- Details
- Category: กลต.
- Published: Friday, 24 February 2017 11:43
- Hits: 6706
ก.ล.ต. เปิดตัว 'หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน' (I Code)
ก.ล.ต. เปิดตัวหลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกิจการที่ไปลงทุน นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ลงทุนสถาบันเองในระยะยาว และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าของเงินลงทุนและตลาดทุนโดยรวม
ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนที่สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยมาตรการสำคัญประการหนึ่ง คือการเพิ่มบทบาทของผู้ลงทุนสถาบันในตลาดทุน ให้มีการบริหารเงินลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG) ดังนั้น องค์กรระหว่างประเทศและประเทศชั้นนำหลายแห่งจึงได้มีการออก I Code เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน และในปัจจุบัน I Code ได้ถูกบรรจุเป็นปัจจัยหนึ่งในการประเมินการกำกับดูแลกิจการ (CG ) ในระดับประเทศอีกด้วย
ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ลงทุนสถาบันอีก 8 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงร่วมกันประกาศความร่วมมือสนับสนุนการออกหลักปฏิบัติ I Code ให้ผู้ลงทุนสถาบันไทยนำ I Code ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และบริษัทประกันมาร่วมกันประกาศความตั้งใจที่จะนำ I Code ไปปฏิบัติ ซึ่งการร่วมมือจากทุกองค์กรเป็นการแสดงพลังในการสร้างวัฒนธรรมการจัดการลงทุนอย่างมีธรรมาภิบาล
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ตลาดทุนที่พัฒนาและมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนจะพึ่งพาการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการเห็นประโยชน์และการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยตัวกิจการเอง รวมถึงการมีแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (market force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนสถาบัน ดังนั้น I Code นี้จึงช่วยสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยมี market force ที่เข้มแข็ง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของกิจการในตลาดทุนไทย”
หลักปฏิบัติ I Code ได้ใช้แนวทางเดียวกับสากล เพื่อเป็นกรอบจริยธรรมและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลงทุนและการปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้า ประกอบด้วยหลักปฏิบัติสำคัญ 7 ข้อ ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันได้ทำอยู่แล้ว 2 เรื่อง คือ การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอ และการเปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง และมีเรื่องที่ต้องทำเพิ่มอีก 5 ข้อ กล่าวคือ การกำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจน ตัดสินใจและติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์ เพิ่มระดับการติดตามบริษัทที่ลงทุน หากพบว่าบริษัทมีการดำเนินงานที่อาจมีข้อสังเกตด้านธรรมาภิบาล เข้าข่ายขัดแย้งทางผลประโยชน์ ผู้ลงทุนสถาบันก็จะออกหนังสือขอให้บริษัทชี้แจง ขอเข้าพบกรรมการอิสระ หรือกรรมการตรวจสอบ และถ้าเห็นว่ายังเพิกเฉยก็อาจประชุมร่วมกับผู้ลงทุนสถาบันอื่นๆ เพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และเปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ลงทุนสถาบันสามารถประกาศรับและปฏิบัติตาม I Code ได้ตามความสมัครใจ โดยสามารถนำหลักปฏิบัติไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของแต่ละบริษัท หรือชี้แจงข้อขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถทำตามหลักการดังกล่าวได้พร้อมเหตุผลหรือมาตรการทดแทนที่บริษัทนำมาใช้ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม I Code และผลการปฏิบัติบนเว็บไซต์ของผู้ลงทุนสถาบันและในรายงานประจำปี ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลด I Code และแบบฟอร์มการประกาศรับและปฏิบัติตาม I Code ได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.cgthailand.org โดย ก.ล.ต. จะเผยแพร่รายชื่อผู้ลงทุนสถาบันที่รับการปฏิบัติตาม I code บนเว็บไซต์ ก.ล.ต.
_____________________________
หมายเหตุ:
1. ผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่
(1) ผู้ลงทุนสถาบันที่ให้บริการจัดการเงินลงทุน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
(2) ผู้ลงทุนสถาบันที่จัดการแทนเจ้าของทรัพย์สิน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม บริษัทประกัน เป็นต้น
(3) ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้รับฝากทรัพย์สิน ที่ปรึกษาด้านการลงทุน เป็นต้น โดยผู้ลงทุนสถาบันควรดูแลผู้ให้บริการที่ได้รับมอบหมาย (outsource) ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นไปตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน
2. หลักปฏิบัติ I Code ประกอบหลักปฏิบัติ 7 ข้อ ดังนี้
หลักปฏิบัติที่ 1 : การกำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของผู้ลงทุนสถาบัน ตลอดจนมาตรการ และกระบวนการปฏิบัติหน้าที่ที่ชัดเจนทั้งในระดับบริษัท คณะกรรมการและผู้บริหาร และหน่วยงานย่อยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
หลักปฏิบัติที่ 2 : การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอ เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า โดยมีการระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในกระบวนการต่าง ๆ เช่น โครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน การควบคุม และการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงมาตรการในการติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการและระบบงานที่กำหนดไว้
หลักปฏิบัติที่ 3 : การตัดสินใจและติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์ ผู้ลงทุนสถาบันควรมีกระบวนการในการติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทราบการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุน และจัดการปัญหาได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ ผู้ลงทุนสถาบันควรพิจารณาเกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัทที่จะลงทุนประกอบด้วย
หลักปฏิบัติที่ 4 : เพิ่มระดับในการติดตามบริษัทที่ลงทุน เมื่อเห็นว่าการติดตามในหลักปฏิบัติที่ 3 ไม่เพียงพอ ผู้ลงทุนสถาบันก็สามารถเพิ่มระดับการติดตามการลงทุน เช่น ออกหนังสือขอให้บริษัทชี้แจง ขอเข้าพบกรรมการอิสระหรือกรรมการตรวจสอบ
หลักปฏิบัติที่ 5 : เปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง โดยเปิดเผยรายงานการใช้สิทธิออกเสียงและการดำเนินการต่างๆ ให้ลูกค้าทราบ เพื่อความโปร่งใสและแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการดูแลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า
หลักปฏิบัติที่ 6 : ร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นและผู้มีส่วนได้เสียตามความเหมาะสม กรณีที่บริษัทที่ลงทุนยังเพิกเฉยหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลังจากเพิ่มระดับในการติดตามได้ เพื่อให้บริษัทที่ลงทุนเห็นความสำคัญของประเด็นข้อกังวลของผู้ลงทุนสถาบัน
หลักปฏิบัติที่ 7 : เปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความโปร่งใส ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ลงทุนสถาบันปกป้องและปรับปรุงชื่อเสียงให้แก่องค์กรของตนอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ลงทุนสถาบันควรมีระบบในการจัดเก็บข้อมูลและกลไกที่จะดูแลให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลที่เปิดเผยต่อลูกค้าถูกต้อง