WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SEC

Taxonomy กับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน
โดย ฝ่ายตราสารหนี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

          ในปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในเรื่องการดำเนินธุรกิจหรือการจัดทำโครงการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลายมากขึ้น และต่างมุ่งที่จะมีส่วนช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Net zero emission) ภาคการเงินจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable finance) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน และคำว่า “Taxonomy” ก็เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างแพร่หลาย

 

          “Taxonomy” คืออะไร
          ในบริบทของการเงินเพื่อความยั่งยืน Taxonomy คือ การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้ในการช่วยประเมินว่า กิจกรรมใดเข้าข่ายเป็นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีหลักการและแนวทางที่ชัดเจนจะช่วยให้มีความโปร่งใส ลดปัญหาด้าน Greenwashing ตลอดจนมีมาตรฐานที่สอดคล้องกันทั้งระบบ

 

          ความสำคัญและประโยชน์
          Taxonomy เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ทั้งการจัดสรรเงินทุนและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน ตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้อย่างตรงจุดและสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการห้ามลงทุนในกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายตาม Taxonomy โดยในภาคตลาดทุนสามารถนำ Taxonomy ไปใช้อ้างอิงเป็นแนวทางสำหรับผู้ออกตราสารหนี้ กลุ่มความยั่งยืน ในการประเมินและคัดเลือกโครงการหรือกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้จัดการกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund: SRI Fund) ในการคัดเลือกหลักทรัพย์และจัดพอร์ตการลงทุนที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนหรือคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

 

          ความคืบหน้าและพัฒนาการในภูมิภาคและประเทศอื่นๆ
          Taxonomy ของสหภาพยุโรป (EU Taxonomy) ถือว่ามีการเผยแพร่และบังคับใช้เป็นภูมิภาคแรกของโลก ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลตระหนักถึงความสำคัญของ Taxonomy และเริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำมาปรับใช้ อย่างไรก็ดี ด้วยสหภาพยุโรปมีระดับการพัฒนาและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น (เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเน้นภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตและอุตสาหกรรมหนัก) นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green technology) ที่ค่อนข้างทันสมัย จึงทำให้การประเมินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีตัวชี้วัดและเงื่อนไขที่เข้มข้น ส่งผลให้ EU Taxonomy อาจจะไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งยังคงพึ่งพิงกิจกรรมในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก เป็นสัดส่วนสูง และอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Transition pathway)

          ปัจจุบันหลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลก (เช่น อาเซียน จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ แคนาดา แอฟริกาใต้ และชิลี) ได้เริ่มพัฒนา Taxonomy ให้มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และโครงสร้างที่เหมาะกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง โดยอาจจะมีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมองค์ประกอบอื่นๆ จากที่มีอยู่ใน EU Taxonomy เช่น การจัดหมวดหมู่แบบ Traffic light system โดยเพิ่มหมวดหมู่กิจกรรมสีเหลืองเพื่อรองรับกิจกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและ การลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมที่มีความยั่งยืน หรือ Transition activity เป็นต้น

 

          Thailand Taxonomy (มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของไทย)
          การเล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญโดยภาคการเงินไทยในการจัดทำ Taxonomy ของไทย ทำให้เกิดการจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy (คณะทำงานฯ) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยมีแนวทางการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยต้องคำนึงถึงการสอดรับกับมาตรฐานสากล (Inter-operability) ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาบริบทและ Transition pathway ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างทั่วถึง น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

          “โดยเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนา Taxonomy บนหลักการดังกล่าว จะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของระบบนิเวศ (ecosystem) การเงินเพื่อความยั่งยืน กระตุ้นการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนภาคธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ และมีส่วนช่วยผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป”

          สำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนคณะทำงานฯ อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นต่อร่าง Thailand Taxonomy ในระยะที่ 1 ซึ่งจะเริ่มด้วยการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง โดยคาดว่าจะเผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ฉบับสมบูรณ์ได้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจ สามารถร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะได้จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2566 (Link)

 


A1513

BANPU 720x100TU720x100EXIM One 720x90 C Jsme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!