- Details
- Category: กลต.
- Published: Saturday, 25 March 2017 22:36
- Hits: 16741
ACMF จับมือสมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศออกเกณฑ์อาเซียนกรีนบอนด์
หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) เห็นชอบโครงการสำคัญตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี (2559 – 2563) มุ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน เชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนให้แข็งแกร่ง และเตรียมออกเกณฑ์อาเซียนกรีนบอนด์ ใช้ร่วมกันทั่วภูมิภาค
ในการประชุม ACMF ครั้งที่ 26 ซึ่ง ก.ล.ต. มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เห็นชอบการดำเนินงานตามความร่วมมือระหว่าง ACMF และสมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศ (International Capital Market Association: ICMA) กำหนดเกณฑ์การออกพันธบัตรอาเซียนกรีนบอนด์ (ASEAN Green Bond Standards) ที่จะใช้เกณฑ์เดียวกันทั่วภูมิภาคอาเซียน
เกณฑ์การออกอาเซียนกรีนบอนด์ที่กำหนดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ มุ่งสนับสนุนให้ตลาดทุนในภูมิภาคเติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่แสวงหาการลงทุนในธุรกิจหรือองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพัฒนาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรไม่ว่าในด้านการลดมลภาวะหรือใช้พลังงานสะอาด ซึ่ง ACMF พยายามให้เกิดการพัฒนาเรื่องนี้ขึ้นภายในภูมิภาค ทั้งนี้ เกณฑ์การออกอาเซียนกรีนบอนด์ พัฒนามาจากหลักการออกกรีนบอนด์ของ ICMA โดยเป็นการให้แนวปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อสร้างความโปร่งใสและสอดคล้องกันของกฎเกณฑ์ นอกจากนี้ การเป็นมาตรฐานเดียวกันจะทำให้สินค้าในตลาดทุนอาเซียนเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั่วโลก
ในการประชุม ACMF ครั้งนี้ ยังเห็นชอบการปรับปรุงการให้คะแนนการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในอาเซียน (ASEAN Corporate Governance Scorecard) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการตามหลักใหม่ของกลุ่มสมาชิก G20 และ OECD โดยวิธีการประเมินใหม่นี้ได้ผนวกความคาดหวังของผู้ลงทุนและนำแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาปรับใช้ในธุรกิจ
ASEAN Corporate Governance Scorecard ที่ปรับปรุงนี้ จะมีการประเมินเพิ่มเติม ซึ่งให้น้ำหนักในเรื่องการส่งเสริมบทบาทของผู้ถือหุ้น รวมทั้งจัดหมวดหมู่หัวข้อการประเมินใหม่ เพื่อสะท้อนแนวทางในการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจ นอกจากนี้ จะเพิ่มคุณภาพในกระบวนการประเมินโดยมีผู้ตรวจสอบอิสระเพิ่มเติมจากกระบวนการที่มีอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าการประเมินใหม่นี้จะเริ่มใช้ในไตรมาส 2 ของปี 2560 ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ผลการประเมินประกอบการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์อาเซียนได้ดียิ่งขึ้น
การเคลื่อนย้ายบุคลากรในตลาดทุนภายในภูมิภาคในอนาคตเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ACMF สนับสนุน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับบริการในตลาดทุนทั่วภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง ACMF จะร่วมกับภาคเอกชนผ่านเวที ACMF Industry Consultative Panels (AICP) วางแนวทางในเรื่องดังกล่าวร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่า ทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับ การเสนอขายกองทุนรวมข้ามพรมแดนภายใต้ ASEAN Collective Investment Schemes Framework (CIS) ดำเนินการไปได้ด้วยดี และอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นไปตามมาตรฐานกลาง การผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุน และเพิ่มประเภทสินค้าให้รวมถึงกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) อีกด้วย
ACMF เดินหน้าสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของตลาดทุนในภูมิภาคผ่านโครงการ ACMF Market Development Program (A-MDP) เพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกของ ACMF จะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค เริ่มจากโครงการพัฒนาหลักสูตรการออกเกณฑ์ตราสารหนี้ภายในประเทศ ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เวียดนาม และเมียนมา ในระยะต่อไปจะเป็นหลักสูตรสำหรับภาคเอกชนซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 3 ของปีนี้
ในการประชุม ACMF ครั้งนี้ ที่ประชุมยังหารือกันถึงแนวทางการเชื่อมโยงตลาดทุน เพื่อเพิ่มโอกาสและประสบการณ์ในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนทั่วภูมิภาค และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มรวมถึงตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ในด้านการพัฒนาขีดความสามารถของตลาดทุนในภูมิภาค ASEAN Corporate Governance Scorecard และกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก ก.ล.ต. นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) สำหรับสมาชิก ACMF บางประเทศ
หมายเหตุ:
1. หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF) เป็นการรวมกลุ่มกันของหน่วยงานกำกับดูแลในภูมิภาค ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมี ก.ล.ต. มาเลเซียเป็นประธานคนปัจจุบัน
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2558 เป็นก้าวสำคัญในแผนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 622 ล้านคน ในปี 2557 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชียและอันดับ 7 ของโลก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ACMF และโครงการต่าง ๆ ของ ACMF สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ www.theacmf.org
3. คณะทำงานหลักที่ขับเคลื่อนการดำเนินการของ ACMF
o คณะทำงานด้าน green finance มี ก.ล.ต. มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นประธานร่วม
o คณะทำงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มี ก.ล.ต. ฟิลิปปินส์ เป็นประธาน
o ACMF Industry Consultative Panels มี ก.ล.ต. ไทยเป็นประธาน
o คณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายบุคลากร มี ก.ล.ต. ไทยเป็นประธาน
o คณะทำงานด้านกองทุนรวม มี ก.ล.ต. ไทยเป็นประธาน
o คณะทำงานด้าน Market Development Program มี ก.ล.ต. มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นประธานร่วม
o คณะทำงานด้านการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์อาเซียน มี ก.ล.ต. สิงคโปร์ และไทย เป็นประธานร่วม