- Details
- Category: กลต.
- Published: Wednesday, 07 December 2016 13:38
- Hits: 4685
ก.ล.ต. ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนนวัตกรรมตลาดทุนและสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วน
ก.ล.ต. ขับเคลื่อนตลาดทุนไทยชูยุทธศาสตร์ ใช้เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมทางการเงินสำหรับตลาดทุน ผ่อนคลายเกณฑ์เปิดสนามทดลอง (regulatory sandbox)ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ภาคธุรกิจใช้โอกาสของเทคโนโลยี พร้อมเพิ่มฝ่ายงานรองรับ
นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ความท้าทายของตลาดทุนคือ การต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบริการทางการเงินและตลาดทุนไปอย่างสิ้นเชิง เทคโนโลยีทำให้เกิดผู้ให้บริการทางการเงินใหม่ๆ ที่นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยคิดค้นสินค้าและบริการที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้หลากหลายและเฉียบคมขึ้น ดังนั้น ก.ล.ต. จึงเห็นเป็นจังหวะและโอกาสที่ดี ที่ภาคธุรกิจจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้เล่นรายอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ ในเวลาที่เป็นโลกยุคไร้พรมแดน ในขณะที่ ผู้ลงทุนจะมีทางเลือกเข้าถึงบริการทางการเงินและการลงทุนได้หลากหลายด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
ก.ล.ต. จึงมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและผลักดันให้ภาคธุรกิจใช้โอกาสจากเทคโนโลยีได้ โดยกำหนดแผนงานขับเคลื่อนนวัตกรรมตลาดทุน 5 ด้าน ได้แก่
1) ทำข้อมูลตลาดทุนให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้ พร้อมส่งต่อ นำไปต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว อาทิ หนังสือ
ชี้ชวนที่เครื่องอ่านได้ (machine readable prospectus) การเชื่อมอินเตอร์เฟส (open API)
2) เปิดพื้นที่ให้มีที่ทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ อาทิ โครงการ Fintech Challenge Program และ สนามทดลอง (regulatory sandbox)
3) ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยลดต้นทุนทั้งระบบ เช่น ศูนย์ข้อมูลตัวตนลูกค้า (e-KYC pool) และการใช้บล็อกเชนในการซื้อขายหลักทรัพย์ (blockchain for trading and settlement)
4) ใช้เทคโนโลยีช่วยในการกำกับดูแล (RegTech) ประกอบด้วยการสร้างฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบ
(data-driven investigation) และระบบงานดิจิตอล (digital regulator)
5) รับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ด้วยมาตรฐานตลาดทุน (market-wide standards) และการซ้อมแผนฉุกเฉินในวงกว้าง (market-wide cyber drill)
สำหรับ การเปิดพื้นที่ให้ทดลองทำธุรกิจตามแนวทางของ regulatory sandbox จะช่วยผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่สามารถทดสอบบริการกับลูกค้าจริงได้ โดยได้รับยกเว้นใบอนุญาตหรือได้ใบอนุญาตแบบง่าย และมีการกำหนดขอบเขตและระยะเวลาที่ใช้ทดสอบนวัตกรรมนั้นอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จึงปรับโครงสร้างองค์กรโดยเพิ่มฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech Department) และฝ่ายจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลตลาดทุน (Data Management and Analytics Department) เพื่อรองรับยุทธศาตร์ดังกล่าว มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2560