- Details
- Category: กลต.
- Published: Tuesday, 07 April 2020 12:34
- Hits: 3754
น้ำใจคนไทยในยุคดิจิทัล
ใช้ Crowdfunding ร่วมบริจาคสู้ COVID-19
โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA
ผู้ช่วยเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทีมโฆษก และฝ่ายฟินเทค
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทำให้อุปกรณ์ป้องกัน ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการรับมือกับ COVID-19 จึงเกิดโครงการรับบริจาคและระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางแพทย์ขึ้นมากมายและหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ การบริจาคผ่านระบบ Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น...
“โครงการนวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่นซักได้ หรือ Washable Innovative Nano-Masks: WIN-Masks” พัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และการสนับสนุนด้านเงินทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยตั้งเป้าผลิตจำนวน 100,000 ชิ้น และมีเป้าหมายการระดมทุน 5.5 ล้านบาท
“เทใจให้มดงานสู้โควิด” มีเป้าหมายการระดมทุน 1.1 ล้านบาท เพื่อร่วมซื้อชุดป้องกันและอุปกรณ์พร้อมซื้อประกัน COVID-19 ให้ทีมแพทย์และพยาบาล โดยขณะนี้ระดมทุนสำเร็จแล้ว และสามารถระดมทุนไปได้มากกว่า 2.86 ล้านบาท และ “กองทุนเทใจสู้โควิด19” มีเป้าหมายการระดมทุน 2 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางแพทย์ด้วยการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุด PPE เป็นต้นโดยเปิดให้ระดมทุนเป็นเวลา 1 เดือน และขณะนี้สามารถระดมทุนไปได้มากกว่า 1.4 ล้านบาท
ทำความรู้จักกับ Crowdfunding
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า Crowdfunding มาบ้าง แต่อาจจะยังสงสัยว่า การระดมทุน (Funding) กับผู้คนจำนวนมาก (The Crowd) มาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร วันนี้จะขอมาไขข้อข้องใจกันค่ะ
Crowdfunding คือ การระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก (The Crowd) ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (Funding Portal) โดยอาศัยเทคโนโลยีของระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งแต่ละคนจะลงเงินจำนวนไม่มาก แต่เมื่อหลายๆ คนรวมกันจะมีจำนวนมากจนสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้เงินของกิจการหรือโครงการใหม่ๆ ได้ ซึ่งเราสามารถแบ่ง Crowdfunding ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. Crowdfunding ในรูปแบบบริจาค (Donation-based Crowdfunding)
การรับบริจาคเงินจากประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้บริจาคไม่หวังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนนอกจาก “ความสุขทางใจ” เหมาะสำหรับองค์กรที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคมหรือเพื่อการกุศล นอกจากนี้ ผู้ระดมเงินอาจได้รับใบเสร็จรับเงินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย ตัวอย่างแพลตฟอร์มนี้ในประเทศไทย ได้แก่ เทใจดอทคอม (taejai.com) สินวัฒนา โซเชียล คราวด์ฟันดิง (social.sinwattana.com) หรือ มูลนิธิก้าวคนละก้าว (kaokonlakao.com)
2. Crowdfunding ในรูปแบบสิ่งของ (Reward-based Crowdfunding)
การระดมทุนรูปแบบนี้ เจ้าของโครงการส่วนใหญ่มีไอเดียใหม่ๆ และต้องการระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยผู้ระดมทุนจะได้รับสินค้าที่ผลิตได้หรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้านั้นตอบแทนในอนาคต ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่คุ้นเคยกันดีในต่างประเทศ ได้แก่ Kickstarter หรือ Indiegogo ซึ่งมีโครงการชื่อดังที่ประสบความสำเร็จ อย่างบอร์ดเกม Exploding Kittens หรือแว่นตาวิดีโอเสมือนจริง (Virtual Reality) ของ Oculus
3. Crowdfunding ในรูปแบบของการกู้ยืม (Lending-based Crowdfunding หรือ Peer-to-Peer Lending)
การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีตัวกลางจัดให้มีสัญญาสินเชื่อระหว่างกัน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ตัวอย่างแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ได้แก่ Lendingclub ที่อเมริกา หรือ Zopa ที่อังกฤษ
4. Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment-based Crowdfunding)
