- Details
-
Category: กลต.
-
Published: Thursday, 17 December 2015 17:41
-
Hits: 2700
ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร RAM กรณีทุจริต และกระทำหรือยินยอมให้มีการทำผิดเกี่ยวเอกสารของบริษัท
ก.ล.ต. กล่าวโทษนายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) (RAM) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต ทำการทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่นทำให้บริษัทเสียหาย และกระทำหรือยินยอมให้มีการทำผิดเกี่ยวกับเอกสารของบริษัท
ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า นายแพทย์เอื้อชาติในฐานะกรรมการผู้จัดการ RAM ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานและจัดการทรัพย์สินของ RAM ได้จัดการให้บริษัทขายหุ้นธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KKP) ที่บริษัทลงทุนไว้ออกไปเมื่อปลายปี 2555 ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดอย่างมีนัยสำคัญให้แก่บุคคลอื่นที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์ร่วม ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเบื้องต้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และนายแพทย์เอื้อชาติยังได้รับประโยชน์จากการกระทำอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
การกระทำข้างต้นเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคสอง มาตรา 307 มาตรา 311 และมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
แม้ว่า ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2557 นายแพทย์เอื้อชาติได้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ RAM แล้ว แต่เป็นการชดเชยความเสียหายหลังจากที่ ก.ล.ต. ตรวจพบความผิด
นอกจากนี้ นายแพทย์เอื้อชาติได้กระทำหรือยินยอมให้มีการไม่ลงข้อความสำคัญในเอกสารของ RAM เพื่อหลีกเลี่ยงไม่แสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นกับ RAM ไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทจำนวน 4 งวด ได้แก่ งวดปี 2555 งวดไตรมาส 1/2556 งวดไตรมาส 3/2556 และงวดปี 2556 ซึ่งเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษนายแพทย์เอื้อชาติต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งตลอดระยะเวลาการกล่าวโทษดำเนินคดี ทำให้นายแพทย์เอื้อชาติเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