- Details
- Category: กลต.
- Published: Thursday, 28 September 2017 15:26
- Hits: 3752
ก.ล.ต. สานต่อโครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2 เน้นนำฟินเทคยกระดับการพัฒนาตลาดทุนไทย
ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดโครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2 เพื่อสานต่อการพัฒนานวัตกรรมฟินเทคและต่อยอดการพัฒนาธุรกิจทางการเงิน การลงทุน และการประกันภัย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร1 จัดโครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ Fast Forward for the Future เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ณ โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน ซึ่งเป็นโครงการเพื่อ
เฟ้นหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์หรือขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงในตลาดเงิน ตลาดทุน และประกันภัยของไทย
โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และการนำฟินเทคมาปรับใช้กับการประกอบธุรกิจและการให้บริการ
นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)กล่าวว่า “โครงการ FinTech Challenge เป็นหนึ่งในการดำเนินการสำคัญที่ ก.ล.ต. และหน่วยงานพันธมิตรต้องการแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความตั้งใจที่จะเปิดรับความท้าทายต่าง ๆ และความมุ่งมั่นที่หน่วยงาน
กำกับดูแลจะปรับทั้งวิธีคิดและวิธีการทำงานเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันภาคการเงินและประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี เนื่องจากฟินเทคจะเข้ามาพลิกโฉมกระบวนการหรือวิธีการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ภาคการเงินจึงต้องฉกฉวยโอกาสให้นวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงในไทย”
“ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และวางกลยุทธ์ที่หลากหลาย
เพื่อเปิดพื้นที่ ขจัดอุปสรรค และส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสม ขณะเดียวกันภาครัฐก็ให้การสนับสนุนโดยการผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงินซึ่งได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว และเมื่อมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการเดิมและฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้บริการได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ” นางทิพยสุดา กล่าวสรุป
สำหรับ ผลการแข่งขันผู้ได้รับทุนสนับสนุนนวัตกรรมทั้ง 3 ประเภท ได้แก่
(1) ทุนนวัตกรรมประเภท rising star สำหรับทีมที่เสนอแผนธุรกิจที่น่าสนใจและสามารถทำได้จริง จำนวน 2 ทีมได้แก่ ทีม noon และทีม UTUได้รับทุนทีมละ 100,000 บาท
(2) ทุนนวัตกรรมประเภท innovative จำนวน 100,000 บาท สำหรับทีมที่เสนอนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ ทีม Flight DApp Bot
(3) ทุนนวัตกรรมประเภท popular vote จำนวน 50,000 บาท สำหรับทีมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ ทีมWealth Me
นอกจากนี้ ยังมีการมอบทุนสนับสนุนนวัตกรรมทุนละ 20,000 บาท สำหรับทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ
ทั้ง 10 ทีม2 ด้วย
--------------------------------------------
1หน่วยงานพันธมิตรประกอบด้วย 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม
การประกอบธุรกิจประกันภัย 3. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4. เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย
5. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 6. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) 7. ศูนย์ C Asean 8. สมาคมฟินเทคประเทศไทย และ 9. สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่
2ทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 ทีม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 บริการช่วยผู้บริโภคตัดสินใจหรืออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการลงทุน ได้แก่
(1) Cryptovation.co - โรโบแอดไวเซอร์สำหรับการลงทุนใน cryptocurrencies
