- Details
- Category: กลต.
- Published: Saturday, 13 July 2024 19:54
- Hits: 8774
ก.ล.ต. เดินหน้าผลักดันการลงทุนอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของกองทุน เน้นย้ำให้ระดับบริหารของ บลจ. ขับเคลื่อนการนำ ESG ไปปฏิบัติจริง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดกิจกรรม “Leading the Change: Driving Sustainability Aspiration into Action” เมื่อวันที่ 9 และ 12 กรกฎาคม 2567 ให้แก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อร่วมสร้าง “Tone from the Top” ผลักดันให้บริษัทที่ลงทุนมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate risk) โดยนำหลักการ ESG ไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในฐานะผู้ลงทุนสถาบันที่ดูแลเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ มีศักยภาพที่จะสร้างแรงกระเพื่อมและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการเป็นผู้ลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ด้วยการจัดสรรเงินทุนไปยังบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดีและมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันให้บริษัทที่ไปลงทุนกำหนดมาตรการการรับมือกับ climate risk ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง สอดรับกับความเร่งด่วนของวาระสำคัญดังกล่าว อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงให้กองทุนที่บริหารจัดการ รวมทั้งช่วยให้ผู้ลงทุนและเจ้าของทรัพย์สินได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอีกด้วย
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) รวมทั้งได้จัดทำคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน ซึ่งได้มีการจัดอบรมให้แก่ บลจ. และผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าประสงค์ที่จะส่งเสริมให้เกิดการจัดสรรเงินลงทุนไปยังกิจการที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบอย่างโปร่งใส และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งไว้
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “บลจ. ในฐานะผู้ลงทุนสถาบันมีบทบาทสำคัญในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยการผนวกปัจจัยด้าน ESG และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดการลงทุน เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม โดย ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่า Tone from the Top จากคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของ บลจ. จะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ และการส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งไปยังผู้จัดการกองทุน รวมถึงพนักงานของ บลจ. ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะนำปัจจัย ESG ไปผนวกในกระบวนการลงทุน การบริหารความเสี่ยง และการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กร จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่เป้าหมาย SDGs Net Zero และเป็นผู้นำด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนในภูมิภาคต่อไป”
________________________
หมายเหตุ :
* กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund : SRI Fund) เป็นกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามหลักสากล เช่น SDGs UN Global Compact เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริหารจัดการ SRI Fund ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้อย่างสะดวก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและตรวจสอบรายชื่อ SRI Fund รวมถึง Thailand ESG Fund ได้ที่ https://sustainablefinance.sec.or.th/Fund
** ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาคู่มือฯ และภาคผนวกตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศโดยผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุนต่างประเทศ ได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ดังนี้
https://www.sec.or.th/TH/Documents/CompanyHandbooksandGuidelines/Climate_Risk_Management_Guidelines.pdf และ
https://www.sec.or.th/TH/Documents/CompanyHandbooksandGuidelines/Appendix_Climate_Risk_Management_Guidelines.pdf
7420