- Details
- Category: กลต.
- Published: Wednesday, 10 January 2024 00:06
- Hits: 3938
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจ) ซึ่งทำให้มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง* รวมทั้งคุ้มครองผู้ลงทุนและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ไม่สร้างภาระเกินความจำเป็นแก่ผู้ประกอบธุรกิจ
ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการใช้หนี้สินด้อยสิทธิในการดำรงเงินกองทุน** การทบทวนอัตราความเสี่ยง (haircut) ที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน และครอบคลุมความเสี่ยงของตราสารต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงนิยามหนี้สินพิเศษให้ครอบคลุมถึงหนี้สินรายการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และทบทวนหลักการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้วนั้น
ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศพร้อมทั้งร่างเอกสารแนบท้ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้หนี้สินด้อยสิทธิส่วนที่เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น โดยไม่นับเป็นหนี้สินรวม ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้เป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้หนี้สินด้อยสิทธิส่วนที่ไม่นับเป็นหนี้สินรวมดังกล่าวไม่เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น รวมทั้งปรับปรุงนิยามของหนี้สินด้อยสิทธิดังกล่าวให้ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกหรือเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนอื่นใด เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจตามที่ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
(2) ปรับปรุงอัตรา haircut ด้าน position risk*** ของตราสารบางประเภท และกำหนดอัตรา haircut
ด้าน position risk ของหุ้นที่ซื้อขายใน LiVE Exchange และตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ให้เหมาะสมขึ้น
(3) ปรับปรุงนิยามหนี้สินพิเศษโดยให้รวมถึงหนี้สินรายการอื่นๆ เช่น หนี้สินจากการค้างจ่ายเงินค่าขายหลักทรัพย์คืนให้แก่ลูกค้า เนื่องจากมีคำสั่งจากหน่วยงานของรัฐให้อายัดเงินดังกล่าว และหนี้สินจากการรับฝากหรือเป็นตัวแทนรับฝากทรัพย์สินจากการประกอบธุรกิจอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการแยกทรัพย์สินที่รับฝากดังกล่าวออกจากทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจอย่างชัดเจน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระในการดำรงเงินกองทุนในส่วนที่เกินจำเป็นได้
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=962 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] [email protected] และ [email protected] จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
___________________
หมายเหตุ:
* หลักเกณฑ์ปัจจุบันกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีเงินกองทุนไม่น้อยกว่าเงินกองทุนขั้นต่ำ กล่าวคือ
(1) ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital - NC) ด้วยสินทรัพย์สภาพคล่องหลังหักหนี้สินรวมและค่าความเสี่ยงไม่น้อยกว่ามูลค่าที่กำหนด
(2) ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio - NCR) โดยมีอัตราส่วนของ NC เมื่อเทียบกับหนี้สินทั่วไป (หนี้สินรวมและหนี้สินอนุพันธ์ทางการเงิน หักด้วยหนี้สินพิเศษ) บวกด้วยทรัพย์สินที่ต้องวางเป็นประกันสำหรับธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าอัตราส่วนที่กำหนด
** หนี้สินด้อยสิทธิ หมายถึง หนี้สินที่กำหนดสิทธิของเจ้าหนี้ไว้ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญทั่วไป โดยเป็นหนี้สินที่ไม่มีประกันและไม่มีเงื่อนไขให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้มีการชำระหนี้ก่อนกำหนด ซึ่งยกเว้นไม่นับเป็นหนี้สินรวม เฉพาะส่วนที่ไม่เกินมูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้น
*** position risk หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหรือสินทรัพย์อ้างอิงในทิศทางที่ส่งผลขาดทุน (potential loss) แก่ผู้ประกอบธุรกิจ อันเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเงินลงทุน (position taking) ในหลักทรัพย์ ตราสาร หรืออนุพันธ์ทางการเงิน โดยสถานะดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของ long และ/หรือ short position
1174