(2) StockRadars Gift - บัตรของขวัญเพื่อการลงทุนในหุ้น
(3) Wealth Me – เครื่องมือช่วยตัวแทนประกันชีวิตวางแผนทางการเงินให้ลูกค้า
(4) Moto Punk - แพลตฟอร์มช่วยลูกค้าเลือกดีลเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์
กลุ่มที่ 2 กลุ่มบริการที่ช่วยผู้บริโภครักษาสิทธิ ได้แก่
(5) Flight DApp Bot - ระบบเคลมประกันอัตโนมัติด้วยบล็อกเชน
(6) UTU – แพลตฟอร์มใช้สิทธิแลกแต้มสะสมข้ามแบรนด์
กลุ่มที่ 3 บริการที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของผู้เอาประกัน ได้แก่
(7) noon - ระบบบันทึกพฤติกรรมการขับขี่รถเพื่อเบี้ยประกันที่เป็นธรรม
(8) Insbee – ประกันรถยนต์ที่จูงใจพฤติกรรมที่ดีผ่านเพียร์คอมมิวนิตี้
กลุ่มที่ 4 บริการที่ช่วยส่งเสริมสังคม cashless ได้แก่
(9) VenDingCoin - E-wallet สำหรับตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ
กลุ่มที่ 5 กลุ่มระบบช่วยทางการและสถาบันการเงิน ตรวจจับการฟอกเงินได้แก่
(10) Siam RegTech – ระบบช่วยทางการและสถาบันการเงินตรวจจับการฟอกเงิน
FinTech Challenge 2017: Fast Forward For The Future
เสวนา หัวข้อ 'การประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางการเงิน'
(ร่วมเสวนาโดย มิสเตอร์ซันดีป แกนโทริ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หัวหน้าสายงานลงทุน บริษัท ยูบีเอสเวลธ์แมนเนจเมนท์ และมิสเตอร์ฟิลลิป เอ็นเนส หัวหน้าฝ่ายงานด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของบริษัท ไอบีเอ็ม)
มิสเตอร์ซันดีป กล่าวว่า ยูบีเอส ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินได้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการใช้ระบบประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก (machine learning) มาใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งในด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกค้า (wealth management) และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ
มิสเตอร์ซันดีป เห็นว่า ฟินเทคและผู้ให้บริการทางเทคโนโลยีต่าง ๆ จะมีส่วนสำคัญต่อธนาคารพาณิชย์ในอนาคต เห็นได้จากสัดส่วนมูลค่าทางการตลาดของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก สถาบันการเงินจะหันไปเน้นลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น อาทิ การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ตอบโจทย์เรื่องการให้คำแนะนำผ่านโปรแกรมผู้แนะนำการลงทุนที่ใช้สมองกล (Robo-Advisor) และยังสามารถช่วยเก็บและกลั่นกรองข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์
ลดระยะเวลาในการออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ ช่วยบริหารจัดการกรรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบงาน ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ตลอดจนลดภาระในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแล
ยูบีเอสสนับสนุนการเติบโตของฟินเทคผ่านโครงการทดลองที่จัดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งช่วยให้ยูบีเอสสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ขณะที่บริษัทฟินเทคเองก็สามารถเข้าถึงเงินทุนจากทั้งยูบีเอสและลูกค้าของยูบีเอสอีกด้วย
มิสเตอร์ฟิลลิป ซึ่งมีประสบการณ์เป็นนักวานิชธนกิจมากว่า 17 ปี เห็นพ้องว่า เมื่อฟินเทคเข้ามา ธุรกิจทางการเงินต้องเจอกับความท้าทายและความกดดันทางการแข่งขันอย่างมาก ทำให้ต้องปรับตัว และเพิ่มความคล่องตัวในการให้บริการ พร้อมกับประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้านความสะดวกและรวดเร็วในราคาและต้นทุนที่ถูกลงได้
ไอบีเอ็ม ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินก็ต้องนำเสนอบริการใหม่ ๆ ตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าเช่นกัน ไอบีเอ็มจึงศึกษาประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่ ๆ และจัดแพลตฟอร์มใหม่โดยนำฟินเทคมาช่วยพัฒนาบริการที่ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น
