- Details
- Category: กลต.
- Published: Sunday, 22 May 2022 22:14
- Hits: 4598
ก.ล.ต. ขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมอนุญาตและแบบไฟลิ่งตราสารหนี้ เพื่อส่งเสริมการเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศขยายเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย (แบบไฟลิ่ง) ออกไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 พร้อมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขการใช้เงินในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและเปิดกว้างการลงทุนในทุกประเทศ
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. เห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนและการระดมทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งเป็นบทบาทของตลาดทุนที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน จึงได้ออกประกาศขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและค่าธรรมเนียมการยื่นแบบไฟลิ่ง สำหรับการออกเสนอขายตราสารหนี้หรือหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืน ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ต่อเนื่องเพิ่มจากเดิมไปอีก 3 ปี จนถึงเดือนพฤษภาคม 2568 โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2565 และลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงเงื่อนไขการใช้เงินลงทุนสำหรับ Green Bond Social Bond และ Sustainability Bond เพื่อใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน โดยไม่จำกัดประเทศที่ลงทุน จากเดิมที่กำหนดให้ใช้เงินในประเทศไทยหรือกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนสำหรับภาคธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค และตอกย้ำบทบาทตลาดทุนไทยที่มุ่งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก รวมทั้งรองรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608 อีกด้วย”
นอกจากนี้ นับจากที่เกณฑ์รองรับหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืนมีผลบังคับใช้ในปี 2561 จนถึง ณ สิ้นปี 2564 มีผู้ออกเสนอขายหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืนทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 21 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3 แสนล้านบาท