การลงทุนในหลักทรัพย์ (หุ้น และหุ้นกู้) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะมีตัวกลาง หรือ Funding Portal ทำหน้าที่คัดกรองบริษัทที่จะระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับเงินปันผลหรือส่วนต่างราคาหากเป็นการลงทุนในหุ้น และได้ดอกเบี้ยหากลงทุนหุ้นกู้
การระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในรูปแบบบริจาคและรูปแบบสิ่งของ ตาม 1. และ 2. ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด ในขณะที่การระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในรูปแบบกู้ยืม จะมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลตัวกลางในการจับคู่ผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา กับผู้ให้กู้ที่เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โดยแพลตฟอร์มต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาต โดยผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจจะต้องสมัครขอทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) ของ ธปท. ซึ่งเป็นการให้บริการในขอบเขตที่จำกัดก่อน จนพร้อมให้บริการในวงกว้างจึงยื่นขอรับใบอนุญาตได้
สำหรับการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ ตาม 4. ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยในปัจจุบันมี Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว 3 ราย ได้แก่
(1) บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ให้บริการเฉพาะหุ้น Crowdfunding
(2) บริษัท ฟีนิกซิคท์ จำกัด (สินวัฒนา) ให้บริการเฉพาะหุ้น Crowdfunding และ
(3) บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด ให้บริการทั้งหุ้นและหุ้นกู้ Crowdfunding
ระดมทุน Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ในไทยต้องทำอย่างไร
สำหรับในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเริ่มจากหุ้น Crowdfunding ตั้งแต่ปี 2558 และหุ้นกู้ Crowdfunding ตั้งแต่ปี 2562
ผู้ที่สนใจระดมทุนต้องจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบบริษัท (ส่วนใหญ่เป็น SME/ startup) และติดต่อกับ Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เพื่อเสนอโปรเจกต์หรือโครงการธุรกิจและวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจากที่ระดมทุนได้ จากนั้น Funding Portal จะตรวจสอบความมีตัวตนของบริษัท ความเป็นไปได้ของโครงการธุรกิจ และนำข้อมูลการเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้ Crowdfunding ขึ้นเผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์
สำหรับผู้ลงทุนรายบุคคลที่สนใจลงทุนสามารถสมัครเป็นสมาชิกของ Funding Portal จากนั้นต้องทำแบบทดสอบความเข้าใจก่อนการจองซื้อ (knowledge test) ให้ถูกทุกข้อก่อนการลงทุน โดยผู้ลงทุนแต่ละคนสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อบริษัท และไม่เกิน 1 ล้านบาทในรอบ 12 เดือน (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้) ขณะที่บริษัทที่ระดมทุนจะสามารถระดุมทุนจากผู้ลงทุนรายบุคคล ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนแรก และรวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน 40 ล้านบาท เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายและความเสี่ยงของผู้ลงทุนรายบุคคล
หากมีผู้จองซื้อครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเวลาที่กำหนด บริษัทที่ระดมทุนต้องออกหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ลงทุน โดยในปัจจุบันมี SME และ startup ที่ระดมทุนผ่าน Crowdfunding แล้ว 3 ราย โดยเป็นหุ้น Crowdfunding 1 ราย ระดมทุนได้ 18.6 ล้านบาท และหุ้นกู้ Crowdfunding 3 ราย ระดมทุนได้ รวม 10 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการระดมทุนแบบ Crowdfunding ช่วยเปิดโอกาสให้ SME และ startup สามารถระดมทุนได้อย่างสะดวก ภายในเวลาอันรวดเร็ว และด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า โดยเฉพาะธุรกิจที่ฉายแววเติบโตแต่ยังไม่ถึงระดับ IPO ส่วนผู้ลงทุนก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แม้ลงทุนในจำนวนไม่มาก หรือโครงการระยะสั้นก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ Crowdfunding ได้รับความนิยมในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อ Funding Portal สำหรับ Crowdfunding รูปแบบหลักทรัพย์ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th หรือแอปพลิเคชัน “SEC Check First” ก่อนลงทุน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันการหลอกลวงค่ะ
AO4103
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web