มิสเตอร์ฟิลลิป กล่าวว่า ปัจจุบันไอบีเอ็มให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีใหม่อย่างบล็อกเชนมาให้บริการลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้บล็อกเชนก็มีความท้าทายและซับซ้อน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่และยังอยู่ในช่วงของการทดลอง โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาให้บริการได้แก่ (1) การมีรูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์ได้จริง (2) การปรับแนวปฏิบัติที่มีอยู่เดิม ซึ่งอาจมีผู้ให้บริการบางรายถูกลดบทบาทหรือลดความสำคัญลง (3) กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจจะยังไม่รองรับเทคโนโลยีใหม่ นอกจากนี้ ความสำเร็จของการใช้บล็อกเชนยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะที่เหมาะสม ระบบงานภายในที่มีการเชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบในการฉกฉวยโอกาสสร้างเครือข่ายการให้บริการที่จะสามารถต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจได้
หัวข้อ 'รู้จักกับปัญญาประดิษฐ์ และการประยุกต์ใช้ในตลาดทุน'
(ดอกเตอร์ฟลอเรียน มัทเธอุส ชะปีเกล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฟินฟาบริค)
ดอกเตอร์ฟลอเรียน แนะนำให้รู้จักกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ว่า AI หรือ เครื่องมือที่ทำงานแทนการใช้ความสามารถของมนุษย์ ประกอบด้วย 3 อย่างหลักที่คล้ายมนุษย์ คือ การรับรู้ การใช้ตรรกกะ และการแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งเอไอมีมานานแล้วมากกว่า 50 ปี ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เข้ามาและหายไปเป็นระยะๆ เนื่องจาก ผู้คนต่างผิดหวังที่เอไอยังมีข้อบกพร่องในการทำงานและไม่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ใช้งานได้ แต่ขณะนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่เทคโนโลยีปัจจุบันจะสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังที่ในอดีตไม่สามารถทำได้ได้
ในปัจจุบัน เอไอ มีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอพพลิเคชั่นแผนที่นำทาง ของ Google หรือการดูหนังออนไลน์บน Netflix สำหรับตลาดทุน บทบาทของเอไอ สามารถอยู่ในรูปของการตัดสินใจการลงทุนแทนคน รวมถึง การทำความรู้จักกับลูกค้า อาทิ การเช็คประวัติลูกค้าว่าควรให้เปิดบัญชีได้หรือไม่ ตรวจหาข้อมูลธุรกรรมที่ควรตรวจสอบเพิ่มเติม
ดอกเตอร์ฟลอเรียนคาดหวังว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดทุนในอนาคตคือ เอไอที่มีความสามารถเฉพาะด้าน แต่ละด้านจะรวมกันเป็นเครือข่ายใหญ่สำหรับการให้บริการผู้ลงทุน ช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการบริหารความมั่งคั่งสามารถให้บริการได้ในราคาที่ถูกลงเนื่องจากใช้เทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ
อย่างไรก็ดี ปัญหาและอุปสรรคที่พบคือ เอไอถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นทุกที่อยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกัน เอไอก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ได้เช่นกัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจการให้บริการทางการเงิน คือ มีผู้เล่นใหม่มากขึ้น มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ทุกคนล้วนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอ เช่น ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ราคาถูกลง ดีต่อเศรษฐกิจ เพราะสามารถทำทุกอย่างให้มีประสิทธิผลขึ้น
ดอกเตอร์ฟลอเรียน กล่าวสรุปว่า อย่ากลัวเอไอ ยอมรับและใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการใหม่ๆ เพื่อทำให้บริการทางการเงินดียิ่งขึ้น
หัวข้อ 'RegTech: ก้าวข้ามความท้าทายในการจัดทำรายงานค็อมพไล-แอ็นซด้วยเทคโนโลยี'
(มิซสิซซู เดอ โบรกลิโอ หัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานภูมิภาคเอเชีย บริษัท แมคควอรี่ กรุ๊ป ลิมิเตท)
