- Details
- Category: กลต.
- Published: Friday, 01 December 2023 13:29
- Hits: 3189
‘Climate Strategy’ กลยุทธ์บริหารพอร์ตในภาวะโลกรวน
โดย นางสาวสิรีฒร ศิวิลัย
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
กลยุทธ์การลงทุนมีหลายรูปแบบ แต่รู้หรือไม่ว่า มีกลยุทธ์การลงทุนที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสการเติบโตของเงินลงทุนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ได้
วันนี้ผู้เขียนขอชวนมาทำความเข้าใจกลยุทธ์การลงทุนที่คำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสจาก climate change ที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นต้น สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการลงทุนของกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อช่วยให้ผลการดำเนินงานของกองทุนมีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจาก climate change และเติบโตได้อย่างยั่งยืน สะท้อนการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุนในฐานะผู้รับบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้ลงทุน
ความเสี่ยง โอกาส และกลยุทธ์การลงทุนพิชิต climate change
อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในความเสี่ยงหลักของธุรกิจจัดการลงทุนคือ การละเลยของผู้บริหารจัดการลงทุนในการพิจารณาปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการ ซึ่งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate risk) เป็นความเสี่ยงทางการเงินที่มิอาจละเลยได้ เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของกิจการที่กองทุนลงทุน ดังนั้น การที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุนคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสจาก climate change ของกิจการที่กองทุนลงทุน นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการแล้ว ยังถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุนเองด้วย ‘Strategy’ หนึ่งในองค์ประกอบหลัก (pillar) ภายใต้กรอบคำแนะนำของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures : TCFD) และ International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งเป็นคณะทำงานและหน่วยงานที่ดูแลด้านมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของบริษัท ตามลำดับ โดย TCFD และ ISSB ได้แนะนำให้ผู้บริหารจัดการลงทุนดำเนินการเพื่อลดผลกระทบของ climate change ต่อทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการ ดังนี้
1) ผนวกความเสี่ยงและโอกาสจาก climate change ในกลยุทธ์การลงทุน หรือผลิตภัณฑ์การลงทุน
2) คำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่มีต่อกลยุทธ์การลงทุน หรือผลิตภัณฑ์การลงทุน
อย่างไรก็ดีแต่ละกลยุทธ์การลงทุนหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนอาจได้รับความเสี่ยงและโอกาสจาก climate change ในรูปแบบและระดับที่แตกต่างกัน ผู้เขียนจึงขอหยิบยกบางวิธีการที่ผู้บริหารจัดการลงทุนสามารถนำไปใช้ในการ ระบุประเด็นความเสี่ยงและโอกาสจาก climate change ในการบริหารจัดการลงทุนตามแนวทางของ TCFD ดังนี้
● วิธีการเชิงคุณภาพ (Qualitative approach): การระบุกลุ่มอุตสาหกรรมที่มี climate risk สูง[1] เพื่อประเมินว่ากองทุนมีการลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวหรือไม่ โดยผู้บริหารจัดการลงทุนอาจพิจารณาผลกระทบต่อกิจการในห่วงโซ่ทางธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ด้วย เพื่อให้การวิเคราะห์มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น
● วิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative approach): การใช้การจัดอันดับ climate risk ของกิจการ ที่อาจจัดทำโดยบุคคลที่ 3 เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อกองทุนหากลงทุนในกิจการที่มี climate risk สูงกว่ากิจการอื่นๆ
● วิธีการพิจารณาตามประเภททรัพย์สินต่างๆ (Asset class approach) อาทิ
- ตราสารทุน และตราสารหนี้ของภาคเอกชน: การประเมินผลกระทบทางการเงินของกิจการจากความเสี่ยงด้านกายภาพ (physical risk) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (transition risk)[2] พร้อมกับการพิจารณากลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการ และการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อพิจารณาการตอบสนองต่อ climate risk
- ตราสารหนี้ภาครัฐ: การพิจารณาอันดับประเทศตามดัชนีการเกิดคาร์บอน (carbon intensity) หรือสัดส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่ออกตราสาร
Active หรือ Passive Fund ก็บริหารจัดการ climate risk ได้เช่นกัน
กองทุนอาจมีแนวทางการบริหารแบบเชิงรุก (active) หรือเชิงรับ (passive) ตามกลยุทธ์ที่ผู้บริหารจัดการลงทุนใช้ในการบริหารจัดการกองทุนนั้นๆ แต่ไม่ว่าจะบริหารแบบ active หรือ passive ก็สามารถบริหารจัดการ climate risk ของกองทุนได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
● กรณี Active Fund: อาจมีการให้น้ำหนักการลงทุนเน้นไปยังกิจการที่มีความก้าวหน้าด้านการลด
การปล่อยคาร์บอน และลดน้ำหนักการลงทุนในกิจการที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
● กรณี Passive Fund: อาจใช้ดัชนีอ้างอิง (index) ที่สอดรับกับเป้าหมายด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เช่น Paris Aligned Benchmark เป็นต้น หรือการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว (Green bonds) ที่มีวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน เพื่อช่วยลดปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ สามารถศึกษาแนวทางการผนวกโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change และตัวอย่างเพิ่มเติมได้จากคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสำหรับ
ผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน และภาคผนวก รวมทั้ง TCFD Recommendations ฉบับภาษาไทย ที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต.
ท้ายนี้ climate change เริ่มส่งผลกระทบที่เด่นชัดและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุนมีความตื่นตัวต่อประเด็นความเสี่ยงและโอกาสจากสถานการณ์ที่เกี่ยวกับ climate change ที่เป็นสาระสำคัญต่อการปกป้องทรัพย์สินของผู้ลงทุนจากความเสี่ยงดังกล่าว พร้อมไปกับการพิจารณาจัดสรรเงินลงทุนในกิจการที่มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สะท้อนการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และช่วยให้เราสามารถส่งต่อโลกที่ดีกว่าให้คนรุ่นถัดไปได้
*******************************
หมายเหตุ*
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มเติมได้ที่ บทความเรื่อง “Climate Governance หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน”
https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/031066.pdf
[1] ผู้จัดการกองทุนอาจพิจารณาจากปัจจัยหรือเครื่องมือต่างๆ เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจการ ผลกระทบที่กิจการอาจได้รับจาก ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เป็นต้น
[2] Physical risk หมายถึง โอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและการดำเนินธุรกิจจากเหตุการณ์ หรือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นฉับพลันเป็นครั้งคราว เช่น ไฟป่า น้ำท่วม พายุ เป็นต้น หรือจาก climate change ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมีนัยสำคัญในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ระดับน้ำทะเล ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น ในขณะที่ transition risk หมายถึง โอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากกระบวนการปรับตัวสู่สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและนักลงทุน เป็นต้น
12018