นถ่านหินคือ BANPU(FV@B26) ได้ประโยชน์จากราคาถ่านหินที่ยังคงยืนเหนือ 100 เหรียญฯ มาที่ 106 เหรียญฯ แม้จะปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ยังมี Upside เหลือกว่า 22%
ราคาทองแดงปรับลดลงระยะสั้น...แต่ยังกังวลบาทแข็ง
  ราคาทองแดงโลกล่าสุดอยู่ที่ 6.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทำระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน โดยเป็นการปรับลดลง 2.1% จากวันก่อนหน้า และปรับลดลง 4.5% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 เนื่องจากเริ่มเข้าใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้ความต้องการใช้ทองแดงในประเทศจีนลดลงชั่วคราว ส่งผลให้สต็อกทองแดงโลกปรับเพิ่มขึ้นถึง 17.1% จากวันก่อนหน้า สู่ระดับ 2.48 แสนตัน ทำระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน ถือเป็นผลบวกระยะสั้นต่อ KCE ที่จะมีต้นทุนวัตถุดิบทองแดงในการผลิตแผงวงจร (PCB) ลดลงชั่วคราว ทั้งนี้ ราคาวัตถุดิบทองแดงเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2561 เท่ากับ 7.11 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ยังสูงกว่าสมมติฐานราคาวัตถุดิบทองแดงเฉลี่ยปี 2561 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ที่ 6.80 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ยังเป็นปัจจัยกดดันแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 1Q61 ให้ทรงตัวต่ำต่อเนื่องจากงวด 4Q60 แต่คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานจะทยอยฟื้นตัวในงวด 2Q61 จากการเริ่มเข้าฤดูกาลส่งออกของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ 
  นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องจนล่าสุดอยู่ที่ 31.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินบาทเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 32.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 2561 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนเดไว้ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาหุ้น KCE มีค่า PER ปี 2561 สูงถึง 19.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย PER ของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นต้นในภูมิภาคที่ซื้อขายกันที่ราว 12 เท่า และถึงแม้รวมกับคาดการณ์ div yield ของ KCE ในปี 2561 ที่ราว 2.8% ก็ยังให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าสนใจ โดยมูลค่าพื้นฐานของ KCE ปี 2561 เท่ากับ 77.84 บาท  จึงยังแนะนำขายเช่นเดิม
25 ม.ค. สนช. เริ่มพิจารณาวาระที่ 2 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.
  รองนายกรัฐมนตรี (นาย วิษณุ เครืองาม) ให้ความเห็นกรณีการที่ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  ได้เสนอให้แก้ไขร่างกฎหมายมาตราที่ 2 โดยกำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่าน่าจะมีความชัดเจนหลังวันที่ 25 ม.ค. 2561 ซึ่ง เป็นวันที่ สนช. จะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวในวาระที่ 2 และ 3 ทั้งนี้หากเห็นชอบกับที่ คณะกรรมาธิการเสนอ ก็น่าจะทำให้กรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งเดิมที่กำหนดเดือน พ.ย. 2561 ต้องเลื่อนออกไปราว 1 เดือน หรือ 2-3 เดือน ตามความเห็นของ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
  อีกประเด็นที่ควรติดตามได้แก่ การที่ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560  เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งดังกล่าวมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหม่ บ่อนทำลายพรรคการเมืองเดิมที่มีขนาดใหญ่ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีให้สมาชิกพรรคต้องยืนยันความเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคภายใน 30 วัน ซึ่งมีผลไม่ต่างจากการ Reset สมาชิกพรรคการเมือง หรือเท่ากับ บังคับให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมพ้นสภาพทั้งหมด ซึ่งต้องติดตามความเห็นของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าจะมีการนำเรื่องส่งให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่
  ทั้ง 2 ประเด็นทางการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เนื่องจากจะมีผลต่อ Roadmap ทางการเมือง ที่กำลังจะเดินไปสู่การจัดการเลือกตั้ง และอาจมีผลต่อทิศทางทางการเมืองหลังการเลือกตั้งอีกส่วนหนึ่งด้วย ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจึงเชื่อว่า ปัจจัยทางการเมืองจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของ SET Index มากขึ้น
กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นปันผล  SIRI, TMT, TASCO, MCS 
  ตลาดหุ้นสหรัฐ นับจากต้นปียังคงปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดย Dow Jones บวกขึ้นไปถึง 6.05%, S&P500 เพิ่มขึ้น 5.96% ปัจจัยหนุนมาจากการประกาศ earning ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น S&P500 ยังคงออกมาในทิศทางที่ดี เริ่มจากกลุ่มสถาบันการเงินที่ประกาศไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว อย่าง JPMorgan Chase & Co, Goldman Sachs Group Inc, Bank of America Corp, Morgan Stanley, Citigroup Inc ล้วนมีกำไรที่ดีกว่าตลาดคาดค่อนข้างมาก ขณะที่ในช่วงนี้เป็นการรายงายงบของ real sector ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน อาทิ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) และพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) ยิ่งไปกว่านั้น ผลบวกจากมาตรการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลของประธานาธิบดี ทรัมป์ น่าจะทำให้ผลประกอบการในปีนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่ทรัมป์ เตรียมประกาศใช้นโยบายกีดกันทางการค้าด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องซักผ้า) เพื่อปกป้องผู้ผลิตสัญชาติอเมริกัน รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 3 ปี ยิ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
  ในส่วนของตลาดหุ้นไทย หลังจากที่กลุ่ม ธ.พ. รายงานงบฯ เสร็จสิ้น และแรงขาย sell on fact ผ่านไปแล้ว ทำให้เห็นการฟื้นตัวของกลุ่ม ธ.พ. วานนี้ ขณะที่กลุ่มพลังงานยังคงเป็นกลุ่มหลักที่ดันดัชนีต่อเนื่องขึ้นทดสอบระดับสูงสุดเดิมที่ 1837 จุด เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นไปแล้วถึง 4.45% ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 4.4% แต่น้อยกว่าตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่ 5.15%, ตลาดหุ้นอินเดีย 6.12% และตลาดหุ้นจีนให้ผลตอบแทนในปีนี้สูงถึง 7.24%
  ในภาวะที่ตลาดกระทิงเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่หุ้นหลายๆ บริษัท จะปรับขึ้นต่อเนื่องจนราคาเกิน Fair Value แล้ว หรือมี upside จำกัด อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงให้ระมัดระวังการปรับฐานที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ กลยุทธ์การลงทุนยังให้ขายทำกำไร หรือหลีกเลี่ยงหุ้นที่ราคาเกิน Fair Value ไปแล้ว เช่น KCE, SAPPE, JAS, TVO, PCSGH, IHL, TRUE, LANNA, ICHI, TU, GPSC, EA, GCAP และควรพักเงินในหุ้นปันผล ตามกลยุทธ์ Dividend Play หุ้นเด่นคือ SIRI, TASCO, TMT, MCS วันนี้เลือก MCS([email protected]) เป็น Top pick
  
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO4814

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!