มิซสิซซู กล่าวว่า การปรับวิธีการกำกับดูแลการให้บริการเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การกำกับดูแลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยให้บริษัทสามารถปรับตัวสอดรับกับกฎเกณฑ์ในแต่ละประเทศ ลดต้นทุน และช่วยขยายขนาดของธุรกิจ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการเงินโดยรวมมั่นคง และผู้ลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำกับดูแล หรือ เร็คเทค (RegTech) เป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับ
การให้บริการทางการเงินและการกำกับดูแล ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิปัญญาประดิษฐ์ หรือบล็อกเชน ช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถเห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เข้าใจพฤติกรรมผู้มีส่วนร่วมในตลาด อาทิ ลูกค้า และพนักงานในบริษัท รวมถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้น และยังช่วยให้ฝ่ายงานกำกับดูแลของบริษัทเห็นถึงความเชื่อมโยงในระบบได้ครบถ้วนจากเดิมที่เคยเห็นเป็นเพียงส่วน ๆ และสามารถติดตามการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การใช้เทคโนโลยีเกิดประสิทธิผล คือ การมีระบบที่เชื่อมโยง มีระบบควบคุมภายใน มีการเก็บข้อมูลในรูปแบบที่สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ติดตามดูแล และประเมินผลได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่สามารถแจ้งเตือนหรือชี้ปัญหาในระบบ จะเป็นเครื่องมือช่วยหน่วยงานกำกับดูแลและบริษัท
ในการติดตามดูแลเพื่อสืบหาพฤติกรรมที่น่าสงสัยของผู้มีส่วนร่วมในตลาด ก่อนที่พฤติกรรมนั้น ๆ จะนำไปสู่ปัญหาในอุตสาหกรรมการเงินโดยรวม รวมถึงการประเมินผลกระทบและค้นหามาตรการ ที่เหมาะสมเพื่อรับมืออีกด้วย
โครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2 รอบชิงชนะเลิศ
ข้อมูลโดยสังเขป : -
โครงการ FinTech Challenge เป็นโครงการพัฒนาความคิดและประกวดผลงานนวัตกรรมด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ความเข้าใจและนำ FinTech เข้ามาพัฒนา
หรือปรับใช้กับการประกอบธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยจุดประกายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนัก รู้เท่าทัน และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนช่วยสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อนำไปสู่การออกหรือปรับเกณฑ์ที่สอดคล้องกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ ทีมที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน นักการตลาดประชาสัมพันธ์ และมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คน ที่มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาชิ้นงานเทคโนโลยีได้ โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการตั้งแต่เปิดรับสมัครจนถึงวันประกาศผล เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน
รางวัลในการแข่งขัน : -
ทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยม จะแบ่งออกเป็น 3 ทุน ได้แก่
1. ทุนนวัตกรรมประเภท Rising Star FinTech จำนวน 100,000 บาท 1 ทุน สำหรับทีมที่มีผลิตภัณฑ์
หรือบริการอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. ทุนนวัตกรรมประเภท Innovative FinTech จำนวน 100,000 บาท 1 ทุน สำหรับทีมที่สามารถเสนอนวัตกรรมล้ำนำสมัย หรือความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
3. ทุนนวัตกรรมประเภท Popular Vote จำนวน 50,000 บาท 1 ทุน สำหรับทีมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด
4. ทุนสนับสนุนนวัตกรรมทุนละ 20,000 บาท รวม 10 ทุน สำหรับทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ
ทั้งนี้ หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนโครงการประกวด FinTech Challenge ครั้งที่ 2
ประกอบด้วย 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 3. เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
4. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ 5. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
6. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 7. ศูนย์ C Asean 8. สมาคมฟินเทคประเทศไทย และ 9. สมาคมการค้า เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่
