- Details
- Category: กลต.
- Published: Thursday, 29 December 2016 11:34
- Hits: 5498
ก.ล.ต.ให้ผู้ประกอบธุรกิจตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนลูกค้าได้ภายในขอบเขตจำกัดตามที่ตกลงกับลูกค้า
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สามารถจัดให้ผู้แนะนำการลงทุน และผู้วางแผนการลงทุนให้บริการตัดสินใจซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแทนลูกค้าได้ภายใต้ขอบเขตจำกัดตามที่เกณฑ์กำหนด และเป็นไปตามกรอบที่ตกลงกับลูกค้า
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยลูกค้ายินยอมให้ตัดสินใจแทนภายในขอบเขตการลงทุนที่จำกัดตามที่ตกลงกันไว้ ไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งซื้อขายแต่ละรายการจากลูกค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการตามความชำนาญได้อย่างเต็มที่ และมีทางเลือกใหม่ๆมาตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ลงทุน ในขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนจะได้รับความคุ้มครองจากการให้บริการที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดีขึ้นของผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้
โดยตราสารที่สามารถให้บริการในลักษณะข้างต้นได้ ได้แก่ หลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมที่อยู่นอกตลาด
สำหรับ ผู้ประกอบธุรกิจที่จะให้บริการในลักษณะข้างต้นจะต้องปฏิบัติเรื่องสำคัญเพิ่มเติม อาทิ 1. ต้องตกลงกรอบการลงทุนกับลูกค้า เช่น หลักทรัพย์ที่จะซื้อขาย วงเงินซื้อขาย เป็นต้น 2. ต้องมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานสนับสนุน (back office) ยืนยันความถูกต้องในการเปิดบัญชีและสอบทานว่าลูกค้าเข้าใจเงื่อนไขการให้บริการอย่างชัดเจน 3. ต้องแจ้งลูกค้าทันทีที่เกิดการขาดทุนเกินกว่าอัตราขาดทุนสูงสุดที่ลูกค้ากำหนด 4. ต้องมีการทำสัญญากับลูกค้า ซึ่งเนื้อหามีการระบุถึงขอบเขตและเงื่อนไขในการให้บริการ สิทธิของลูกค้า มีการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการใช้บริการ และการดำเนินการกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยไม่สามารถให้บริการได้
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. พบพฤติกรรมการกระทำความผิดของผู้แนะนำการลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์เกี่ยวกับการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนลูกค้าและทำให้ลูกค้าเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 พบการกระทำความผิดดังกล่าวมากถึงร้อยละ 32 ของฐานความผิดทั้งหมด ซึ่งจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในปัจจุบันพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ อาทิ เกิดจากความต้องการของลูกค้าซึ่งไม่มีเวลาติดตามภาวการณ์ซื้อขายในตลาด ลูกค้าไม่มีความรู้การลงทุนมากพอ
การไว้ใจผู้แนะนำการลงทุนให้ดำเนินการซื้อขายแทน หรือต้องการให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาดูแลการลงทุน ดังนั้น การปรับปรุงเกณฑ์นี้จะช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมการกระทำความผิดของผู้แนะนำการลงทุนในการรับมอบหมายการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแทนลูกค้าให้เข้ามาสู่ระบบที่มีการกำกับดูแลเพื่อให้มีมาตรฐาน ในขณะเดียวกันสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่ประสงค์ให้มีผู้เชี่ยวชาญมาดูแลการลงทุน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมยิ่งขึ้น