- Details
- Category: กลต.
- Published: Sunday, 26 March 2023 19:42
- Hits: 2543
ก.ล.ต. เปิดรับความเห็นปรับเกณฑ์การจัดตั้งหรือย้ายสาขาของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจและคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตจัดตั้ง ย้ายสำนักงานหรือสาขา ของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจ) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดกระบวนการในการขออนุญาตของผู้ประกอบธุรกิจโดยมีการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นไปตามโครงการ Regulatory Guillotine
ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในการประชุมครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 มีมติเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง ย้ายสำนักงานหรือสาขา ของผู้ประกอบธุรกิจ ตามโครงการ Regulatory Guillotine* เพื่อเพิ่มความคล่องตัว ลดกระบวนการ และภาระในการดำเนินการให้ภาคธุรกิจในการเปิดสาขา
โดยมีสาระสำคัญที่เสนอปรับปรุง ดังนี้ 1) ใช้หลักการ auto approved ในการพิจารณาอนุญาตจัดตั้งสำนักงานสาขาในต่างประเทศเช่นเดียวกับสาขาในประเทศ 2) ยกเลิกการกำหนดขอบเขตการดำเนินการของสำนักงานผู้แทนของผู้ประกอบธุรกิจไทยในต่างประเทศ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้นๆ กำหนด 3) เพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องผู้จัดการสาขา 4) คุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอยู่บนหลักการว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องมีความพร้อม สาขาตั้งอยู่ในสถานที่ที่ผู้ลงทุนเข้าถึงได้อย่างเหมาะสม และมีการดูแลลูกค้าโดยแจ้งลูกค้ารับทราบล่วงหน้าอย่างเพียงพอก่อนการปิดหรือย้ายสาขา
ในการนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. ลิงก์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=890 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง email : [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 23 เมษายน 2566
__________________
หมายเหตุ: * โครงการ Regulatory Guillotine มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งลดขั้นตอน กระบวนการและเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนการดำเนินการของภาคเอกชน รวมถึงลดภาระของภาคเอกชนและประชาชน
A31081