ก.ล.ต. จัดงาน FinTech Challenge 2017 เน้นนำเทคโนโลยีต่อยอดตลาดทุนไทย
นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดงาน “FinTech Challenge 2017” ภายใต้แนวคิด “FAST FORWARD FOR THE FUTURE” เพื่อเปิดรับนวัตกรรม พร้อมขจัดอุปสรรค และส่งเสริมเทคโนโลยีในตลาดทุน ณ โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน ชั้น 7 เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายน 2560
10 ทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ FinTech Challenge 2017 แบ่งตามกลุ่มที่ให้บริการ ดังนี้
กลุ่มบริการที่ช่วยผู้บริโภคตัดสินใจหรืออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการลงทุน
• 1. Cryptovation.co – โรโบแอดไวเซอร์สำหรับการลงทุนใน Cryptocurrencies เพื่อให้
ทุกคนเข้าถึงการเงินได้ง่ายขึ้นในทุกๆ ส่วน ทั้งในด้านผลตอบแทนจากการลงทุน เรียนรู้พื้นฐานทางการเงิน
ผ่านนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ในระบบ Blockchain Asset โดยการนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์
คือ การทำอาร์บิทราจ ผสมผสานกับการเขียนโปรแกรมมาช่วยในการวิเคราะห์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทน
ที่สูงในความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด
• 2. StockRadars Gift - บัตรของขวัญเพื่อการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม สำหรับ
มอบให้กับคนที่คุณรักเพื่อส่งต่อของขวัญที่มีมูลค่าและเติบโตได้ อันนำไปสู่หนทางแห่งความมั่งคั่ง
ในอนาคตและยังช่วยให้คนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยสามารถเริ่มลงทุนด้วยเงินที่น้อยลงกว่าเดิม
ผ่านแพลตฟอร์มได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
• 3. Wealth Me – เครื่องมือช่วยตัวแทนประกันชีวิตให้พัฒนาไปสู่ความเป็นมืออาชีพในฐานะนักการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลให้ลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยแอพพลิเคชันที่จะช่วยลดระยะเวลา และลดความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time คำนวณถูกต้องและแม่นยำตามทฤษฎีทางการเงิน สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้ง
เพิ่มประสิทธิภาพทางการสื่อสารและอธิบายแผนการเงินที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การกระบวนการ
ตัดสินใจซื้อได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
• 4. Moto Punk แพลตฟอร์ม U Lease "เลือกไฟแนนซ์โดนใจ ได้รถมอเตอร์ไซค์ราคาถูก"
คือแพลตฟอร์มการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ออนไลน์ในรูปแบบเช่า-ซื้อ(จัดไฟแนนซ์) โดยเป็นตัวกลางระหว่างลูกค้า ร้านดีลเลอร์รถมอเตอร์ไซค์ และบริษัทไฟแนนซ์ ซึ่ง U Lease ทำหน้าที่ตรวจสอบเครดิตของลูกค้าและนำเสนอแคมเปญของบริษัทไฟแนนซ์ให้กับลูกค้า รวมถึงแนะนำร้านดีลเลอร์ที่มีข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยแสดงผลออกมาเป็นรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องใช้ในการเช่า-ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ลูกค้าสามารถวางแผนการซื้อ และเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุดได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในระบบการเช่า-ซื้อมอเตอร์ไซค์รูปแบบเดิม เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบเช่า-ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ได้แก่ ผู้ซื้อรถ(ลูกค้า), ผู้ขายรถ (ร้านดีลเลอร์) และผู้ให้สินเชื่อ (บริษัทไฟแนนซ์)
กลุ่มบริการที่ช่วยผู้บริโภครักษาสิทธิ
• 5. Flight DApp Bot ระบบการจัดการเคลมเบี้ยประกันภัยการเดินทางและเที่ยวบินดีเลย์
ผ่านระบบรูปแบบการจัดการข้อมูลแบบบล็อกเชน smart contract ด้วย user interface ในรูปแบบ AI Chatbot
โดยกลุ่มลูกค้าที่ทำประกัน เมื่อเกิดปัญหาจากการเดินทางหรือเที่ยวบินดีเลย์ไม่ว่าจะในประเทศและต่างประเทศ ระบบนี้จะช่วยทำการเคลมเบี้ยประกันภัยอัตโนมัติและได้รับเงินเบี้ยประกันชดเชยทันที โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องกรอกแบบฟอร์มและไปยื่นเคลมที่บริษัทประกันตามรูปแบบเดิม ทำให้ลูกค้าที่ทำประกันผ่านระบบนี้หมดความกังวลเรื่องเกี่ยวกับการเคลมทุกๆ การเดินทางหากมีเหตุที่เกิดขึ้นตรงตามเงื่อนไขที่ทำประกันไว้
