- Details
- Category: กลต.
- Published: Friday, 05 February 2016 11:20
- Hits: 2830
ก.ล.ต.เผยผลการประเมินตัวชี้วัดการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียน
ก.ล.ต.สนับสนุนสถาบันไทยพัฒน์เปิดเผยผลประเมินความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย (Anti-corruption Progress Indicator) ประจำปี 2558 พบบริษัทจดทะเบียน 13 แห่ง ได้คะแนนการประเมินตัวชี้วัดสูงสุดที่ระดับ 5 โดยบริษัทสามารถขยายผลสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นถึงนโยบายที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาความยั่งยืน ที่มุ่งให้บริษัทจดทะเบียนมีแนวปฏิบัติที่ดี ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และเห็นผลในทางปฏิบัติ เพื่อเป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามต่อไป โดยผลการประเมิน Anti-corruption Progress Indicator ประจำปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 585* แห่ง ปรากฏว่า บริษัทจดทะเบียนมีพัฒนาการเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องชัดเจน และขอชื่นชมบริษัทจดทะเบียน 13 แห่ง ที่ได้รับผลการประเมินตัวชี้วัด Anti-corruption Progress Indicator สูงสุดคือ ระดับ 5 จากทั้งหมด 6 ระดับ ซึ่งระดับ 5 เป็นระดับที่สามารถขยายผลสู่ผู้เกี่ยวข้องให้เห็นถึงนโยบายที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
บริษัทที่ได้คะแนนการประเมินระดับ 5 จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ (1) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP) (2) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) (3) บริษัท กู๊ดเยียร์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (GYT) (4) บริษัท พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) (PE) (5) บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) (PM) (6) บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) (PPP) (7) บริษัท พรีเมียร์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (PT) (8) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) (9) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) (10) บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SAT) (11) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) (12) บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI) และ (13) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)
ในปี 2558 บริษัทจดทะเบียนที่เข้ารับการประเมินมีผลคะแนนดีขึ้นกว่าเดิม โดยในปี 2557 บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 29.10) ได้รับอยู่ที่ระดับ 2 (Declared) หมายถึง การแสดงการประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ในการต่อต้านการทุจริต โดยไม่มีบริษัทใดได้คะแนนระดับ 5 ขณะที่ในปี 2558 บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 44.44) ได้คะแนนดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3 (Established) หมายถึง บริษัทมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน เช่นไม่จ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่อต้านผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อสารและฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลการประเมินยังพบว่า มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมินระดับ 0 หมายถึง บริษัทไม่เปิดเผยหรือไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน หรือไม่มีนโยบายที่ชัดเจนมีสัดส่วนลดลงอย่างมาก จากร้อยละ 39.33 ในปี 2557 เหลือเพียงร้อยละ 8.82 ในปี 2558 ซึ่ง ก.ล.ต. จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
“การประเมิน Anti-corruption Progress Indicator ในบริษัทจดทะเบียนมีส่วนช่วยวัดระดับการพัฒนาและช่วยประกอบการคิดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท ส่วนผู้ลงทุนจะได้ทราบความมุ่งมั่นและนโยบายการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันของบริษัทที่ตนลงทุน และมีส่วนสนับสนุนบริษัทที่มีนโยบายดังกล่าวได้ผ่านการลงทุนในหุ้นและกองทุนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายในเรื่องนี้ สำหรับผลการประเมิน Anti-corruption Progress Indicator จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.cgthailand.org ต่อไป” นายรพีกล่าวเสริม
*บริษัทจดทะเบียนที่เข้ารับการประเมินในปี 2558 ประกอบด้วย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 477 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ จำนวน 108 บริษัท อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 มีการประเมิน Anti-corruption Progress Indicator ของบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน เพิ่มเติมจากปี 2557 จำนวน 65 บริษัท ดังนั้น ในปี 2558 จึงมีบริษัทที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด 650 บริษัท (สามารถตรวจสอบผลการประเมินได้บนเว็บไซต์ ก.ล.ต.)