- Details
- Category: กลต.
- Published: Tuesday, 25 June 2024 15:41
- Hits: 10949
คลัง ผนึก ก.ล.ต.-ตลท.ผุดมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ขยายวงเงินขอลดหย่อนภาษีฯ
กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมแถลงมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือการปรับเงื่อนไขกองทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีในปัจจุบันคือ ThaiESG ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสงเสริมให้เกิดการออม ผ่านการลงทุนในตลาดทุน และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ระดมทุนให้ความสำคัญกบความยั่งยืน ปรับเกณฑ์กองทุน TESG ขยายวงเงินขอลดหย่อนภาษีฯไม่เกิน 3 แสนบ. ลดเวลาถือครองเหลือ 5 ปี ปรับเพิ่มประเภทหุ้น เตรียมชงครม.ใน 2 สัปดาห์ พร้อมเล็งฟื้นกองทุนวายุภักษ์ หวังเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 5 แสนลบ. ยันไม่ยกเลิก'ชอร์ตเซล'แต่ยกระดับคุมเข้มมากขึ้น
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวร่วม 3 หน่วยงาน'มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน'โดยมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567
นายพิชัย กล่าวต่อว่า หนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การปรับเงื่อนไขกองทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีในปัจจุบันคือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG หรือ TESG) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสงเสริมให้เกิดการออมผ่านการลงทุนในตลาดทุนและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ระดมทุนให้ความสำคัญกบความยั่งยืน
โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องที่จะเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าในการปรับเงื่อนไข ThaiESG ด้วยการขยายวงเงินการนำวงเงินลงทุนไปขอลดหย่อนภาษีเงินได้ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ จากเดิม 8 ปี
รวมถึงยังเตรียมปรับเพิ่มประเภทหุ้นที่กองทุน ThaiESG สามารถเข้าไปลงทุนได้โดยจะเน้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม (E) และธรรมาภิบาล (G) ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนหุ้นในตระกล้าลงทุนได้อีกราว 200 หุ้น จากเงื่อนไขเดิมที่มีจำนวนหุ้นอยู่ราว 128 หุ้น
ส่วนข้อเรียกร้องให้ยกเลิกธุรกรรมการขายชอร์ต(ชอร์ตเซล)นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกชอร์ตเซล เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล หากยกเลิกไปอาจส่งผลเสียในระยะยาวได้
ทั้งนี้ จริงๆแล้วการขายชอร์ตถือเป็นเครื่องมือลงทุนของนักลงทุนระยะยาว เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นระหว่างทางหุ้นอาจมีขาขึ้นและขาลง หากยกเลิกไปจะเกิดผลเสียมากกว่า รวมถึงหากยกเลิกอาจขัดกับหลักสากล ส่วนเรื่องการทำ Naked Short ในระยะยาวจะมีการแก้ไขกฎหมายให้มีความผิดทั้งโทษปรับและกฎหมายอาญา
ความท้าทายสู่โอกาส : การขับเคลื่อนตลาดทุน
สถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดหุ้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย ทั้งจากปัจจัยภายใน อาทิ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ส่งผลต่อความล่าช้าต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า อีกทั้งยังมีวิกฤตโควิด ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ GDP ติดลบร้อยละ 6.1 (หรือ -6.1%) ในปี 2563 และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปลายปี 2566 เป็นต้นมา แม้ว่ายังมีความกดดันจากความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศ และความผันผวนของตลาดการเงินจากนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจ เศรษฐกิจของไทย เริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยเฉพาะจากความคลี่คลายทางการเมืองที่ได้ปลดล็อกการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่กลับมาใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงในปีนี้และต่อเนื่องไปในปีหน้า
สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ พบว่า ผลประกอบการของบริษัทจดเบียนที่เกิดขึ้นจริงในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ มากกว่าครึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ระดับราคาของหุ้นไทยที่ปรับลดลง ในขณะที่ผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เป็นโอกาสของการเข้าลงทุนในระยะยาวที่รับความเสี่ยงผันผวนในระยะสั้นเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ตอบโจทย์การสร้างความเพียงพอ และความมั่นคงทางการเงินของผู้ลงทุนได้
มาตรการส่งเสริมการออมการลงทุน
แต่การปรับตัวของราคาของหลักทรัพย์เพียงอย่างเดียว อาจไม่ทำให้นักลงทุนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ คนที่มีรายได้น้อย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมมาลงทุนในหลักทรัพย์ และเพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาว ที่ผ่านมาการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสามารถจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดการออม
และยังสร้างกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (fund flow) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อลดผลกระทบระยะสั้นได้ และการสร้างการลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนให้ลดการพึ่งพิง fund flow จากต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพในตลาดทุน
จากความสำเร็จของกองสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผ่านมา นำมาปรับเงื่อนไขกองสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีในปัจจุบัน คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: TESG fund) ให้มีความน่าสนใจ และสอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้าง positive impact ทั้งการออม การให้แรงจูงใจผู้ลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน
นอกจากนี้ ภาครัฐยังศึกษาความสำเร็จของกองทุนในรูปแบบอื่น อาทิ กองทุนวายุภักษ์มาเสริมสร้างกลไก การออม การลงทุนให้กับประชาชนผ่านรูปแบบการลงทุนร่วมของภาครัฐ และการมีโครงสร้างผลตอบที่มีขั้นต่ำ ขั้นสูง การกำหนดลำดับของสิทธิการได้รับผลตอบแทนที่จะรองรับกลุ่มของผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกันอีกด้วย
ร่วมกับการขับเคลื่อนและผลักดันการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะอื่น ๆ เช่น การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ในอนาคต และการพัฒนา Exchange-Traded Fund (ETF) รวมทั้งบัญชีส่วนบุคคลเพื่อการลงทุนระยะยาว (Individual Saving Account) ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น
มาตรการยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน
มาตรการขับเคลื่อนการลงทุนจะต้องควบคู่กับการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายตลาดในปัจจุบัน ทั้งจากธุรกรรมขายชอร์ตและการซื้อขายของโปรแกรมเทรดที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) จึงได้ผลักดันมาตรการต่าง ๆ และเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการที่คำนึงถึงผลกระทบในหลายด้านอย่างรอบคอบ และให้มีการดำเนินการอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการได้ต้นเดือนกรกฎาคม 2567
ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะติดตามผลของการดำเนินการและมีการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้มั่นใจว่า พฤติกรรมการกระทำผิดในลักษณะที่เข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Misconduct) เมื่อเกิดขึ้นจะมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และระดับความรุนแรงของความผิดจะสูงขึ้นจากมาตรการที่ขับเคลื่อนครั้งนี้ รวมทั้งการกำหนดปรับปรุงค่าปรับจากการกระทำผิดที่สูงขึ้นและการปรับแก้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องปรามการกระทำที่ไม่เหมาะสม
แนวทางการพัฒนาตลาดทุน
นอกเหนือจากการขับเคลื่อนในมิติการลงทุนระยะยาว การกำกับที่เข้มข้นมากขึ้นยังมีการขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกสำคัญสอดคล้องกับสังคมดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย ตัวอย่างโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนในทุกขั้นตอนทั้งระบบ (end to end) ให้เป็นดิจิทัล การระดมทุนจากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)
ตลอดจนการส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดที่มีการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองนักลงทุนและสร้างความโปร่งใสที่เชื่อถือได้ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐและการวางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่ออนาคตของตลาดทุนไทยจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ที่มาเผชิญกับเศรษฐกิจไทย และสามารถสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับผู้เกี่ยวข้องและผู้ลงทุนได้