• 6. UTU แพลตฟอร์มระบบสะสมคะแนนแบบไร้พรมแดน ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ
ชื่อ ยูทู (UTU) เพียงแค่แอพฯ เดียว ก็สามารถสะสมคะแนนแบบไร้พรมแดนจากการช้อปปิ้งจาก 1,000 ร้านค้าพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศของ UTU โดยไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกของแต่ละร้านค้า
และพกบัตรสมาชิกมากมายให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพียงชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ได้ลงทะเบียนไว้
กับ UTU ก็จะได้รับคะแนน UTU Point สะสมแบบเรียลไทม์ คะแนนสะสมสามารถแลกรับเงินคืนหรือเปลี่ยนเป็นคะแนนสะสมของสายการบินชั้นนำก็ได้ ถือเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดของโปรแกรมลอยัลตี้สะสมคะแนนแบบเดิม ที่มีข้อจำกัดทางด้านพรมแดนและขอบเขตการแลกคะแนนสะสม ด้วยระบบเชื่อมต่อ API
กับธนาคาร ร้านค้าและVISA จึงทำให้การได้คะแนนสะสม หรือการแลกคะแนนสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกสมาชิกทั่วโลก
กลุ่มบริการที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของผู้เอาประกัน
• 7. noon ระบบบันทึกพฤติกรรมการขับขี่รถเพื่อเบี้ยประกันที่เป็นธรรม โดยนำเอาคอนเซปต์
Pay How You Drive มาปรับใช้กับการคิดส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับ
ค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ผู้ที่ขับขี่อย่างปลอดภัยจะได้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ถูกลง ซึ่งจะเป็น
การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ขับขี่คนอื่นๆ ได้หันมาขับรถกันอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้น และช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งรักษาลูกค้าเดิมที่มีประวัติดีได้มากขึ้น ผ่านเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และการทำ Big Data Analysis รวมเข้ากับ นวัตกรรมทางด้านประกันภัยที่เรียกว่า Usage Based Insurance ผ่านการใช้ GPS บน Smartphone ในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ และประมวลผลแบบ real time โดยจะแสดงผลคะแนนการขับให้ผู้ขับขี่ได้รับทราบเมื่อจบทริปการเดินทาง รวมถึงแนะนำข้อมูลวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย เนื่องจากผลคะแนนการขับขี่ที่ได้จะถูกส่งไปยังบริษัทประกันเพื่อนำไปใช้ในการพิจารณา ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในปีถัดไป
• 8. Insbee ประกันรถยนต์ที่จูงใจพฤติกรรมที่ดีผ่านเพียร์คอมมิวนิตี้ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ลูกค้าผู้ทำประกันที่ขับรถปลอดภัย Insbee ทำงานร่วมกับบริษัทประกันเพื่อออกผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์ชั้น 1 แบบใหม่ที่จะมีเงินคืนในกรณีที่ลูกค้าไม่เคลมประกันเลยในปีนั้น นอกจากนี้หลังจากซื้อบริการนี้แล้วลูกค้าสามารถ log in มาใน online community เพื่อจับกลุ่มย่อยกับเพื่อนอีก 4 คน และถ้าทั้งกลุ่มไม่มีเคลมเลย ลูกค้าจะได้เงินคืนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าร่วมกันสร้าง online community ที่ขับรถปลอดภัย บริษัทประกันในระบบนี้จะได้กำไรมากขึ้นจากการที่อัตราการเคลมต่ำ และสามารถคืนกำไรส่วนนึงให้กับลูกค้าอย่างเป็นธรรมอีกด้วย
กลุ่มบริการที่ช่วยส่งเสริมสังคม cashless
• 9. VendingCoin อุปกรณ์ปลายทาง (plug-in terminal) เพื่อรับชำระด้วยช่องทางดิจิตอล (digital payment) หรือเงินดิจิตอล (e-wallet) แบบออนไลน์สำหรับตู้ขายสินค้า/บริการด้วยเหรียญอัตโนมัติ (vending machine) โดยเจ้าของตู้สามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานของตู้ขายสินค้าฯ และอุปกรณ์ปลายทางฯ ผ่านทางระบบคลาวด์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน มอบความสะดวกแก่ผู้ใช้งานได้ทุกเวลา แม้มีเหรียญไม่เพียงพอต่อการชำระ เพียงแค่มีมือถือ พร้อมแอพพลิเคชั่นของช่องทางหรือเงินดิจิตอลที่เลือกชำระ เจ้าของตู้ขายสินค้าฯ ได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนในการจัดการแลกเหรียญ รวมถึงลดระยะเวลาในการเปลี่ยนเหรียญเป็นเงินสด ธนาคาร สถาบันการเงิน ได้มีช่องทางรับชำระด้วยช่องทางหรือเงินดิจิตอลสำหรับการขายสินค้าและให้บริการที่จับต้องได้จริง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลฯ
กลุ่มระบบช่วยทางการและสถาบันการเงินตรวจจับการฟอกเงิน
• 10. Siam RegTech ระบบช่วยทางการและสถาบันการเงินตรวจจับการฟอกเงิน โดยการนำเสนอระบบ Machine Learning ที่มีประสิทธิภาพสูงในการประมวลผลฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับใช้ในการตรวจจับความผิดปกติด้านการเงินที่มีแนวโน้มทุจริตในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังสามารถตรวจจับและวิเคราะห์ข้อมูลหรือเบาะแสที่มีการร้องเรียนผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมารวบรวมเป็นข้อมูลซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบในระบบมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการทดแทนการขาดแคลนบุคลากรสายนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ในประเทศไทยอีกด้วย
ก.ล.ต. หนุนร่าง พ.ร.บ.ฟินเทค เปิดช่องผู้ประกอบธุรกิจต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน
ก.ล.ต. ร่วมผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ. ฟินเทค) เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้เล่นรายปัจจุบันและรายใหม่ใช้ฟินเทคพัฒนาบริการทางการเงินการลงทุนได้อย่างเต็มที่ โดยลดข้อจำกัดทางกฎหมายและการเข้าถึงข้อมูล
นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ปัจจุบันการทำธุรกรรมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และการนำฟินเทคมาพัฒนาต่อยอดในไทยยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ กฎหมายที่ยังไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลจำเป็นเท่าที่ควร ร่าง พ.ร.บ. ฟินเทค จะช่วยลดข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายปัจจุบันและฟินเทคสตาร์ทอัพสามารถนำนวัตกรรมมาให้บริการได้อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ"
ร่าง พ.ร.บ. ฟินเทคเน้นใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) การเพิ่มความมั่นใจในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีผลเทียบเท่ากับการทำธุรกรรมในแบบปกติโดยไม่ต้องกังวลว่ากฎหมายจะไม่รองรับอาทิ การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. การจองซื้อ ออก และส่งมอบหลักทรัพย์และการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น (2) การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีหน้าที่ในการรู้จักตัวตนและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลจำเป็นในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ (3) การรองรับการแสดงตนแบบ non-face-to-face ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ (4) การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงข้อมูลที่ได้มีการปกปิดตัวตนแล้ว (anonymized data) ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงรองรับการเปิดเผย anonymized data โดยสมัครใจของภาครัฐและภาคเอกชนด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดประโยชน์ของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะตกกับประชาชนที่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ยิ่งขึ้นได้อย่างกว้างขวางด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฟินเทคได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงก่อนเสนอตามกระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
"นอกจากร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น ก.ล.ต. กำลังดำเนินการเพื่อขจัดอุปสรรคและส่งเสริมการนำฟินเทคมาให้บริการเพิ่มเติมด้วยการเปิดพื้นที่และการลดภาระจากกติกาต่าง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต่อการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการควบคู่กันไปด้วย" นางทิพยสุดา กล่าว